“ความคิดเรื่องครอบครัวกำลังจะกลายเป็นของโบราณ ครับ” สรัช สินธุประมา นักวิจัยรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2561 สาขาสังคมศาสตร์ (ระดับปริญญาโท) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับผม สรัชศึกษาแนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย และบอกว่า โครงสร้างทางประชากรและขนาดของครอบครัวที่เปลี่ยน- แปลงไป ทำให้แนวคิดการพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมีรูปแบบต่างไปจากเดิมด้วย
สรัชจำแนกที่พักสำหรับผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิงของ ผู้อยู่อาศัยสามระดับ คือ ดูแลตนเองได้ กึ่งพึ่งพิง (ต้องการ ความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เข้าห้องนํ้า แต่งตัว) และต้องพึ่งพิง (ต้องการการดูแลจากพยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมง)
อ่านสารคดี วันพรุ่งนี้ของ “ไทยชรา” ตอนที่ 1: “แก่แล้วจน” คือ “คนไทย” ได้ที่นี่
แนวคิดในการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุ ยังคงใช้ชีวิตในที่เดิมต่อไปนานที่สุดเพื่อชะลอความถดถอย ของร่างกายและจิตใจ หรือที่เรียกกันว่า “สูงวัยในถิ่นเดิม” (age in place) มีการจัดการสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัย ให้เป็นมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่เริ่ม ดูแลตัวเองได้น้อยลง ไม่ต้องถูกพรากจากถิ่นเดิมไปอยู่ใน บ้านพักคนชราหรือเนิร์สซิงโฮม
นักวิจัยหนุ่มผู้นี้บอกว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ เราจะ ได้รัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ที่จะต้องเผชิญความท้าทาย จากคลื่นประชากรสูงวัยที่กำลังโถมเข้ามา
“ถ้ามองดูบรรยากาศการสนทนาเรื่องสังคมสูงวัย เรา จะพบสองเรื่องที่โดดเด่นครับ” สรัชบอก นั่นคือการเพิ่มอัตราเบี้ยผู้สูงอายุและโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ “แต่ราคาของโครงการที่อยู่อาศัยแพงในระดับที่คนทั่วไปไม่มีกำลังซื้อแน่นอน”
โครงการบ้านพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งของรัฐและเอกชน ช่วงราคาและบริการก็แตกต่างหลากหลาย กระนั้น ราคาขั้นตํ่าก็ยังนับว่าแพงเกินเอื้อมสำหรับคนส่วนใหญ่
“ซีเนียร์คอมเพล็กซ์” เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ภาครัฐพยายามดำเนินการ โดยมีเจ้าภาพหลักคือกรมธนารักษ์และโรงพยาบาลรามาธิบดี จัดพื้นที่และบริการตอบสนองความต้องการของผูู้สูงอายุ แต่ต้นทุนในการเข้าอาศัยเหมาะกับผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงผู้มีรายได้สูง ความที่ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในการจับจองห้องพักในราคาตํ่าสุดอยู่ที่ 2,216,000 บาท ไม่นับรวมค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายอื่น ๆรวมถึงรายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างพักอาศัยด้วย
