มนุษย์เริ่มเลี้ยงสุนัขไว้เป็นเพื่อนคู่กาย แล้วเริ่ม เลี้ยงแมว ไว้ทำอะไร!

สารคดีล้อเลียน (Mockumentary) เรื่อง Cunk on Earth ใน Netflix ที่ชวนผู้ชมสำรวจประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในรูปแบบคำถามและการนำเสนอสุดเพี้ยน กำลังเป็นกระแสในโลกออนไลน์ (รวมถึงในประเทศไทย)

โดยในสารคดีมีคำถามและประโยคสุดกวนโอ๊ยเผยแพร่ไปหลายประโยค รวมไปถึง “มนุษย์ยุคแรกเลี้ยงหมาเพื่อเป็นเพื่อนคู่กาย และเลี้ยงแมวไว้ทำอะไรก็ไม่รู้” แม้จะรู้สึกตลกกับคำกล่าวนี้แค่ไหน แต่ทาสแมวอย่างเราย่อมต้องหาคำตอบ! แล้วแมวบ้านมีที่มาอย่างไร? ซึ่งตามประวัติศาสตร์บอกว่าเหล่าแมวเริ่มเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์มานานกว่า 12,000 ปีมาแล้ว แต่ลักษณะนิสัยยังคงเหมือนเดิม ไม่ต่างจากตอนเป็นแมวป่า

โดยแมวถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่ชวนให้มนุษย์นั้นงงงวย พวกมันทั้งโดดเด่นและครองใจมนุษย์มากมาย เรารับเอาแมวมาเลี้ยงอย่างเต็มใจ และดูเหมือนว่าเจ้าเหมียวจะทำตัวเหมือน ‘ถูกรับเลี้ยง’ ได้อย่างเนียน

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมกลับบอกว่า แมวบ้านไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากแมวป่าในธรรมชาติเลย แค่ลวดลายบนขนต่างออกไปเล็กน้อยเท่านั้น

แล้วจุดเริ่มต้นของเจ้าตัวร้ายขนปุยที่มานอนอยู่บนโซฟาของคุณนั้นเป็นอย่างไร? นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาศึกษาและประเมินกันอยู่นานพอสมควร ซึ่งตามดีเอ็นเอของพวกมันบอกว่า ช่วงเวลาประมาณ 12,000 ปีที่แล้ว อันเป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มลงหลักปักฐานเป็นสังคมเกษตรกรรม แมวป่าที่อยู่ในแถบตะวันออกกลาง เริ่มเข้ามาป้วนเปี้ยนใกล้ ๆ

การคาดการณ์นี้ค่อนข้างสมเหตุสมผล เนื่องจาก เมื่อมีการทำเกษตร มนุษย์ก็ต้องการยุ้งฉางเพื่อเก็บพืชผล ซึ่งศัตรูพืชที่มาแย่งชิงอาหารเหล่านี้ก็คือ หนู

และเมื่อหนูมา นักล่าของมันอย่าง ‘แมว’ ก็ตามมาติด ๆ เป็นไปได้ว่าทักษะการจัดการเหยื่ออย่างยอดเยี่ยมได้สร้างความประทับใจให้กับมนุษย์ ผู้คนต่างยินดีกับการหายไปของหนู และแมวก็ยินดีที่มีเหยื่อมากมายให้ล่า

กระนั้น นักเขียน เอลเลน เพอร์รี่ เบอร์เคลลีย์ (Ellen Perry Berkeley) เคยกล่าวไว้ว่า “เจ้าของแมวทุกคนรู้ดีว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของแมว” เช่นเดียวกับ โรเบิร์ต เจ. โวเกล (Robert J. Vogel) ที่กล่าวอีกว่า “สุนัขเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ แมวเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของแมว”

ทำให้แมวเข้า-ออก ไปไหนมาไหนก็ได้ตามที่มันอยากทำ และดูเหมือนว่ามนุษย์ในยุคเกษตรกรรมก็เต็มใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น คลาวดิโอ ออตโตนี (Claudio Ottoni) จากมหาวิทยาลัยลัวเวน ประเทศเบลเยี่ยมระบุว่า นี่อาจเป็นการเผชิญหน้าครั้งแรกระหว่างมนุษย์กับแมว และผู้คนก็ปล่อยให้แมวดูแลตัวเอง ความอิสระของมันอาจทำให้มันพาตัวเองไปอยู่บนเรือที่เดินทางไปทั่วโลก ได้พบปะกับคนมากมาย

แล้วใครบ้างจะไม่รักสิ่งชีวิตนี้? เมื่ออ้างอิงกับทฤษฎีทางจิตวิทยา แมวก็มีความคล้ายคลึงกับเด็กทารก ที่กระตุ้นให้เกิดสัญชาตญาณที่เราอยากจะปกป้องดูแล มันทั้งขนนุ่มฟู ดวงตากลมโต จมูกอมชมพูอันเล็กจิ๋ว รวมถึงเสียงเล็ก ๆ น่ารัก ณ ช่วงเวลาใดสักแห่งระหว่างหมื่นปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน โดยแมวก็เริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับเรา และเริ่มเข้าสังคมกับเราเช่นกัน

เคยมีการศึกษาระบุไว้ว่า การที่มนุษย์อุ้มลูกแมว 40 นาทีต่อวัน ทำให้ลูกแมวตัวนั้นเป็นมิตรต่อมนุษย์มากกว่าการอุ้ม 15 นาทีต่อวัน หรือการที่มนุษย์สัมผัสลูกแมวบ่อย ๆ ก็มีแนวโน้มว่าลูกแมวตัวนั้นจะยอมรับมนุษย์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

แต่ความสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องซับซ้อน และมีปัจจัยอีกมากที่เรายังไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ทราบไว้ว่า แม้ตัวแมวเองจะเข้าสังคมกับมนุษย์ได้ แต่พันธุกรรมภายในมันก็ยังคงเป็นเหมือนแมวป่าไม่เปลี่ยนแปลง

พวกมันจึงทั้ง ห่างเหิน น่ารัก เงียบสงบ เป็นที่รัก น่าสะพรึงกลัว สง่างาม น่าพิศวง และแม้แต่ดุร้าย กลายเป็นสัตว์ที่มีอิทธิพลในหน้าประวัติศาสตร์ทั่วโลก ตั้งแต่อารยธรรมอียิปต์โบราณ ตำนานชาวนอร์สในสแกนดิเนเวีย อารยธรรมเปอร์เซีย และรวมไปถึงทำเนียบรัฐบาลของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

มีที่ไหนที่ไม่มีเจ้าขนปุยบ้าง?

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

https://www.nationalgeographic.com/science/article/domesticated-cats-dna-genetics-pets-science

https://www.smithsonianmag.com/history/a-brief-history-of-house-cats-158390681

https://www.boehringer-ingelheim.com/animal-health/animal-health-news/history-cats

https://www.alleycat.org/resources/the-natural-history-of-the-cat/

https://www.psychologytoday.com/us/blog/animal-emotions/202003/the-cat-human-relationship-and-factors-affect-it

บทความที่เกี่ยวข้อง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.