ภารกิจตามล่า ” ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ สุดโลก” ในแม่น้ำโขง

เซ็บ โฮแกน นักสำรวจของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ใช้เวลาหลายสิบปีไปกับการหาคำตอบว่า ปลาชนิดใดคือ ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่สุด “ผมคิดว่าการหาปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นคงจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผมคิดผิด” เขายอมรับหลังพบปลากระเบนที่มีน้ำหนักมากถึง 300 กิโลกรัม

การลงไปสำรวจแม่น้ำโขงเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วทำให้เซ็บ โฮแกน (Zeb Hogan) ได้ไอเดียในการริเริ่มโครงการ “เมกะฟิช” (MegaFishes Project) โครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อการค้นหา ศึกษา และปกป้อง ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ชนิดต่าง ๆ โดยมีคำถามสำคัญคือ ‘ปลาชนิดใดคือปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด’ โฮแกนซึ่งเป็นนักชีววิทยาปลาจากมหาวิทยาลัยเนวาดา วิทยาเขตรีโนกล่าวว่า “ผมคิดว่าการหาปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นคงจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผมคิดผิดครับ”

โฮแกนใช้เวลาหลายปีไปกับการสำรวจแหล่งน้ำในโลก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเขามักจะไปในฐานะพิธีกรรายการ “Monster Fish” ของช่อง Nat Geo Wild แม้ว่าเขาจะมีโอกาสได้พบและสัมผัสปลาขนาดใหญ่มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ยังไม่มีปลาตัวไหนที่มีน้ำหนักมากกว่าปลาบึกยักษ์ขนาด 293 กิโลกรัมที่ถูกจับได้ในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นการค้นพบที่จุดประกายให้เขาเริ่มโครงการขึ้น ในทางกลับกัน โฮแกนกลับค้นพบว่า ปลาขนาดใหญ่ในแม่น้ำทั่วโลกยังไม่ถูกสำรวจและศึกษามากพอ  ปลาน้ำจืดขนาดยักษ์ส่วนใหญ่ที่เขาพบก็กำลังลดจำนวนลงอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ปลาบางชนิดยังตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์

นักวิทยาศาสตร์ฝังแท็กอะคูสติกและปล่อยปลาบึกยักษ์แม่น้ำโขงคืนสู่แม่น้ำโตนเลสาบในกัมพูชา ปลาที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้จนมีความยาวอย่างน้อยประมาณ 2.7 เมตรและมีน้ำหนักอย่างต่ำราว ๆ 293 กิโลกรัม Photograph By Zeb Hogan

ในที่สุดโฮแกนและผมก็เริ่มเขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นด้วยกัน ผลงานเรื่อง ‘Chasing Giants: In Search of the World’s Largest Freshwater Fish’ ของเราถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเนวาดาเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา แต่ถึงแม้ว่าจะเขียนต้นฉบับของหนังสือเสร็จไปเมื่อปีที่แล้ว โฮแกนก็ยังคงหาคำตอบให้กับคำถามหลักของโครงการไม่ได้

แต่แล้วเรื่องอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อชาวประมงในประเทศกัมพูชาได้โทรแจ้งทีมวิจัยของโฮแกนว่า พวกเขาจับปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ในแม่น้ำโขงได้ โดยพบว่าปลาตัวนั้นใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าปลากระเบนที่เคยจับได้ ผลปรากฏว่าปลากระเบนยักษ์ที่พบมีความยาวประมาณ 4 เมตร มีน้ำหนักราว ๆ 300 กิโลกรัม และมันได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ ว่าเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2022

การค้นพบในครั้งนี้ทำให้เกิดความพยายามในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ขึ้น ในปี 2005 ปลาบึกยักษ์ที่พบถูกฆ่าและนำเนื้อไปขาย แต่ปลากระเบนยักษ์ที่ถูกจับได้เมื่อปี  2022 นั้นได้กลับคืนสู่ธรรมชาติหลังถูกฝังแท็กอะคูสติก (acoustic tag) สำหรับติดตามความเคลื่อนไหวเพื่อให้นักวิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาที่พวกเขาแทบจะไม่มีข้อมูลอะไรบันทึกเอาไว้เลย

