แร้ง: วายร้ายแสนดี

แร้ง: วายร้ายแสนดี

แร้ง : วายร้ายแสนดี

พอตกเย็น ดูเหมือนว่าวิลเดอบีสต์ตัวนี้ดวงคงถึงฆาตแล้ว  ถ้าไม่เพราะป่วยก็เพราะบาดเจ็บ  มันระหกระเหินไกลจากฝูงหลายกิโลเมตรบนที่ราบเซเรงเกติในแทนซาเนีย  ครั้นรุ่งสาง  วิลเดอบีสต์ผู้โดดเดี่ยวก็ตายลง มี แร้ง ราว 40 ตัวรุมทึ้งร่างไร้วิญญาณของมันกันอย่างอลหม่าน แร้งบางตัวยืนหลังค่อมรอคอยอย่างอดทน สายตาจับจ้องอาหารอันโอชะ แต่ส่วนใหญ่ต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย  พวกมันสยายกรงเล็บเข้าจิกตี  เดี๋ยวรุกเดี๋ยวถอย  ตัวหนึ่งกระโจนขึ้นขี่หลังอีกตัว  ขณะที่ฝ่ายหลังพยายามสลัดออก ฝูงแร้งแตกฮือออกจากซาก แล้วพุ่งกลับเข้าไปใหม่ คอสีดำและสีน้ำตาลผงกขึ้นลงเป็นระลอกคลื่น  ปากคอยทิ่มแทง  ปีกก็กระพือฟาดไปมา  แร้งผู้หิวโหยตัวใหม่ๆโฉบลงมาจากเบื้องบนอย่างไม่ขาดสาย พวกมันหลุบหัวลง กระโดดเหยงๆ บ้างหกคะเมนตีลังกา  ขณะยื้อแย่งเข้าร่วมวงแร้งทึ้ง

ทำไมพวกมันถึงต้องแก่งแย่งซากกันอย่างโกลาหลและตะกละตะกรามขนาดนี้ ก็เพราะวิลเดอบีสต์มีหนังหนาและไม่ได้ตายเพราะถูกสัตว์นักล่าฆ่า ซากจึงไม่มีแผลเปิดที่กว้างพอให้แร้งจิกกินกันได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นนกตัวที่กล้าบ้าบิ่นที่สุดจึงต้องแก่งแย่งอย่างบ้าระห่ำเพื่อเข้าถึงเนื้อ  เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างนั้น เมื่อแร้งหิวจัด 40 ตัวพยายามยื้อแย่งเพื่อมุดเข้าไปในรูและช่องเปิดต่างๆ บนตัววีลเดอร์บีสต์

ขณะที่ซากวิลเดอบีสต์ค่อยๆ หดหาย วงแร้งที่อิ่มแปล้พากันเดินทอดน่องขยายวงออกไปบนพื้นหญ้าเตี้ยๆ แร้งซึ่งมีกระเพาะพัก [crop – อวัยวะรูปร่างคล้ายถุงเป็นส่วนหนึ่งของหลอดอาหาร] พองโตพักหัวลงบนปีกที่พับเข้ามาและปิดหนังตาที่สามลง  ไม่มีเสียงอื้ออึงและความโกลาหลอีกต่อไป  พวกมันพักผ่อนอย่างสงบสุข

แร้ง
ในเซเรงเกติ สุนัขจิ้งจอกออกอาการเกรี้ยวกราดใส่แร้งหลังขาวที่ยังโตไม่เต็มวัย เมื่อฝ่ายหลังเข้าไปกินซาก วิลเดอบีสต์โดยไม่ได้รับเชิญ สัตว์นักล่าบนพื้นดิน เช่น สุนัขจิ้งจอกและไฮยีนา มีอาณาเขตหากินจำกัด ขณะที่แร้งซึ่งบินสูงอยู่เบื้องบนมีระยะการมองเห็นไกลกว่ามาก พวกมันมองเห็นซากที่อยู่ห่างออกไป 35 กิโลเมตรได้ไม่ยาก

แร้งอาจเป็นนกที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดในโลก  พวกมันเป็นเหมือนอุปมาที่มีชีวิตของความโลภโมโทสันและตะกละตะกลาม ในบันทึกระหว่างเดินทางไปกับเรือหลวง บีเกิล เมื่อปี 1835 ชาร์ลส์ ดาร์วิน พูดถึงแร้งว่า “น่าขยะแขยง” มีหัวล้าน “ไว้เกลือกกลั้วของเน่าเหม็น”

