พบเพนกวินจักรพรรดิในออสเตรเลีย ใช่สัญญาณเตือนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือไม่

“ทำไมเพนกวินตัวหนึ่ง ต้องว่ายน้ำจากแอนตาร์กติกา

ไกลกว่า 3,500 กิโลเมตร เพื่อไปออสเตรเลีย”

“หรือนี่จะเป็นผลพวงมาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

การทำความเข้าใจว่าทำไมเพนกวินบางตัวจึงเดินทางไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมัน อาจช่วยสนับสนุนแนวทางการอนุรักษ์ในอนาคต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อทวีปแอนตาร์กติกา

โดยปกติแล้ว การสำรวจพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นยะเยือกนั้นมักจะใช้เวลาไม่นาน แต่ด้วยความสำเร็จที่น่าทึ่ง นกเพนกวินจักรพรรดิตัวหนึ่งซึ่งอยู่ลำพังและขาดสารอาหารก็ได้ขึ้นฝั่งที่ชายหาดในออสเตรเลียเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยห่างจากทวีปแอนตาร์กติกาที่เป็นถิ่นกำเนิดของมันมากกว่า 3,200 กิโลเมตร

เมื่อเทียบกันแล้ว ระยะทางนั้นเทียบเท่ากับการว่ายน้ำในสระโอลิมปิกไปกลับมากกว่า 44,000 รอบสำหรับมนุษย์

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน มีผู้พบเห็นเพนกวินตัวผู้ตัวเต็มวัยกำลังเดินโซซัดโซเซไปตามชายหาดโอเชียนบีชในเดนมาร์ก ซึ่งเป็นเป็นเมืองในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย โดยต่อมาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าในพื้นที่ก็ได้รับตัวมาอย่างปลอดภัยพร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า ‘กัส’ ผู้เป็นนกเพนกวินจักรพรรดิตัวแรกที่เดินทางมาถึงทวีปแห่งนี้

ตามคำกล่าวของ เคซีย์ ยังเฟลช (Casey Yongflesh) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเคลมสัน ผู้ศึกษานิเวศวิทยาและทำความเข้าใจปัจจัยที่ขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพ ระบุว่า สำหรับในโลกของนกแล้ว การเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติเช่นนี้จะถูกเรียกว่า ‘การหลงทาง’ 

“หากมีสายพันธุ์หนึ่งปรากฏขึ้นตลอดเวลา เราจะถือว่าสายพันธุ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตของพวกมัน” เขากล่าว “แต่ตามจริงแล้ว เราไม่เข้าใจมากนักเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางทะเล และไม่รู้ว่าสัตว์หลายชนิดใช้เวลาอยู่ที่ไหน” 

เพนกวินจักรพรรดินั้นอยู่ในสถานที่ที่หนาวเย็นที่สุดในโลกหรือขั้วโลกใต้ มันสามารถเติบโตสูงได้ถึง 45 นิ้วและมีอายุระหว่าง 15-20 ปี โดยมักจะอาศัยอยู่เป็นอาณานิคมที่มีประชากรตั้งแต่ไม่กี่ร้อยไปจนถึงหลายพันตัว ทว่าการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก็ไม่ได้รับประกันว่าเพนกวินจะรอดชีวิตจากสภาพอากาศต่าง ๆ ได้ ถึงอย่างนั้นเพนกวินก็มีข้อได้เปรียบหลายประการในการปรับตัวที่ไม่เหมือนใคร

ขนที่หนาแน่นอย่างเหลือเชื่อช่วยปกป้องเพนกวินจากอุณหภูมิที่เย็นยะเยือกและลมที่แรงของทวีปแอนตาร์กติกา ขณะเดียวกันไขมันที่สะสมไว้จำนวนมากก็ช่วยให้พวกมันอดออาหารได้นานนขึ้น แถมสัตว์เหล่านี้ยังว่ายน้ำได้เก่งมากและสามารถดำน้ำลึกได้มากกว่า 450 เมตร 

แม้ความสามารถเหล่านี้อาจจะไม่เป็นประโยชน์กับพวกมันมากนักในสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่ามาก แต่ลักษณะเหล่านี้อาจช่วยให้เพนกวินตัวผู้ตัวนี้สามารถเดินทางไกลมายังออสเตรเลียได้อย่างแน่นนอน แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตามความสามารถเหล่านี้ช่วยให้มันมีชีวิตในเส้นทางที่ยากลำบาก

เจ้าหน้าฟื้นฟูสัตว์ป่าจากกรมความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ และสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศกล่าวว่า กัส อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการฟื้นฟูก่อนที่จะกลับมามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์อีกครั้ง และอาจปล่อยกลับคืนสู่แหล่งน้ำที่คุ้นเคยได้

การระบุถึงสาเหตที่แท้จริงว่านกเพนกวินตัวนี้มาลงเอยที่จุดดังกล่าวได้อย่างไรนั้นเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทุกคนอยากทราบ ผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่านกเพนกวินอาจถูกพายุพัดออกนอกเส้นทางจนหลงทิศ หรือทำให้ระบบสัมผัส, นำทางทำงานไม่ปกติ หรืออาจจะเป็นเพราะสภาวะโลกร้อนทำให้เพนกวินสูญเสียถิ่นที่อยู่

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่มีการพบเพนกวินจักรพรรดิในพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดของมัน โดยในปี 2011 ชาวเมืองคนหนึ่งรายงานว่าได้พบเห็นเพนกวินสายพันธุ์เดียวกันนี้เกยตื้นอยู่บนชายหายในนิวซีแลนด์ และก่อนหน้านี้ในปี 2002 ก็มีการพบเห็นเพนกวินฮัมโบลต์ที่เป็นสัตว์พื้นเมืองของอลาสกา หลังจากมีรายงานว่ามันแอบอยู่บนเรือประมง

ในทั้งสองกรณีดังกล่าว ไม่ได้มีการแทรกแซงจากมนุษย์เพิ่มเติมและสัตว์ตัวดังกล่าวก็อาจหาทางกลับบ้านเองได้ 

แม้สัตว์ทะเลเหล่านี้จะเดินไปยังที่ห่างไกลไม่บ่อยนัก แต่ในกรณีของกัสอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าสภาพแวดล้อมในแอนตาร์กติกาได้เป็นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพียงใด และสัตว์ท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบที่คาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น เพนกวินจักรพรรดิต้องใช้น้ำแข็งในทะเลที่เสถียรในการสืบพันธุ์

แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายมากขึ้น ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่าประชากรเพนกวินสายพันธุ์นี้จะลดลงอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะในเรื่องแหล่งอาหารที่ลดลง ซึ่งทำให้สัตว์ต้องออกค้นหาอาหารไกลกว่าเดิม 

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ปกติครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุถึงรูปแบบความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่าได้อย่างชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญกำลังให้ความสนใจเพราะการที่สัตว์เร่ร่อนหลงทางออกมา บางครั้งก็อาจเป็นตัวทำนายการขยายอาณาเขตแห่งใหม่ในอนาคตได้

“เหตุการณ์เช่นนี้ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจบ่งบอกได้ว่ามีบางอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปสำหรับสายพันธุ์เหล่านี้” ยังเฟลช กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com


อ่านเพิ่มเติม : ขั้วโลกใต้ละลาย ทำเจอ มัมมี่เพนกวิน 5,000 ปี ผลจากโลกร้อน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.