สรัชพบว่าโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ถ้าเรามองไปที่กรุงเทพมหานครซึ่งจะมีผู้เข้าสู่วัยชราราวแปดหมื่นคนต่อปี แต่โครงการที่พักอาศัยมีความสามารถรองรับผู้สูงอายุได้เพียงหลักพันจนต้องใช้วิธีจับสลาก ขณะที่โครงการที่พักอาศัยของการเคหะแห่งชาติมีจำนวนประมาณสี่พันยูนิต แต่กันสิทธิไว้สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 60
ในขณะเดียวกันก็มีบ้านแบบ “assisted living hou-sing” หรือในชื่อภาษาไทยที่สรัชเรียกว่า บ้านโอบอุ้ม เป็นรูปแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สามารถ “สูงวัยในถิ่นเดิม” มีราคาถูกกว่าสถานดูแลขนาดใหญ่
“ในสหราชอาณาจักรเรียกว่า ‘บ้านดูแลแบบพิเศษ’(extra-care home) แต่จะมีรูปแบบร่วมกัน คือเป็นที่พักที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก มีห้องพักส่วนตัว มีนักบริบาล (caregiver) คอยช่วยเหลือการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบนํ้า แต่งตัว และผู้อยู่อาศัยมีอิสระในการใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในบ้านของตัวเอง และสามารถเพิ่มการดูแลที่เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ” สรัชกล่าว
ข้อดีของที่พักขนาดเล็กคือสามารถกระจายตัวอยู่ใกล้แหล่งชุมชนได้มากกว่าการพัฒนาโครงการที่ต้องสร้างบนที่ดินแปลงใหญ่นอกเมือง นักบริบาลสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงจากการอาศัยอยู่รวมกันหลายคน รวมถึงมีตัวเลือกที่ตอบรับความต้องการที่หลาก-หลายยิ่งขึ้น เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือเป็นผู้ที่มีความสนใจและวิถีชีวิตเหมือน ๆ กัน ทำให้ผู้สูงอายุยังคงอาศัยอยู่ในชุมชนและมีชีวิตอยู่ท่ามกลางเครือข่ายสังคมของตนได้ต่อไป
“คำว่าครอบครัวแบบเดิมเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปจนต่างจากที่เราเคยเข้าใจครับ เราจะมีโมเดลใหม่ ๆ ในการให้การดูแลผู้สูงอายุ รัฐจะต้องทำให้ครอบครัวแบบใหม่ ๆ เป็นไปได้ครับ” สรัชมองไปยังอนาคตที่หลายอย่างเริ่มจะเปลี่ยน-แปลงและนโยบายจะต้องวิ่งตามให้ทัน
“ไลฟ์สไตล์ของคนทุกวันนี้มีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา” สรัชบอกว่า คนเจเนอเรชันวายอย่างคนรุ่นเขา มีแนวโน้ม จะไม่ยึดติดกับพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้งานอยู่ในทุกแห่งบนโลก ผู้คนเคลื่อนย้ายไปตามปัจจัยต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือปัจจัยเดิม ๆ
ผมฟังสรัชแล้วนึกภาพตัวเองมีชีวิตเหมือนยุคที่มนุษย์ยังคงเก็บของป่าล่าสัตว์ ต่างตรงที่ผมเร่ร่อนไปโดยมีสัญญาณไวไฟเป็นเหมือนก้อนหินและโล่ป้องกันภยันอันตรายและความหิวโหย แต่โถงถํ้าแบบไหนกันนะที่จะให้ร่มเงาแก่ผมในยามชรา หากผมเลือกที่จะเป็นชนเผ่าเร่ร่อน
สรัชปลอบใจผมด้วยแนวคิดที่อยู่อาศัยแบบบ้านที่มีคนอยู่อาศัยรวมกันหลายรุ่นหรืออยู่รวมกันอย่างครอบครัวอุปถัมภ์ (multi-generation house หรือ foster family) “นี่คือการคิดใหม่เกี่ยวกับความเป็นครอบครัวครับ คุณอาจจะเคลื่อนย้ายไปที่ไหนก็ได้ คุณอาจจะมีครอบครัวที่ไม่ได้ผูกพันทางสายเลือด แต่มีคุณค่าบางอย่างที่พวกคุณยึดถือร่วมกันแทนการผูกพันทางสายเลือด” สรัชกล่าว
