เมื่อพิจารณาสีของผืนฟ้าและผืนสมุทร เราจะพบว่าสีที่ธรรมชาติดูจะโปรปรานคือ “สีน้ำเงิน” สีที่มนุษย์อย่างเราชื่นชอบเช่นกัน หากสีน้ำเงินเป็นหนึ่งในเฉดสีที่พบได้ยากในธรรมชาติแล้ว “สีน้ำเงินอมม่วงที่คล้ายกับประกายของสายฟ้า” สีที่ทีมนักวิจัยใช้อธิบายลักษณะของแมงมุมทารันทูล่าสายพันธุ์ใหม่ หรือที่คนไทยเรียกว่า บึ้งประกายสายฟ้า ซึ่งพบในภาคใต้ของประเทศไทยนั้นถือเป็นสีที่พบได้ยากยิ่งกว่า
บึ้งสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบมีขนาดตัวยาวเกือบ 3 นิ้ว และมีแถบสีน้ำเงินสดที่มีประกายสวยงามตามบริเวณขา หลัง และปาก
บึ้งประกายสายฟ้าที่ทีมวิจัยพบมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ชิโลบราคิส นาทานิชารัม (Chilobrachys natanicharum) เดิมทีมันเป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจขายสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว โดยมีชื่อเรียกตามสีบนลำตัวว่า ทารันทูล่าอิเล็กทริกบลู (electric blue tarantula)
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผลจากงานวิจัยฉบับล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys ได้ยืนยันแล้วว่าบึ้งสีน้ำเงินที่พบในไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นบึ้งสายพันธุ์ใหม่ของโลก
ซาราห์ เจ คาริโค (Sarah J. Kariko) ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า “ในบรรดาทารันทูล่า 900 สายพันธุ์ที่เรารู้จัก มีประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีสีน้ำเงิน”
คาริโค ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับบึ้งประกายสายฟ้าอธิบายเพิ่มว่า “ปกติแล้วเม็ดสีในสัตว์จะเป็นสิ่งที่ทำให้มีขนและผิวหนังของพวกมันมีสีต่าง ๆ เช่น สีแดง และสีเหลือง
แต่สำหรับสีน้ำเงินนั้นจะมีการเกิดที่แตกต่างออกไป สีน้ำเงินบนตัวทารันทูล่าเกิดจากโครงสร้างระดับนาโนในเส้นขน เมื่อมีแสงไปกระทบตัวของมัน โครงสร้างนาโนภายในขนจะสะท้อนสีน้ำเงินเข้าสู่ตาของเราค่ะ”
“สีที่มีโครงสร้างเช่นนั้นมักจะทำให้เกิดการเหลือบของสีขึ้นได้ครับ ก็เหมือนกับขนนกยูง ถ้าเราเปลี่ยนมุมที่มอง สีของมันจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย ในขณะที่สีที่เกิดจากเม็ดสีจะไม่เปลี่ยนไปไม่ว่าเราจะมองจากมุมไหนก็ตามครับ” รองศาสตราจารย์หลี่ หลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค (Virginia Tech) ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสีของแมงมุมร่วมกับคาริโคกล่าวเสริม
– การค้นพบครั้งใหม่ในป่าชายเลน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุม และผู้นำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รายงานว่า ทารันทูล่าสายพันธุ์ใหม่ หรือบึ้งประกายสายฟ้า ถือเป็นบึ้งชนิดแรกของไทยที่พบในบริเวณป่าชายเลน
ทีมนักวิจัยนำโดยดร.นรินทร์ได้เดินทางไปยังป่าชายเลนในจังหวัดพังงา และออกสำรวจต้นไม้ต้นแล้วต้นเล่าตามป่าที่ทั้งชื้นและแฉะในช่วงกลางคืน เพื่อตามหาสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของบึ้ง ซึ่งก็คือใยหนาที่ปกคลุมไปทั่วทั้งโพรงของมัน
ทีมของดร.นรินทร์พบบึ้งประกายสายฟ้าในโพรงต้นไม้ลึก โดยต้องปีนขึ้นไปบนต้นไม้เพื่อหลอกล่อให้มันออกมาจากที่อยู่ นอกจากนี้ การสำรวจครั้งต่อมายังทำให้ทีมนักวิจัยพบว่าบึ้งชนิดนี้อาศัยอยู่ในป่าไม่ผลัดใบเช่นกัน โดยพวกมันจะอาศัยอยู่ในโพรงที่มีระบบนิเวศแยกจากภายนอก
“พวกเราประหลาดใจที่พบว่า บึ้งประกายสายฟ้าก็สามารถอาศัยอยู่ตามป่าไม่ผลัดใบในพื้นที่เนินเขาได้ ความสามารถในการปรับตัวของพวกมันน่าทึ่งมากครับ”
เมื่อนำตัวอย่างกลับมายังห้องแล็บ นักวิทยาศาสตร์ได้นำดีเอ็นเอและลักษณะทางกายภาพของบึ้งประกายสายฟ้าไปเปรียบเทียบกับบึ้งสายพันธุ์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน จากนั้นจึงจำแนกความแตกต่างสำคัญออกมา และแน่นอนว่าหนึ่งในความแตกต่างสำคัญที่พบก็คือสีสันของพวกมัน
.
