โลกเดือด! น้ำแข็งละลาย ทำ ” หมีขั้วโลกอดอยาก ” หนีขึ้นบก แต่ไร้อาหาร

โลกเดือด! น้ำแข็งละลาย ทำ ” หมีขั้วโลกอดอยาก ” หนีขึ้นบก แต่ไร้อาหาร

หมีขั้วโลกอดอยาก ในแถบอาร์กติกกำลังพยายามดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับภาวะโลกร้อน และดูเหมือนว่าจะไม่ประผลสำเร็จ งานวิจัยใหม่เผยว่าหมีไม่สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีบนบกได้ เนื่องจากน้ำแข็งในทะเลยังคงหายไปอย่างรวดเร็ว 

หมีขั้วโลกอดอยาก – สำหรับหมีขั้วโลกในพื้นที่แมนิโทบา ประเทศแคนาดาแล้ว น้ำแข็งในทะเลที่ปกคลุมอ่าวฮัดสันทางตะวันตกเกือบทั้งปีถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะพวกมันใช้เป็นพื้นที่ล่าสัตว์ อย่างเช่น แมวน้ำที่เต็มไปด้วยไขมันเป็นอาหาร 

แต่แล้วเมื่อภาวะโลกร้อนมาถึง น้ำแข็งละลายมากขึ้น หมีก็ถูกบังคับให้ขึ้นบก ซึ่ง ณ ที่นั่น สิ่งมีชีวิตสีขาวตัวใหญ่นี้ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตของมันอีกต่อไป

จากการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อสัปดาห์นี้เผยให้เห็นว่า หมีใช้ชีวิตบนบกได้ไม่ดีนัก และชี้ให้เห็นว่าสัตว์กินเนื้อชนิดนี้ใช้เวลากับการหาอาหารเช่น นกหรือผลเบอร์รี่ มากขึ้นแทนที่จะพักผ่อนอย่างที่พวกมันส่วนใหญ่เคยทำเมื่ออยู่บนบก การศึกษาสรุปว่าการมีพฤติกรรมเช่นนี้ทำให้หมีต้องใช้พลังงานส่วนเกินมากขึ้น และขาดสารอาหารที่เพียงพอ

โดยในช่วงระยะเวลาการวิจัย 3 สัปดาห์ของการศึกษานี้ระบุว่า หมีได้สูญเสียน้ำหนักโดยเฉลี่ยของมันไปมากกว่า 3 ปอนด์ (1.3 กิโลกรัม) ในแต่ละวันขณะที่กำลังรอให้น้ำแข็งก่อตัวขึ้นอีกครั้ง “พวกมันไม่สามารถหาอาหารที่ต้องการได้บนบก” แอนโธนี ปากาโน (Anthony Pagano) ผู้นำการวิจัย และนักชีววิทยาสัตว์ป่า จากสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ กล่าว “ไม่มีกลยุทธ์ใดที่จะเอาชนะ (การใช้ชีวิตอยู่บนบก) ได้” 

และการที่พวกมันต้องเคลื่อนตัวเองเข้าสู่พื้นที่ใหม่เพื่อหาอาหารมากขึ้น ก็จะมีโอกาสเผชิญหน้ากับมนุษย์มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับหมี

ใช้ชีวิตมากขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ

หมีขั้วโลกอาศัยอยู่ใน 19 ภูมิภาคทั่วอาร์กติกตั้งแต่ แคนาดา กรีนแลนด์ ไปจนถึงรัสเซีย โดยที่ประชากรบางส่วนก็อาศัยอยู่บนน้ำแข็งถาวร บางส่วนก็อาศัยอยู่บนน้ำแข็งตามฤดูกาล แต่ทั้งหมดได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพราะน้ำแข็งลดน้อยลงในทุกภูมิภาค สิ่งนี้ส่งผลให้จำนวนประชากรหมีลดลงอย่างมาก ด้วยเหตุนี้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติจึงจัดให้หมีขั้วโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

จากการศึกษาตั้งแต่ปี 1979 ถึง 2015 ชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาที่อ่าวฮัดสันทางตะวันตกไม่มีน้ำแข็งนั้นเพิ่มขึ้นมาประมาณ 3 สัปดาห์ ในพื้นที่นั้นมีหมีขั้วโลกอาศัยอยู่ประมาณ 800 ตัวซึ่งลดลงไปร้อยละ 30 ตั้งแต่ปี 1980 ปัจจุบันหมีเหล่านั้นต้องใช้เวลาอยู่บนบกเฉลี่ยปีละ 130 วัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าระยะเวลานี้จะเพิ่มขึ้น 5-10 วันต่อทศวรรษในอนาคต

เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าหมีขั้วโลกใช้เวลาบนบกอย่างไรบ้าง ปากาโนและทีมงานได้วางเครื่องติดตามที่บันทึกวิดีโอกับหมีบนอ่าวฮัดสัน 20 ตัวเป็นเวลา 3 สัปดาห์ในช่วงฤดูร้อนระหว่างปี 2019 ถึง 2022 เพื่อศึกษาการหาอาหาร พฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงของมวลกาย และปริมาณพลังงานที่พวกมันใช้ในแต่ละวัน 

