การอนุรักษ์ แมนาที บนปากเหว หลังผ่านการตายหมู่ และเฉียดสูญพันธุ์

การสูญพันธุ์เกือบรุกฆาต แมนาที สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่อ่อนโยนเหล่านี้ในฟลอริดาเมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน ผู้คนรณรงค์จนจำนวนแมนาทีเพิ่มขึ้น แต่การล้มตายยกฝูงเมื่อไม่นานมานี้น่าวิตกอย่างยิ่ง

ฉันไม่ได้ตั้งใจจะชวนคนแปลกหน้ามาที่บ้านคุณยายทวดของฉันในบ่ายวันนั้น เดิมทีฉันหวังว่าจะได้สัมภาษณ์บัดดี พาวล์ นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก บนท้องน้ำในคริสตัลริเวอร์ เมืองเล็กๆ ทางเหนือของเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสมัยใหม่ของ แมนาที แต่เรือของเราเสีย และอากาศก็ร้อนเกินกว่าจะอ้อยอิ่งคุยกันแถวท่าเรือ เราจึงมาลงเอยที่นี่ นั่งอยู่คนละฟากบนโซฟาสีส้มเข้าชุดกันในห้องนั่งเล่น

คุณยายทวดย้ายมาอยู่คริสตัลริเวอร์นานกว่า 60 ปีแล้ว เธอจากไปเมื่อปี 1993 เรายังเก็บโซฟาไว้เพราะเป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกถึงเธอ และวัยเด็กของพวกเราที่ใช้เวลาสำรวจแม่น้ำนอกบ้าน บัดดี พาวล์อายุมากกว่าโซฟาพวกนี้เล็กน้อย แต่ดูดีกว่ามากด้วยกิริยาท่างทางยังหนุ่มแน่น และดวงตาตื่นตัวที่หันเหไปทางท้องน้ำข้างนอกตลอดเวลา “เป็นเรื่องจิตใต้สำนึกน่ะครับ” เขาบอก “ผมใช้เกือบทั้งชีวิตมองหาแมนาที จนตอนนี้เหมือนสมองผมเชื่อมต่อถาวรไปแล้วกับภาพที่ใช้ค้นหาพวกมัน”

สมัยพาวล์เติบโตอยู่แถวนี้ในทศวรรษ 1960 แมนาทีแทบไม่มีเหลืออยู่ในฟลอริดา “ได้เจอสักตัวนี่น่าตื่นเต้นสุด ๆ ครับ” เขาบอก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าคนหนึ่งของโลกในด้านสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกินพืชเหล่านี้ เขาลงชื่อท้ายอีเมลว่า “ดร.เจมส์ พาวล์ ประธานและผู้อำนวยการบริหาร พิพิธภัณฑ์สัตว์ทะเลเคลียร์วอเตอร์” แต่เขาชอบให้เรียกว่า บัดดี มากกว่า

แมนาทีที่อุทยานสัตว์ป่าแห่งรัฐโฮโมซัสซาสปริงส์เคี้ยวกินหญ้าเทปที่บริษัทฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซีแอนด์ชอร์ไลน์ เก็บรวบรวมจากคริสตัลริเวอร์ซึ่งอยู่ติดกัน ผักกาดซึ่งบางครั้งใช้เป็นอาหารให้แมนาทีภายใต้การดูแลของมนุษย์ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการให้อาหาร เมื่อไม่มีพืชพรรณที่แมนาทีกินในธรรมชาติ (ภาพถ่าย: เอริกา ลาร์เซน)
แมนาทีรวมฝูงในบ่อน้ำพุโฮโมซัสซาในฟลอริดา ซึ่งท้องน้ำที่อุ่นราว 23 องศาเซลเซียส ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งพักพิงสำคัญแห่งหนึ่งในฤดูหนาวของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมผู้สงบเสงี่ยมเหล่านี้ แมนาทีไม่สามารถอยู่รอดได้ในน้ำที่เย็นกว่า 20 องศา (ภาพถ่าย: เจสัน กัลป์ลีย์)