ชื่อชิโลบราคิส นาทานิชารัม หรือ C. natanicharum ของบึ้งพันธุ์นี้มีที่มาจากชื่อของคุณณฐกร แจ้งเร็ว และคุณนิชดา แจ้งเร็ว ผู้บริหารกลุ่มบริษัทนิชดาธานี ซึ่งเป็นผู้ชนะในการประมูลตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้กับบึ้งประกายสายฟ้า
โดยรายได้จากการประมูลทั้งหมดจะถูกนำไปบริจาคเพื่อสมทบทุนช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทางการศึกษาบนดอยในโรงเรียนบ้านมูเซอ และผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ยากไร้
– ทำไมบึ้งถึงมีสีน้ำเงินสด?
เซบาสเตียน เอเชเวรี (Sebastian Echeverri) ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุมและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์อิสระกล่าวว่า “อาจเป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษหลักของทารันทูล่าจะมีสีน้ำเงินแซมตามตัว หรือบรรพบุรุษของมันอาจจะสามารถผลิตโครงสร้างระดับนาโนซึ่งสะท้อนสีน้ำเงินออกมาสู่ตาคนได้”
เอเชเวรียังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ผลจากงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2020 แสดงให้เห็นว่า สีเขียวและสีน้ำเงินมีอยู่ในทารันทูล่าหลายสายพันธุ์ ซึ่งทารันทูล่าเหล่านั้นจะวิวัฒนาการเรื่อย ๆ เพื่อให้เส้นขนของพวกมันมีสีเหล่านั้น นอกจากนั้นงานวิจัยฉบับนี้ยังชี้ว่าสีของขนมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของทูรันทูล่า
โดยทั่วไปแล้ว สัตว์หลายชนิดมักจะวิวัฒนาการเปลี่ยนร่างกายให้มีสีสดในเพื่อเตือนให้เหล่านักล่าไม่มาเข้าใกล้ พรางตัว หรือดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม และคาริโคเองก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เธอกล่าวว่า “อาจจะเป็นไปได้ว่าสีของทูรันทูล่าสายพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบจะเกี่ยวข้องกับการหาคู่ เพราะพวกมันเกี้ยวพาราสีกันด้วยการเคลื่อนตัวไปมา”
เอเชเวรีเสริมว่า “โดยปกติแล้วทูรันทูล่ามองเห็นสีได้ไม่ดีนัก แต่สีเส้นขนของทูรันทูล่าบางตัวกลับสดสว่างมาก ดังนั้นการจะบอกว่าทูรันทูล่าวิวัฒนาการเปลี่ยนให้ขนของมันมีสีสดเพื่อให้พวกมันเอง และสัตว์อื่น ๆ มองเห็นก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสมเหตุสมครับ”
เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ส่วนที่เป็นสีน้ำเงินเด่นบริเวณปากของทูรันทูล่าอิเล็กทริกบลู หรือบึ้งประกายสายฟ้าอาจเป็นสิ่งที่มีไว้ข่มขู่ผู้ล่า โดยมันอาจจะขู่ว่า “ดูนี่! เขี้ยวฉันใหญ่นะ! ห้ามก้าวมาทางนี้!”
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม บึ้งประกายสายฟ้าก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่ชื่นชอบต่อไป ดังที่เอเชเวรีกล่าวไว้ว่า “เพราะมนุษย์อย่างเรามักจะถูกดึงดูดด้วยสีสันหายากที่ส่องประกายเงางาม เราจึงจำสัตว์ที่มีลักษณะนี้ได้ดีครับ”
เรื่อง ลิซ แลงเลย์ / แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/animals/article/rare-blue-tarantulas-new-species-thailand