อัพเดต 7 ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกับ วราวุธ ศิลปอาชา

อัพเดต 7 ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกับ วราวุธ ศิลปอาชา

คุยเรื่องกบในกาน้ำกับ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนปัจจุบัน

ตลอดสองปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติบ่อยครั้ง และเริ่มส่งผลกระทบกับผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และเขตจังหวัดทางภาคเหนือ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในหลายพื้นที่ วิกฤตน้ำท่วมและน้ำแล้งที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงปัญหาขยะพลาสติกในธรรมชาติ ที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมของสัตว์ป่าและสัตว์ทะเล จนสร้างความสะเทือนใจและความสนใจให้แก่ผู้คนในสังคม หันกลับมาตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

จนนำมาสู่การอนุรักษ์ธรรมชาติกันอย่างเข้มข้นและจริงจัง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ วราวุธ ศิลปอาชา เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีคนใหม่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2562 พร้อมกับให้คำมั่นว่า “ตั้งใจเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง” ถึงวันนี้ผ่านมากว่า 17 เดือน เราจึงขอโอกาสมานั่งพูดคุยกับเขา เพื่ออัพเดตความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นกัน

สร้างมิติใหม่ในวิกฤติ

การเข้ามารับตำแหน่งในฐานะผู้นำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วงที่สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังร้อนระอุ และมีหลาย ๆ ประเด็นเป็นกระแสที่ผู้คนในสังคมกำลังให้ความสนใจ ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก สำหรับการเริ่มต้นกับตำแหน่งใหม่ครั้งนี้

ถ้ามองเรื่องความไม่พร้อม ไม่เคยมีใครพร้อม สำหรับสถานการณ์แบบนี้ ผมรู้สึกว่าเป็นของขวัญเสียด้วยซ้ำ ที่ผมจะได้รับโอกาสในการแก้ปัญหา สิ่งที่ผมต้องทำคือต้องพยายามเรียนรู้งานและทำความเข้าใจบริบทขององค์กร รวมถึงบุคลิกของแต่ละหน่วยงานให้เร็วที่สุด นับเป็นความโชคดีที่ในกระทรวงแบ่งออกเป็นหลายกรม แต่ละกรมมีหลายหน่วยงานแยกย่อยกันไป ช่วยให้เราสามารถกระจายปัญหาต่าง ๆ มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานลงไปจัดการพร้อม ๆ กันได้ โดยมีผมทำหน้าที่เป็นเหมือนน้ำที่เป็นตัวประสาน ปรับแผนงานไปตามสถานการณ์และวิธีการทำงานของแต่ละคน ถึงเวลาค่อยมาอัพเดตเพื่อเชื่อมโยงงานแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน แล้วช่วยกันแก้ปัญหาในแต่ละจุด

ประเด็นแรกที่เปลี่ยนแปลงคือ การประสานงานให้ทุกหน่วยงานเข้าใจมิติการทำงานแบบองค์รวม เช่น หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนเข้ามาร้องเรียน ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรก็ตาม ทุกคนต้องรับเรื่องแทนกันได้หมด เพราะทุกคนคือคนของกระทรวงเดียวกัน จากนั้นจึงมาส่งต่อกันเอง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การทำงานในองค์กรของเราเท่านั้น แต่ยังต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกด้วย เช่น เรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่หลายกระทรวงต้องวางแผนและทำงานร่วมกัน กระทรวงเกษตรต้องควบคุมการเผาไร่ในที่โล่งให้ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องควบคุมการปล่อยควันพิษจากโรงงานอย่างเข้มงวด กระทรวงคมนาคมต้องควบคุมเรื่องการตรวจสภาพรถยนต์ไม่ให้ปล่อยมลพิษ ส่วนหน้าที่ของของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือการตรวจสอบ ควบคุม วัดปริมาณ และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงร่วมมือกันในการสร้างวินัยให้กับผู้คนมากขึ้น

มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันให้กับส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย และหารือเพื่อสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากภาคประชาชนในการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน PM2.5

รัฐมนตรีสร้างภาพ

ทันทีที่เข้ามาเริ่มงานสิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้คือ ความเด็ดขาด และเอาจริงเอาจัง ของรัฐมนตรีใหม่ไฟแรง จนมีเสียงค่อนขอดลอยมาให้ได้ยินว่าเป็นการทำงานเพื่อสร้างภาพ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าภาพที่เกิดขึ้นนี้ สร้างแรงกระเพื่อมให้ประชาชนหันมาสนใจสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

