กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย กะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก

“กะท่างน้ำจากดอยสอยมาลัย ถูกศึกษาและตั้งชื่อว่า กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย

 นับว่าเป็นกะท่างน้ำชนิดที่ 7 ของประเทศไทย”

 

กะท่างน้ำ (crocodile newt) เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) อยู่ในกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibian) อันดับซาลาแมนเดอร์และนิวท์ (order Urodela) กะท่างน้ำถูกจัดเป็นนิวท์ (newt) เพราะมีผิวหนังแห้งและขรุขระ ถูกจัดอยู่ในสกุล Tylototriton นอกจากมีรายงานการกระจายตัวที่ประเทศไทยแล้ว ยังมีการพบเจอตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก ตอนกลางและตอนใต้ของจีน รวมถึงเกาะไหหลำ และตอนเหนือของอินโดจีน ในประเทศไทยนั้น กะท่างน้ำมักอาศัยอยู่บนเทือกเขาสูงที่ชุ่มชื้นและเย็น ในช่วงฤดูแล้งและฤดูหนาวกะท่างน้ำจะอาศัยอยู่ในโพรงดิน โพรงต้นไม้ หรือใต้ขอนไม้ที่ชุ่มชื้น และจะไปยังแหล่งน้ำในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูสืบพันธุ์ ออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกคล้ายวุ้น จากนั้นตัวอ่อน (larva) จะออกจากไข่และเจริญเติบโตโดยมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างระหว่างการเจริญ (metamorphosis) จนถึงระยะตัวเด็ก (juvenile หรือ eft) จึงจะขึ้นมาอาศัยอยู่บนบก

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย (Doi Soi Malai crocodile newt) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Tylototriton​ soimalai ถูกศึกษาและตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่พบกะท่างน้ำชนิดนี้เป็นครั้งแรก ที่ ดอยสอยมาลัย หรือ หลังคาเมืองตาก จังหวัดตาก เป็นกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลกและเป็นชนิดที่ 7 ที่มีรายงานในประเทศไทย โดยทีมนักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย (T. soimalai)

การค้นพบกะท่างน้ำดอยสอยมาลัย

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 มีการเผยแพร่ข่าวการพบกะท่างน้ำบริเวณยอดดอยสอยมาลัย โดย ททท. ท่องเที่ยวไทย จึงนำมาสู่การติดตามและค้นหากะท่างน้ำดังกล่าวเป็นเวลาหลายปี โดยทีมวิจัยนำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ และรองศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ทีมวิจัยได้สำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนยอดดอยสอยมาลัยที่ระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และค้นพบกะท่างน้ำตัวเต็มวัยและตัวอ่อนอยู่ในแอ่งน้ำ

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย มีความใกล้ชิดทางวิวัฒนาการกับชนิดกะท่างน้ำเหนือ (T. uyenoi) ที่มีการกระจายตัวทางภาคเหนือของประเทศไทยมากที่สุด แต่กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย มีลักษณะเฉพาะ เช่น พื้นตัวสีดำ แต่มีสีสดบนร่างกายมีสีส้ม มีสันกระดูกกลางหัวที่แคบและสั้น เป็นต้น และจากการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม ทำให้สามารถยืนยันได้ว่า กะท่างน้ำที่พบที่ดอยสอยมาลัย เป็นกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัยมีลักษณะสัณฐานที่แตกต่างจากกะท่างน้ำชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน โดยมีลักษณะเฉพาะคือ หัวมีความยาวมากกว่าความกว้าง ปลายจมูกทู่หรือเป็นปลายตัด สันกระดูกกลางหัวแคบ สั้น และชัดเจน แนวสันกระดูกข้างหัวเด่นชัดและขรุขระ มีต่อมพิษหลังตาที่เห็นได้ชัดเจน สันกระดูกสันหลังเด่นชัด กว้าง และไม่แบ่งเป็นท่อน มีต่อมพิษข้างลำตัว 14–16 ตุ่มซึ่งมีลักษณะกลมและแยกออกจากกัน ยกเว้นส่วนหลังที่เชื่อมต่อกัน     สีพื้นลำตัวเป็นสีดำและส่วนอื่น ๆ มีสีส้ม การวิเคราะห์ระดับโมเลกุลในยีน NADH dehydrogenase subunit 2 (ND2) ในไมโทคอนเดรีย พบว่ากะท่างน้ำดอยสอยมาลัยเป็นชนิดที่แยกต่างหาก โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกะท่างน้ำเหนือ (T. uyenoi) มากที่สุด โดยมีความแตกต่างของลำดับพันธุกรรม 4.1%

ปัจจุบันการค้นพบกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยนี้ยังอยู่ในวงแคบเฉพาะบริเวณยอดดอยสอยมาลัยเท่านั้น ยังไม่มีการค้นพบในพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ดังกล่าวให้ปราศจากการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยจะอาศัยอยู่ในบริเวณแอ่งน้ำบนถนนเพื่อสืบพันธุ์และการเติบโตของตัวอ่อนจนกว่าจะถึงระยะโตเต็มวัย

จากการศึกษาและตั้งชื่อกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยทำให้ปัจจุบันกะท่างน้ำที่พบในประเทศไทยมี 7 ชนิด ได้แก่

กะท่างน้ำดอยภูคา (T. phukhaensis)
กะท่างน้ำดอยลังกา (T. anguliceps)
กะท่างน้ำเหนือหรือกะท่างน้ำอุเอะโนะ (T. uyenoi)
กะท่างน้ำอีสานหรือกะท่างน้ำปัญหา (T. panhai)
กะท่างหรือกะทั่งหรือกะท่างน้ำหิมาลัย (T. verrucosus)
กะท่างน้ำอุ้มผาง (T. umphangensis)

แม้ว่ากะท่างน้ำทั้ง 7 ชนิดจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่สำหรับผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญจะจัดจำแนกชนิดได้ไม่ง่ายนัก การนำข้อมูลพื้นที่ที่พบเจอมาประกอบกันจะช่วยในการระบุชนิดของกะท่างน้ำในเบื้องต้นได้

กะท่างน้ำเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ มีบทบาททั้งเป็นผู้ล่าและเหยื่อ สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพที่สามารถบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีศักยภาพในการนำสารต่าง ๆ จากเมือกและพิษมาศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ในมนุษย์ในอนาคต แม้ว่ากะท่างน้ำในประเทศไทยอาศัยอยู่บนเทือกเขาสูง โดยเทือกเขาสูงเหล่านี้มักอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งถูกคุ้มครองด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า การตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เข้าไปใช้พื้นที่ในป่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบไม่เพียงแต่กะท่างน้ำแต่ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายคนที่จะได้รับผลกระทบก็หนีไม่พ้นมนุษย์นั่นเอง ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจึงจำเป็นเพื่อการใช้ประโยชน์ในอนาคตอย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง

Pomchote P, Peerachidacho P, Khonsue W, Sapewisut P, Hernandez A, Phalaraksh C, Siriput P, Nishikawa K (2024) The seventh species of the newt genus Tylototriton in Thailand: a new species (Urodela, Salamandridae) from Tak Province, northwestern Thailand. ZooKeys 1215: 185–208. https://doi.org/10.3897/ zookeys.1215.116624


อ่านเพิ่มเติม : กะท่างน้ำอุ้มผาง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดใหม่ของโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.