โฮแกนกล่าวว่า “พวกเราสูญเสียปลาเหล่านี้ไปโดยที่ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนัก แต่ในตอนนี้เรามีเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถที่จะศึกษาและปกป้องสิ่งมีชีวิตแสนน่าทึ่งเหล่านี้แล้ว ดังนั้นเราจึงต้องนำข้อมูลใหม่ ๆ ที่เพิ่งค้นพบไปใช้ในการปกป้องพวกมัน ทุกอย่างยังไม่สายเกินไป เพราะยังมีปลาขนาดยักษ์บางชนิดหลงเหลืออยู่ในแม่น้ำอยู่ครับ”

แล้วเขาก็กล่าวเสริมว่า เขายังคงออกสำรวจค้นหาปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าปลากระเบนยักษ์ตัวนั้นอยู่

ผู้ท้าชิงตำแหน่ง ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่สุดในโลก

นักว่ายน้ำขณะว่ายน้ำกับปลาช่อนยักษ์อเมซอน ณ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในเมืองมาเนาช์ ประเทศบราซิล ปลาช่อนอเมซอนนั้นมีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและแม่น้ำสายใหญ่ในประเทศกายอานา เมื่อโตเต็มวัย ปลาชนิดนี้อาจมีขนาดความยาวมากกว่า 3 เมตร และมีน้ำหนักมากกว่า 181 กิโลกรัม นอกจากนี้ ข้อมูลจากบางแหล่งยังระบุไว้ว่า ปลาช่อนยักษ์อเมซอนบางตัวอาจมีน้ำหนักมากถึง 317 กิโลกรัม Photograph Courtesy of Zeb Hogan

ในระหว่างที่โฮแกนดำเนินโครงการเมกะฟิชโดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก เขาได้จัดให้ปลามากกว่า 24 ชนิดเป็น “เมกะฟิช” หรือปลาน้ำจืดที่มีขนาดยาวอย่างน้อย 1.8 เมตร และมีน้ำหนักตั้งแต่ 90.7 กิโลกรัมขึ้นไป กลุ่มปลาที่ถูกนิยามให้เป็นเมกะฟิชนั้นเป็นการรวมตัวของปลาที่มีรูปร่างและประวัติชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย นับตั้งแต่ปลาคาร์ปยักษ์ ปลาบึกยักษ์ ปลาไหลไฟฟ้ายักษ์ ไปจนถึงปลาการ์ขนาดมหึมา

นอกจากขนาดตัวอันใหญ่ยักษ์ของพวกมันแล้ว สิ่งที่เหมือนกันของปลาเหล่านั้นคือ ประชากรของพวกมันกำลังลดลงอย่างเนื่องจากการทำประมงเกินขนาด การสร้างเขื่อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมลพิษ ในช่วงแรก ๆ ที่โฮแกนเริ่มทำการออกสำรวจค้นหาปลาในแม่น้ำ เขาพบว่าปลาปากเป็ดจีนซึ่งสามารถโตได้มากกว่า 6 เมตรนั้นถูกประกาศให้เป็นสัตว์สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ “การตระหนักได้ว่า การที่ปลาขนาดยักษ์ซึ่งบางชนิดอยู่บนโลกมาหลายร้อยล้านปีกำลังสูญพันธุ์ลงในช่วงชีวิตของเรานั้นเป็นอะไรที่น่ากังวลมาก ๆ ครับ” เขากล่าว

ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ดังนั้นการที่มันลดจำนวนลงจึงเป็นสัญญาณเตือนที่น่ากังวลสำหรับระบบนิเวศน้ำจืดในโลก ซึ่งผลการศึกษาก็ชี้ว่า ระบบนิเวศประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมมากกว่าระบบนิเวศทางทะเลและบนบก

การที่โฮแกนมุ่งศึกษาเกี่ยวกับปลาบึกยักษ์แม่น้ำโขงในช่วงแรกของการทำงานในฐานะนักชีววิทยาด้านปลาทำให้เขาตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า ปลาชนิดนี้ รวมไปถึงปลาคาร์ปสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และปลาตะเพียนยักษ์นั้นอาจจะหายจากแม่น้ำโขงไปเป็นจำนวนมากจนเราพบพวกมันได้ยาก

