เบื้องหลัง ” คาเฟ่สัตว์ ” ความน่ารักในสายตามนุษย์ ผ่านความทุกข์ของเหล่าสัตว์

วัฒนธรรมการท่องเที่ยวแบบ “ คาเฟ่สัตว์ ” กำลังเป็นที่นิยมในทวีปเอเชียรวมถึงสังคมไทย

ผู้คนไม่น้อยโปรดปรานการรับประทานอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มแบบใกล้ชิดกับสัตว์โดยเลือกหาคาเฟ่ที่ตอบสนองตามความชอบของตนเอง คาเฟ่สัตว์นั้นมีหลายแบบ บางที่อาจเกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อการช่วยเหลือสัตว์เช่น คาเฟ่แมวจร บ้างก็เป็นคาเฟ่สัตว์เลี้ยงทั่วไปอย่างสุนัขหรือแมวหลากหลายสายพันธุ์จนถึง “ คาเฟ่สัตว์ แปลก” ที่เปิดประสบการณ์ให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกับสัตว์ที่เราไม่ได้คุ้นเคยหรือพบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น งู นาก นกฮูก แรคคูน ชินชินลา กบ เม่นแคระ เป็นต้น

จิ้งจอกทะเลทรายหรือเฟนแน็คฟอกซ์ กำลังถูกนิ้วมือของนักท่องเที่ยวลูบไล้ไปตามใบหูเรียวยาวของมันซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้ระบายความร้อนในทะเลทราย
หมาจิ้งจอกหูค้างคาวซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากทุ่งหญ้าสะวันนาค่อนข้างรักสันโดษและไม่คุ้นชินกับมนุษย์แต่สัญชาตญาณการล่าเหยื่อยังคงตอบสนองกับแสงเลเซอร์ที่ส่องไปมาตามพื้น

เราอาจรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกเย้ายวนใจที่จะได้ใกล้ชิดกับสัตว์แปลก (Exotic Animal) หรือ “สัตว์ป่าต่างถิ่น” ที่แปลกตา ห้วงเวลาอันแสนสั้นหลังจากที่เราต่อคิวเพื่อให้ได้ใกล้ชิดพวกมันเพียง 15-30 นาที ไม่ว่าจะเป็นการจ้องมองหน้าตาน่าเอ็นดูของแรคคูน พิจารณาใบหูยาวของจิ้งจอกทะเลทราย สัมผัสเกล็ดงูที่มันวาว หรือจินตนาการว่าเราเป็นพ่อมดแฮรี่พอตเตอร์ที่มีนกฮูกส่งสารเป็นของตัวเองนั้นอาจจุดประกายจินตนาการและเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ใครหลายคน แต่น้อยคนที่รู้สึกสะกิดใจว่าสิ่งนี้คือชนวนใหญ่ของการลักลอบค้าสัตว์จนถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

กรงกระจกใสในร้านขายสัตว์แห่งหนึ่งนั้นช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการเลือกซื้อสัตว์ต่างๆ และยังทำให้เมียร์แคทตัวนี้สามารถมองเห็นเต่าซูคาต้าที่อยู่อีกฟากหนึ่งของตู้

ชนวนและเชื้อเพลิงของการลักลอบค้าสัตว์

เมื่อความต้องการและความนิยมของ คาเฟ่สัตว์ มีมากขึ้น ความต้องการในการนำเข้าหรือค้าขายสัตว์เหล่านี้ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ปัญหาคือแหล่งที่มาของพวกมันที่เราไม่อาจทราบได้เลยว่าสัตว์พวกนี้มาจากไหนโดยเฉพาะพวกสัตว์ป่า ถึงแม้ว่าคาเฟ่สัตว์บางที่จะรับรองว่าพวกมันมาจากพ่อหรือแม่พันธุ์ที่ถูกกฎหมาย แต่การจะหาที่มาที่แท้จริงของพวกมันยังไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนนักเนื่องจากกระบวนการดังกล่าวยังอยู่ใต้เงามืดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างโปร่งใส

ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของคาเฟ่ตัวนากที่เป็นที่นิยมอย่างมากในญี่ปุ่น แม้ว่านากหลายตัวจะได้รับการรับรองจากคาเฟ่ว่ามีที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่จากงานวิจัยและการสืบสวนขององค์กรที่ดูแลการค้าสัตว์โดยเฉพาะ (Wildlife Trade Specialists หรือ TRAFFIC) ก็ยังพบว่านากส่วนใหญ่มาจากการลักลอบค้านากเล็บสั้นซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการของเครือข่ายลักลอบค้าสัตว์ป่า มีหลักฐานไม่น้อยว่าไทยและอินโดนีเซียเป็นเครือข่ายหลักของการลักลอบค้านากเล็บสั้นเข้าสู่ญี่ปุ่น มีความเป็นไปได้สูงว่าเครือข่ายดังกล่าวยังขยายไปอีกหลายประเทศ ทว่ากระบวนค้าดังกล่าวนั้นส่วนใหญ่ดำเนินด้วยระบบออนไลน์ทำให้ตรวจสอบได้ยากจนไม่สามารถระบุขอบเขตของได้ว่าครอบคลุมพื้นที่ใดอีกบ้าง

เมียร์แคท สัตว์พื้นถิ่นของทวีปแอฟริกาใต้ หนึ่งในสัตว์ยอดนิยมของคาเฟ่สัตว์ มักอยู่เป็นฝูงประมาณ 5-30 ตัวขึ้นไป พวกมันเป็นสัตว์นักล่าที่มีประสาทสัมผัสและสัญชาตญาณการระวังภัยเป็นเลิศ ความเฉลียวฉลาดนี้ทำให้พวกมันเป็นที่นิยมในหมู่คนเลี้ยงสัตว์แปลกและมีอัตราการถูกล่าโดยมนุษย์อยู่ในระดับสูง
ชูการ์ไกลเดอร์ สัตว์ป่าแห่งภูเขาออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และนิวกินี ถูกจับยัดใส่กรงแคบๆ อย่างแออัด เพื่อให้ลูกค้าเลือกสรรลักษณะหรือสีที่ต้องการโดยมีเรทการขายอยู่ที่ประมาณ 600-2,000 บาท

“ความใกล้ชิดกับสัตว์แปลก” ที่คาเฟ่สัตว์อำนวยให้เรานั้นมีผลกับมนุษย์ในทางจิตวิทยา โดยปกติแล้ว สัตว์แปลกหรือสัตว์ป่าจะสามารถพบเห็นได้ตามธรรมชาติหรือในสวนสัตว์ซึ่งมีช่องว่างระหว่างพื้นที่และความรู้สึกกับผู้ชมว่าพวกเขาสามารถมอง “สัตว์ป่า” เหล่านี้จากอีกด้านหนึ่งของกรง ซึ่งภายในกรงก็ต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมให้คล้ายกับป่าหรือถิ่นอาศัยของพวกมัน แต่คาเฟ่สัตว์แปลกทำลายขอบเขตนั้นโดยการนำพวกมันเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่เป็นสิ่งก่อสร้างของมนุษย์รวมถึงการเปิดให้เราได้เข้าสัมผัสกับพวกมันอย่างใกล้ชิด

ระยะห่างที่หายไปทำให้เราเกิดภาพลวงตาขึ้นว่าสัตว์เหล่านี้สามารถเป็น “สัตว์เลี้ยง (Exotic Pet)” ที่พวกเขาสามารถรับมือได้และอาจเข้าใจไปเองว่าการค้าขายพวกมันเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เมื่อเข้าใจเช่นนั้น ผู้คนจึงเริ่มหาช่องทางการซื้อสัตว์เหล่านี้ไว้ครอบครองและนั่นเป็นส่วนหนึ่งของการเติมเชื้อเพลิงชั้นดีให้กับกระบวนการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย

อีเห็นเผือกตัวนี้กำลังกรีดร้องเนื่องจากยังไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมของมนุษย์ โดยปกติแล้วพวกมันเป็นสัตว์ป่าที่ค่อนข้างเฉื่อยและมักหากินบนต้นไม้มากกว่าอาศัยอยู่ตามพื้นดิน
โคอาติ สัตว์กลางคืนตระกูลแรคคูนที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกาตัวนี้กำลังเลียซี่กรงในตลาดค้าสัตว์ที่เปิดไฟอยู่ตลอดเวลา

