ที. เร็กซ์ หลีกไป สไปโนซอร์มาแล้ว

ที. เร็กซ์ หลีกไป สไปโนซอร์มาแล้ว

ระหว่างปี 1910 ถึง 1914 แอนสท์ ไฟรแฮร์ ชโตรเมอร์ ฟอน ไรเคนบาค นักบรรพชีวินวิทยาจากแคว้นบาวาเรียและทีมงานออกสำรวจทะเลทรายสะฮาราในประเทศอียิปต์ โดยลัดเลาะไปตามชายขอบด้านตะวันออกของระบบแม่น้ำโบราณ ชโตรเมอร์พบไดโนเสาร์ จระเข้ เต่า และปลาชนิดต่างๆรวมทั้งสิ้นประมาณ 45 ชนิด ในบรรดาสิ่งที่ชโตรเมอร์พบได้แก่โครงกระดูกบางส่วนของไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษสองโครง ไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นสัตว์นักล่าขนาดมหึมา มีขากรรไกรยาวหนึ่งเมตร และเต็มไปด้วยฟันรูปกรวยที่สบกันได้พอดี ทว่าลักษณะโดดเด่นที่สุดของมันคือโครงสร้างคล้ายกระโดงยาว 1.7 เมตรบนหลัง ซึ่งมีเงี่ยงกระดูกยาวค้ำยันอยู่ภายใน ชโตรเมอร์ตั้งชื่อไดโนเสาร์ชนิดนี้ว่า สไปโนซอรัส อีจิปเทียคัส (Spinosaurus aegyptiacus)

การค้นพบของชโตรเมอร์ ซึ่งได้รับการจัดแสดงอย่างสวยงามในพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาและธรณีวิทยารัฐบาวาเรียกลางเมืองมิวนิก ส่งผลให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาพยายามอย่างสุดกำลังที่จะเคลื่อนย้ายฟอสซิลออกจากมิวนิก แต่กลับได้รับคำตอบปฏิเสธจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นนาซีหัวรุนแรงและไม่ชอบหน้าชโตรเมอร์ เนื่องจากเขาวิพากษ์วิจารณ์การปกครองระบอบนาซีอย่างเปิดเผย ในเดือนเมษายน ปี 1944 พิพิธภัณฑ์และฟอสซิลของชโตรเมอร์เกือบทั้งหมดถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตร สิ่งที่เหลืออยู่เกี่ยวกับ สไปโนซอรัส มีเพียงบันทึกภาคสนาม ภาพวาด และภาพถ่ายสีซีเปียจำนวนหนึ่ง

สูญหายแต่ไม่สูญเปล่า : ชิ้นส่วนของสไปโนซอรัส ที่ชโตรเมอร์พบในอียิปต์เมื่อปี 1912 ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดเมืองมิวนิกของฝ่ายพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นักบรรพชีวินวิทยาใช้ภาพถ่ายหายากเหล่านี้สร้างกระดูกที่ขาดหายไปขึ้นมาใหม่ด้วย วิธีดิจิทัล เมื่อนำภาพที่ได้มาประมวลเข้ากับการค้นพบในระยะหลังๆ ผลที่ได้คือโครงกระดูกยาว 15 เมตรซึ่งนับว่า มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาไดโนเสาร์กินเนื้อทั้งหมด

 

หนึ่งศตวรรษต่อมา นักบรรพชีวินวิทยาหนุ่มนาม นิซาร์ อิบรอฮีม ได้ฟอสซิล สไปโนซอรัส จากแหล่งขุดค้นแห่งหนึ่งในโมร็อกโก ชั้นหินในหน้าผาที่อยู่รายรอบแหล่งขุดค้นแห่งนั้นแสดงให้เห็นว่า เมื่อหนึ่งร้อยล้านปีก่อน ที่นั่นเคย มีแม่น้ำสายใหญ่คดเคี้ยวไหลผ่าน

อิบรอฮีมติดภาพกะโหลก สไปโนซอรัส ขนาดเท่าของจริงบนผนังในห้องทำงาน ซึ่งเขามักเพ่งมอง “ผมพยายามนึกภาพกระดูกทุกชิ้น กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทุกสิ่งทุกอย่างเลยครับ บางครั้งภาพก็อยู่ตรงนั้นแวบหนึ่ง แล้วหายไปเหมือนภาพลวงตา สมองของผมคำนวณสิ่งซับซ้อนขนาดนั้นไม่ได้ครับ”

แต่คอมพิวเตอร์ทำได้ อิบรอฮีมพร้อมด้วยซีโมเน มากานูโก จากพิพิธภัณฑ์มิลาน และไทเลอร์ คีลเลอร์ นักเตรียมฟอสซิลและศิลปินด้านบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก คืนชีวิตให้ สไปโนซอรัส ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พวกเขานำตัวอย่างกระดูกแต่ละชิ้นที่มีอยู่มาทำซีทีสแกนที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยชิคาโกและที่โรงพยาบาลมัจโจเรในมิลาน จากนั้นจึงเติมส่วนอื่นๆของร่างกายเข้าไปด้วยการสแกนภาพถ่ายตัวอย่างกระดูกจากพิพิธภัณฑ์ในมิลาน ปารีส และที่อื่นๆ รวมทั้งใช้ภาพดิจิทัลที่แปลงจากภาพถ่ายและภาพวาดของชโตรเมอร์ จากความเพียรพยายามปั้นแต่งและจัดวางกระดูกสันหลัง 83 ชิ้นในแบบจำลอง พวกเขาสรุปว่า สไปโนซอรัส ตัวเต็มวัยมีความยาววัดจากปลายจมูกถึงหาง 15 เมตร เคยมีคำกล่าวอ้างว่า สไปโนซอรัส เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยท่องพื้นพิภพ แบบจำลองนี้ยืนยันคำกล่าวนั้น (ที. เร็กซ์ ขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาวจากหัวถึงหาง 12.3 เมตร)