น่ารังเกียจใช่ไหม  บางทีอาจเป็นอย่างนั้น  แต่ก็ใช่ว่าแร้งจะไม่มีข้อดีเสียเลย  พวกมัน (แทบ) ไม่ฆ่าสัตว์อื่น อาจจับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว และเรารู้ว่าพวกมันช่วยกันเลี้ยงลูก  พักผ่อนและอาบน้ำเป็นฝูงใหญ่อย่างกลมเกลียว  ที่สำคัญที่สุดคือแร้งทำหน้าที่เชิงนิเวศวิทยาที่สำคัญยิ่ง  แต่มักถูกมองข้ามชนิดไม่เห็นหัว  นั่นคือการเก็บกวาดและกำจัดซากสัตว์ที่ตายแล้วอย่างรวดเร็ว   ทำให้กระบวนการย่อยสลายและนำกลับมาใช้ใหม่เกิดขึ้นได้  แร้งตัวหนึ่งกินเนื้อได้ราวหนึ่งกิโลกรัมภายในหนึ่งนาที  ฝูงแร้งขนาดย่อมๆสามารถกินเนื้อม้าลายจากปลายจมูกถึงหางหมดได้ภายใน 30 นาที  หากปราศจากแร้ง  ซากสัตว์ที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่าอาจคงสภาพอยู่นานขึ้น ส่งผลให้ประชากรแมลงเพิ่มขึ้น และเชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่คน ปศุสัตว์ และสัตว์ป่าอื่นๆ

แต่การจัดการอันเยี่ยมยอดที่ผ่านการขัดเกลามายาวนานนี้ใช่ว่าจะอยู่ยั้งยืนยง อันที่จริงในหลายภูมิภาคสำคัญ ระบบนี้เสี่ยงต่อการล่มสลาย  แอฟริกาสูญเสียแร้งหนึ่งชนิดจากที่มีอยู่ 11 ชนิดไปแล้ว  นั่นคือแร้งดำหิมาลัย และขณะนี้แร้งอีกเจ็ดชนิดก็อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งหรือใกล้สูญพันธุ์  แร้งบางชนิด เช่น แร้งหน้าแดง ส่วนใหญ่พบเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์ (ซึ่งตัวพื้นที่เองก็อยู่ในภาวะถูกคุกคาม) ส่วนประชากรแร้งอียิปต์และแร้งเคราในหลายภูมิภาคก็เกือบสูญพันธุ์เต็มที

วันแดดจ้าวันหนึ่งของเดือนมีนาคม ดาร์ซี โอกาดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการประจำแอฟริกาของกองทุนเพเรกริน  (The Peregrine Fund) องค์กรที่มุ่งอนุรักษ์นกนักล่า  เดินทางไปยังภูมิภาคมาไซมารา ประเทศเคนยาพร้อมกับมูเนียร์ วีรานี  เพื่อนร่วมงาน

แร้ง
แร้งสีน้ำตาลอ่อน (Gyps coprotheres) จ้องมองลงมาจากหน้าผาที่ติดตั้งรังเทียมใกล้มากาลีสเบิร์ก ในแอฟริกาใต้ ศูนย์เพื่อการเพาะขยายพันธุ์ ส่งเสริมงานวิจัย และฟื้นฟูแร้งแห่งนี้ดำเนินงานโดยวัลโปร (VulPro) องค์กรที่ทำงานเพื่อฟื้นฟูประชากรแร้งในแอฟริกา

วีรานีถามเจ้าของปศุสัตว์ชาวมาไซที่เราพบว่า  พวกเขาสูญเสียปศุสัตว์ให้สัตว์นักล่าบ้างไหมในระยะหลังๆ คำตอบที่ได้ยินเสมอคือ “ครับ เพื่อนบ้านผมก็เหมือนกัน”  ปกติแล้ว  สิงโตมักโจมตีเหยื่อตอนกลางคืน เมื่อวัวถูกขังไว้ในคอกที่ล้อมรั้วด้วยพุ่มไม้หนามเรียกว่าโบมาเรียบร้อยแล้ว  สิงโตส่งเสียงคำราม จากนั้นวัวที่หวาดกลัวก็พากันแตกตื่นวิ่งฝ่าประตูคอกหนีกระจัดกระจายออกไป  สุนัขเห่าปลุกเจ้าของ แต่ก็มักสายไปเสียแล้ว  วัวที่ถูกฆ่าหนึ่งตัวเทียบเท่ากับการสูญเงิน 30,000 ชิลลิง (300 ดอลลาร์สหรัฐ) นับเป็นหายนะสำหรับครอบครัวที่ใช้ปศุสัตว์แทนเงินตรา (วัวเพศผู้ตัวหนึ่งอาจมีมูลค่าถึง 100,000 ชิลลิง)

