การลดมลพิษ อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ มลพิษ หรือ มลภาวะ หมายถึง ภาวะเป็นพิษซึ่งเกิดจากความสกปรกหรือการปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อมจากแหล่งของเสีย วัตถุอันตราย รวมไปถึงกากตะกอนตกค้างที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ซ้ำได้
ส่งผลให้เกิดการแปลงสภาพในเชิงกายภาพ เคมี และชีวะ อีกทั้งยังสร้างความอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นรังสีความร้อน เสียง กลิ่น อากาศ น้ำ การสั่นสะเทือน และเหตุรำคาญอื่น ๆ ที่ถูกปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ
กล่าวได้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหามลพิษมากมาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 และหมอกควันจากไฟป่าในเขตภาคเหนือ ซึ่งมีปัจจัยมาจากสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งและปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ ส่งผลให้เกิดการลุกไหม้ของไฟป่าที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้มลพิษจากขยะพลาสติกก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติภายในประเทศทั้งทางบกและทางน้ำ
วิธีแก้ปัญหาของภาครัฐโดยส่วนใหญ่จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์มลพิษ
อย่างกรณีตัวอย่างที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือร่วมกับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่รวม 43 แห่ง ในการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก และรณรงค์ให้ประชาชนหันมาพกถุงผ้าเพื่อลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากการทิ้งขยะพลาสติก ซึ่งวิธีนี้สามารถลดปัญหามลพิษทางขยะในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หรือปัญหาหมอกควันจากไฟป่าที่มีการระดมพลจากทุกภาคส่วน เฝ้าระวังและดับไฟก่อนเกิดการลุกลามขึ้น ไปจนถึงการสั่งปิดโรงเรียนในช่วงที่ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานที่รัฐจะสามารถควบคุมได้ ถึงแม้ว่าการฉีดพ่นละอองน้ำ การแจกจ่ายหน้ากากอนามัย หรือการให้บริการสถานที่ปลอดมลพิษ จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
แต่นั่นไม่ใช่วิธีการลดมลพิษอย่างถูกต้อง เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ได้ส่งผลให้ปัญหามลพิษหายไปหรือลดลงแต่อย่างใด
ถึงแม้ว่าในต่างประเทศจะมีการใช้กฎหมายเพื่อเข้าควบคุมสถาการณ์มลพิษเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มีการคิดหาแนวทางสำหรับลดปัญหามลพิษอย่างชัดเจน
เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่ออกมาตรการห้ามรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่าที่จดทะเบียนก่อนปี 2558 เข้ามาวิ่งภายในกรุงโซล และขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลิกใช้รถยนต์ประเภทนี้
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าทั่วประเทศภายในปี 2564 ไปจนถึงการจำกัดการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนให้อยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ
ทั้งในโซนภูมิภาคยุโรปและเอเชีย หลายประเทศเริ่มที่จะสามารถรับมือกับปัญหามลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการเล็งเห็นถึงต้นตอของปัญหาอย่างโรงงานอุตสาหกรรม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศจีนที่ได้ทำการปิดโรงงานไปกว่า 60,000 แห่ง รวมไปถึงการพยายามสร้างเครื่องยนต์พลังงานสะอาดมาแทนที่พลังงานดีเซลของผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป
และการเฝ้าระวังปัจจัยทางธรรมชาติที่ก่อให้เกิดมลพิษ ถึงแม้ว่าในบางประเทศอาจจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างฉับพลัน หรือเทียบเท่ากับตัวอย่างข้างต้น แต่จากสถานการณ์โลกในตอนนี้ ถือว่าทิศทางการลดมลพิษในอนาคตนั้นส่อแววไปในทางที่ดี
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 9 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสวนสาธารณะ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ระบุว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวรวม 6.43 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
เช่น สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนอยู่ที่ 23.1 ตารางเมตรต่อคน แคนาดามีสัดส่วน 12.6 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่สิงคโปร์ เพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นั่นคือ 66 ตารางเมตรต่อคน
การมีอยู่ของต้นไม้สำคัญโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เพราะพืชคือสิ่งมีชีวิตที่หายใจตลอดเวลา ด้วยการดูดซับก๊าซออกซิเจนเข้าไป และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทว่ามีอยู่หนึ่งสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้แบบพืช นั่นคือการผลิตอาหารเองด้วยการสังเคราะห์แสง
ในเวลากลางวัน เซลล์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการปิดเปิดของปากใบจะเปิดแยกจากกัน ส่งผลให้ปากใบเปิด และเกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซขึ้น ระหว่างหายใจพืชต้องการก๊าซออกซิเจนก็จริง แต่ในระหว่างกระบวนการสังเคราะห์แสง ใบของพืชจะดูดซับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเข้ามา คลอโรฟิลล์จะใช้พลังงานแสงจากดวงอาทิตย์เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ ให้เป็นคาร์โบไฮเดรต และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาแทน
วงจรการหายใจและวงจรการสร้างอาหารในชีวิตประจำวันของพืชเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากปริมาณการสังเคราะห์แสงมีมากกว่าการหายใจ ดังนั้นในเวลากลางวันพืชจึงผลิตก๊าซออกซิเจนมากกว่าในอัตราที่ใช้ไป ส่วนในเวลากลางคืน เมื่อไม่มีแสง พืชจึงหายใจเพียงอย่างเดียว และปลดปล่อยเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทน
นี่คือเหตุผลว่าทำไมการปลูกต้นไม้จึงสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางวันได้ และต้นไม้ยังสามารถดูดซับก๊าซอันตรายอย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์อีกด้วย
สืบค้นและเรียบเรียง พัทธนันท์ สวนมะลิ
(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ที่ใดมีไฟ ที่นั่นมีควันพิษ