ตามดู นกหายากที่ สุลาเวสี ปีกแห่งอินโดนีเซีย กับ วสุ วิทยนคร ช่างภาพรุ่นเยาว์

ตามช่างภาพรุ่นเยาว์วัย 12 ปี ไปถ่ายภาพ นกหายาก ที่สุลาเวสี (Sulawesi) ซึ่งได้ชื่อว่า ปีกแห่งอินโดนีเซีย

ทริปนี้เริ่มต้นจากที่คุณแม่ของผมอยากพาไปเที่ยวต่างประเทศในที่ที่มันไม่ธรรมดา เราจึงติดต่อไกด์คนหนึ่ง ชื่อ ‘ไกด์ฮ้ง’ ถามว่าถ้าไปต่างประเทศดู นกหายาก ที่ไหนดี เขาก็เลยแนะนำ ราชาอัมพัต  (Raja Ampat) และสุลาเวสี (Sulawesi) ซึ่งตอนแรกคุณแม่คิดว่าจะไม่ไป เพราะว่าเดินทางไปยาก แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไปเพราะว่ามีการดำน้ำดูปลา (snorkeling) ซึ่งคุณแม่ชอบมาก ผมต้องขอบคุณคุณแม่มากเลยครับที่ลงทุนพาผมไปเที่ยวดูนกในทริปนี้

สุลาเวสีคืออะไร และเดินทางไปอย่างไร

จุดหมายแรกของพวกเราคือไปดูนกกระเต็น ทาร์เซียร์ และนกเงือกที่จังหวัดสุลาเวสีเหนือ สุลาเวสีคือเกาะที่ประกอบไปด้วย 6 จังหวัดและเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 11 ของโลก สุลาเวสีมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าเกาะเซเลเบส คนส่วนใหญ่ที่สุลาเวสีนับถือศาสนาคริสต์ หรือไม่ก็อิสลาม เราเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ และจากสิงคโปร์ต่อไปอีก 4 ชั่วโมง ซึ่งเราไปลงที่สนามบิน Sam Ratulangi เมืองมานาโด เวลาที่สุลาเวสีเร็วกว่าที่ไทย 1 ชั่วโมงเหมือนที่สิงคโปร์ ที่ที่เราไปดูนกคือบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติทังโก้โก้ ซึ่งต้องใช้เวลานั่งรถไปอีก 1 ชั่วโมง หลังจากดูนกที่นั่นเสร็จเราก็เดินทางต่อไปดูนกที่เมืองโทโมฮอน นั่งรถไปใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ตรงนั้นเป็นบริเวณภูเขาคล้ายกับเชียงใหม่ จากจุดชมวิวสามารถมองเห็นปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้วและที่ยังคุกรุ่นได้อีกด้วย ถนนหนทางลาดยางอย่างดีและมีทางด่วน

Celebes Crested Macaque ลิงเซเลเบส

เมื่อเข้าไปในทังโกโก้ก็มีโอกาสสูงที่จะได้เจอลิงเซเลเบส ลิงชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง แต่ที่ทังโกโก้ยังมีเป็นจำนวนมาก เท่าที่ถามคนแถวนั้นมีนักวิจัยมาศึกษาพฤติกรรมลิง ประชากรลิง ฯลฯ และสร้างโครงการชื่อว่า “Macaca Nigra Project” ลิงเหล่านี้มักอยู่เป็นฝูง และพบพร้อมกับนกบั้งรอกปากเหลืองสุลาเวสี พวกเราเดินตามฝูงลิงเพื่อจะหานกบั้งรอก แต่เราก็ได้เห็นพฤติกรรมของลิงอีกด้วยซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่ารักของที่นี่