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการตอบโต้ ชาวบ้านล่ามสุนัข เก็บซากเหยื่อที่สิงโตกินเหลือแล้วนำมาคลุกด้วยฟูราดานซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงออกฤทธิ์เร็ว และลักลอบซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย  สิงโตย้อนกลับมากินเหยื่อ  โดยมักมากันทั้งครอบครัว  แล้วก็พากันตายยกครัว (นักวิจัยประเมินว่า เคนยาสูญเสียสิงโตปีละ 100 ตัวในความขัดแย้งนี้ และทั้งประเทศเหลือสิงโตอยู่ราว 1,600 ตัว)  หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่แร้งจะมากินซากปศุสัตว์นี้เช่นกัน หรือไม่ก็กินซากสิงโตที่กินยาฆ่าแมลงเข้าไป ไม่ว่าจะกินอะไร แร้งซึ่งมักลงกินซากเป็นฝูงใหญ่กว่า 100 ตัว ก็พลอยตายตามไปด้วย

แร้ง
แร้งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ มากกว่าจะเป็นแค่วายร้ายไร้ประโยชน์ เพราะพวกมันเป็นผู้กำจัดซากสัตว์ที่ไม่เช่นนั้นจะเน่าเปื่อยและแพร่โรคระบาดร้ายแรง ในภาพนี้ แร้งปีกลายเกล็ด (Gyps rueppelli) ฉีกเนื้อเยื่อจากหลอดลมของซากวิลเดอบีสต์

ไม่น่าเชื่อว่าสารประกอบที่ผลิตขึ้นเพื่อฆ่าหนอนและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เพียงไม่กี่เม็ดจะสามารถสังหารสัตว์ที่มีน้ำย่อยเป็นกรดสูงพอจะต้านทานเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า อหิวาตกโรค และแอนแทรกซ์ได้ อันที่จริงโอกาดาแทบไม่รู้เรื่องฟูราดานเลยจนกระทั่งปี 2007  เมื่อเธอเริ่มได้รับอีเมลจากเพื่อนร่วมงานเรื่องสิงโตถูกวางยาเบื่อ  “เป็นเรื่องน่าตกใจค่ะ” เธอบอก  การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศสูงเป็นอันดับสองของเคนยา และสิงโตก็เป็นดาวเด่นของการท่องเที่ยว  เมื่อปี 2008 นักวิทยาศาสตร์และผู้แทนองค์กรอนุรักษ์และหน่วยงานรัฐบาลจัดการประชุมที่กรุงไนโรบี  เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการวางยาเบื่อและวางแผนรับมือกับปัญหานี้  “เราถึงกับอ้าปากค้าง  กันเลยค่ะ” โอกาดาเท้าความหลัง  “ปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าที่พวกเราคนใดคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่จะคาดคิด” เมื่อโอกาดาและคนอื่นๆเริ่มศึกษาปัญหานี้อย่างจริงจัง พวกเขาประเมินว่า การถูกวางยาเบื่อคิดเป็นสาเหตุการตายของแร้งร้อยละ 61 ทั่วแอฟริกา  ภัยคุกคามจากมนุษย์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากชีววิทยาการสืบพันธุ์ของแร้งเอง  กล่าวคือแร้งจะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุห้าถึงเจ็ดปี  ออกลูกเพียงปีละครั้งหรือสองปีครั้ง และลูกแร้งร้อยละ 90 มักตายในขวบปีแรก  ในช่วง 50 ปีหลังจากนี้ คาดกันว่าจำนวนแร้งในแอฟริกาจะลดลงร้อยละ 70 ถึง 97

เรื่อง เอลิซาเบท รอยต์

ภาพถ่าย ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์

 

อ่านเพิ่มเติม

รวมภาพนกสวยๆ จากทั่วโลก

Recommend