เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่าพวกมันชอบกินน้ำหวานจากต้นไม้ ทำให้เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่าเป็นชนิดแรกเท่าที่เคยบันทึกกันมาที่รู้จักการกินน้ำหวานจากต้นไม้ และเป็นปรากฏการณ์หาได้ยากยิ่งในโลกธรรมชาติ
โดยทั่วไปแล้วเราจะทราบกันดีกว่าพืชดอกเกือบทั้งหมดต้องการ ‘ผู้ผสมเกสร’ ในการกระจายพันธุ์ออกไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแมลงอย่างผึ้งหรือสัตว์มีปีกอย่างค้างคาวหรือนก ไม่ก็สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็ก ๆ ที่เข้ามาทำหน้าที่เหล่านี้บ้างเป็นบางครั้ง อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าสัตว์ใหญ่ชนิดหนึ่งกลับทำเช่นนี้ได้ด้วย
นี่อาจเป็นการค้นพบที่หายากที่สุด จากหนึ่งในสายพันธุ์ที่หายากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่ไว้บนวารสาร Ecology เผยให้เห็นว่า หมาป่าเอธิโอเปีย (Ethiopian wolves; Canis simensis) สัตว์กินเนื้อที่เหลือไม่ถึง 500 ตัวบนโลกมีรสนิยมชอบกินอาหารหวานที่แสนอร่อย
“หมาป่าเลียดอกไม้เหมือนไอศกรีมโคน” แซนดรา ไล นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าว ภาพที่นักวิทยาศาสตร์ถ่ายไว้นั้นไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าสิ่งมีชีวิตนี้โปรดปรานน้ำหวานจากต้นที่มีชื่อว่า ไนโฟเฟีย โฟลิโอซา (Kniphofia foliosa)
ต้นไม้ชนิดนี้ผลิตน้ำหวานที่เป็นอาหารอันโอชะให้กับสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ ที่แวะมาชิมกันแทบไม่ซ้ำหน้า รวมถึงหนูตุ่นแอฟริกันหัวโต (big-headed African mole rat) ที่มักจะขึ้นมาบนพื้นดินเพียงวันละชั่วโมงในการอาหาร และมันก็เป็นหนึ่งในอาหารหลักของหมาป่าเอธิโอเปีย
แม้เนื้อหนูจะดูชุ่มฉ่ำสำหรับหมาป่า แต่ดูเหมือนว่าพวกมันก็ต้องการอาหารรสชาติอื่นบ้าง จากการสังเกตหมาป่าทั้งหมด 6 ตัวจากคนละฝูง เป็นเวลา 4 วันในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งแรกสำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้
“(สำหรับสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่) การกินน้ำหวานนั้นไม่ปกติเลย เนื่องจากไม่ได้มีการปรับตัวทางกายภาพเช่น ลิ้นที่ยาว หรือจมูกที่มีลักษณะเฉพาะ (เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ปรับตัวให้กินน้ำหวานได้สะดวกขึ้น)” ดร. ไล กล่าว แถมดอกไม้ส่วนใหญ่ยังเปราะบางเกินไปหรือมีน้ำหวานไม่เพียงพอที่จะดึงดูดสัตว์ขนาดใหญ่ด้วยซ้ำ
แต่ยังไงก็ตาม “เท่าที่เรารู้” ทีมวิจัยเขียนในเอกสาร “การสังเกตที่เรารายงานไว้ชี้ให้เห็นว่าหมาป่าเอธิโอเปียเป็นสัตว์นักล่าขนาดใหญ่เพียงตัวเดียว ที่ได้รับการบันทึกไว้ว่ากินน้ำหวาน”