จากการสำรวจคาเฟ่สัตว์ของชาร์ล แมคมิลแลน (Sharne McMillan) ผู้ศึกษาวิทยาศาสตร์ชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงพบว่ามีสัตว์แปลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ใน คาเฟ่สัตว์ โดยเฉพาะแถบทวีปเอเชีย ในงานวิจัยคาเฟ่สัตว์ที่ระบุได้ 406 แห่งในเอเชียนั้น กว่า 27% ครอบครองสัตว์แปลกไว้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นาก นางอาย เมียร์แคท, นก เช่น นกฮูก เหยี่ยว นกแก้ว, สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตุ๊กแก งูเหลือม เต่า เป็นต้น ซึ่ง 46% จากสัตว์แปลก 252 สายพันธุ์นี้อยู่ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) เพราะพวกมันถือเป็นสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามจนนำไปสู่การลดลงของประชากรซึ่งอยู่ในระดับวิกฤติ แมคมิลแลนกล่าวว่าตัวเลขนี้เป็นเพียงจำนวนขั้นต่ำที่เป็นไปได้เท่านั้นเพราะในความเป็นจริงยังมีคา-เฟ่สัตว์ที่ไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดผ่านช่องทางออนไลน์ได้

ข้อถกเถียงด้านสวัสดิภาพสัตว์

จากงานวิจัยสัตว์ในปี 2017 ได้กล่าวถึงสัตว์แปลก (Exotic Animal) ไว้ว่าพวกมันต้องการมื้ออาหาร สภาพแวดล้อมที่เฉพาะเจาะจงอย่างมากจนผู้เลี้ยงหลายคนไม่มีกำลังพอที่จะจัดหาให้พวกมันได้และส่วนใหญ่เป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ต้องการสภาพแวดล้อมแตกต่างจากสภาพอากาศประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างสัตว์แปลกที่คนนิยมเลี้ยงเช่น ชินชิลลา สัตว์ประเภทหนูหน้าตาน่ารักที่มีถิ่นกำเนิดจากเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้อาจร้อนตายจากขนฟูฟ่องน่าเอ็นดูของพวกมันหากไม่ได้รับการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในประเทศไทย

ชินชิลลา สัตว์ขนหนาจากเมืองหนาวกำลังซ่อนตัวอยู่ในอุโมงค์ไม้ปลอมและแอบโผล่ขึ้นมามองอีกฟากหนึ่งของกรงเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน
กิ้งก่าคาเมเลี่ยน นักชำนาญการพรางตัวจากเหล่านักล่าในป่าดงดิบกำลังไต่ไปตามกิ่งไม้ที่ถูกประดับด้วยใบไม้ปลอม

โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์แปลกเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าที่ไม่คุ้นชินกับความใกล้ชิดของมนุษย์ แม้กระทั่งสวนสัตว์หลายแห่งที่ได้รับการรับรองว่ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมแก่พวกมันและมีการรักษาระยะห่างระหว่างผู้ชมก็ยังเกิดข้อพิพากษ์ว่ามีแนวโน้มสูงที่พวกมันจะได้รับผลกระทบจากการ รุกล้ำความเป็นส่วนตัว การนำพวกมันไปไว้ในคาเฟ่สัตว์ที่เปิดให้ผู้คนมากหน้าหลายตาจับต้องหรือใกล้ชิดกับพวกมันจึงทำให้ระดับความเครียดของสัตว์เหล่านี้สูงขึ้นจนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ

ดังที่เจสัน เบคเกอร์ นักรณรงค์จากองค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้า (People for the Ethical Treatment of Animals หรือ PETA) ได้กล่าวเอาไว้ว่า “สัตว์พวกนี้กำลังถูกต้อนให้จนมุมและกำลังเข้าสู่กระบวนการทำลายตนเอง ฉันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมถึงมีคนที่อยากจะกินมื้ออาหารท่ามกลางสัตว์ที่ถูกกักขังไว้ในกรงซึ่งมีขนาดไม่ถึงเศษเสี้ยวของบ้านในป่าที่แท้จริงของพวกมันเลยด้วยซ้ำ”

แม้จะอยู่ในช่วงยุคโควิดที่สังคมต่างรณรงค์เรื่องการเว้นระยะห่าง แต่หมาจิ้งจอกทะเลทรายตัวนี้ยังคงต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างใกล้ชิด
ลูกค้าในร้านต่างอุ้มเมียร์แคทตัวน้อยนี้ไว้บนตักพลางลูบไล้หวังกล่อมให้มันเคลิ้มจนหลับไป

นอกจากประเด็นเรื่องการค้าและสวัสดิภาพของสัตว์แล้ว สิ่งที่ควรตระหนักอย่างยิ่งคือความเสี่ยงที่สัตว์ในคาเฟ่หรือตลาดขายสัตว์อาจหลบหนีหรือถูกทอดทิ้งจนกลายเป็นสัตว์รุกรานที่อาจสร้างความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น (native species) เนื่องด้วยสายพันธุ์สัตว์แปลกเกือบทั้งหมดเป็นสัตว์ที่ไม่ได้มีอยู่ดั้งเดิมในประเทศไทย (non-native species)

