มนุษยชาติต้องร่วมฟื้นฟูพื้นที่ป่าระดับโลก เพื่อช่วยโลกจากภาวะโลกร้อน

(ภาพปก) ภาพถ่ายทางอากาศของแม่น้ำ Vologda ในเขต Vologda ประเทศรัสเซีย โดยรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการลงมือปลูก พื้นที่ป่า ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ภาพถ่ายโดย VLADIMIR SMIRNOV/ TASS/ GETTY


การเพิ่ม พื้นที่ป่า ของโลกให้มีขนาดเทียบเท่าประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากถึงร้อยละ 25

มีการเผยแพร่งานศึกษาล่าสุดที่พบว่า การฟื้นฟูพื้นที่โดยการปลูกต้นไม้ ให้มีพื้นที่ขนาดเท่าประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้บนโลกลดลงกลับไปเท่ากับปริมาณเมื่อ 100 ปีก่อนได้

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา วารสาร Science ได้เผยแพร่รายงานชื่อ “ศักยภาพในการพื้นฟูป่าไม้ของโลก” (The global tree restoration potential) มีใจความว่า โลกมีพื้นที่อันเหมาะสมมากพอที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าได้มากถึงหนึ่งในสามโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเมืองหรือพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม พื้นที่อันเหมาะสมดังกล่าวนี้กำลังลดลงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก

และถึงแม้ว่าประชาคมโลกจะมีความพยายามจำกัดอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ในปี 2050 พื้นที่ที่สามารถฟื้นฟูป่าไม้ได้ จะลดลงไปอีกถึงหนึ่งในห้า เนื่องจากในช่วงเวลานั้น โลกจะร้อนเกินกว่าที่จะปลูกต้นไม้บางชนิดในป่าเขตร้อน

“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การฟื้นฟูป่าไม้เป็นการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดในวันนี้” ทอม โครวเธอร์ นักวิจัยประจำ ETH Zürich และผู้เขียนงานวิจัยอาวุโสในงานศึกษาครั้งนี้ กล่าว

ภาพถ่ายบริเวณใจกลางเมืองฮุสตันและทางหลวงซึ่งถูกน้ำท่วมเมื่อเดือนสิงหาคม 2017 อันเป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำในเมืองเพิ่มสูงขึ้นจากเฮอริเคนฮาร์วีย์ ภาพถ่ายโดย THOMAS B. SHEA, AFP/GETTY

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูป่าไม้ต้องทำไปพร้อมกับการปกป้องพื้นป่าที่มีอยู่แล้ว และต้องจำกัดการใช้พลังงานฟอสซิลด้วยเช่นกัน เพราะกว่าที่ต้นไม้ที่ฟื้นจะโตเต็มที่มากพอจนสามารถดูดซับก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ได้นั้น ต้องใช้เวลานานหลายสิบปี

“ถ้าเราเริ่มเสียตั้งแต่ตอนนี้ จำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจะลดลงได้ถึงร้อยละ 25 ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากับร้อยปีที่แล้ว” โครวเธอร์กล่าวเสริม

ด้าน เกล็น ปีเตอร์ (Glen Peter) ผู้อำนวยการวิจัย ศูนย์การวิจัยภูมิอากาศนานาชาติแห่งประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า อาจต้องใช้เวลามากกว่าร้อยปีจะที่ให้ป่าไม้ในพื้นที่ฟื้นฟูโตขึ้นมากพอที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ โลกยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 40 พันล้านตัน ซึ่งมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ในชั้นบรรยากาศ และมีการเพิ่มขึ้นทุกปี

“วิธีเดียวที่เราสามารถรักษาอุณหภูมิของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 หรือ 2 องศาได้ คือต้องหยุดการปล่อยก๊าซจากพลังงานฟอสซิล” ปีเตอร์กล่าวในอีเมลล์

งานวิจัยเผย ขณะนี้โลกใช้พลังงานฟอสซิลมากเกินกว่าจะลดโลกร้อนได้สำเร็จ

ภารกิจของต้นไม้ที่ดูดซับคาร์บอน

ต้นไม้ หรือพรรณไม้ทุกชนิด ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และมีกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ต้องใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ และน้ำ จากนั้น ต้นไม้จะปล่อยก๊าซออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดซับไปนั้นก็จะเพิ่มในดินด้วยเช่นกัน