Gursky’s Spectral Tarsier เกอรสกีทาร์เซียร์

สัตว์หน้าตาแปลกตัวนี้คือทาร์เซียร์ เป็นสัตว์ชนิดที่มีคนมาดูมากที่สุดที่ทังโกโก้ มันมักอาศัยอยู่ในโพรงตามต้นไม้และนอนในนั้นตอนกลางวัน สักประมาณ 6 โมงเย็นก็จะเริ่มออกมากระโดดตามต้นไม้ ตอนถ่ายนี้คือทาร์เซียร์เพิ่งออกมาจากโพรง (เกาะหนือโพรง) และอีกรูปหนึ่งออกมาครบสองตัวและเกาะอยู่ด้วยกัน อาหารโปรดของพวกเขาคือแมลงโดยเฉพาะตั๊กแตน ข้อควรระวังในการดูทาร์เซียร์ออกหากินตอนกลางคืนก็คือถ้าส่องไฟใส่หน้ามัน มันก็จะเกิดความเครียดและเอาหัวชนกับต้นไม้ฆ่าตัวเองตาย

Sulawesi Bear Cuscus หมีคุสคุสพันธุ์สุลาเวสี 

หมีคุสคุสตัวนี้คนอ่านน่าจะพอเดาออกว่าพบบนเกาะสุลาเวสีเพราะว่าก็เขียนอยู่ตามชื่อ สัตว์ชนิดนี้พบได้ที่นั่นที่เดียวในโลกโดยผู้ค้นพบเป็นชาวดัตช์ชื่อว่า Coenraad Jacob Temminck เขาคนนี้คือผู้ค้นพบสัตว์ป่าอีกหลาหลายสายพันธุ์เช่นนกกินปลีแดง คุสคุสส่วนใหญ่นี่จะพบตอนนอนหรือหากินตามพุ่มไม้รกๆ แต่ว่าถ้าโชคดีก็จะได้เจอมันออกมาเดินโล่งๆแบบนี้ ภาพนี้ถ่ายตอนเวลาเย็นๆแล้ว ประมาณห้าโมงเย็น

Knobbed Hornbill

นกเงือกสายพันธุ์นี้เป็น นกหายาก ที่หาได้เฉพาะบนเกาะสุลาเวสี ซึ่งผมพบในพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติทังโกโก้เหมือนเดิม ในภาพนี้นกตัวผู้กำลังป้อนลูกไทรให้ตัวเมียในรังและลูกทั้งหลาย แต่มีสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือมีนกเงือกตัวผู้สองตัวช่วยกันป้อนอาหารซึ่งอีกตัวหนึ่งอาจจะเป็นลูกของมันปีก่อน การดูว่านกเงือกชนิดนี้อายุประมาณเท่าไหร่ดูตรงขีดแดงๆส้มๆที่ปากของมัน

ราชาอัมพัต และไวโกคืออะไร และเดินทางไปอย่างไร

จุดหมายถัดไปของพวกเราคือไปดูนกปักษาสวรรค์ที่เกาะไวโกซึ่งอยู่ในบริเวณหมู่เกาะราชาอัมพัต ราชาอัมพัตคือหมู่เกาะในจังหวัดปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีเกาะขนาดใหญ่หลักๆอยู่ 4 เกาะ ประกอบไปด้วย Waigeo (ไวโก) Misool Bantanta และ Salawati คำว่าราชาอัมพัต (Raja Ampat) เป็นภาษาอินโดนีเซียแปลว่า กษัตริย์สี่องค์ หากดูบนแผนที่โลกหมู่เกาะเหล่านี้อยู่ไม่ไกลจากประเทศออสเตรเลียมากนัก การเดินทางครั้งนี้เราเดินทางจากมานาโด  (สุลาเวสีเหนือ) ไปยังโซรองด้วยสายการบิน Lion Air ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่ง จากนั้นเราต่อเรือเฟอรี่ไปยังเกาะไวโก ใช้เวลาไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ค่อนข้างลำบากเพราะของเรามีจำนวนมาก เราจึงได้ใช้บริการพอร์ตเตอร์เซอร์วิส ซึ่งพบได้ทั่วไปตามสนามบินและท่าเรือ เรียกเป็นภาษาไทยน่าจะแปลว่าบริการลูกหาบ คนเหล่านี้จะใส่เสื้อคล้ายวินมอเตอร์ไซค์ พวกเขาจะรับจ้างแบกของเราจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในราคาที่ชาวบ้านก็จ่ายได้ (แล้วแต่ต่อรอง) เรือเฟอรี่มีขนาดค่อนข้างใหญ่คล้ายๆกับเรือเฟอรี่แถวเกาะสมุย มีห้องธรรมดาและห้องวีไอพี