อาคารหกหลังได้รับการออกแบบให้คงอัตลักษณ์แบบล้านนาร่วมสมัย แต่ละหลังเรียงรายลดหลั่นไปตามพื้นต่างระดับโดยมีบันไดและทางลาดอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถเข็น ความร่มรื่นบนที่ดินกว่าเจ็ดไร่ของกรมธนารักษ์สร้างบรรยากาศให้ผู้มาเยือนมีความรู้สึกคล้ายได้มาพักผ่อนที่รีสอร์ตหรูและเงียบสงบ
ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ (CMU Senior Wellness Center) แห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าปิง จังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมองค์ความรู้และบริการฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุแบบพหุศาสตร์ ตั้งแต่เวชภัณฑ์ ทันตกรรม ไปจนถึงสหคลินิกวางแผนสุขภาพ มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาการปรับปรุงบ้าน บริการร้านขายยา ศูนย์กายภาพบำบัด ธาราบำบัด กิจกรรมเชิงนันทนาการ และส่งเสริมทักษะใหม่ ๆ แก่ผู้สูงอายุ
ภายในศูนย์กายภาพบำบัดมีเครื่องออกกำลังกายเรียงรายเป็นระเบียบ แต่ยังเช้าเกินกว่าจะมีใครเข้ามาใช้บริการนอกจากนักกายภาพบำบัดหญิงที่กำลังเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ต่าง ๆ “เราใช้สมาร์ตเซนเซอร์เป็นตัวควบคุมลักษณะทางสรีระของผู้ใช้งานค่ะ เพราะคนเรามักจะออกกำลังตามความเคยชิน” ปวีณา อินตารักษา นักกายภาพบำบัด บอกและอธิบายว่า การใช้สรีระที่ถูกต้องจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยรักษามวลกระดูกของผู้สูงอายุ โปรแกรมการออกกำลังกายจะถูกออกแบบเฉพาะรายบุคคล มีนักกายภาพบำบัดหนึ่งคนต่อผู้สูงอายุสามคน
“เราจะไม่ปล่อยให้ลูกค้าเล่นตามลำพังค่ะ” ปวีณายํ้า
แม้ศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุแห่งนี้จะขยายกลุ่มเป้าหมายกว้างไปถึงคนในกลุ่มก่อนสูงวัย (pre-aging) แต่ผู้ใช้บริการ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุกลุ่มกึ่งพึ่งพิงที่เดินทางมากับลูกหลาน โดยได้รับการดูแลประคบประหงมจากครอบครัวเป็นอย่างดี
ราคาค่าบริการน่าจะเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงของผู้สูงอายุทั่วไป แต่การสร้างโมเดลให้แพร่หลายในวงกว้างน่าจะเป็นเป้าหมายหลักในระยะยาว สอดคล้องกับความพยายามของภาครัฐที่ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างศูนย์ผู้สูงอายุขึ้น 7,000 แห่งทั่วประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันมีการก่อสร้างยังไม่ถึง 1,000 แห่งก็ตาม
ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางอำเภอสันกำแพงราว 20 นาที แสงแดดและอุณหภูมิที่เทศบาลตำบลแม่ปูคา จัดว่าร้อนในระดับที่กิจกรรมกลางแจ้งอาจกลายเป็นความเสี่ยงของชีวิต คลื่นความร้อนในเดือนเมษายนทำให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ต้องรองรับผู้สูงอายุจากอาการฮีตสโตรก
กระนั้น อรศรี พรมยศ ก็เดินยิ้มฝ่าแดดตอนเที่ยงมาแต่ไกล เห็นได้ชัดจากท่าเดิน เข่าของเธอมีปัญหา แต่ใบหน้าและผิวพรรณผ่องใสเหมือนคนสุขภาพดี