จากการศึกษาเรื่องนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมในปีพ.ศ. 2562 พบว่าอุตสาหกรรมการค้าสัตว์คือหนึ่งในสาเหตุหลักของการรุกรานจากสายพันธุ์ต่างถิ่น (invasive Species) งานวิจัยของแมคมิลแลนเองก็พบว่ามีสัตว์แปลกในคาเฟ่อย่างน้อยสามสายพันธุ์ที่ถูกจัดว่ามีอัตราการรุกรานสูง นอกจากนี้ เธอยังพบว่ามีคาเฟ่สัตว์จำนวนไม่น้อยที่ถือครองสัตว์แปลกปิดกิจการไปโดยไม่ได้แจ้งมาตราการการควบคุมกับสัตว์ในคาเฟ่และนั่นยิ่งทำให้ชะตากรรมของพวกมันเป็นที่น่ากังวล

จนถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่าประเด็นข้างต้นอาจไม่น่าเป็นห่วงถ้าสัตว์ในคาเฟ่เป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไปอย่างสุนัขหรือแมว แต่ถึงอย่างนั้น สวัสดิภาพของพวกมันก็ยังมีหลายจุดที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด อย่างในกรณีของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ที่มีถิ่นกำเนิดจากที่หนาวเย็นอย่างไซบีเรียก็จะมีความเสี่ยงเรื่องการขาดน้ำและฮีทสโตรคจากสภาพอากาศร้อนในประเทศไทย สุนัขถือตัวอย่างดัชชุนด์หรือที่รู้จักกันในชื่อหมาไส้กรอกก็ไม่สบายใจที่จะอยู่ใกล้คนแปลกหน้า หรือแม้แต่สุนัขที่ชอบเข้าสังคมมากๆ อย่างโกลเดินริทรีฟเวอร์ ก็อาจเหนื่อยและเครียดได้หากต้องรับแขกจำนวนมาก

การประกอบธุรกิจคาเฟ่สัตว์โดยคำนึงถึงสิทธิสัตว์จึงต้องอาศัยความรู้ ความรับผิดชอบ การเอาใจใส่ และเงินทุนที่ค่อนข้างสูง ส่วนเหล่านักท่องเที่ยวก็อาจต้องระมัดระวังในการเลือกคาเฟ่มากขึ้นโดยอาศัยการสืบค้นข้อมูลเพื่อประเมินถึงความเหมาะสม และแทนที่จะพักผ่อนอย่างไร้เดียงสา เราอาจต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าทุกการเลือกของเรานั้นส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ไซบีเรียนฮัสกี สุนัขขนนุ่มฟูหนาผู้ถูกตั้งชื่อสายพันธุ์ตามถิ่นกำเนิดหนาวเย็นอันห่างไกลจากแถบเส้นศูนย์สูตรกำลังแทะขวดน้ำเปล่าซึ่งเป็นความบันเทิงหนึ่งเดียวในกรงของตลาดขายสัตว์ ณ ประเทศเขตร้อน
ลิงกระรอก สัตว์รักสงบผู้ชื่นชอบการปีนป่ายและกระโดดโลดเต้นบนต้นไม้กำลังเฝ้ามองนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปมา ด้วยนิสัยที่ไม่ดุร้ายและหน้าตาน่าเอ็นดู พวกมันจึงเป็นที่สนใจในหมู่คนเลี้ยงสัตว์แปลกในทวีปเอเชียจนต้องมีการนำเข้าจากอเมริกาใต้

เรื่องและภาพ พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

แหล่งข้อมูล

https://thefurbearers.com/blog/animal-cafes-making-matters-worse-for-threatened-wildlife/
https://www.researchgate.net/publication/344201422_Exotic_animal_cafes_are_increasingly_home_to_threatened_biodiversity
https://thetravelintern.com/animal-cafe-red-flags/
https://www.khaosodenglish.com/featured/2016/10/07/asian-animal-cafes-go-mere-cats-meerkats
https://www.scientificamerican.com/article/exotic-animal-cafes-featuring-otters-lizards-and-owls-raise-alarms1/


อ่านเพิ่มเติม สารคดีใหม่ เผยการละเมิดสวัสดิภาพสัตว์ในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลาไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.