พบกระเบนขนาดยักษ์ในแม่น้ำโขง ทำลายสถิติโลกปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เซ็บ โฮแกน (Zeb Hogan) นักชีววิทยาและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้ศึกษาปลาในแม่น้ำโขงมายาวนานเกือบ 20 ปีได้บันทึกภาพปลากระเบนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาจากชาวบ้านที่ทำการประมงบนเกาะเพรียห์ในแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของกัมพูชา
“มันพิสูจน์ให้เห็นว่าสัตว์ใต้น้ำเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ที่ถูกคุกคาม” โฮแกนกล่าว การค้นพบของเขาเริ่มต้นจากความสงสัยว่า “มีสัตว์ยักษ์ใหญ่ในแม่น้ำที่อื่นอีกไหม?” หลังจากที่ได้พบกับปลาดุกยักษ์ขนาด 293 กิโลกรัมเมื่อปี 2005 เขาจึงเริ่มโครงการ ‘เมกะฟิช (Megafishes)’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
เขาตั้งใจสำรวจแหล่งน้ำทั่วโลกที่มีความยากลำบาก ทั้งในการปะติปะต่อข้อมูลจากการบอกเล่า หรือจากภาพถ่ายเก่าๆ เขาเคยพบกันปลาอะราไพม่า (Arapaima) ในแอมะซอนและปลาดุกยักษ์ที่กินนกพิราบเป็นอาหารในยุโรป จนมาถึงแม่น้ำโขง สถานที่ล่าสุดที่เขาทำการค้นหา

ก่อนหน้านี้เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา โฮแกนได้พบกับปลากระเบนขนาดยักษ์ที่มีความยาวกว่า 3.93 เมตรและหนักกว่า 180 กิโลกรัมที่ชาวประมงกัมพูชาจับได้ สร้างความหวังว่าอาจมียักษ์ใหญ่กว่านี้ซ่อนอยู่ จนกระทั่งทีมวิจัยของเขาได้รับโทรศัพท์จาก มูล ทูน (Moul Thun) ชาวประมงกัมพูชาบอกว่าเขาจับ “ตัวที่ใหญ่กว่า” ได้จนเขาคิดว่ามันอาจเป็นสายพันธุ์อื่น
เมื่อทีมมาถึง พวกเขาตรวจสอบและวัดขนาดมันซึ่งพบว่ามันกลายเป็น “ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก”ด้วยขนาดที่ยาวกว่า 3.96 เมตรและหนักกว่า 299.82 กิโลกรัม ปลากระเบนตัวนี้ได้สร้างสถิติใหม่ โฮแกนกล่าวว่าปลาเหล่านี้หายากมาก พวกมันอยู่ในที่ห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงได้ และมักอยู่ในพื้นที่ที่น้ำขุ่นมัว ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถระบุศึกษาข้อมูลพวกมันได้
แต่สิ่งที่เขาแน่ใจคือปลายักษ์ใหญ่เหล่านี้กำลังถูกกดดันจากภัยคุกคามของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการประมงที่มากเกินไป มลพิษทางน้ำ และเขื่อนจากประเทศต้นน้ำ ทำให้พวกมันใกล้สูญพันธ์อย่างยิ่ง จากที่ต้องการค้นหา โฮแกนก็เปลี่ยนไปเป็นการอนุรักษ์มากขึ้น
“ไม่ใช่แค่การหาปลาที่ใหญ่ที่สุด แต่ต้องมองหาวิธีที่จะปกป้องสัตว์พิเศษเหล่านี้ด้วยเช่นกัน” โฮแกนกล่าว พร้อมเสริมว่า “การที่ทูน (ชาวประมง) โทรหาเรานั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ชาวประมงสามารถเป็นพันธมิตรที่ดีในการทำงานเพื่อปกป้องสัตว์เหล่านี้ได้”
ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างเครือข่ายชาวประมงเพื่อสนับสนุนให้มีการแจ้งรายงานว่าได้จับปลากระเบนและปลาใกล้สูญพันธุ์อื่น ๆ ทำการตรวจวัดศึกษา ติดแท็กและปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล