ภาวะโลกร้อนรุนแรงทำหมีขั้วโลกขนร่วง เป็นแผลที่เท้า จนออกหากินลำบาก

“สภาพแวดล้อมกำลังทำร้ายหมีขั้วโลก

ส่งผลให้หมีขั้วโลกในกลุ่มประชากรตอนเหนือสุดเสี่ยงอันตรายได้”

หมีขั้วโลกเหล่านี้เดินบนแผ่นน้ำแข็งเป็นระยะทางหลายไมล์เพื่อค้นหารอยแตกและรูบนพื้นผิว ซึ่งจะช่วยให้พวกมันล่าแมวน้ำที่เป็นเหยื่อได้ แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่าบางพื้นที่ น้ำแข็งเหล่านั้นก็ย้อนกลับมาทำร้ายอุ้งเท้าของพวกมันเอง

คริสติน ไลเดร (Kristin Laidre) นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และสตีเฟน แอตกินสัน (Stephen Atkinson) นักชีววิทยาสัตว์ป่าจากภาควิชาสิ่งแวดล้อมนูนาวุด ได้เผยแพร่บนวารสาร Ecology ว่าหมีขั้วโลก 2 กลุ่มประชากรที่อยู่เหนือสุดคือ กรีนแลนด์ตะวันออกและแอ่งเคน (ซึ่งอยู่ระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแคนาดาและกรีนแลนด์ตะวันตกเฉียงเหนือ) 

มีบาดแผลฉีกขาด ขนร่วม เป็นแผลในผิวหนัง และมีน้ำแข็งเกาะเป็นก้อนที่ขนและเท้าเป็นหลัก โดยในตัวอย่างที่รุนแรงสุดของหมีสองตัวชี้ให้เห็นว่า มีน้ำแข็งเกาะอยู่เป็นก้อนขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งทำให้เกิดบาดแผลลึกและมีเลือดออก ผลกระทบดังกล่าวทำให้หมีเดินได้ยากขึ้น

โดย แอตกินสัน ระบุว่าอันที่จริงแล้วรอยดังกล่าวสังเกตเห็นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2012 และ 2013 ในกลุ่มประชากรหมีที่แอ่งเคน แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นแนวโน้มที่ร้ายแรงขนาดนี้ “เราไม่รู้จริง ๆ ว่าจะคิดอย่างไรกับเรื่องนี้” เธอกล่าว 

จากนั้นในระหว่างการสำรวจกรีนแลนด์ตะวันออกระหว่างปี 2018 และ 2022 ไลเดร ก็เริ่มเห็นอาการบาดเจ็บแบบเดียวกัน ผู้เขียนการศึกษาเชื่อว่าสาเหตุคือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และพวกเขากังวลว่าอาจกลายเป็นความท้าทายอีกอย่างสำหรับหมีขั้วโลกในการปรับตัว

ขนร่วงและเจ็บอุ้งเท้า

หมีบางตัวมีอาการขนร่วงที่ร่างกาย ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากก้อนน้ำแข็งพันกันแล้วดึงออกมา ไลเดร ชี้ว่าอาการดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเป็นปกตินัก

“หมีขั้วโลกอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงซึ่งน้ำแข็งเกาะตัวได้” เธอกล่าว อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้น่ากังวลก็คือสถานการณ์ เนื่องจากขนส่วนใหญ่ที่ร่วงนั้นเกิดขึ้นที่เท้าของหมี การตรวจสอบอุ้งเท้าของพวกมันเผยให้เห็นว่ามีบาดแผลร้ายแรงและเลือดออกจำนวนมาก

นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าบาดแผยเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดได้แม้จะสัมผัสเบา ๆ ในท่าสงบปกติก็ตามจนทำให้หมีสะดุ้งได้ การพบหมีที่มีก้อนน้ำแข็งเกาะที่อุ้งเท้านั้นเป็นเรื่องที่ “น่าตกใจมาก” ไลเดร บอก และสามารถสังเกตความผิดปกติได้ตั้งแต่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์

“มีบางอย่างผิดปกติกับหมี เพราะดูเหมือนว่าพวกมันจะเดินได้ไม่ค่อยดีนัก จนกระทั่งฉันลงไปถึงพื้นดินจึงได้รู้ว่าพวกมันเดินไม่ได้เมื่อได้เห็นสิ่งที่ติดอยู่กับอุ้งเท้าของมัน” ไลเดร เสริม

นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ยาสลบกับหมีและตรวจสอบเท้าของพวกมัน โดยพบว่ามีน้ำแข็งเกาะกันเป็นก้อนซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาทีในการขูดออกด้วยเครื่องมือโลหะ มีหมีจำนวน 32 ตัวในแอ่งเคนและอีก 15 ตัวในกรีนแลนด์ตะวันออกที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 52 เปอร์เซ็นและ 12 เปอร์เซ็นของจำนวนหมีทั้งหมดในการศึกษาตามลำดับ

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ผลกระทบดังกล่าวนี้ไม่เคยมีนักวิทยาศาสตร์หรือชนเผ่าพื้นเมืองสังเกตเห็นได้มาก่อนเลย 

“เราไม่อยากบอกว่านี่เป็นเรื่องใหม่โดยไม่ฟังการสังเกตจากนักล่าพื้นเมืองก่อน” ไลเตร กล่าว “แต่ผู้คนที่เห็นหมีขั้วโลกมานานมากที่สุดอย่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ติดกับหมีและล่าเพื่อยังชีพ และนักล่าส่วนใหญ่ที่เราพูดคุยด้วย กลับไม่เคยเห็นสิ่งนี้มาก่อน” 

อย่างไรก็ตามหลายคนสังเกตเห็นว่าพวกเขาเคยเจอสิ่งที่คล้ายกันในสุนัขลากเลื่อนของชนพื้นเมือง ซึ่งหลายครั้งรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเจอกับน้ำแข็งเกาะที่อุ้งเท้าในสภาพอากาศที่เปียกชื้น

“มีการสังเกตเห็นหมีขั้วโลกที่มีก้อนน้ำแข็งในหลายพื้นที่ของอาร์กติก แต่การสังเกตล่าสุดนั้นรุนแรงและแพร่หลายกว่ามาก” แอนดรูว์ เดโรเชอร์ (Andrew Derocher) นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ กล่าวกับเนชั่นเนลจีโอกราฟฟิก 

“เป็นเรื่องปกติที่หมีขั้วโลกจะมีก้อนน้ำแข็งเกาะที่หลังเมื่อว่ายน้ำในสภาพอากาศที่หนาวเย็น ก้อนน้ำแข็งที่เกาะที่เท้าของหมีขั้วโลกนั้นจะพบได้น้อยกว่า และต้องมีสภาวะบางอย่างที่ผิดปกติจึงจะเกิดขึ้นได้” 

โลกร้อนเป็นสาเหตุหรือไม่?

ไลเดร และ แอตกินสัน เชื่อว่าสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ในบทความของพวกเขาเสนอว่าปัจจัยด้านสภาพอากาศมีความเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บดังกล่าว 

มีความเป็นไปได้หลายอย่าง พวกเขาสังเกตเห็นว่าเมื่ออุณหภูมิในอาร์กติกเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำฝนก็จะตกลงมามากขึ้นแทนที่จะเป็นหิมะ และสถานการณืที่พวกเขาคาดไว้ก็คือ ฝนตกนี้ทำให้พื้นผิวน้ำแข็งกลายเป็นเหมือนโคลน ซึ่งจะไปเกาะกับอุ้งเท้าหมีที่เดินผ่านและแข็งตัว 

นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนยังทำให้หิมะที่พื้นผิวละลายมากกว่าปกติ ซึ่งก็คือทำให้หมีเหยียบบนน้ำแทนที่จะเป็นน้ำแข็ง จากนั้นเท้าเปียก ๆ ก็แข็งตัวกลายเป็นเปลือกแข็ง หรือไม่ก็น้ำที่ถูกละลายแข็งตัวกลายเป็นของมีคม จากนั้นเท้าหมีก็เหยียบลงไป 