“เราต้องทำพื้นห้องนํ้าให้ยายใหม่เนาะ” จิดาภา อิ่นแก้ว อสม. ดีเด่นระดับชาติ สาขาสุขภาพจิตชุมชน บอกกับยาย อรศรี ซึ่งพยักหน้ากับแผนการปรับพื้นห้องนํ้าให้เสมอกัน
“แต่พวกหนูจะซ่อมโครงหลังคากันสาดด้านนอกให้ยายด้วยนะ เพราะยายชอบนั่งนอกบ้านใช่มั้ย อากาศบ้านเรามันร้อนเนาะ” เมื่อได้ยินเช่นนั้น หญิงชราอายุ 72 ยิ้มฟันขาว
สภาพแวดล้อมของบ้านที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมีเกณฑ์ขั้นพื้นฐานหลายประการ บันไดบ้านต้องมีราวให้ยึดเกาะ ห้องนํ้าตั้งอยู่ในบ้านและมีราวให้ยึดเกาะด้วย ส้วมเป็นแบบนั่งห้อยเท้า ห้องนอนอยู่ชั้นล่างหรือเป็นบ้านชั้นเดียว แต่การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2564 พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 93.8 อาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์
ยายอรศรีสวมงอบเพื่อบังแดด ราวใกล้เที่ยง เธอยังทำงานอยู่ในสวนขนาดเล็กที่ปลูกพืชผักหลายชนิดไว้ขายในตลาด บวกกับเบี้ยผู้สูงอายุอีกเดือนละ 700 บาท เธอบอกว่ารายได้สองส่วนนี้เพียงพอสำหรับหญิงชราที่อยู่เพียงลำพัง
“ฉันอยู่คนเดียวมาตั้งแต่อายุ 40 ตอนนี้ 72 แล้ว” ในวัยสาว อรศรีทำไร่ทำนา รับจ้างเย็บผ้าในโรงงาน เก็บหอม-รอมริบไว้ซื้อวัสดุสำหรับการสร้างบ้าน จากที่กองอยู่บนพื้น วัสดุเหล่านั้นประกอบกันจนเป็นบ้านหลังนี้
“สมัยก่อนพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยจะทำงานยาวกว่านี้ค่ะ” จิดาภาหมายถึงคนแก่ในชุมชนแม่ปูคา แต่การเปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้ที่ดินจากภาคเกษตรเป็นหมู่บ้านจัดสรรเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ก็ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป และผู้สูงวัยต้องหยุดทำงาน
สามีของอรศรีเสียชีวิตไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ลูก ๆ ของเธอกระจัดกระจายไปตามแรงเหวี่ยงของชีวิต พวกเขาทำงานและสร้างครอบครัวในต่างเมือง นาน ๆ ทีจะมีหลานกลับมาอยู่เป็นเพื่อนยาย
“อยู่คนเดียวได้สบาย ไม่เบื่อหรอก” อรศรียิ้ม
ห่างจากบ้านของอรศรีไปไม่กี่เมตร มา ชัยเลิศ ถูกห้อมล้อมด้วยลูกหลานหลากหลายวัย เธออายุ 86 ปี เป็นหญิงชราร่างท้วม สวมผ้าถุงแบบเดียวกับหญิงชราตามชนบททั่วไป เธอนั่งอยู่บนแคร่หน้าบ้านเหมือนตุ๊กตา หรี่ตามองคนแปลกหน้าที่กำลังเดินเข้ามา เธอเป็นคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่และเวลาเดิมทุกวัน หากใครต้องการตามตัว เชื่อเถอะว่าหาตัวยายไม่ยาก
“เบื่อ ทำไมฉันไม่ตาย ๆ ไปเสียที” หญิงชราบ่น จิดาภาหันขวับ “เอ้า ทำไมยายพูดแบบนั้น”
นอกจากลงพื้นที่สำรวจสภาพบ้านของผู้สูงอายุในชุมชนจิดาภาใช้โอกาสนี้สำรวจสุขภาพจิตของผู้สูงอายุไปด้วย “นี่เป็นครั้งที่สามแล้วค่ะที่ยายพูดแบบนี้” จิดาภาบอกว่านี่คือสัญญาณอันตรายที่ต้องเข้าไปสืบหาต้นตอของปัญหา
“เราต้องหาวิธีพูดให้ยายเห็นคุณค่าของตัวเองค่ะ เราต้องคอยยํ้าว่า ยายมีความสำคัญกับคนในบ้านนะ จนระยะหลังยายก็ดีขึ้น วันนี้กลับมาเป็นอีกแล้ว แสดงว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นสักอย่าง เราต้องไปสืบหากันอีกค่ะ” จิดาภาบอก
