วันพรุ่งนี้ของ “ไทยชรา” ตอนที่ 1: แก่แล้วจน คือ “คนไทย” ปัญหาสังคม ผู้สูงอายุ

วันพรุ่งนี้ของ “ไทยชรา” ตอนที่ 1: แก่แล้วจน คือ “คนไทย” ปัญหาสังคม ผู้สูงอายุ

วันพรุ่งนี้ของ “ไทยชรา” ตอนที่ 1: แก่แล้วจน คือ “คนไทย”

ภาพถ่ายงานมงคลสมรสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 ตรึงทุกสิ่งที่บัดนี้แปรเปลี่ยนไปให้คงอยู่ แม้แต่ก้อนนํ้าแข็งที่สลักเสลาเป็นรูปนกยูงรำแพน ในตอนนั้นเจ้าบ่าวอายุ 30 ปีผอม ผิวคลํ้า ใบหน้าตอบ อายุมากกว่าภรรยา 12 ปี และเธอเป็นผู้หญิงร่างเล็ก ใบหน้าคม และสวย ญาติผู้ใหญ่ที่ยืนถ่ายรูปร่วมกับคู่บ่าวสาวยังอยู่ในวัยกลางคน

แต่ตอนนี้เจ้าบ่าวในภาพถ่ายกลายเป็นชายชราวัย 70และแม้ความสวยของเจ้าสาวยังจับบนใบหน้าของหญิงวัย 58 แต่ก็ใกล้โรยราเต็มทีเเล้ว

ทุกเช้า สามารถ คล้ายสุบรรณ์ จะขี่จักรยานยนต์ออกจากบ้านพักย่านทับช้าง เขตสะพานสูง ไปทำงานที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสบนถนนวิภาวดีรังสิต เขามาถึงสำนักงานไม่เกินแปดโมงครึ่งและเข้างานตรงเวลา หากวันไหนมีถ่าย “เปิดหน้า” พิธีกร สามารถจะคอยช่วยช่างภาพรุ่นลูกจัดแสงเงา ประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยช่างภาพยุคก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ทำให้เขายังคงอยู่ในบทสนทนาเดียวกับเพื่อนร่วมงานรุ่นหลาน

ต้องขอบคุณเทคโนโลยีการผลิตสื่อที่ย่อให้ทุกอย่างมีขนาดเล็กและราคาถูกลง เพราะมันช่วยขยายโอกาสให้คนอย่างสามารถที่ย่างเข้าสู่วัยชรา ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อย่างสามารถเล่าให้ผมฟังว่า เขาเริ่มงานสื่อสารมวลชนใน วัย 45 ก่อนหน้านั้น เขาทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมนํ้าตาล แห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งก่อตั้งในยุคสมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

“พ่อผมเป็นทหารรับใช้จอมพลสฤษดิ์ครับ” สามารถ เอ่ยถึงพ่อและจอมพลผ้าขาวม้าแดง ผู้ขีดเส้นทางชีวิตครึ่ง แรกให้เขา “หลังปลดประจำการ พ่อก็กลับมาอยู่บ้านนอก พอรัฐบาลตั้งบริษัทส่งออกนํ้าตาล เขาเรียกพ่อกลับมาทำงาน ผมก็ย้ายตามพ่อเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงต้น พ.ศ. 2500”

ในตอนนั้น นํ้าตาลทรายทุกเม็ดทุกหน่วยในประเทศนี้ ถูกบริหารจัดการโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การ บริหารงานขององค์การนํ้าตาลไทย แต่ราคานํ้าตาลตกตํ่า สร้างความเดือดร้อนให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานนํ้าตาล รัฐบาล จึงตั้งบริษัทอุตสาหกรรมนํ้าตาลแห่งประเทศไทย จำกัด ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2496 ทำหน้าที่จำหน่าย นำเข้า และส่งออก แต่เพียงผู้เดียว

หลังเรียนจบช่างไฟฟ้า สามารถทำงานในบริษัทเดียวกับ ผู้เป็นพ่อ ชายหนุ่มทำหน้าที่ควบคุมการถ่ายสินค้าลงเรือ เดินสมุทรที่จอดเทียบโกดังริมนํ้าตั้งแต่แม่นํ้าเจ้าพระยาเรื่อย ลงไปจนถึงเกาะสีชัง ก่อนที่เรือเดินสมุทรจะบรรทุกนํ้าตาล จากประเทศไทยเดินทางไปยังสุดขอบโลก

ชีวิตของสามารถในช่วงนั้นหอมหวานเหมือนนํ้าตาล เงินเดือนไม่มากแต่ได้โบนัสปีละ 30 เดือน มากพอที่จะทำให้หนุ่มบางปลาม้าแห่งเมืองสุพรรณได้ลิ้มรสด้านไฉไลของชีวิต “หรูหรา กินดีอยู่ดี” สามารถนิยามการใช้จ่ายของชีวิตในช่วงนั้นให้ผมฟัง

หลังจากบริษัทถูกขายทอดตลาดช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 สามารถกลายเป็นคนตกงานทันที ในตอนนั้นสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งเปิดรับสมัครพนักงานจำนวนมาก แต่เขาไม่มีประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชน นอกจากทักษะการถ่ายภาพขาวดำที่เคยสมัครเรียนที่วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา ตอนสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

“ผมชอบถ่ายภาพขาวดำแต่ไม่คิดว่ามันจะได้ใช้ตอนแก่ครับ” สามารถเล่า ถึงอย่างนั้น ตอนยื่นใบสมัครที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี สามารถเป็นหนุ่มใหญ่อายุ 45 ปีที่ถูกปฏิเสธ“ตอนนั้นเขาไม่รับผมเข้าทำงานครับ เพราะผมอายุมากแล้ว”

ผ่านไปสามเดือน เขาเข้าไปยื่นใบสมัครที่เดิมอีกครั้ง “พูดกับเขาว่าดูกันที่งานนะครับ” สุดท้ายก็ได้ทำงานที่สถานีโทรทัศน์แห่งนั้นในตำแหน่งผู้ช่วยช่างภาพพ่วงพนักงานขับรถ รับเงินเดือน 4,700 บาท จากที่เคยได้ 13,700 บาท

“สมัยก่อนทีมข่าวจะมีสามคนคือ นักข่าว ช่างภาพ และผู้ช่วยช่างภาพ ซึ่งควบตำแหน่งขับรถด้วย” ในรถยนต์ฮุนได สามารถนั่งหลังพวงมาลัยเดินทางไปบนทางหลวง ขึ้นเหนือล่องใต้ แต่พอต้องเกษียณเมื่ออายุ 60 สามารถกลับเคว้งคว้างราวกับยังเยาว์ ชีวิตของเขาจะไปทางไหน

สังคมผู้สูงอายุไทย
เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายและร่างกายยังทำงานไหว เสริม ฉํ่าพรมราช อายุ 68 ปี จึงสมัครเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อให้มีงานทำต่อเนื่อง เขาต้องออกจากงานพนักงานขับรถในบริษัทเดิมเมื่อปีที่ผ่านมา หลังต่ออายุงานหลังเกษียณเมื่ออายุ 65 มาแล้วสองปี เสริมเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯตั้งแต่อายุ 15 จนถึงปัจจุบันและวางแผนว่าหลังจากส่งเสียจนลูกชายคนเล็กเรียนจบในอีกสองปีข้างหน้า เขาจะกลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดสกลนคร

องค์การสหประชาชาตินิยามว่า ผู้สูงอายุหมายถึงประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตรงกับนิยามผู้สูงอายุของประเทศไทยตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
ความเคว้งคว้างของชายวัย 60 เกิดจากทางแยกที่เป็นรอยต่อระหว่างชีวิตที่ยังจำเป็นต้องทำงานต่อไป กับชีวิตที่ควรพักผ่อนตามความรับรู้ในโลกยุคที่โครงสร้างประชากรยังคงมีอัตราการเกิดในระดับที่สามารถป้อนแรงงานเข้าสู่ระบบทดแทนประชากรสูงวัยได้ แต่เมื่อโลกก้าวสู่สังคมสูงวัย เส้นแบ่งบนพรมแดนนี้ก็เลือนรางลงทุกที

“ถ้าออกจากงานแล้วจะไปทำอะไร” คือคำถามในวัย 60 ของสามารถ “ตอนแรกก็คิดแค่ว่าอยู่บ้านไปก่อน ค่อยหาอะไรทำแต่ขับรถแท็กซี่ไม่เคยอยู่ในความคิดเลย ผมไม่อยากรับผิดชอบชีวิตคนอื่น”

องค์กรที่เขาทำงานมีนโยบายจ้างผู้สูงอายุทำงาน แม้ไม่ได้ทำในตำแหน่งเดิม เพราะมีนโยบายไม่ให้ผู้อายุมากกว่า 60 ปีทำงานในตำแหน่งที่ต้องขับรถงานหลักในวัย 70 ของสามารถจึงเป็นการเก็บข้อมูลของสถานีโทรทัศน์ไว้เป็นสถิติสำหรับอนาคตและตัดต่อรายการข่าวขนาดสั้นที่ออกอากาศในวันเสาร์-อาทิตย์

“น้าสามารถเป็น ‘ดิจิทัลไมแกรนต์’ ตัวจริงเลยค่ะ”วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ เป็นผู้เรียกเขาเช่นนี้ เธอรู้จักชายสูงวัยมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้จนวันที่เติบโตบนวิชาชีพและคอยให้คำปรึกษา “น้าสามารถ” ในเรื่องที่เพื่อนร่วมงานรุ่นพ่อไม่คุ้นชิน

“ผมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากน้อง ๆ รุ่นหลัง จดลงในสมุดว่าขั้นตอนการตัดต่อทำอย่างไร” สามารถบอก โครงสร้างประชากรของสังคมไทยเหวี่ยงเขาจากโลกแอนาล็อกสู่โลกดิจิทัล ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งกับทักษะใหม่

ลืมไปเสียเถิดกับความรับรู้เดิมที่มีต่อชีวิตหลังเกษียณ

การพาคนแก่ไปทิ้งในป่าหรือการกำจัดคนแก่ออกจากครอบครัวปรากฏในตำนานพื้นบ้านทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ในสังคมสแกนดิเนเวียมีตำนานเล่าถึงการบังคับให้คนแก่กระโดดหน้าผา หรือไม่ชุมชนก็จะโยนผู้ชราภาพลงมาภูเขาสูง จนเกิดคำว่า senicide หมายถึงการฆ่าผู้สูงอายุ คำคำนี้มาจาก senilis หมายถึงแก่หรืออาวุโส มารวมกับ -cide หมายถึงฆ่า รวมแล้วคำนี้ใช้หมายถึงการฆ่าผู้สูงอายุเพราะไม่มีประโยชน์ เป็นภาระต่อสังคมโดยเฉพาะในยามที่ทรัพยากรขาดแคลนหรือมีความจำเป็น

โลกตะวันออกอย่างที่ญี่ปุ่่น เล่าขานและบันทึกตำนานอูบะซูเตะ (ubasute) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่แปดถึงเก้าเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทิ้งคนแก่นี้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมชุด ยามาโตะโมโนงาตาริ ซึ่งเขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่สิบ สมัยเฮอัน “อูบะ” หมายถึงหญิงแก่ “ซูเตะ” แปลว่าทิ้ง

อูบะซูเตะเป็นเหมือนแม่นํ้าสายใหญ่ที่มีเรื่องเล่าแตกแขนงเป็นแควยิบย่อย แต่ละเรื่องเล่ามีที่มาจากสามแหล่งใหญ่ ได้แก่ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ในบรรดาเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทิ้งคนแก่ ผมชอบเรื่องเล่าของเทพอาริโดชิ ซึ่งเป็นเทพสูงอายุที่มีปัญญาของญี่ปุ่น มากกว่าเรื่องอื่น ๆ

นิทานเรื่องนี้เล่าถึงเมืองที่มีธรรมเนียมบังคับให้ต้องทิ้งคนแก่ พระราชาตั้งกฎว่า ถ้าบ้านใดมีคนแก่อายุ 70 ปี จะต้องนำไปทิ้ง หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ เสนาบดีคนหนึ่งมีแม่แก่ชรา ทว่าเขาเป็นลูกกตัญญู จึงแอบซ่อนมารดาเอาไว้ในห้องใต้ดินโดยไม่ให้ทางการรู้

