ในพื้นที่ต้อนรับผู้โดยสารขาเข้าของท่าอากาศยานนานาชาติ Manila’s Ninoy Aquino เต็มไปผู้คนที่มารอรับญาติหรือคนที่รักเพื่อกลับบ้านในช่วงเทศกาลคริสต์มาส การขาดแคลนโอกาสในการทำงานและค่าจ้างแรงงานในประเทศที่ต่ำทำให้ชาวฟิลิปปินส์นับล้านคนเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ โดยหลายคนตั้งเป้าหมายว่าอยากมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมเมื่อกลับมาบ้าน ภาพถ่ายโดย HANNAH REYES MORALES, NATIONAL GEOGRAPHIC
อาจไม่ได้มีแค่เราต้องเดินทาง กลับบ้าน ในช่วงเทศกาลหยุดยาว
สำหรับประเทศไทย เมื่อถึงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันยาวนาน เช่น เทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่ ผู้ที่จากถิ่นฐานมาทำงานหรือเข้ามาศึกษาตามต่างจังหวัดจำนวนมากได้ใช้โอกาสนี้กลับไปยังบ้านเกิดเพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัว คนรัก หรือมิตรสหายที่ผูกพัน ก่อให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ของการแห่กัน “ กลับบ้าน ” ที่ตามมาด้วยภาพการจราจรแน่นขนัดตามเส้นทางถนนหลวงสายหลัก ความหนาแน่นผู้โดยสารจำนวนมากที่ต้องการกลับภูมิลำเนาในสถานีขนส่งมวลชนประเภทต่างๆ รวมไปถึงภาวะที่ต้องเบียดเสียดกันในยานพาหนะหนึ่งคันเพื่อให้ถึงจุดหมาย
แต่ถึงแม้จะมีอุปสรรคเพียงใด เมื่อได้ไปยังจุดหมายซึ่งเป็นสถานที่ที่ผูกพัน ได้พบเจอคนที่อยากพบและได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันจนความคิดถึงที่สะสมมาตลอดทั้งปีได้บรรเทาลงไป ก็ทำให้ปรากฏการณ์การกลับบ้านในช่วงหยุดยาวนั้นกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขซึ่งคนชาติต่างๆ ในเอเชียนั้นมีร่วมกัน
นี่คือเรื่องราวบางส่วนของ เทศกาลกลับบ้าน ของบรรดาประเทศในเอเชีย
ประเทศฟิลิปปินส์ – เทศกาลคริสต์มาส
ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศฟิลิปปินส์เป็นชาวคริสต์ ดังนั้นช่วงเทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นเวลาที่พวกเขาได้กลับบ้านเกิด พร้อมกับฉลองปีใหม่ในคราวเดียวกัน ในโอกาสนี้ ชาวฟิลิปปินส์ที่ออกไปเป็นแรงงานอพยพในต่างประเทศซึ่งมีอยู่จำนวนมากก็ถือโอกาสนี้กลับบ้านมารวมตัวกันกับครอบครัวและมิตรสหาย
กิจกรรมรวมญาติที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมทำกันคือการทานมื้อเย็น Noche Buena ซึ่งเป็นมื้อเย็นซึ่งสมาชิกทุกคนในครอบครัวจะแบ่งปันอาหารในคืนวันคริสต์มาสอีฟ โดยการรับประทานอาหารทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเวลาแห่งการพบปะสังสรรค์