เทศบาลแม่ปูคาทำฐานข้อมูลรายหลังคาเรือนเพื่อจะได้รู้ว่า แต่ละครัวเรือนมีผู้สูงอายุอยู่กี่คน เป็นผู้สูงอายุในกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือแบบใด พวกเขากำลังเผชิญปัญหาใด โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่มหรือสามระดับ (สีเขียว เหลือง และแดง) ตามความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง
“บางบ้านมีเหลืองกับแดงอยู่ด้วยกัน” จิดาภาเล่าถึงการทำงานดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในชุมชน “บางบ้าน เหลืองตายก่อน เหลือแดง เขาก็ไปไหนไม่ได้ บางทีแดงตายก่อน เหลือเหลือง เราต้องเข้าไปดูแลผู้สูงอายุกลุ่มสีเหลืองที่อยู่คนเดียว ไม่ให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวค่ะ”
ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง แต่สถิติกลับชี้ว่า คนแก่ที่ฆ่าตัวตายร้อยละ 60 เป็นคนแก่ที่อยู่ในครอบครัวที่มีคนสามรุ่น แต่มีเพียงร้อยละห้าจากจำนวนคนแก่ที่ฆ่าตัวตายเท่านั้นที่อยู่คนเดียว ประสบการณ์ทำงานด้านสุขภาพจิตในเทศบาลแม่ปูคามายาวนาน ทำให้จิดาภาพยักหน้าเห็นด้วยกับข้อมูลที่ผมหยิบมาแลกเปลี่ยนให้เธอฟัง “เพราะคนสูงอายุที่อยู่ลำพังมีแนวโน้มที่จะไม่มีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ แล้วก่อนที่จะอยู่คนเดียวแสดงว่าเขาต้องผ่านความสูญเสียมาระดับหนึ่ง แต่ในครอบครัวสามวัยนี่แหละที่เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจกัน เพราะมีแต่ละเจเนอเรชันเติบโตมาต่างกันค่ะ” จิดาภาบอกว่า คำพูดเดียวกัน แต่คนต่างวัยพร้อมจะตีความต่างกันไป ถือเป็นเรื่องเล็กที่สะสมจนลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ได้
“สิ่งที่คนชรากลัวที่สุดมีสองอย่างค่ะ” จิดาภาสรุปจากประสบการณ์ทำงานอาสาสมัครชุมชนมากว่า 40 ปี “หนึ่ง กลัวการพลัดพราก สอง กลัวลูกหลานไม่ยอมรับ ลูกหลานไม่ให้ทำนั่นทำนี่ เพราะห่วง แต่คนชราคิดว่าฉันยังทำได้ ฉันไม่มีคุณค่าแล้วเหรอ พวกเขารู้สึกถูกด้อยค่าค่ะ”
อีกห้าปี จิดาภาจะเกษียณ เธอวางแผนว่าในวัย 60 เธอจะเข้าไปเป็นแกนนำผู้สูงอายุของชุมชน มีหลายสิ่งที่น่าสนุกรอเธออยู่ในวัยชรา แต่ “ถ้าถึงวันนั้นแล้วเขาไม่ให้เราทำบอกว่า ‘ป้าไม่ต้องทำหรอก ป้าแก่แล้ว’ เครียดมั้ยล่ะถ้าเจอแบบนี้ ดังนั้นเราควรปล่อยให้คนแก่ทำเท่าที่เขามีศักยภาพค่ะ” จิดาภากล่าว
ยายของอารยา คงแป้น จากเธอไปตอนอายุ 103 ปี ชีวิตยืนยาวของยายทำให้เธอกังวลถึงอนาคตของตัวเอง “หนูไม่อยากอยู่นานถึงขนาดยาย มันเหนื่อยเนาะ ทรมาน”
ตอนที่เสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับบ้านพักคนชราในอินเทอร์-เน็ต อารยาซึ่งอายุ 30 ปี จึงไม่ได้เตรียมเรื่องนี้สำหรับคน รุ่นพ่อแม่ แต่กำลังหาคำตอบให้ตนเองและคนรักซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยเฉพาะ
“มันเริ่มจากการที่หนูคุยกับแฟน แล้วเราเกิดคำถามค่ะตอนแก่เราจะอยู่กันยังไง” อารยาพบว่าค่าใช้จ่ายในการอาศัยบ้านพักคนชราสูงกว่าที่คาดไว้มาก “โคตรแพงเลยค่ะ แล้วต้องจองคิวนานด้วยนะ เพราะฉะนั้นเราต้องตัดสินใจล่วงหน้าหากคิดจะไปอยู่” อารยาบอก