วันหนึ่ง อาณาจักรข้างเคียงเข้ามารุกราน ฝ่ายศัตรูกังวลว่าเมืองนี้จะมีคนเก่งหรือผู้ที่มีปัญญาเป็นเสี้ยนหนาม จึงทดสอบเชาวน์ปัญญาด้วยการตั้งคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ พระราชาผู้ยอมจำนนต้องควานหาขุนนางผู้รอบรู้ แต่กลับไม่มีใครรู้ เสนาบดีหนุ่มจึงขอกลับบ้านเพื่อสอบถามแม่ที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้ดิน และนางก็ตอบคำถามได้หมด

เมื่อเป็นดังนั้น ผู้รุกรานจึงเปลี่ยนมาใช้แนวทางการทูตเพื่อผูกมิตรกับเมืองที่มีผู้รู้เปี่ยมปัญญา ครั้นพระราชาจะปูนบำเหน็จให้เสนาบดี เสนาบดีกลับบอกว่าคำตอบเหล่านี้มาจากมารดาที่ตนซ่อนไว้ในห้องใต้ดิน พระราชาจึงได้เห็นว่าที่จริงแล้วคนแก่มีประโยชน์ต่อเมืองด้วย จึงเลิกธรรมเนียมการทิ้งคนแก่ไป

สังคมผู้สูงอายุไทย
ทองใบ จิตรวัฒนะนนท์ และเสาวณีย์ ดวงอาจ อายุ 64 ปีเท่ากัน เป็น อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ที่บ้าน โครงการ forOldy ประจำชุมชนหน้าสมาคม ธรรมศาสตร์ ซอยงามดูพลี ทั้งคู่คอยแวะเวียนเยี่ยมเยียน ผู้สูงวัยตามบ้าน ระบบ อาสาที่คนในชุมชนมีส่วน ร่วมดูแลกันเองนี้ ช่วยให้ เข้าถึงและช่วยเหลือผู้สูงวัย ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ดี

ตั้งแต่ พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่า 12.9 ล้านคน หรือราวร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด สัดส่วนประชากรสูงวัยดังกล่าวทำให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว ในเวลาอีกไม่เกิน 15 ปีต่อจากนี้ ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super aged society) เมื่อสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขยับขึ้นไปถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าเร็วและแรงจนตั้งรับไม่ทันสำหรับสังคมไทย

ผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มว่ายังต้องทำงานเป็นแรงงานนอกระบบและต้องทำงานกันต่อไปจนกว่าจะทำไม่ไหว ถึงกระนั้น ผู้สูงอายุไทยกลับมีรายได้เฉลี่ยเพียง 7,000 บาทต่อเดือน นักวิชาการคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า รายได้เฉลี่ยของผู้สูงวัยก็ยังเพิ่มขึ้นไปไม่ถึง 9,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่เดือนละ 8,400 บาทต่อคน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการเก็บออมเพื่อวัยเกษียณ และไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและรักษาพยาบาล ส่วนรัฐบาลก็มีรายได้จากภาษีไม่เพียงพอจะดูแลคนวัยเกษียณได้อย่างทั่วถึง ทำให้ผู้สูงอายุถึงร้อยละ 35.5 ยังจำเป็นต้องทำงานอยู่

ไทยชิงแก่ก่อนรวยด้วยการเป็นสังคมสูงวัยในช่วงที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา นี่คือเหตุผลที่ผลักสังคมไทยให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกกันว่า “แก่ก่อนรวย จนก่อนตาย”

ข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติที่ผนวกมิติด้านอายุกับบัญชีรายได้ประชาชาติของบุคคลวัยต่าง ๆ ระบุว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้สูงอายุอยู่ที่ 100,788 บาทต่อคนต่อปี ปัจจุบันอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 85 ปี หมายความว่าคนไทยต้องมีรายได้และเงินออมไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาทสำหรับตลอดช่วงชีวิตที่เหลือภายหลังจากเกษียณ ผู้สูงอายุไทยกว่าร้อยละ 53.9 ไม่มีเงินออมจำนวนนี้หรือไม่มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต พวกเขาจึงมีแนวโน้มต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในระยะยาว

ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ12 ต่อปี แต่ฐานภาษีแคบทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีน้อย จนไม่อาจดูแลคนวัยเกษียณได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

ความกังวลระดับชาติเป็นเงาสะท้อนมาจากความทุกข์ยากของปัจเจกบุคคล และเป็นที่มาของความเคว้งคว้างของสามารถ คล้ายสุบรรณ์ คำถามสำคัญในวัย 60 ประเดประดังมาจากรายได้ที่ลดลง และลูก ๆ ไม่ได้เป็นแหล่งรายได้หลักของเขากับภรรยา สามารถจึงต้องหารายได้เลี้ยงชีพแต่เทียบกับผู้สูงวัยคนอื่น ๆ ในสถานการณ์เดียวกัน ก็นับว่าเขาโชคดีที่ยังได้ทำงานต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

การทำงานในวัยหลัง 60 ทำให้สามารถซื้อที่ดินด้วยเงินผ่อนจนครบจำนวนได้ไม่นานมานี้และมีแผนต่อไปคือ สร้างบ้าน ชายวัย 70 ปียังไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ หากการสร้างบ้านคือหลักฐานเชิงประจักษ์ของความเป็นหนุ่มสาว

“ผมจะต้องเจอกับอะไรบ้างครับ ถ้าผมอายุ 70” ผมถามสามารถ

“สุขภาพสำคัญที่สุด” สามารถบอก “ถ้าสุขภาพไม่ดีเราจะหาเงินไม่ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สารพัดโรคจะเข้ามารุมล้อมสนทนากับคุณ แต่ผมค่อนข้างเพอร์เฟกต์ ไม่มีโรคเลยเพราะจักรยาน ผมปั่นจักรยานทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มาสิบกว่าปีแล้ว”

สังคมผู้สูงอายุไทย
ยามเช้าที่ซอยแห่งหนึ่งบนถนนสาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา กลุ่มเพื่อนบ้านผู้มีใจศรัทธาร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์จากวัดในชุมชน เนื่องจากที่นี่เป็นจุดสุดท้ายของการบิณฑบาตประจำวัน เมื่อส่งพระขึ้นรถกลับวัดเรียบร้อยแล้ว ผู้สูงวัยบ้านใกล้เรือนเคียงกลุ่มนี้ยังอยู่สนทนาแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบกันต่อ

แม้ประชาคมโลกจะยกย่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยว่าเป็นระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ในระดับเดียวกัน และระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ดีย่อมทำให้ผู้คนเข้าถึงสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข แต่ไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพสามระบบ นั่นคือระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การที่เราไม่ได้มีระบบเดียวครอบคลุมผู้คนทุกสถานะอาชีพอย่างเสมอภาคก็ทำให้เกิดคำถามถึงความเหลื่อมลํ้า ซึ่งนับวันจะเป็นคำถามที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ

นักวิชาการหลายคนเห็นตรงกันว่า การรวมสามกองทุนให้เหลือกองทุนเดียวไม่น่าจะใช่ทางออกที่ดี แต่ก็ควรจะทำให้สวัสดิการที่จำเป็นขั้นพื้นฐานมีความครอบคลุมและเหมือนกัน รวมถึงการสนับสนุนด้านการคลังจากภาครัฐที่คำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มโดยเท่าเทียมกัน การแก้ปัญหาสำคัญ ๆ นี้จะช่วยให้ไทยมีระบบประกันสุขภาพแบบไม่มีการแบ่งชนชั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ข้าราชการ มนุษย์เงินเดือนกรรมกร เกษตรกร ศิลปิน ไรเดอร์ ยูทูเบอร์ ฯลฯ ล้วนได้รับสวัสดิการที่รัฐจัดเก็บภาษีมาจัดสรรให้คนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค

งานวิจัยในหลายประเทศพบว่า ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของผู้ป่วยทุกวัยสูงมากที่สุดในไตรมาสสุดท้ายของชีวิต นั่นหมายความว่ามีแนวโน้มที่เราจะเห็นภาพผู้สูงอายุใน “รุ่นเกิดล้าน” หรือกลุ่มประชากรที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2506 ถึง2526 ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กเกิดใหม่ปีละนับล้านคน หลั่งไหลเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในอีก 20 ปีนับจากนี้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ศึกษาค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาลระยะเวลาหนึ่งเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาล พบว่ามีค่าใช้จ่ายจากระบบประกันสุขภาพเฉลี่ย 45,000 บาทถ้าอายุน้อยกว่า 40 ปีจะมีค่ารักษาสูงกว่า คิดเป็นประมาณ 54,000 บาท ซึ่งทั้งหมดยังไม่รวมค่าบุคลากรทางการแพทย์ที่จะทบทวีค่าใช้จ่ายขึ้นไปอีกประมาณร้อยละ 40

แต่หากดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่บ้านและเสียชีวิตที่บ้านด้วย จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลแบบประคับประคองประมาณ 26,000 บาท ค่าใช้จ่ายนี้รวมค่าจ้างผู้ดูแลแล้ว

การสร้างทางเลือกให้มีระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาวและระยะสุดท้ายที่บ้านที่ดีจึงถูกพูดถึงมากขึ้น การเข้ารักษาในโรงพยาบาลจนวาระสุดท้ายไม่ควรเป็นทางเลือกเดียวที่รัฐสนับสนุน เราจำเป็นต้องสร้างทางเลือกให้มีระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาวและระยะสุดท้ายที่บ้าน

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคมของทีดีอาร์ไอ เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวด้านสุขภาพ Hfocus ว่า “เราจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวเชิงรุกโดยสร้างทางเลือกให้มีระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาวและระยะสุดท้ายที่บ้านที่ดี ระบบนี้ต้องการคนดูแลที่บ้านที่ดี และมีการให้คำปรึกษาที่สร้างความอุ่นใจแก่ครอบครัว”

แต่ในสังคมปัจจุบันคนที่จะช่วยดูแลที่บ้านมีน้อยลง ข้อมูลจากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า คนดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงมักจะเป็นลูกสาวหรือภรรยา คนดูแลที่เป็นเพศชายมีจำนวนน้อย การที่คนแต่งงานและมีลูกน้อยลง ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้แนวโน้มผู้ที่จะดูแลผู้สูงอายุก็น้อยลงด้วย

“ถ้าสถานการณ์ยังเป็นไปในทิศทางนี้ ก็จะยิ่งผลักให้ผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังไปนอนโรงพยาบาลมากขึ้น ความเหลื่อมลํ้าก็จะยิ่งทวีคูณ” ดร.วรวรรณกล่าว

ผมเริ่มมองเห็นรูปธรรมของคำสอนที่ฟังดูซํ้าซากอย่าง “ตั้งใจเรียน โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” แต่ความปรารถนาของคนรุ่นเบบี้บูมวัยเลย 60 ขึ้นไป ยังคงมีอิทธิพลมาถึงคนเจเนอเรชันวายวัย 40 ลงมา ในครอบครัวผมมีคนในเจเนอเรชันวายทั้งหมดหกคน รับราชการสี่คน แน่นอนว่าผมหลบหนีความปรารถนาของครอบครัวสำเร็จจนได้มานั่งเขียนสารคดีเรื่องนี้ให้คุณอ่าน และผมก็เริ่มพบว่า สิทธิ-ประโยชน์ของข้าราชการหลังเกษียณช่างแตกต่างจากคนชราผู้เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักประกันด้านสุขภาพ บำนาญ หรือที่อยู่อาศัย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกำหนดให้คุณภาพชีวิตของคนคนหนึ่ง ณ บั้นปลายมีความแตกต่างกันว่าจะมีหรือไร้ซึ่งอิสรภาพ

นี่สินะ ความหมายที่แท้ของการได้เป็นเจ้าคนนายคน

นานนับทศวรรษ สังคมไทยมีข้อเสนอเรื่องการพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติทั้งจากประชาชน นักการเมือง และนักวิชาการมาแล้วไม่น้อย แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ทั้ง ๆ ที่โครงสร้างประชากรไทยได้เปลี่ยน ไปแล้วโดยสิ้นเชิง

