ภาพ ไคทิน สารสร้างโครงสร้างแข็งภายนอกของแมลง แบบคมชัด หาชมยาก

อาร์โทพอดรวมถึงแมลงใช้ ไคทิน ในการสร้างโครงร่างแข็งภายนอก ปีก กรงเล็บ และเกล็ด

อาร์โทพอดหรือสัตว์ขาปล้องเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีความหลากหลายที่สุดในอาณาจักรสัตว์ โดยเฉพาะแมลงซึ่งสามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในระบบนิเวศแตกต่างกันมากมายทั้งในน้ำและบนบก ความเก่งกาจรอบตัวของอาร์โทพอดส่วนใหญ่ได้มาจาก ไคทิน (chitin) สารที่ใช้สร้างเกราะหุ้มร่างกาย รวมถึงปีก และอวัยวะที่มีความยืดหยุ่นอื่นๆ เช่นเดียวกับเซลลูโลสที่พืชใช้สร้างผนังหุ้มเซลล์ ไคทินสร้างจากโมเลกุลของกลูโคส แต่ยังประกอบไปด้วยไนโตรเจน ทำให้เกิดโครงสร้างที่แข็งแรง

ไคทิน เป็นองค์ประกอบหลักของโครงร่างแข็งภายนอกของอาร์โทพอด ซึ่งวิวัฒน์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ อาร์โทพอดสร้างไคทินขึ้นตั้งแต่ราว 550 ล้านปีก่อน ไคทินซึ่งหลั่งออกมาจากหนังกำพร้าจะรวมตัวกับสารประกอบอื่นๆ เพื่อสร้างผิวชั้นนอกสุดที่มีความมันวาวและกันน้ำได้เรียกว่า คิวติเคิล (cuticle)

ไคทินซึ่งเป็นวัสดุที่มีความแข็งอย่างน่าทึ่ง แต่ยืดหยุ่น ช่วยสร้างความแข็งแรงให้ขากรรไกรของแมลง สามารถตัดผ่านได้กระทั่งหินและโลหะ อีกทั้งให้ความยืดหยุ่นระหว่างส่วนต่างๆ ของร่างกายที่มีความแข็ง จึงช่วย ในเรื่องความเร็วและความคล่องแคล่ว เกล็ดเล็กๆ บอบบางที่ปกคลุมตัวแมลงอย่างผีเสื้อก็มีไคทินเช่นกัน ไคทินยังเป็น องค์ประกอบสำคัญของท่อหรือหลอดลมบางๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบหายใจ และขนที่ดักจับละอองเรณู

ดูเหมือนว่าไคทินทำได้เกือบทุกอย่าง เว้นก็แต่ไม่สามารถทำให้โครงร่างแข็งภายนอกขยายตัว ดังนั้น เพื่อที่จะเจริญเติบโต อาร์โทพอดจึงต้องลอกคราบ พวกมันไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องยอมสลัดเกราะไคทินป้องกันตัว เพื่อแลกกับการเจริญเติบโตแม้เพียงน้อยนิด

ในแมลงทับเจาะโอ๊ก (Eurythyrea quercus) ปีกแข็งชั้นนอกสีเหลือบรุ้งและส่วนท้องมีไคทินเป็นส่วนประกอบ ซึ่งช่วยป้องกันร่างกายได้เหมือนเกราะ
ผิวชั้นนอกสุดหรือคิวติเคิลของแมลงทับหลังแดง (Anthaxia Croesus) มีสีสันแพรวพราวได้อย่างไรนั้นยังเป็นปริศนา โปรตีนน่าจะจับตัวกับไคทินเพื่อสร้างเฉดสี ภาพถ่ายส่วนใหญ่ในสารคดีนี้ถ่ายด้วยเลนส์จุลทรรศน์ ภาพถ่ายหลายสิบภาพถูกนำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นภาพคอมโพสิตภาพเดียว เผยให้เห็นรายละเอียดเล็กจิ๋ว
เกราะไคทินผิวมันวาวของแมงป่องเทียม (Neobisium sp.) ช่วยปกป้องสัตว์กินแมลงขนาดเล็กจิ๋วชนิดนี้ แม้ภายนอกจะดูน่าเกรงขาม แต่เหล็กในของมันไม่มีพิษ ต่างจากแมงป่องจริง
เกล็ดไคทินของมอทพระอาทิตย์ตก (Chrysiridia) ก่อรูปเป็นโครงสร้างที่ทำให้เกิดสีสันแวววาว
หนวดที่มีขนของด้วงดีดแดง (Anostirus purpureus) สร้างจากไคทินชนิดที่มีความยืดหยุ่น
ตารวมของแตนสร้างจากเลนส์นับพันๆ ชิ้นซึ่งประกอบด้วยไคทิน
รยางค์ที่ใช้งานได้สารพัดประโยชน์ของแมลงทับมีเกราะไคทินในรูปของเดือยและกรงเล็บ
หากมองด้วยตาเปล่า ด้วงงวงอพยพเขียว (Polydrusus formosus) ดูเหมือนมีผิวชั้นนอกสีเขียว แต่เมื่อมองลึก ลงไปจะเห็นว่าเกล็ดไคทินที่เรียงตัวกันแน่นคือส่วนที่ให้สีสัน
หนวดของด้วงงวงเจาะเฮเซลนัต (Curculio nucum) สามารถพับเก็บในร่องของส่วนปากหรือจมูก ด้วงงวงมักเจาะรูในต้นไม้เพื่อวางไข่
ขนหนาๆ ของแมงมุมด้วงเต่า (Eresus hermani) เพศเมียตัวนี้ซึ่งปกคลุมแม้กระทั่งรยางค์คู่หน้าสุดที่อยู่ ใกล้ปาก (palp) มีคุณสมบัติกันน้ำได้

เรื่อง โซเฟีย มักลอดสกี

ภาพถ่าย นิโกลา รัคเม

ติดตามสารคดี เกราะแมลง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/559422


อ่านเพิ่มเติม ตามหาแมลงกลางพงไพรแอมะซอน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.