Wilson’s Bird-of-Paradise

นกปักษาสวรรค์วิลสันพบได้ที่เดียวในโลกคือหมู่เกาะราชาอัมพัตและการเดินทางไปหานกมันยากลำบากเอามากๆเพราะเราต้องนั่งรถจากที่พักไปหาไกด์ท้องถิ่นซึ่งเราต้องตื่นกันตอนตีสี่ จากนั้นเราต้องเริ่มเดินก่อนตีห้าเพราะต้องไปถึงก่อนนกจะเข้าลานจับคู่ การเดินทางไปนี้ใช้เวลาสองชั่วโมง คือสี่ชั่วโมงไป-กลับแต่ว่าไม่มีพื้นราบ(ขึ้นๆลงๆอย่างเดียว) ลานจับคู่จะต้องสะอาดมากๆ ไม่มีใบไม้หรือกิ่งไม้อยู่ ในภาพนี้คือนกตัวผู้กำลังเกาะกิ่งพักก่อนที่จะเก็บใบไม้ในลานต่อ

Red Bird-of-Paradise

นกปักษาสวรรค์อีกหนึ่งชนิดที่พบได้ที่ไวโกคือ Red Bird-of-Paradise แปลเป็นไทยว่านกปักษาสวรรค์สีแดง สิ่งที่ต่างจากปักษาสวรรค์วิลสันคือตัวของมันมีขนาดที่ใหญ่กว่าและสำคัญกว่านั้นคือมันเต้นรำจับคู่บนต้นไม้ ไม่ใช่บนพื้น ตัวนี้การเดินทางไปหามันไม่ยากเท่าปักษาสวรรค์วิลสัน แต่ต้องตื่นและเริ่มเดินเวลาเดียวกัน

Red-cheeked Parrot

Red-cheeked Parrot เป็นนกแก้วอีกสายพันธุ์หนึ่งที่พบบ่อยบนเกาะไวโก แต่การถ่ายภาพนกแก้วชนิดนี้เป็นสิ่งที่ยากเพราะปกติแล้วเราจะเห็นเขาบินในระยะค่อนข้างไกล ผมโชคดีที่นกแก้วมันกำลังทำรังอยู่ข้างถนนและถ้าสังเกตดีๆจะเห็นตัวผู้อยู่ด้านบนและตัวเมียอยู่ด้านล่าง ตัวผู้เหมือนจะเป็นตัวที่เฝ้าตัวเมียอยู่ด้านบนระหว่างมันทำรังเพราะตอนมีชาวบ้านเดินเข้าไปนกตัวผู้ก็ร้องแล้วมันก็พากันบินจากไปทั้งสองตัว

Rufous-bellied Kookaburra

ถ้าใครรู้จักนกคุคคะเบอรร่า (Kookaburra) จะคิดว่าเป็นสีน้ำตาลๆเทาๆ แต่ชนิดนี้มีท้องสีส้มคือ Rufous-bellied Kookaburra นั่นเอง คุคคะเบอรร่าเป็นนกในตระกูลนกกระเต็น เวลามันร้องจะเสียงเหมือนหัวเราะ ผมถ่ายได้หลังครัวของโฮมสเตย์ชื่อวาริมปุเรมซึ่งเป็นจุดดูนกอีกหลายชนิด นกตัวนี้เป็นชนิดที่พบบ่อยบนเกาะไวโกเพราะขนาดบนสายไฟก็ยังมีเกาะอยู่เป็นบางครั้ง

เรื่องและภาพ วสุ วิทยนคร


อ่านเพิ่มเติม ตามติดชีวิตนกอพยพกับการใส่ห่วงขา ที่อาจบอกได้ถึงความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.