แมนาที หรือมักเรียกกันว่า วัวทะเล เป็นความผิดปกติในอาณาจักรสัตว์ สิ่งมีชีวิตรักสงบที่ไม่เป็นทั้งสัตว์ผู้ล่าและเหยื่อเหล่านี้เติบโตจนมีขนาดตัวยาวได้ถึงสี่เมตร หนักมากกว่า 900 กิโลกรัม และปลอดความก้าวร้าวในทางวิวัฒนาการโดยสิ้นเชิง  พวกมันยังรวมอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่า “มีเสน่ห์ดึงดูด” ที่มนุษย์หลงใหล การที่เรายังพบเห็นแมนาทีในฟลอริดาเป็นเครื่องเตือนใจว่า มนุษย์ที่ดีสามารถทำอะไรได้บ้าง ผู้คนช่วยให้ประชากรของพวกมันฟื้นกลับมาจากไม่ถึงหนึ่งพันตัวในทศวรรษ 1960 จนมีมากกว่า 7,500 ตัวเมื่อหกปีที่แล้ว ตามการประเมินจากการสำรวจทางอากาศ ด้วยการคุ้มครองและฟื้นฟูถิ่นอาศัยของแมนาที ออกกฎระเบียบป้องกันอุบัติเหตุเรือชน และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนพิเศษชนิดนี้ คริสตัลริเวอร์ เมืองเล็กๆ ทางเหนือของเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ซึ่งได้ชื่อว่า “เมืองหลวงแมนาทีของโลก” เป็นศูนย์กลางการกอบกู้พวกมันกลับคืนมา

แต่ถึงจะประสบความสำเร็จ แมนาทียังคงเผชิญภัยคุกคามร้ายแรง สามในสี่ของประชากร 22 ล้านคน ของฟลอริดาอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง หลายพื้นที่เป็นถิ่นอาศัยหลักของแมนาที และแรงกดดันที่เกิดจากการอาศัยอยู่ของมนุษย์ ส่งผลให้น้ำพุต่างๆ ลำน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำอันงดงามของรัฐนี้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ตัวอย่างเช่น ในลากูนอินเดียนริเวอร์ ถิ่นอาศัยสำคัญแห่งหนึ่งของแมนาทีตามแนวชายฝั่งตะวันออกของฟลอริดาที่มีประชากรหนาแน่น ขยะที่มนุษย์สร้างขึ้นตลอดหลายสิบปี ตะกอนจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปุ๋ยจากสนามหญ้าและเรือกสวน ทำให้น้ำขุ่นมัวและหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของแมนาทีในบริเวณนั้นตายลง

ใบพัดเรือทำให้หางแมนาทีตัวนี้ผิดรูปไป “ขณะที่มนุษย์มีลายนิ้วมือ” เวย์น ฮาร์ตลีย์จากชมรมกู้ชีพแมนาที อธิบาย “แมนาทีก็มีลวดลายแผลเป็น” นักวิจัยประเมินว่า ร้อยละ 96 ของแมนาทีโตเต็มวัยในฟลอริดา เคยถูกเรือชนอย่างน้อยหนึ่งครั้งตลอดอายุขัยราว 40 ปีของพวกมันในธรรมชาติ นักชีววิทยาใช้แผลเป็นเหล่านี้ระบุอัตลักษณ์ของแมนาที แต่ละตัว (ภาพถ่าย: เอริกา ลาร์เซน)
นักท่องเที่ยวยืนดูแมนาทีหลบพักในคลองผันน้ำออกที่ศูนย์พลังงานสะอาดริเวียราบีชเน็กซ์เจเนอเรชั่น ของบริษัท ไฟฟ้าและแสงสว่างฟลอริดา ในปาล์มบีชเคาน์ตี นักวิทยาศาสตร์และผู้บริหารด้านสัตว์ป่าภาครัฐ มักแวะเวียนมาที่นี่และแหล่งน้ำอุ่นอันเป็นที่พักพิงในฤดูหนาวแห่งอื่นๆ เพื่อประเมินจำนวนประชากรแมนาที (ภาพถ่าย: เอริกา ลาร์เซน)

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แมนาทีมากกว่าหนึ่งพันตัวในลากูนแห่งนี้พากันล้มตาย  ขณะยอดการตายพุ่งสูงขึ้น สถานพักฟื้นที่ให้ความช่วยเหลือและดูแลแมนาทีเจ็บป่วย โดยหวังว่าจะนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้  ซึ่งมีสวนสัตว์ซูแทมปาที่ลาวรีพาร์กและซีเวิลด์ ในเมืองออร์แลนโดรวมอยู่ด้วย ต้องแบกรับภาระล้นมือเนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของป่วยใหม่ๆ

สื่อนำเสนอภาพการตายยกฝูงของแมนาทีว่าเป็นสัญญาณเตือน แต่พาวล์มองอีกมุมหนึ่ง “ผู้คนเอาแต่พูดเรื่องแมนาทีโดยเปรียบพวกมันเป็นเหมือนนกคะแนรีที่ช่วยเตือนภัยแก๊สพิษในเหมือง  แต่เมื่อถึงเวลาที่เจ้านกคะแนรีตาย คนงานเหมืองตายเรียบไปก่อนนานแล้วครับ” พูดอีกนัยหนึ่งคือ ความตายของแมนาทีไม่ใช่สัญญาณเตือน ถึงภัยพิบัติที่จะมาถึง การหายไปของพวกมันนี่แหละคือภัยพิบัติ เป็นผลลัพธ์ของการเตือนภัยที่ถูกเพิกเฉยมาเนิ่นนาน