ผมเชื่อว่าวินัยเริ่มที่ตัวเอง เพราะฉะนั้นผมคงไม่กล้าไปบอกให้ใครลดใช้ขวดและถุงพลาสติก ถ้าตัวผมเองยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาจะทำอะไรก็แล้วแต่ ผมจะต้องทำให้ดูก่อน จะเรียกว่าเป็นการสร้างภาพก็ได้ เพราะผมตั้งใจทำเป็นแบบอย่างให้คนอื่นเห็น อย่างการจะให้นโยบายกับข้าราชการ ถ้าผมเอาแต่พูดอย่างเดียว เขาจะฟัง แต่ถ้าผมทำ เขาจะเชื่อว่าผมเอาจริงกับเรื่องนี้ แล้วเขาก็จะนำไปทำตามต่อ ค่อย ๆ กระจายไปสู่หน่วยงานอื่น ๆ ตามลำดับ

ธรรมชาติของบ้านเราก็สวยงามไม่แพ้ใครในโลก เพียงแค่คนของเรายังไม่เห็นคุณค่า บางเรื่องก็ต้องใช้ยาแรงเพื่อให้คนเกิดความรัก หวงแหนทรัพยากร และช่วยกันดูแล ยกตัวอย่างกรณีที่มีคนส่งภาพกองขยะหน้าเต็นท์ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาให้ผมดู แล้วทำให้ผมนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่มีกวางในอุทยานแห่งชาติตายไป ผ่าท้องออกมาแล้วพบขยะอยู่ในนั้น 8 กิโลกรัม ผมโทรไปหาหัวหน้าอุทยานฯ ทันทีสืบหาจนทราบว่าเป็นขยะของใคร แล้วผมก็เอาขยะทั้งหมดใส่กล่องไปรษณีย์ส่งกลับคืนไปให้ เขียนโน้ตแนบไปด้วยว่าคุณมาเที่ยวแล้วลืมของทิ้งไว้ แถมยังไปแจ้งความจนตำรวจตามตัวมาจ่ายค่าปรับในที่สุด หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งที่มีครูสอนดำน้ำชาวต่างชาติที่เกาะพงัน ลงไปดำน้ำแล้วจับปลาสวยงาม ดอกไม้ทะเล และปะการัง ขึ้นมาถ่ายรูป ถ่ายคลิป ผมประสานงานหาเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบข้อมูลจนทราบว่าเขาเป็นใครมาจากไหน กระทั่งตามจนพบตัว แล้วดำเนินการส่งตัวกลับประเทศไป แต่ด้วยกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ไม่ใช่กฎหมายสิ่งแวดล้อม ผมพยายามใช้ความเข้มงวดเป็นตัวสร้างมาตรฐานและสร้างจิตสำนึกให้คนเห็นคุณค่าบางเหตุการณ์ก็ยอมรับว่าไม่ได้เป็นการทำงานเชิงนโยบาย แต่เป็นปฏิกิริยาส่วนตัวของผมล้วน ๆ ที่ไม่ยอมให้ใครมาทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเรา

วราวุธ ศิลปอาชา
ร่วมภารกิจดำน้ำสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติก็บขยะทะเล พร้อมสำรวจสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลใต้น้ำ บริเวณหัวเกาะยาง เกาะตาลัง และเกาะหินงาม ที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล
ภาพจากกรณีส่งพัสดุขยะคืนนักท่องเที่ยวที่กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์

วัฒนธรรมใหม่ในการท่องเที่ยว

ทุกครั้งที่กระแสการท่องเที่ยวได้รับความนิยม ต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม แต่หลังจากสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 การปิดอุทยานฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ถือเป็นโอกาสดีให้ธรรมชาติและสัตว์ต่าง ๆ ได้ฟื้นตัว และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการสร้างพฤติกรรมการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ให้กับคนไทย แม้จะมีเสียงบ่นจากความไม่คุ้นชินบ้างในช่วงแรก แต่เมื่อได้เห็นผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวต่างก็มีกระแสตอบรับที่ดีขึ้น

เรื่องการปิดอุทยานแห่งชาติ ผมมีความคิดนี้มาเป็น 10 ปี แล้ว ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตอนนั้นผมเห็นแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งมีคนไปเยอะมาก โดยไม่มีการกำหนดจุดอิ่มตัว หรือวางแผนอะไรเพื่อรองรับเลย แต่ด้วยอำนาจหน้าที่ตอนนั้นผมไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก จนกระทั่งได้มาเป็นรัฐมนตรีผมได้วางแผนว่าจะจัดการอย่างไรดี พอมีสถานการณ์โควิดเข้ามาจึงได้โอกาสในการปิดอุทยานแห่งชาติทั้ง 155 แห่ง เป็นเวลาสามเดือน ผลลัพธ์ก็คือทั้งสัตว์ป่า สัตว์ทะเล และธรรมชาติในหลายจุดเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ ผมจึงประกาศเป็นนโยบายเลยว่าต่อไปนี้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งจะต้องมีการปิดอย่างน้อย 1 เดือน หรือในบางแห่งอาจจะปิดมากกว่านั้น อย่างอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้มีการปิดตามฤดูกาล เพื่อให้ธรรมชาติได้พักและฟื้นฟู อีกทั้งเป็นช่วงให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้มีโอกาสวางแผนและปรับปรุงพื้นที่ในอุทยานฯในช่วงที่ปิดไป