เหล่านักวิจัยได้ศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมที่บันทึกภาพพื้นที่ป่าในระบบนิเวศหลายแห่งบนโลก เพื่อหาจำนวนพื้นที่ป่าในระบบนิเวศแต่ละที่ เพื่อสร้างแผนที่โมเดลของจำนวนพื้นที่ต้นไม้บนโลก

โดย ฌ็อง-ฟรองซัว บาสแต็ง (Jean-Francois Bastin) แห่งสถาบัน ETH Zürich และผู้เขียนหลักในงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า มีการพบพื้นที่บนโลกครึ่งหนึ่งที่สามารถเป็นพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูป่าไม้ใน 6 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ รัสเซีย (1,510,000 ตารางกิโลเมตร), สหรัฐอเมริกา (1,030,000 ตารางกิโลเมตร), แคนาดา (780,000 ตารางกิโลเมตร), ออสเตรเลีย (580,000 ตารางกิโลเมตร), บราซิล (500,000 ตารางกิโลเมตร) และจีน (400,000 ตารางกิโลเมตร) โดยประเทศเหล่านี้มีศักยภาพเนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้กำจัดพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ที่มีอยู่ไปก่อนหน้านี้

“ทุกคนสามารถปลูกต้นไม้ และสามารถเริ่มต้นทำในวันพรุ่งนี้ได้เลย โดยการฟื้นฟูป่าไม้จะช่วยเราซื้อเวลาเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้” บาสแต็ง กล่าว

พื้นที่อนุรักษ์ Comunal Amarakaeri ได้รับการจัดการโดยรัฐบาลประเทศเปรูร่วมกับคนในพื้นที่ ภาพถ่ายโดย DIEGO PEREZ ROMERO

แม้ต่างวิธีการ แต่ก็มีเป้าหมายเดียว

การฟื้นฟูป่าสามารถทำได้หลายวิธีการ ตั้งแต่การเพิ่มต้นไม้ในพื้นที่เพาะปลูก หรือแม้กระทั่งการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นร่มเงาให้ต้นกาแฟหรือโกโก้ หรือการปลูกป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่กันชนของพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่ป่าสงวนเพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในระดับนานาชาติจำนวนมาก เพื่อป้องกันพื้นที่ป่าที่ยังคงดำรงอยู่และรับประกันการปลูกที่เพิ่มขึ้น เช่น โครงการ Bonn Challenge อันเป็นโครงการที่ 59 ประเทศได้ตกลงที่จะฟื้นฟูพื้นที่ป่า 1,500,000 ตารางกิโลเมตร ภายในปี 2020 และ 3,500,000 ตารางกิโลเมตรในปี 2030 นอกจากนี้ ภายใต้ปฏิญญาป่าไม้นิวยอร์ก ประเทศต่างๆ ต้องยุติการทำป่าโดยสิ้นเชิงในปี 2030 และต้องฟื้นฟูพื้นที่ป่าราว 400,000 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่เสื่อมโทรม

อีกโครงการหนึ่งคือ Trillion Tree Campaign ที่กระตุ้นให้เด็กนักเรียนและชุมชนทั่วโลกปลูกต้นไม้ 13.6 พันล้านต้นตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา โดยมี Felix Finkbeiner เด็กอายุ 9 ขวบชาวเยอรมนีเป็นผู้เริ่มต้นโครงการนี้

“ถ้าเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงรากฐาน สภาวการณ์ของมนุษยชาติจะมีแต่แย่ลงเรื่อยๆ” โรบิน ชาซดอน นักนิเวศวิทยาประจำมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัตกล่าวและเสริมว่า “การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้จะช่วยแก้ปัญหาได้หลายเรื่องด้วยกัน”

เรื่อง STEPHEN LEAHY


อ่านเพิ่มเติม ป่าแอมะซอนกำลังสูญเสียพื้นที่นับล้านตารางกิโลเมตร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.