อีกกิจกรรมหนึ่งคือการเปิดกล่องของขวัญ Balikbayan ซึ่งเป็นกล่องของขวัญที่ชาวฟิลิปปินส์ผู้ไปเป็นแรงงานในต่างประเทศส่งกล่องของขวัญที่บรรจุของจากประเทศที่พวกเขาไปทำงานส่งมาให้ครอบครัว โดยก่อนการเปิดกล่อง สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมารวมตัวกันเพื่อเปิดกล่องของขวัญนี้ในวันคริสต์มาส โดยการเปิดกล่องของขวัญจากต่างประเทศนี้เป็นกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของคนฟิลิปปินส์ (อ่านเพิ่มเติม: สุขเมื่อได้กลับบ้านของชาวฟิลิปปินส์ในวันคริสต์มาส)
ประเทศจีน – เทศกาลตรุษจีน
ช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ของจีนนั้นขึ้นอยู่กับปฏิทินจันทรคติซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ช่วงวันหยุดจะเริ่มต้นขึ้นหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าเพื่อให้บรรดาคนจีนที่ได้จากบ้านเกิดไปทำงานหรือไปศึกษาได้มีเวลาเดินทางไปพบกับคนในครอบครัว ถึงแม้ว่าช่วงฉลองเทศกาลวันหยุดจะยาวถึง 15 วัน (อ้างอิงจากปี 2019) แต่เหล่าคนงานที่กลับบ้านก็จะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวราว 7-8 วัน จากนั้นก็เดินทางกลับบ้านไปยังโรงงานหรือบริษัท นั่นหมายความว่าบรรดาผู้คนที่กลับบ้านใช้เวลาช่วงนี้ถึง 21 วันเลยทีเดียว โดยจำนวนของชาวจีนที่เดินทางในช่วงนี้มีมากถึง 78 ล้านคน และมีเที่ยวการเดินทางในช่วงเวลานี้มากถึง 2.98 พันล้านเที่ยว (ข้อมูลเมื่อปี 2017) ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางเพื่อย้ายถิ่นพำนักชั่วคราวที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งการจราจรและขนส่งสาธารณะในประเทศจีนจะหนาแน่นมากที่สุด ดังนั้นจำนวนของการให้บริการการขนส่งของจีนจึงเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษในช่วงนี้เพื่อรองรับปริมาณผู้คนจำนวนมหาศาล และได้มีการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสารอีกด้วย
กิจกรรมช่วงรวมญาติในเทศกาลตรุษจีนมีทั้งการรวมสมาชิกครอบครัวเพื่อเคารพวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของวัฒนธรรมจีน และการทานอาหารเย็นร่วมกัน โดยมีการตั้งโต๊ะอาหารด้วยเมนูหลากหลาย ซึ่งเชื่อว่าเมนูอาหารที่มากมายจะนำความร่ำรวยโชคลาภมาให้ และจะนิยมรับประทานอาหารที่เชื่อว่ามีความหมายที่ดีเช่นกัน
อีกวัฒนธรรมหนึ่งในช่วงตรุษจีนที่มีชื่อเสียงคือการแจกอั่งเปา หรือซองแดง ซึ่งถือเป็นการแจกจ่ายความมั่งมีในรูปแบบของเงิน โดยผู้ใหญ่จะแจกเงินไปให้กับเด็กๆ เพื่ออวยพรโชคลาภให้กับเด็กๆ เหล่านั้น ทั้งนี้ คนที่มีอายุน้อยกว่าสามารถให้ซองแดงกับคนที่มีอายุมากกว่าเพื่อแสดงความขอบคุณและอวยพรให้มีชีวิตที่ยืนยาวได้เช่นกัน
เทศกาลโอบง ประเทศญี่ปุ่น
เทศกาลโอบง เป็นเทศกาล 3 วันที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไป โดยเชื่อกันว่าวิญญาณของบรรพบุรุษจะกลับมาที่บ้านในช่วงเวลานี้ของทุกปี เทศกาลนี้จัดขึ้นในช่วงวันที่ 13-15 สิงหาคม (ยกเว้นในภูมิภาคคันโตที่จะจัดในช่วงเดือนกรกฎาคม) นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นจะกลับบ้านเพื่อมาเคารพวิญญาณบรรพบุรุษ