สถานการณ์เหล่านี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมหมีขั้วโลกในประชากรเหล่านี้ ซึ่งมีพียงแค่สองประชากรนี้เท่านั้นจนถึงขณะนี้ที่ถูกพบว่ามีบาดแผล

ไลเตร สังเกตว่าในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หมีจำนวนมากในแอ่งเคนและกรีนแลนด์ตะวันออกที่อาศัยอยู่ในบนแผ่นน้ำแข็งที่ติดกับแผ่นดิน (แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ติดกับชายฝั่ง) นั้นมีแผ่นน้ำแข็งที่บางลง ซึ่งหมายความว่าน้ำทะเลสามารถเข้าซึมเข้าไปในหิมะและทำให้พื้นผิว ‘แฉะ” 

ขณะที่หมีขั้วโลกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้สามารถน้ำแข็งน้ำที่อุ่นกว่าเพื่อชะล้างก้อนน้ำแข็งออกไปได้ แต่หมีที่อาศัยอยู่ในละติจูดสูงกกว่ามาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสภาพอากาศจะแห้งและหนาวเย็นกว่ามาก พวกมันจึงเข้าถึงแหล่งน้ำเปิดที่อุ่นกว่าได้น้อยกว่าหมีขั้วโลกที่อยู่ทางตอนใต้มาก 

“เนื่องจากหมีขั้วโลกปรับตัวให้กับถิ่นที่อยู่อาศัยในอาร์กติกได้ดี พวกมันจึงต้องประสบกับสภาพที่ไม่ปกติที่ทำให้เกิดน้ำแข็งเกาะตัวเช่น ฝนตกแทนที่จะเป็นหิมะ หรืออุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็งทั้งที่ควรจะหนาวเย็น” จอห์น ไวท์แมน (John Whiteman) หัวหน้านักวิจัยจากโพลาร์แบร์อินเตอร์เนชั่นเนล กล่าว 

“เป็นเรื่องที่น่ากังวลที่ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อหมีหลายตัวในพื้นที่ที่ศึกษา” เขาเสริม “รูปแบบนี้รวมถึงการสังเกตว่าอาการบาดเจ็บร้ายแรงในหมีบางตัวไม่น่าจะหายได้เอง และเกี่ยวข้องกับการเดินกะเผลก ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก้อนน้ำแข็งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวงกว้างสำหรับหมีขั้วโลก” 

แต่ก็ยังไม่มีการสังเกตเห็นก้อนน้ำแข็งในภูมิภาคอื่น ๆ ดังนั้นภัยคุกคามระยาวต่อหมีขั้วโลกในตอนนี้จึงยังไม่ชัดเจน

“อาร์กติกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากภาพอากาศที่อุ่นขึ้น และนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับหมีขั้วโลกกำลังเฝ้าดูว่าหมีขั้วโลกตอบสนองอย่างไร” เดโรเชอร์ กล่าว “มีเรื่องน่าประหลาดใจมากเกี่ยวกับพฤติกรรมของหมีขั้วโลก ซึ่งบางครั้งดูเหมือนว่าจะคิดหาวิธีเอาชีวิตรอดในอาร์กติกที่อุ่นขึ้นได้” 

“แต่แล้วก็มีสิ่งแปลกประหลาดเช่น ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นซึ่งบ่งชี้ว่าหมีขั้วโลกกำลังประสบกับปัญหาที่ไม่มึใครคิดว่าเป็นไปได้” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://esajournals.onlinelibrary.wiley.com

https://www.nationalgeographic.com


อ่านเพิ่มเติม : โลกเดือด! น้ำแข็งละลาย ทำ ” หมีขั้วโลกอดอยาก ”

หนีขึ้นบก แต่ไร้อาหาร

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.