ขั้วโลกใต้ละลาย ทำเจอ มัมมี่เพนกวิน 5,000 ปี ผลจากโลกร้อน

ขั้วโลกใต้ละลาย ทำเจอ มัมมี่เพนกวิน 5,000 ปี ผลจากโลกร้อน

การค้นพบ มัมมี่เพนกวิน ต้องเล่าย้อนไปในช่วงปี 2016 สตีฟ เอ็มสลีย์ (Steve Emslie) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ได้เดินทางไปเยือนพื้นที่ทางตอนใต้ของแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) ที่มีชื่อว่าแหลมอิริซาร์ (Cape Irizar)

เขาพบเข้ากับ “ซากเพนกวิน” จำนวนมากถูกแช่แข็งไว้ แต่สิ่งที่ทำให้เขาสับสนก็คือ พื้นที่แห่งนี้ไม่มีเพนกวินอาศัยอยู่ อย่างน้อยก็นับพันปีแล้ว ความสงสัยนี้ทำให้เขาเก็บรวบรวมตัวอย่างเท่าที่จะหาได้จากซากศพที่ยังดูสดใหม่เหล่านี้ เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์ในห้องทดลองต่อไป

จากการศึกษาที่ได้เผยแพร่ในวารสาร ‘Geology’ เอ็มสลีย์ ได้ระบุอายุชิ้นส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดูก เปลือกไข่ และตัวอย่างผิวหนังด้วยเรดิโอคาร์บอน ผลที่ได้เผยให้เห็นว่า ซากเหล่านั้นมีอายุตั้งแต่หลายร้อยจนถึงหลายพันปี โดยตัวที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุ 5,000 ปี และตัวที่อายุน้อยที่สุดอยู่ที่ราว 800 ปี

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมาในการทำวิจัยที่แอนตาร์กติกา ผมไม่เคยเห็นสถานที่แบบนี้มาก่อน” ศาสตราจารย์เอ็มสลีย์กล่าว กลับกลายเป็นว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นอาณานิคมของเพนกวินสายพันธุ์อาเดลี (Adélie penguin) มาก่อน แล้วก็ล่มสลายลงไปในภายหลักด้วยเหตุผลที่ยังไม่ชัดเจน

ความหนาวเย็นทำให้ศพเหล่านี้กลายเป็นมัมมี่ตามธรรมชาติ ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์ ส่งผลให้จุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายศพได้ พวกมันจึงยังดู ‘สดใหม่’ การวิเคราะห์ของเอ็มสลีย์ระบุว่า พื้นที่แห่งนี้อาจมีฝูงเพนกวินเข้ามาอยู่อาศัย 3 ระลอกด้วยด้วยกัน ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 2,750-5,145 ปีก่อน ครั้งที่สองเมื่อ 1,375-2,340 ปีก่อน และครั้งสุดท้ายคือ 800-1,100 ปีที่แล้ว

แต่ทำไมพวกมันไม่อาศัยอยู่ถาวรและอะไรที่กวาดล้างเพนกวินเหล่านี้? เอ็มสลีย์เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำแข็งและอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยปกติในฤดูหนาว เพนกวินจะทำรังบนแผ่นน้ำแข็งในทะลที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่บก และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน น้ำแข็งจะละลาย ทำให้เพนกวินย้ายการทำรังไปอยู่บนบก

แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกมีการเพิ่มขึ้นและลดเป็นช่วง ๆ ทำให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายของฝูงเพนกวินไปตามระดับน้ำแข็งรอบ ๆ สิ่งนี้อาจเป็นเหตุว่าทำไมถึงมีซากเพนกวินในที่ที่ไม่เคยเจอได้

เอ็มสลีย์กล่าวว่าการค้นพบซากอาณานิคมนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า เพนกวินได้เคลื่อนตัวไปทั่วทวีปแอนตาร์ติกามานานนับพันปีแล้ว โดยย้ายจากแหลมหนึ่งไปอีกแหลมหนึ่งตามช่วงเวลาที่เพิ่มขึ้นและลงของแผ่นน้ำแข็งในทะเล แต่น่าเศร้าที่ตอนนี้ถิ่นที่อยู่ของมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกว่าที่เคย

การที่น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นทุกปีจากภาวะโลกร้อนสร้างผลกระทบให้กับเพนกวินหลายล้านตัวที่อาศัยอยู่ในแอนตาร์กติกา ไม่ใช่แค่เพนกวินอาเดลีเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเพนกวินจักรพรรดิ และสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย เพราะพวกมันอาศัยแผ่นน้ำแข็งในการดำรงชีวิต

ในรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าลูกเพนกวินนับหมื่นอาจจมน้ำตายเพราะแผ่นน้ำแข็งแตกออกทำให้รังจมลงสู่ความหนาวเย็นและมืดมิดอย่างรวดเร็ว

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นได้เผยให้เห็นซากเพนกวินที่ถูกเก็บไว้อย่างยาวนาน โดยพื้นที่ของแหลมอิริซาร์มีสูงขึ้นกว่า 2°C นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จนกลายเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ร้อนเร็วขึ้นที่สุดในโลก

ทีมวิจัยหวังว่าจะได้เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากกว่าเกี่ยวกับการขยายพันธุ์ของเพนกวินอาเดลี

“มันน่าเศร้าที่เกิดอะไรขึ้นที่นั่น” เอ็มสลีย์บอก

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photograph by Steven D. Emslie; Ancient Adélie penguin colony revealed by snowmelt at Cape Irizar, Ross Sea, Antarctica. Geology 2020;; 49 (2): 145–149.

ที่มา

https://pubs.geoscienceworld.org/gsa/geology/article/49/2/145/590932/Ancient-Adelie-penguin-colony-revealed-by-snowmelt

https://www.livescience.com/ancient-penguin-mummies-antarctica.html

https://www.iflscience.com/mummified-penguins-from-5000-years-ago-emerge-from-antarcticas-snow-71182

https://www.smithsonianmag.com/smart-news/scientist-unearths-colony-mummified-penguins-antarctica-180975965

อ่านเพิ่มเติม ลูกเพนกวิน นับ 10,000 ตัว อาจตายหมดแล้ว ผลจากน้ำแข็งละลายได้กวาดล้าง “บ้าน” จนจมน้ำตาย- หรือถ้ารอด พวกมันก็ต้องหนาวตายอยู่ดี

Recommend