หมาป่าจะเข้าไปบริเวณก้านดอกและเลียดอกไม้บริเวณฐานดอก โดยเน้นไปที่ดอกไม้ที่โตเต็มที่และคาดว่ามีน้ำหวานมากที่สุด สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นก็คือ หมาป่าบางตัวดูเหมือนว่าจะชอบกินน้ำหวานมากกว่าตัวอื่น ๆ แม้ทั้ง 6 ตัวที่ติดตามในการศึกษาจะแวะไปเลียดอกไม้ทุกตัว แต่มีหมาป่าตัวเมียตัวหนึ่งที่กลับมากินน้ำหวานจากดอกไม้ 30 ดอกภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง
เนื่องจากหมาป่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าน้ำหวานจากดอกไม้เหล่านี้ไม่ได้เป็นแหล่งโภชนาการที่มีความหมาย หรือก็คือพวกมันไม่ได้รับสารอาหารอะไรที่เพียงพอจากการเลียดอกไม้เหล่านี้ ดังนั้นมันจึงดูเหมือนว่าหมาป่าเอธิโอเปีย ‘แค่ชอบกิน’ น้ำหวานเท่านั้น
“สมมติฐานของของหวาน” ดร. ไล กล่าวพร้อมเสริมว่าสัตว์ก็เหมือนมนุษย์ ที่เมื่อเรากินอาหารคาวแล้ว ก็มักจะมองหาของหวานอยู่เสมอแม้ว่าจะ ‘อิ่มมาก’ อยู่ก็ตาม ผู้สังเกตการณ์จากโครงการอนุรักษ์หมาป่าเอธิโอเปียก็เชื่อว่าหมาป่ามักจะ “กินดอกไม้เป็นรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังจากล่าเนื้อเป็นอาหารแล้ว”
แต่ผลที่ตามมานั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจเช่นนกัน เมื่อพวกเขาพบว่าขณะที่หมาป่ากำลังเลียดอกไม้อย่างเอร็ดอร่อย ก็ดูเหมือนว่าปากของมันจะเต็มไปด้วยเกสรของดอกไม้ติดอยู่ตามขน ซึ่งคิดกันว่ามันน่าจะช่วยกระจายเกสรเหล่านี้ไปยังที่อื่น ๆ ขณะที่ฝูงอพยพไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
กระนั้นทีมวิจัยกล่าวว่าต้องมีการยืนยันเพิ่มเติม แม้จะเชื่อว่าหมาป่าเอธิโอเปียมีความสามารถในการช่วยผสมเกสร แต่ก็ยังไม่สามารถจัดพวกมันให้อยู่กับ ‘นักผสมเกรส’ ที่มีประสิทธิภาพอย่างผึ้งและผีเสื้อได้ เนื่องจากการมาเยือนของหมาป่าอาจมีข้อเสียมากกว่าข้อดี
“พวกมันอาจสร้างความเสียหายได้มากกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับนก” ดร. ไล กล่าว พร้อมเสริมว่า เธอสนใจการเรียนรู้ทางสังคมด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีรายงานว่าเคยพบเห็นหมาป่าตัวเต็มวัยพาลูกหมาป่าไปที่ทุ่งดอกไม้ เป็นไปได้ว่าพวกมันอาจสอนให้เด็ก ๆ ในฝูงทดลองอาหารชนิดนี้
การค้นพบนี้เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากหมาป่าเอธิโอเปียกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง การที่ได้รู้ว่าพวกมันกินอะไรเป็นอาหารและชอบทำพฤติกรรมอะไรเป็นพิเศษ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สร้างแนวทางในการอนุรักษ์ได้ดีขึ้น ทั้งในสายพันธุ์เองรวมถึงสถานที่กินน้ำหวานแห่งนี้เพื่อให้ดอกไม้เติบโตด้วยเช่นกัน
“มันเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งคุณไม่สามารถพบเห็นได้จากที่อื่นบนโลกใบนี้” ดร. ไล กล่าวว่าสิ่งนี้ “นั้นคุ้มค่าแก่การอนุรักษ์”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ Adrien Lesaffre
ที่มา
https://esajournals.onlinelibrary.wiley.com
https://www.newscientist.comes-as-pollinators/
https://www.smithsonianmag.com