โครงการที่พักอาศัยของภาครัฐที่มีบริการทางการแพทย์และกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุในลักษณะนี้ แม้จะมีราคาถูกกว่าโครงการของเอกชน แต่ก็เป็นเงินหลักล้าน สนนราคาอยู่ที่ 1.4 ถึง 3.3 ล้านบาท ผู้พักอาศัยต้องมีทั้งรายได้เลี้ยงตนตลอดชีพและสุขภาพที่แข็งแรง เพราะหากสุขภาพทรุดลงจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง จะต้องย้ายออกจากโครงการ
อารยาเริ่มต้นทำงานในวิชาชีพสื่อสารมวลชน ก่อนจะผันตัวไปทำธุรกิจส่วนตัว แต่อนาคตเร่งเร้าคำตอบจากปัจจุบัน อารยาและคนรักจึงตัดสินใจเปลี่ยนอนาคตด้วยการสอบขึ้นบัญชีข้าราชการ
โชคดีที่ปีถัดมาทั้งคู่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในพื้นที่ใกล้เคียงกัน คนรักของเธอเลือกพื้นที่เทศบาลเมืองบ้านฉางจังหวัดระยอง ทั้งสองคนจึงตัดสินใจย้ายไปเช่าบ้านในเมือง นั้น ปีถัดมา อารยาเข้าทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบล บ่อวิน จังหวัดชลบุรี เธอขับรถจากบ้านไปทำงานวันละร่วม หนึ่งร้อยกิโลเมตร แต่ยังได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนรัก
“ตำแหน่งงานของหนูคือนักพัฒนาชุมชน เป็นงานที่ใกล้
เคียงกับตอนที่หนูทำงานสื่อมวลชน เพราะได้คลุกคลีกับ ชาวบ้าน” อารยาเล่าถึงบทบาทใหม่ของตัวเอง
ผู้สูงอายุในเมืองอุตสาหกรรมอย่างบ่อวินเป็นภาพสะท้อน ให้ย้อนกลับไปคิดถึงยายผู้วายชนม์ของเธอในหมู่บ้านชนบท จังหวัดนครสวรรค์ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เธอลงพื้นที่ไป เยี่ยมตามบ้านต้องอยู่ตามลำพังในช่วงกลางวัน ลูก ๆ ในวัย แรงงานออกไปทำงานในโรงงานที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของ เมือง ความผูกพันระหว่างยายกับหลานทำให้อารยาเอ็นดู คนแก่แปลกหน้าในบ้านที่เธอกำลังสำรวจเพื่อปรับภูมิทัศน์
“ยายขึ้นไปขี้ได้ยังไง” เธอถามหญิงชราเจ้าของบ้านด้วย ความเป็นห่วง เพราะโถส้วมแบบคอห่านถูกติดตั้งบนพื้น ปูนสี่เหลี่ยมขนาดพอ ๆ กับตัวโถ พื้นบริเวณนี้ถูกยกสูงกว่า ระดับพื้นห้องนํ้าเพื่อหนีนํ้าท่วม จนทำให้การปลดทุกข์เป็น เรื่องอันตรายสำหรับคนแก่
“ฉันก็ขี้แบบนี้มาตลอด ไม่เห็นจะเป็นอะไร” หญิงชรา เถี ยงเหมื อนคนแก่ เอาแต่ ใจ แต่ สุ ดท้ายก็ ยิ นยอมให้ เจ้าหน้าที่ อบต. เข้ามาปรับปรุงบ้าน
อารยาวางแผนกับคนรักว่า สักวันหนึ่งทั้งคู่จะไปตั้งรกราก ที่บางแสน เมืองริมทะเลที่ทั้งสองพบกัน บางแสนไม่ใช่ บ้านเกิดของเธอ ไม่ใช่บ้านเกิดของคนรัก แต่บ้านคืออะไร กันแน่ มันอาจจะเป็นสถานที่ที่คนคนหนึ่งสามารถมีความ ผูกพัน บ่มเพาะความทรงจำร่วมกับใครสักคน สร้างความ สัมพันธ์เป็นครอบครัว “บางแสนเหมือนบ้านค่ะ”
“แต่จำเป็นต้องมีกุ้ง” ผมถาม กุ้งคือชื่อคนรักของอารยา
“มาด้วยกันก็ไปด้วยกัน” เธอตอบด้วยนํ้าหนักของเสียง แบบคนสมัยก่อนที่เขินอายเวลาแสดงความรัก
เรื่อง วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ติดตามสารคดี วันพรุ่งนี้ของไทยชรา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/579020