ปลาอีก 2 ชนิดที่เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือปลาอะราไพมา (Arapaima) หรือที่นิยมเรียกกันว่า ปลาช่อนยักษ์อะเมซอน ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่หายใจจากอากาศได้โดยตรงซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ และปลาผู้ท้าชิงอีกหนึ่งชนิดคือปลาเวลส์ หรือปลาดุกเวลส์ (Wels catfish) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป ปลาดุกชนิดนี้เป็นปลากินเนื้อที่กินเยอะและกินอาหารโดยไม่เลือก

อย่างไรก็ตาม ปลาผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งของตำแหน่งนี้มีเพียงชนิดเดียว และปลาชนิดนั้นก็คือปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ที่พบได้ตามแม่น้ำสายต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าประชากรของปลากระเบนชนิดนี้จะเหลือน้อยจนถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ของพวกมันก็ยังอยู่ในสภาวะที่ไม่น่าวิตกเท่าปลาขนาดยักษ์สายพันธุ์อื่น ๆ โฮแกนมุ่งทำการศึกษาและสำรวจแม่น้ำแม่กลองในภาคกลางของประเทศไทยซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมาเป็นเวลาหลายปี แม่น้ำสายนี้เป็นสถานที่ที่บรรดานักตกปลามักจะมาตกปลากระเบนขนาดใหญ่แล้วปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ในระหว่างการถ่ายทำรายการ “Monster Fish” ทีมงานของโฮแกนจับปลากระเบนที่เขาเชื่อว่ามีขนาดใหญ่กว่าสถิติเดิมที่ถูกบันทึกเอาไว้ได้ แต่น่าเสียดายที่ในขณะนั้นทีมงานไม่มีเครื่องชั่งปลาที่มีขนาดใหญ่พอจะชั่งน้ำหนักของมันได้

นักวิทยาศาสตร์ทำการฝังแท็กอะคูสติกและปล่อยปลากระเบนน้ำจืดยักษ์กลับคืนสู่ธรรมชาติในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง ปลาที่ใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดนี้พบได้ตามแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ในประเทศอินเดียไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย Photograph Courtesy of Zeb Hogan

นอกจากนั้นแล้วโฮแกนยังคาดว่า ในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านกัมพูชาอาจมีปลากระเบนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่มากพอที่จะสามารถทำลายสถิติเดิมได้ ด้วยเหตุนี้โครงการวิจัยขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development: USAID) หรือโครงการ Wonders of the Mekong ที่เขาทำหน้าที่เป็นผู้นำมาตั้งแต่ปี 2017 จึงมุ่งเน้นในการศึกษาและสำรวจสายแม่น้ำทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชาที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพและเป็นบริเวณร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยของปลาขนาดใหญ่หลากชนิด

ชาวประมงบอกกับโฮแกนว่า พวกเขาจับปลากระเบนที่มีน้ำหนักมากถึง 453 กิโลกรัมได้เป็นประจำ ทว่าคำบอกเล่าปากเปล่านั้นก็ยังเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก

ขณะที่โฮแกนพูดคุยกับชาวประมงอยู่ ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นก็กำลังเริ่มเตรียมเครื่องมือสำหรับการตรวจวัดระยะไกล (Telemetry) ที่จะถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการศึกษาปลาในพื้นที่ทางตอนเหนือของกัมพูชา เพื่อสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการย้ายถิ่นฐานและพฤติกรรมของปลาในลำน้ำโขง ปลากระเบนตัวเมียที่โดดเด่นที่สุดที่พบในวันนั้นได้รับเลือกให้เป็นปลาตัวแรกที่ถูกฝังแท็กอะคูสติกสำหรับติดตามความเคลื่อนไหวเพื่อการศึกษา

