กะท่างน้ำอุ้มผาง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก

กะท่างน้ำอุ้มผาง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก

กะท่างน้ำอุ้มผาง (Tylototriton umphangensis)​ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก นับเป็นกะท่างน้ำชนิดที่ 6 ของประเทศไทย

กะท่างน้ำอุ้มผาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Tylototriton umphangensis ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่พบกะท่างน้ำชนิดนี้เป็นครั้งแรก ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก บนแนวเทือกเขาถนนธงชัยตอนล่างหรือเทือกดอยมอนกุจู (Dawna Range) นับว่าเป็นกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลกและเป็นชนิดที่ 6 ของประเทศไทย ถูกค้นพบ ตรวจสอบ และตั้งชื่อโดยนักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพในผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย

ผศ.ดร. ปรวีร์ พรหมโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีรายงานการพบเจอกะท่างน้ำในหลายพื้นที่ของ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ทั้งจากเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นักวิจัย และนักเดินป่า ซึ่งกะท่างน้ำที่พบมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับกะท่างน้ำเหนือหรือกะท่างน้ำอุเอะโนะ (T. uyenoi) ที่มีการกระจายตัวทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย ดังนั้นคณะนักวิจัยจึงสนใจที่จะค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อยืนยันชนิดของกะท่างน้ำที่นี่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและนำไปสู่การวางแผนอนุรักษ์ต่อไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจพื้นที่ จนกระทั่งค้นพบกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลกในที่สุด

กะท่างน้ำอุ้มผาง มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากกะท่างน้ำชนิดอื่นๆ เช่น ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลดำ สีสดบนร่างกายมีสีน้ำตาลส้ม บางตัวมีปลายหางสีส้มสว่าง ส่วนหน้าของกระดูกขากรรไกรล่าง (dentary) ยื่นคล้ายติ่งขนาดเล็ก และกระดูก quadrate ขยายใหญ่ทำให้มองเห็นว่ามีโคนหัวกว้าง เป็นต้น จากการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม ทำให้คณะนักวิจัยยืนยันว่า สัตว์ตัวนี้ถือเป็นกะท่างน้ำสายพันธุ์ใหม่ของโลก และการค้นพบครั้งนี้ยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย เพราะกะท่างน้ำอุ้มผางเป็นสัตว์ที่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของผืนป่าได้เป็นอย่างดี

กะท่างน้ำอุ้มผาง จัดเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (class Amphibia), อันดับซาลาแมนเดอร์และนิวท์ (order Urodela) โดยซาลาแมนเดอร์ (salamander) มีผิวหนังเรียบลื่นและมีร่องอยู่ระหว่างขาหน้าและขาหลัง แต่ยังไม่มีรายงานการพบในประเทศไทย ส่วนนิวท์ (newt) มีผิวหนังขรุขระ หัวและลำตัวมีสด มีรายงานการพบในประเทศไทย ซึ่งกะท่างน้ำสกุล Tylototriton ถูกจัดเป็นนิวท์ ในวงศ์กะท่างน้ำ (family Salamandridae)

เนื่องจากกะท่างน้ำมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจิ้งจก กิ้งก่า หรือจิ้งเหลน ทำให้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพวกสัตว์เลื้อยคลาน แต่เนื่องจากกะท่างน้ำเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ดังนั้นจึงไม่มีเกล็ดปกคลุมร่างกายเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน

กะท่างน้ำมีชื่อเรียกหลากหลายตามท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เช่น กะท่างน้ำ (กะท่าง ภาษาอีสาน แปลว่า กิ้งก่า) จิ้งจกน้ำ จั๊กกิ้มน้ำ (จั๊กกิ้ม ภาษาเหนือ แปลว่า จิ้งจก) จระเข้น้ำ จิ้งเหลนหนัง ซาลาแมนเดอร์ (แม้ว่ากะท่างน้ำเป็นนิวท์ก็ตาม) เป็นต้น

กะท่างน้ำที่พบในประเทศไทยนั้น มักอาศัยอยู่บริเวณที่ชุ่มชื้นและเย็น บนเทือกเขาสูงมากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง กะท่างน้ำอาศัยบนบกเกือบตลอดปีในที่ชุ่มชื้น และเคลื่อนที่ไปยังแหล่งน้ำในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูสืบพันธุ์ กะท่างน้ำมีการปฏิสนธิภายในร่างกายเพศเมีย (internal fertilization) ออกลูกเป็นไข่ที่มีลักษณะคล้ายวุ้นหุ้ม 2 ชั้น ตัวอ่อน (larva) อาศัยในน้ำมีรูปร่างเพรียวเรียวคล้ายลูกปลาแต่มีพู่เหงือกภายนอก 3 คู่ (external gills) มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างระหว่างการเจริญ (metamorphosis)