จากนั้น พวกเขาหุ้มโครงกระดูกด้วยผิวหนังดิจิทัลเพื่อสร้างแบบจำลองที่เคลื่อนไหวได้ ช่วยให้ประเมินจุดศูนย์ถ่วงและมวลกายของ สไปโนซอรัส ได้ ทำให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่ามันเคลื่อนที่อย่างไร การวิเคราะห์ของพวกเขานำไปสู่ข้อสรุปอันน่าทึ่ง กล่าวคือ สไปโนซอรัส ผิดแผกจากไดโนเสาร์กินเนื้ออื่นๆทั้งหมดซึ่งเดินบนขาหลัง เพราะมันอาจเป็นสัตว์เดินสี่ขา โดยใช้ขาหน้าที่มีกรงเล็บขนาดใหญ่ในการเดินด้วย

อสุรกายนักล่าแห่งสายน้ำ : แม้ว่าขากรรไกรของ สไปโนซอรัส จะยาวราวหนึ่งเมตรและมีฟันเรียงกันอย่างน่าเกรงขาม แต่เมื่อเทียบกับขากรรไกรของไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีขนาดไล่เลี่ยกันแล้วกลับแข็งแรงน้อยกว่ามาก จึงเหมาะกับการจับปลาในแม่น้ำที่พวกมันอาศัยอยู่มากกว่าการบดเคี้ยวกระดูก

อย่างไรก็ตาม ความแปลกประหลาดทั้งหลายทั้งปวงของเจ้ายักษ์ใหญ่ตัวนี้เริ่มเป็นเหตุเป็นผลที่เข้าใจได้เมื่ออิบรอฮีมกับเพื่อนร่วมงานมอง สไปโนซอรัส ด้วยมุมมองที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงว่า มันเป็นไดโนเสาร์ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ รูจมูกซึ่งตั้งอยู่สูงบนกะโหลกค่อนมาทางดวงตาช่วยให้ สไปโนซอรัส หายใจได้แม้บริเวณส่วนใหญ่ของหัวจะจมอยู่ใต้น้ำ ลำตัวทรงกระบอกชวนให้นึกถึงโลมาและวาฬ ส่วนความหนาแน่นของซี่โครงและกระดูกที่ยาวก็คล้ายคลึงกับกระดูกของพะยูน ขาหลังซึ่งมีสัดส่วนแปลกประหลาดสำหรับการเดิน น่าจะเหมาะกับการพุ้ยน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกรงเล็บแบนๆในเท้าหลังที่กว้างมีพังผืดเชื่อมถึงกันเหมือนเท้าเป็ดดังที่นักวิจัยคาดไว้ ขากรรไกรเรียวยาวและฟันรูปกรวยเรียบๆเหมือนฟันจระเข้น่าจะใช้จับปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหลุมตรงปลายจมูกซึ่งยังปรากฏให้เห็นในจระเข้และอัลลิเกเตอร์ อาจมีตัวรับความดันสำหรับตรวจจับเหยื่อในน้ำขุ่น อิบรอฮีมวาดภาพว่า สไปโนซอรัส โน้มตัวไปข้างหน้าแล้วงับปลาด้วยปากที่ยาว

แผนภาพแสดงขนาดของสไปโนซอรัส เปรียบเทียบกับไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่น

แล้วอิบรอฮีมก็เข้าใจอย่างถ่องแท้เมื่อได้เห็นขั้นตอนสุดท้ายของโครงการสร้างไดโนเสาร์ดิจิทัล นั่นคือ โครงกระดูก สไปโนซอรัส ทำจากโฟมพอลิสไตรีนความหนาแน่นสูงขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งสร้างขึ้นจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ โครงกระดูกได้รับการจัดแสดงในท่าทางกำลังว่ายน้ำ ซึ่งอิบรอฮีมคิดว่า สไปโนซอรัส อาจใช้เวลาว่ายน้ำมากถึงร้อยละ 80 “ผมอยากให้แอนสท์ ชโตรเมอร์ ได้เห็นแบบจำลองนี้จังเลยครับ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า สไปโนซอรัส เป็นนักว่ายน้ำตัวยงที่ได้รับการปรับแต่งทางวิวัฒนาการมามากแค่ไหน เขาต้องยิ้มออกแน่ๆครับ”

เรื่อง ทอม มึลเลอร์

ภาพถ่าย ไมก์ เฮตต์เวอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์กับ ไดโนเสาร์ จะอยู่ร่วมโลกกัน?

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.