 การนำสัตว์ที่มีเสน่ห์ดึงดูด เช่น ช้าง (ญาติบนบกใกล้ชิดที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ของแมนาที) แพนด้า และโลมา มาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการอนุรักษ์  ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทรงพลังเพื่อปกปักพวกมันได้  ย้อนหลังไปเมื่อปี 1978 รัฐบัญญัติเขตคุ้มภัยแมนาทีฟลอริดาระบุข้อกำหนดให้รัฐนี้เป็น “พื้นที่พักพิงและคุ้มครอง” สำหรับแมนาที โดยออกกฎจำกัดความเร็วเรือในแหล่งน้ำอุ่นซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองในฤดูหนาว รวมถึงคริสตัลริเวอร์ด้วย มาตรการดังกล่าวเกื้อหนุนรัฐบัญญัติคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งกลายเป็นกฎหมาย ก่อนแล้วในช่วงต้นทศวรรษนั้น

ริ้วหญ้าเทปพลิ้วจากปากแมนาทีตัวหนึ่งในอุทยานแห่งรัฐอิเชทัคนีสปริงส์ น้ำผิวดินปนเปื้อนมลพิษจากเขตเมืองและเรือกสวนไร่นาที่ถูกชะลงทางน้ำจำนวนมาก ฆ่าหญ้าทะเลและพืชน้ำซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการอยู่รอด ของสัตว์ชนิดนี้ แต่แม่น้ำอิเชทัคนียังถือว่าค่อนข้างบริสุทธิ์ (ภาพถ่าย: เจสัน กัลป์ลีย์)
ในบ่อน้ำพุแฟนนิง แมนาทีตัวหนึ่งลอยตัวอยู่อย่างเชิญชวน ในชั้นน้ำบาดาลอุ่นใส เหนือชั้นน้ำสีน้ำตาลที่เย็นกว่า จากแม่น้ำสุวานนีที่หลากท่วมอยู่ แมนาทีดูอ้วนจ้ำม่ำเพราะมีระบบทางเดินอาหารขนาดมหึมาเพื่อย่อยสสารพืช ที่พวกมันต้องกินเพื่ออยู่รอด (ภาพถ่าย: เจสัน กัลลีย์)

“ใครๆ ก็หลงใหลพวกมันค่ะ” ลิซา สมิท พนักงานดูแลสัตว์ที่ศูนย์อภิบาลแมนาทีป่วยวิกฤติเดวิด เอ. สแตรซ จูเนียร์ ของสวนสัตว์ซูแทมปา กล่าว ตามร้านขายของที่ระลึกในรัฐนี้ เราจะพบสินค้าทุกรูปแบบทำเป็นรูปแมนาที ตั้งแต่ไม้เกาหลัง และสายจูงสุนัข ไปจนถึงกล่องไปรษณีย์รูปแมนาทีสูง 1.5 เมตร สมาชิกกลุ่มว่าด้วยแมนาทีในเฟซบุ๊ก โพสต์แลกเปลี่ยนภาพมีม และอวดงานศิลปหัตถกรรมรูปแมนาที

แต่สัตว์มีเสน่ห์ดึงดูดอาจปลุกกระแสให้เกิดความขัดแย้งได้เช่นกัน และแมนาทีก็เคยเป็นต้นเหตุการแบ่งขั้วรุนแรงมาแล้ว โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รณรงค์สนับสนุนอย่างแรงกล้า และอีกฝ่ายเป็นนักพัฒนาชายฝั่ง เจ้าของกิจการธุรกิจ และนักเล่นเรือเพื่อนันทนาการที่ต้องการใช้น่านน้ำของฟลอริดาอย่างอิสระ การแบ่งแยกครั้งนั้นกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ สงครามแมนาที

ผู้คนเห็นอะไรน่าทึ่งในสัตว์รูปร่างเหมือนเรือเหาะบู้บี้ วันๆ เอาแต่กิน นอน และผายลม คำตอบอาจพบได้ ในอุโมงค์แมนาทีที่ศูนย์อภิบาลแมนาทีป่วยวิกฤติของสวนสัตว์ซูแทมปา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถรองรับสัตว์อันเป็นเอกลักษณ์ของฟลอริดาเหล่านี้เข้ารักษาและพักฟื้นได้มากกว่า 20 ตัวพร้อมๆ กัน

ป้ายและสัญลักษณ์รูปแมนาทีช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้เมืองคริสตัลริเวอร์ (ภาพถ่าย: เอริกา ลาร์เซน)

ตู้ไปรษณีย์ตู้นี้เป็นหนึ่งในของแปลกที่ทำเป็นรูปแมนาที ซึ่งพบได้ทั่วไปในคริสตัลริเวอร์ (ภาพถ่าย: เอริกา ลาร์เซน)