กะท่างน้ำสกุล Tylototriton มีการกระจายตัวตั้งแต่ตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ตะวันออกของเนปาล ทางเหนือของอินเดีย ภูฐาน พม่า ตอนกลางถึงใต้ของจีน ลาว เวียดนาม และไทย

ปัจจุบันกะท่างน้ำที่พบในประเทศไทยมี 6 ชนิด ดังนี้ กะท่างหรือกะทั่งหรือกะท่างน้ำหิมาลัย (T. verrucosus) พบที่ดอยช้าง จ.เชียงราย และอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่, กะท่างน้ำเหนือหรือกะท่างน้ำอุเอะโนะ (T. uyenoi) พบที่ดอยสุเทพ ดอยปุย ดอยอินทนนท์ ดอยเชียงดาว และดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จ.แม่ฮ่องสอน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จ.ตาก และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี, กะท่างน้ำอีสานหรือกะท่างน้ำปัญหา (T. panhai) พบที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก และอุทยานแห่งชาติภูสวนทรายและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย, กะท่างน้ำดอยลังกา (T. anguliceps) พบที่อุทยานแห่งชาติขุนแจ จ.เชียงราย, กะท่างน้ำดอยภูคา (T. phukhaensis) พบที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน และกะท่างน้ำอุ้มผาง (T. umphangensis) พบที่ฝั่งตะวันตกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก โดยชนิด T. uyenoi, T. phukhaensis และ T. umphangensis เป็นกะท่างน้ำเฉพาะถิ่น (endemic species) ที่มีรายงานการพบเจอเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และกะท่างน้ำอุ้มผางนับว่าเป็นกะท่างน้ำสกุล Tylototriton ชนิดที่ 34 ของโลก นับเป็นชนิดที่ 6 ของประเทศไทย รองจากเวียดนาม (7 ชนิด) และจีน (18 ชนิด)

ผศ.ดร. ปรวีร์ กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้คณะผู้วิจัยขอแสดงความขอบคุณต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คุณอำนาจ ฟองชัย หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง คุณบุญร่วม ขุนอินทร์ และเจ้าหน้าที่ของเขตฯ ที่นำทางคณะวิจัยไปสำรวจและค้นพบ กะท่างน้ำอุ้มผาง จำนวน 4 ตัว หลบซ่อนตัวอยู่ระหว่างลำต้นของพืชวงศ์คล้าในแอ่งน้ำที่จะไหลลงสู่ลำธาร รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่ได้เอ่ยนามในที่นี้ทุกท่าน

จากการค้นพบกะท่างน้ำอุ้มผาง ช่วยยืนยันว่าผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่สำคัญ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากกะท่างน้ำสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพที่สามารถบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมได้ และยังมีความหลากหลายทางชีวภาพที่รอคอยการค้นพบอีกมาก

กะท่างน้ำมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศโดยเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เป็นทั้งผู้ล่าและเหยื่อ สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์​ของผืนป่าที่สะอาดและปลอดมลพิษ นอกจากนี้ยังมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังเช่นการศึกษาในสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดอื่นๆ เช่น การศึกษา antimicrobial peptides ที่อยู่ในเมือกที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของจุลชีพต่างๆ นอกจากนี้ซาลาแมนเดอร์และนิวท์หลายชนิดสามารถงอกอวัยวะบางส่วนทดแทนส่วนที่ขาดหรือเสียหายได้

 

เอกสารอ้างอิง

Pomchote, P., Peerachidacho, P., Hernandez, A., Sapewisut, P., Khonsue, W., Thammachoti, P. and Nishikawa, K. (2021). A new species of the genus Tylototriton (Urodela, Salamandridae) from western Thailand. ZooKeys, 1072: 83–105.

https://zookeys.pensoft.net/article/75320/

 

เรื่อง-ภาพ ปรวีร์ พรหมโชติ

 


อ่านเพิ่มเติม ผืนป่าตะวันตก สมบัติของชาติที่อุดมไปด้วยความหลากหลายและร่ำรวยทรัพยากร

 

Recommend