วันที่ 10 เมษายน 2566 สวนสัตว์นครราชสีมา หน่วยงานในองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้เปิดตัว “ลูกพญาแร้ง” ตัวแรกของประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงาน “โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ของประเทศไทย”
รายงานข่าวระบุว่า แม่พญาแร้งออกไข่ใบแรกมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 และทางเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ได้นำเข้าตู้ฟัก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566
“จากนั้นลูกพญาแร้งจากไข่ใบแรกฟักออกมาเป็นตัวเมื่อวันที่8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาการฟักในตู้ฟักประมาณ 50 วันขณะนี้ลูกนกอายุ 1 เดือน สมาชิกใหม่เกิดจากแม่ชื่อว่า “นุ้ย” และพ่อชื่อ “แจ็ค” หลังจากพญาแร้งน้อยลืมตาดูโลกก็ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ มาระยะหนึ่งแล้ว” ตัวแทนองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และองค์การสวนสัตว์นครราชสีมา อธิบายตอนหนึ่งในการเปิดตัว “ลูกพญาแร้ง” สมาชิกใหม่
ทั้งนี้โดยธรรมชาติพญาแร้งจะออกไข่ครั้งละ 1 ฟองเท่านั้นต่อฤดูการผสมพันธุ์ แต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากร ทางเจ้าหน้าที่โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จึงนำไข่มาฟักในตู้ฟักเพื่อเพิ่มอัตราการฟักเป็นตัวมากยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มประชากรโดยหวังให้แม่พญาแร้งออกไข่ใบที่สอง
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยที่แม่พญาแร้ง สามารถออกไข่ใบที่สอง ซึ่งใบนี้จะปล่อยให้แม่พญาแร้งฟักเองเพื่อยังคงสัญชาตญาณตามธรรมชาติ
นายธนชน เคนสิงห์ ผอ.สวนสัตว์นครราชสีมา กล่าวว่า ทีมสัตวแพทย์ ระบุว่าในช่วง 1 เดือนแรกจะต้องดูแลลูกพญาแร้งตัวแรก พญาแร้งที่เป็นนกล่าเหยื่อ และต้องดูแลจนกว่านกจะฝึกบินได้ใน 6 เดือน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
นอกจากนี้ยังอาจมีการหารือว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่จะปล่อยลูกนกพญาแร้งกลับถิ่นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่ทั้งหมดต้องมีหารือกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยมี “แร้ง” อยู่ในธรรมชาติด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิด เป็นแร้งประจำถิ่น 3 ชนิด ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว แร้งสีน้ำตาล และเป็นแร้งอพยพ 2 ชนิด ได้แก่ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย และแร้งดำหิมาลัย ส่วนทั่วโลกมีแร้งทุกสายพันธุ์ในธรรมชาติเหลือไม่ถึง 9,000 ตัวทั่วโลก ส่วนในสวนสัตว์และสถานที่เพาะเลี้ยงมีไม่ถึง 30 ตัวทั่วโลก
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นความสำเร็จของไทย ก่อนหน้านี้ สวนสัตว์โคราช มีความพยายามเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งมากว่า 20 ปี หลังจากพ่อแม่พญาแร้งคู่แรกในสวนสัตว์นครราชสีมา เริ่มออกไข่ใบแรกเมื่อปี 2563 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไข่ไม่มีเชื้อ
ขณะที่พญาแร้งฝูงสุดท้ายที่เคยมีในเมืองไทยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ถูกวางยาเบื่อและสูญพันธุ์จากธรรมชาติเมื่อ 30 ปี ขณะที่ไทยมีพญาแร้งในกรงเลี้ยงเพียง 6 ตัวอยู่ในความดูแลของสวนสัตว์โคราช จ.นครราชสีมา
พญาแร้ง ถือเป็นนกเทศบาลประจำพื้นป่า พญาแร้งแม้เขาจะเป็นนกนักล่า แต่วิธีการหาอาหารของแร้งไม่เหมือนกับนกล่าชนิดอื่น พญาแร้งไม่ฆ่าสัตว์อื่น แต่จะรอเวลาให้สัตว์ตาย แล้วก็กินเนื้อจากซากสัตว์เหล่านั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงมีหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศ เป็นนกเทศบาลประจำผืนป่านอกจากการมีอยู่ของพญาแร้งจะแสดงให้เห็นถึงความครบครันของธรรมชาติแล้ว การกำจัดซากสัตว์ของพญาแร้ง ย่อมเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นและอาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้น ๆ ซึ่งหากมองในมุมด้านสุขอนามัย พญาแร้งจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะผู้ดูแลสุขภาพของผืนป่าให้ปลอดภัยปราศจากโรคร้าย
ที่มา : โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย” , องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ภาพ : เฟสบุ๊ค มูลนิธิสืบนาคะเสถียร