ภายในอุโมงค์ที่ว่านั้นมืดเหมือนอยู่ในครรภ์ มีเสียงเพลงแปลกหูบรรเลงคลอเบาๆ หลังแผ่นกระจกหนา เหล่าแมนาทีดูคล้ายกำลังลอยตัวตีลังกาในอวกาศเหมือนมนุษย์อวกาศ เศษผักกาดกระทบแสงไฟส่องประกายเหมือนดวงดาว ครีบคู่หน้าของแมนาทีเคลื่อนไหวเหมือนแขนท่อนล่างของมนุษย์ และมีเล็บเรียงอยู่ตรงปลายครีบ เป็นเครื่องหมายบ่งบอกอายุ 50 ล้านปีจากบรรพบุรุษที่เคยเดินเหินอยู่บนบก ขนเหนียวแข็งบนผิวหนังสีเทาชนวน ทำหน้าที่เหมือนเสาอากาศรับความรู้สึกโดยการสัมผัส ทำให้พวกมันมีประสาทสัมผัสชั้นดีคอยช่วยนำทางโดยการตรวจจับการเคลื่อนไหวของน้ำ

ผู้มาเยี่ยมชมจำนวหนึ่งที่ถูกสะกดด้วยความสง่างาม นิ่งสงบยากหยั่งถึงของแมนาที ยืนนิ่งอยู่กับที่ คนอื่นๆ พึมพำว่าพวกมันช่างน่ารักน่าชัง

แมนาทีรวมฝูงบนพื้นทรายใกล้บ่อน้ำพุโฮโมซัสซา ซึ่งท้องน้ำจะอุ่นในฤดูหนาว ประมาณการว่า ในฟลอริดาปัจจุบัน อาจมีแมนาทีมากถึง 7,500 ตัว เพิ่มจากไม่ถึงหนึ่งพันตัวเมื่อ 50 ปีก่อน (ภาพถ่าย: เจสัน กัลป์ลีย์)
น้ำอุ่นสะอาดในบ่อระบายน้ำที่บริษัทการไฟฟ้าแทมปา รวมทั้งที่โรงไฟฟ้าอื่นๆ ในฟลอริดา ให้ที่หลบภัยโดยไม่ตั้งใจสำหรับการพักพิงในฤดูหนาว เมื่อมหาสมุทรเย็นเกินไปสำหรับแมนาที (ภาพถ่าย: เจสัน กัลป์ลีย์)

ทุกคนหัวเราะคิกคักเมื่อแมนาทีตัวหนึ่งว่ายผ่านหน้าแล้วหมุนตัวควงสว่าน พลางปล่อยฟองอากาศเป็นสายออกมาจากก้น ก่อนจะโบกหางรูปใบพายขนาดใหญ่พุ่งตัวจากไป เช่นเดียวกับวัวบก วัวทะเลเป็นสัตว์มังสวิรัติที่กินเก่งและมีแก๊สเยอะ แมนาทีหน้าตาไม่สวยเท่า และที่แน่ ๆ “มีความเป็นดาราน้อยกว่า” เหล่าโลมาหุ่นเพรียวขี้เล่น นักเขียนชาวคิวบา มานูเอล เปเรรา เขียนไว้ แต่เสริมว่า “สัญชาตญาณความเป็นแม่ทั้งจักรวาลรวมอยู่ในสัตว์ชนิดนี้”

ความหลงใหลในแมนาทีเพียงพอจะรับประกันความอยู่รอดของพวกมันในฟลอริดาได้หรือไม่ น่าจะได้ ถ้าขยายออกไปไกลกว่าร้านขายของที่ระลึก

“สิ่งที่คนไม่เข้าใจ” สมิทบอกและเสริมว่า “คือความจำเป็นต้องช่วยเจือจุนให้พวกมันอยู่ตามลำน้ำต่างๆได้” เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องนี้หมายถึงการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลและพืชพรรณน้ำจืด ซึ่งเป็นฐานค้ำจุนชีวิตพวกมัน และสุขภาวะโดยรวมของท้องน้ำในฟลอริดา หญ้าทะเลกักเก็บคาร์บอนที่เรียกกันว่า “คาร์บอนสีน้ำเงิน” หรือคาร์บอนที่ถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทรและระบบนิเวศชายฝั่ง ได้เร็วกว่าที่ป่าฝนเขตร้อนทำได้ 35 เท่า และกักเก็บเป็นปริมาณต่อไร่ มากกว่าถึงสองเท่า

เรื่อง จีนา สเตฟเฟนส์

ภาพถ่าย เจสัน กัลลีย์ และเอริกา ลาร์เซน

ติดตามสารคดี เพื่อความรักต่อแมนาที ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/567622


อ่านเพิ่มเติม การปรากฏตัวของพะยูนในไทยสร้างความหวังใหม่ให้เหล่านักอนุรักษ์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.