สังคมผู้สูงอายุไทย
ณ บ้านหนองจิก อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราณี หน้าพิมาย วัย 78 ปี ยืนอยู่หน้าบ้านหลังใหม่ของญาติที่สร้างจากเงินมรดกของสามี ปราณีเป็นโสด ต้องอาศัยอยู่กับน้องสาว นอกจากเบี้ยผู้สูงอายุ เธอยังต้องหาเลี้ยงชีพจากการรับจ้างจิปาถะเพิ่มเติมด้วย

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหา- วิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าประเทศไทยได้สร้างรากฐาน สำหรับระบบบำนาญชราภาพในลักษณะที่ค่อนข้างจะเป็นไป ตามอัตภาพ หรือพูดง่าย ๆ ว่า เป็นการสงเคราะห์คนจน

ไทยมีคนในวัยทำงานจำนวนมากที่อยู่นอกระบบและ ไม่มีบำนาญเพียงพอในวัยเกษียณ ระบบบำนาญของไทย กำลังเผชิญความท้าทายจากการที่ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยเฉพาะสึนามิประชากรผู้สูงอายุ (silver tsunami) หรือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2506 ถึง 2526 ที่กำลังเข้าสู่วัยชรานั่นเอง

ไทยยังไม่มีการจัดสรรบำนาญให้กับประชาชนผู้สูงอายุ โดยทั่วไป ประชากรสองกลุ่มใหญ่ที่ได้รับเงินบำนาญเมื่อ เกษียณอายุ คือกลุ่มข้าราชการและกลุ่มผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 และ 39 ของกองทุนประกันสังคม ผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้อยู่ในสองกลุ่มนี้จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ 600 ถึง 1,000 บาทตามขั้นบันไดของช่วงอายุที่มากขึ้น แต่ รายได้ที่เหมาะสมต่อการยังชีพเมื่อพิจารณาจากเส้นความ ยากจนในประเทศไทยใน พ.ศ. 2564 ของสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อยู่ที่ประมาณ 2,800 บาทต่อเดือน

“ระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยมีลักษณะเป็น ปิ่นโตครับ” ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ชาญชรา: ก้าวสู่สังคมสูงวัยด้วยความรู้และ ปัญญา บอกและอธิบายว่า ประชาชนคนหนึ่งมีโอกาสจะ ได้รับประโยชน์จากระบบบำเหน็จบำนาญหลายระบบพร้อมกัน ตามลักษณะทางประชากร อาชีพ สถานะการทำงาน และ สถานที่ทำงาน ซึ่งบางคนอาจมีปิ่นโตหลายชั้น ขณะที่ บางคนมีปิ่นโตชั้นเดียว

ใน พ.ศ. 2563 ไทยมีผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 9,663,169 คน ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากกองทุนประกัน สังคม 598,550 คน และได้รับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 803,293 คน

ตัวเลขสามกลุ่มนี้ทำให้เรามองเห็นรูปแบบของระบบ บำเหน็จบำนาญที่มีมากกว่าหนึ่ง หลักคิดซึ่งกำหนดแหล่งที่มาของเงินก็มีความแตกต่างกันและครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน

เราจึงมีทั้งระบบที่ผู้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่าย แหล่งเงินนี้มาจากงบประมาณแผ่นดิน บำเหน็จบำนาญในกลุ่มนี้คือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น และบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร

แต่เราก็มีระบบที่ให้ผู้รับสิทธิประโยชน์ต้องมีส่วนร่วมจ่ายด้วย เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เรายังมีระบบเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข หรือแรงงานร่วมจ่ายกับนายจ้างและรัฐบาลอีกระบบ ได้แก่ กองทุนประกันสังคมและกองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ “สังคมไทยตกลงกันไม่ได้ว่า เราจะใช้หลักการแบบไหนในการกำหนดนโยบาย” ศ.ดร.วรเวศม์กล่าวและเสริมว่า “ถ้าเราดูนโยบายที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเติมเงินให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ล้วนอยู่บนแนวคิด ของการสงเคราะห์ไปที่ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งการช่วยเฉพาะคนที่จำเป็นก็เป็นแนวทางลดความเหลื่อมลํ้า แต่ในสังคมของเรา ก็มีแนวคิดที่เรียกร้องให้รัฐต้องให้สิทธิทุกคนอย่างเท่าเทียม”