“ก่อนหน้านี้เรามีเพียงข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเกี่ยวกับสิ่งที่หมีทำ” ปากาโน กล่าว ทีมวิจัยเห็นว่าพฤติกรรมของหมีมีความหลากหลายอย่างมาก มีหมี 3 ตัวว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลในทะเลเปิด โดยหมีตัวเมียตัวหนึ่งต้องว่ายใกล้เกิน 100 กิโลเมตร วิดีโอเผยให้เห็นว่าพวกมันพบซากวาฬเบลูก้าระหว่างทางบ้าง แต่ก็ไม่สามารถกินมันได้ 

“สิ่งนี้เน้นย้ำว่าหมีไม่สามารถกินอาหารในทะเลเปิดได้อย่างไร” ปากาโน กล่าว เขาเสริมว่า การค้นพบนี้ทำให้ทีมงานประหลาดใจ เนื่องจากเคยคิดกันว่าหมีส่วนใหญ่จะลดกิจกรรมลงขณะที่อยู่บนบกเพื่อเก็บรักษาพลังงาน 

โดยทั่วไปแล้วตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะใช้เวลาพักผ่อนเกิอบตลอดเวลาเพื่อพยายามรักษาพลังงานให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับหมีที่จำศีล แต่ทีมงานพบว่ากว่าร้อยละ 70 มีการเคลื่อนไหวอย่างมากเพื่อดิ้นรนค้นหาแหล่งอาหารไม่ว่าจะเป็นผลเบอร์รี่ หน้า และนก รวมถึงซากกวาง ซึ่งอาหารเหล่านั้นมีพลังงานน้อยกว่าแมวน้ำมาก

หมี 19 ตัวจากทั้งหมด 20 ตัว โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ หรือขนาดตัวใด ๆ ต่างมีน้ำหนักลดลง งานวิจัยคาดการณ์ว่า 1 ใน 4 ของตัวผู้ที่โตเต็มวัยซึ่งเป็นหมีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความยืดหยุ่นมากที่สุด จะเริ่มประสบกับปัญหาความอดอยากหลังจากอยู่บนบกเป็นเวลา 180 วัน แต่หมีตัวที่เด็กกว่าเช่นลูกหมีจะไปถึงจุดดังกล่าวได้เร็วกว่ามาก

การเอาชีวิตรอดของตัวที่อ้วนที่สุด

แอนดรูว์ เดโรเชอร์ (Andrew Derocher) ศาสตราจารย์ด้านชีวิวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตาในแคนาดา ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาหมีขั้วโลกมาเป็นเวลานาน กล่าวว่าหมีบางตัวก็มีรูปร่างที่ดีกว่าตัวอื่น ๆ 

“สัตว์บางชนิดสามารถใช้เวลาหลายเดือนก่อนที่พวกมันจะประสบปัญหา ในขณะที่บางตัวอาจหมดพลังงานในเวลาไม่กี่สัปดาห์” เดโรเชอร์ บอก เขาเสริมว่ายิ่งหมีอ้วนขึ้นในขณะที่มีน้ำแข็งในทะเลได้มากเท่าไหร่ ก็จะสามารถรับมือกับช่วงเวลาที่ไม่มีน้ำแข็งได้ดีขึ้นเท่านั้น

“ผมเรียกมันว่าการอยู่รอดของผู้ที่อ้วนที่สุด” เขากล่าว เนื่องจากหมีขั้วโลกต้องใช้เวลาอยู่บนบกมากขึ้น และเคลื่อนตัวไปตามภูมิประเทศต่าง ๆ เพื่อค้นหาอาหาร “มีองค์ประกอบของความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นกับหมีบางตัว ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งกับมนุษย์” 

ในอดีต หมีขั้วโลกจะขึ้นฝั่งและรวมตัวกันใกล้เมืองเชอร์ชิลล์ ในรัฐแมนิโทบา แคนาดา ซึ่งมีประวัติการจัดการกับหมีมาอย่างยาวนาน รวมถึงสถานที่กักขังที่มีชื่อเรียกว่า ‘คุกหมีขั้วโลก’ โดยจะคอยคุมขังหมีตัวที่อันตรายไว้ก่อนจะย้ายออกไปจากเมือง 

แต่เมื่อหมีขั้วโลกอพยพขึ้นเหนือเพื่อตามหาน้ำแข็ง มันก็มีโอกาสจะไปเจอกับชุมชนเพิ่มขึ้นซึ่งก็พร้อมที่จะจัดการกับหมีที่มีปัญหาเช่นเดียวกับที่เชอร์ชิลล์ทำ 

“หมีอาจได้กลิ่นอาหารสุนัขแล้วเข้าไปเลย” เดโรเชอร์ กล่าว “ไม่ใช่ว่าพวกเขาอยากกินขยะของเรา พวกเขาแค่ต้องการออกไปบนน้ำแข็งและเริ่มล่าแมวน้ำ แต่พวกเขาก็ต้องมาติดอยู่บนบกมากขึ้นเรื่อย ๆ” 

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/animals/article/polar-bears-starvation-sea-ice-arctic-climate-change


อ่านเพิ่มเติม เหตุผลอันน่าประหลาดใจ ว่าทำไมหมีขั้วโลกต้องพึ่งพาน้ำแข็งทะเลเพื่ออยู่รอด

หมีขั้วโลก
แม่หมีขั้วโลกกับลูกกำลังเดินอยู่บนน้ำแข็งทะเลในดินแดนนูนาวุต (Nunavut) ประเทศแคนาดา ภาพถ่ายโดย PAUL NICKLEN, NAT GEO IMAGE COLLECTION

Recommend