กิจกรรมระหว่างช่วงเทศกาลโอบง
– การทำความสะอาดบ้าน แม้กิจกรรมนี้จะเริ่มขึ้นในวันก่อนวันโอบง แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้เช่นกัน ในวันนี้ สมาชิกในครอบครัวจะมารวมตัวกันทำความสะอาดบ้านและวางอาหารที่แท่นบูชาบรรพบุรุษในบ้านเพื่อเตรียมต้อนรับวิญญาณบรรพบุรุษเข้าบ้าน
– Mukae-bon คือการจุดโคมไฟให้กับวิญญาณบรรพบุรุษหรือสมาชิกครอบครัวที่ล่วงลับไปแล้ว ในบางพื้นที่จะเป็นการจุดไฟที่หน้าบ้าน ทั้งสองสิ่งนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำทางวิญญาณมาที่บ้าน
– รำวงบงโอโดริ คือการรำวงแบบญี่ปุ่น เพื่อแสดงให้วิญญาณเห็นว่าคนในครอบครัวมีความยินดีที่จะต้อนรับพวกเขามาที่บ้านในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ การรำวงจะจัดขึ้นในที่สาธารณะหลายที่ เช่นวัดหรือศาลเจ้า โดยในการรำวงจะมี Yagura หรือเวทีที่ยกสูงอยู่ตรงกลางวง
– Okuri-bon เป็นกิจกรรมที่ตรงกันข้ามกับ Mukae-bon ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำทางวิญญาณเข้ามาที่บ้าน โดย Okuri-bon คือการนำทางวิญญาณกลับไปยังโลกแห่งความตาย หนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติที่น่าสนใจของกิจกรรมนี้คือ Toro nagashi ซึ่งเพิ่งเป็นที่นิยมเมื่อมาไม่นานมานี้ คือการลอยโคมไฟที่แม่น้ำแล้วปล่อยให้ไหลไปยังทะเลเพื่อเป็นการสื่อว่าได้ส่งวิญญาณกลับไปยังโลกหลังความตายแล้ว (อ่านเพิ่มเติม: มาชมเทศกาลโอบง ประเพณีของญี่ปุ่นกันเถอะ)
วันอิฎิ้ลฟิตริ – ประเทศอินโดนีเซีย
วันอิฎิ้ลฟิตริเป็นเทศกาลวันหยุดที่เราจะได้เห็นชาวอินโดนีเซียจำนวนมหาศาลกลับบ้าน วันอิฎิ้ลฟิตริ เป็นการส่งท้ายเทศกาลรอมฎอน หรือการถือศีลอด โดยกำหนดวันที่ของเทศกาลนี้จะถือตามปฏิทินจันทรคติของอิสลาม สำหรับปี 2019 จะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 มิถุนายน โดยในช่วงนี้ เหล่าผู้คนที่ได้อพยพจากถิ่นฐานเดิมก็จะกลับบ้านเกิดเพื่อไปรวมตัวกับครอบครัว และฉลองการสิ้นสุดของการถือศีลอดที่กินเวลาราว 1 เดือนก่อนหน้า โดยข้อมูลเมื่อปี 2017 ระบุว่า มีผู้ที่โดยสารรถไฟและรถประจำทางมากถึง 33 ล้านคน ทำให้ทั้งการจราจรและบริการขนส่งสาธารณะของอินโดนีเซียเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่ต้องการกลับบ้านในช่วงนี้ของทุกปี
กิจกรรมที่ทำในช่วงวันอิฎิ้ลฟิตริคือการรวมตัวกับครอบครัวและมิตรสหายเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน และขอให้พวกเขาได้ให้อภัยในสิ่งที่ได้กระทำไม่ดีระหว่างกันในช่วงปีที่ผ่านมา และจะมีการมอบเงินให้กับเด็กๆ และคนยากจน โดยบรรดาผู้ใหญ่จะให้เงินกับเด็กๆ (คล้ายกับการให้ซองแดงในเทศกาลตรุษจีน) และพวกเขาจะต้องบริจาคเงินให้กับเด็กที่ยากจนในละแวกบ้านด้วยเช่นกัน