บันทึกเสียงจากเครื่องไฮโดรโฟน (Hydrophone) หรือเครื่องรับคลื่นเสียงใต้น้ำชี้ให้เห็นว่า ปลากระเบนที่ถูกฝังเครื่องมือนั้นอาศัยอยู่ในบริเวณเดิมที่ถูกพบและแทบจะไม่ว่ายออกจากบริเวณนั้นเลย นั่นหมายความว่า การใช้แนวทางในการอนุรักษ์ปลากระเบนโดยยึดถิ่นที่อยู่ของพวกมันเป็นหลัก อย่างเช่นการจัดตั้งเขตห้ามทำการประมงขึ้นในพื้นที่นั้น ๆ ขึ้น อาจช่วยปกป้องปลาน้ำจืดขนาดใหญ่เหล่านี้จากอันตรายได้ เขตสงวนในรูปแบบดังกล่าวนั้นมีอยู่ทั่วไปในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าการจัดตั้งพื้นที่เช่นนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบส่วนใหญ่จากชุมชนต่าง ๆ ในท้องถิ่นก็ตาม

“พวกเราวางแผนที่จะขยายงานทางด้านการสร้างเสริมจิตสำนึกสาธารณะและการมีส่วนร่วมในท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาขนาดใหญ่เหล่านี้และปลากระเบนเอาไว้ครับ” เฮ็ง กง (Heng Kong) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดแห่งสำนักงานประมงกัมพูชากล่าว

การตามหาที่ยังดำเนินต่อไป

สำหรับโฮแกนแล้ว การตามหาปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นยังไม่จบลง “ปลากระเบนตัวนี้อาจจะไม่ใช่ปลากระเบนที่ตัวใหญ่ที่สุดในแม่น้ำโขงก็ได้ครับ” เขากล่าว แล้วเสริมว่า “เพราะชาวประมงบอกผมว่า พวกเขาเคยจับปลากระเบนที่ตัวใหญ่กว่านี้ได้”

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า ปลาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะปลาช่อนยักษ์อะเมซอน อาจมีน้ำหนักใกล้เคียงกับปลากระเบนยักษ์ที่พบเมื่อปี  2022 นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาจำนวนวงปีบนเกล็ดของปลาช่อนอะเมซอนซึ่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำเอสซิควีโบในประเทศกายอานาเผยว่า เมื่อปลาช่อนอะเมซอนในกายอานาโตเต็มวัย พวกมันอาจมีน้ำหนักมากกว่าปลาช่อนอะเมซอนที่อาศัยอยู่ทางตอนกลางของบราซิล

ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างมวลและความยาวของปลาช่อนอะเมซอนซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า หากปลาช่อนอะเมซอนที่มีขนาดยาวประมาณ 3 เมตรและหนักราว ๆ 245 กิโลกรัมซึ่งถูกพบในบราซิลเมื่อประมาณ 2 ถึง 3 ปีก่อนอาศัยอยู่ในแม่น้ำของประเทศกายอานา ปลาตัวนั้นอาจมีน้ำหนักมากกว่า 318 กิโลกรัมในขนาดความยาวที่ใกล้เคียงเดิม

“ผมคาดการณ์ไว้ว่า ปลาช่อนอะเมซอนจากประเทศกายอานาจะเป็นปลาช่อนที่มีขนาดใหญ่เป็นสถิติสูงสุดของโลกครับ” โดนัลด์ สจ๊วต (Donald Stewart) ศาสตราจารย์ด้านการประมงจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยนี้กล่าวผ่านอีเมล

อย่างไรก็ดี โฮแกนกล่าวว่า การออกสำรวจค้นหาปลาของเขาเป็นมากกว่าการตามหาปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

“การออกสำรวจทุกครั้งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับปลาน้ำจืดเหล่านั้นเสมอครับ” เขาอธิบาย พร้อมเสริมว่า “การพบปลากระเบนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกตัวนี้เป็นหลักฐานและการยืนยันว่า ยังมีปลาขนาดใหญ่พวกนี้อยู่ในแม่น้ำอยู่ และนี่ถือเป็นสัญญาณที่ดีครับ แต่ถึงอย่างนั้น หากพูดถึงเรื่องความรู้เกี่ยวกับพวกมันแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่เราต้องศึกษาต่อไป”

เรื่อง สเตฟาน โลฟเกร็น

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม กระเบนขนาดยักษ์ในแม่น้ำโขง ทำสถิติปลาน้ำจืดใหญ่ที่สุดในโลก

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.