เรากำลังเผชิญคำถามทางปรัชญา สังคมของเราจะดำเนินนโยบายไปบนหลักการแบบไหน แต่เมื่อดูจากนโยบายของพรรคการเมืองและกระแสตอบรับของประชาชนในช่วงเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ก็จะพบว่า แนวทางการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า (universalism) เป็นความต้องการที่่ส่งเสียงดังกว่าความต้องการสวัสดิการแบบเลือกเฉพาะกลุ่ม (selectivism) หรือสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (targeting)

นักวิชาการตั้งคำถามถึงการจัดสรรงบประมาณที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า บางคนตั้งสมมุติฐานว่า รัฐไม่ได้ขาดแคลนงบประมาณ แต่ขึ้นกับว่ารัฐบาลนั้นให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหนต่างหาก

สมมุติฐานนี้มีเค้าลางมาจากตัวเลขการจัดสรรงบประมาณให้สวัสดิการ ไทยจัดสรรงบประมาณให้ข้าราชการและสมาชิกครอบครัวรวมประมาณ 5.2 ล้านคน เป็นเงิน 3.22 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐจัดสรรงบประมาณสำหรับเบี้ยผู้สูงอายุให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 66 ล้านคน 8.75 หมื่นล้านบาท ช่องว่างที่ไม่มีคำตอบจึงเกิดเป็นคำถาม

ความพยายามของภาคประชาชนในการผลักดันให้บำนาญเป็นสวัสดิการถ้วนหน้ามีมาอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชน ซึ่งมีรายชื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ถึง 13,264 รายชื่อ แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่รับรองกฎหมายบำนาญที่มีหลักการสำคัญในการยกระดับเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า

ร่าง พรบ.บำนาญแห่งชาติมีหลักการสำคัญในการยกระดับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า เพื่อเป็นสิทธิในการเข้าถึงรายได้พื้นฐานสำหรับประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้จัดทำ

งานวิจัยบอกว่าการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแบบถ้วนหน้าจะช่วยลดภาวะความยากจนในครัวเรือนผู้สูงอายุ ลงได้อย่างมาก การเพิ่มอัตราบำนาญเป็น 3,000 บาทต่อเดือน ไม่ได้ทำให้ภาระงบประมาณของไทยสูงเกินกว่าร้อยละสามของจีดีพี (ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.5ในระยะยาว) การให้บำนาญผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาทใน พ.ศ. 2583 คิดเป็นร้อยละ 2.69 ของจีดีพีเท่านั้นนอกจากร่างกฎหมายเกี่ยวกับระบบบำนาญแห่งชาติที่ เสนอโดยภาคประชาชนแล้ว ยังมีร่างกฎหมายบำนาญอีก สี่ฉบับที่เสนอโดยพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีชะตากรรม ไม่ต่างจากกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน

การไม่รับรองกฎหมายนี้ทำให้ผมนึกถึงนิทานทิ้งคนแก่ ในตำนานอูบะซูเตะ การทิ้งกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิ- การแก่ผู้ชราจึงไม่ต่างจากโศกนาฏกรรมในนิทานหลาย พันเรื่องที่โลกนี้เคยเล่าขานกันมา …..

เรื่อง วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ติดตามสารคดี วันพรุ่งนี้ของ “ไทยชรา” ตอนที่ 2: ไทยจะรอดไหม ในวันคนแก่เต็มประเทศ ที่เว็บไซต์ https://ngthai.com/cultures/50154/aging-society-thailand-ep2


อ่านเพิ่มเติม ยุคใหม่วัยชรา – ถอดบทเรียน สังคมผู้สูงอายุ ญี่ปุ่น รับมือคนแก่เต็มประเทศ

สังคมผู้สูงอายุ
สังคมผู้สูงอายุ

Recommend