ตอนนี้เมื่อเปิดให้กลับเที่ยวได้อีกครั้ง จึงต้องมีการสร้างกติกาใหม่ในการอยู่ร่วมกันใหม่ ทุกคนที่เข้ามาต้องมีการจองคิวล่วงหน้าเพื่อจำกัดจำนวนการเข้าพื้นที่ และช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลได้ทั่วถึง รวมถึงผมยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดูแลกฎ ถ้านักท่องเที่ยวคนไหนมาแล้วไม่เคารพกฎ เช่น มาดื่มเหล้าส่งเสียงดัง หรือทิ้งขยะ จะเชิญออกจากพื้นที่ทันที นอกจากนี้ผมยังมีนโยบายให้มีการปรับปรุงหลายแห่งให้เป็นอารยสถาปัตย์  (Universal design) เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัย ทุกสถานะ สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียม เช่น น้ำตกเจ็ดสาวน้อย ผมให้ทำทางลาด สามารถเข็นรถเข็นลงไปในน้ำตกได้เลย เพื่อให้คนที่นั่งอยู่บนวีลแชร์มีประสบการณ์ในการมาเที่ยวน้ำตกได้เหมือนกันกับนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ  รวมถึงห้องน้ำ และบ้านพักอุทยาน ก็ปรับให้มีทางลาดเพื่อให้รถเข็นเข้าถึงได้ โดยเริ่มทำเสร็จไปแล้ว 7-8 แห่ง และกำลังให้ดำเนินการกับน้ำตกรวมถึงบ่อน้ำพุร้อนทุกแห่งทั่วประเทศ

ลงพื้นที่ติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬโบราณ บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาครกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
วราวุธ ศิลปอาชา
“ผมขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯใช้ชุดอุปกรณ์ดำน้ำเป็นสีที่มีเอกลักษณ์ ชัดเจน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถทราบได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อความรวดเร็วในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือ” ที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล

คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ

อย่างที่คุ้นเคยกันในทุก ๆ ปี เรามักจะได้ยินการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องรายได้จากการเก็บค่าผ่านเข้าอุทยานฯ และจัดอันดับกันว่าอุทยานแห่งชาติแห่งใดสร้างรายได้มากที่สุด หรือได้รับความนิยมสูงสุด จนเกิดเป็นค่านิยมในการพยายายามสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งผู้กำหนดเกณฑ์ชี้วัดของกระทรวงในยุคนี้ได้ให้แนวคิดเรื่องนี้ในมุมมองที่ต่างจากเดิมว่า

ผมมองว่ากรมอุทยานฯ ไม่ใช่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เราไม่ได้มีหน้าที่ในการหารายได้ แต่มีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ตัวชี้วัดของเราคือ การรักษาสิ่งที่เรามีอยู่ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหนก็ตาม สมมติว่าการรับนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 คน ทิ้งขยะเฉลี่ยวันละ 1 กิโลกรัม ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภควันละ 40-50 ลิตร ถ้านักท่องเที่ยว 1 คน ใช้เงิน 10 เหรียญ ถ้ารับนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 ล้านคน แสดงว่าเราจะมีขยะเพิ่มขึ้น 1 ล้านกิโลกรัม ต้องใช้น้ำมากขึ้น 40-50 ล้านลิตร แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีการทำให้นักท่องเที่ยว 1 คนใช้เงิน 20 เหรียญ เรารับนักท่องเที่ยวเพียงแค่ห้าแสนคน เราก็ได้เงินเท่าเดิม แต่ขยะหายไป 5 แสนกิโลกรัม และใช้น้ำลดลงไป 25 ล้านลิตร ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนาเพื่อสร้างคุณค่าและสร้างมูลค่าไปพร้อมกัน

ถ้าเทียบกับค่าเข้าอุทยานในต่างประเทศของเราถือว่าถูกมาก ผมเคยเปรียบเทียบว่าธรรมชาติของเรามีคุณค่าเหมือนรถโรลส์-รอยซ์ (Rolls Royce) แต่เราเก็บค่าเข้าเหมือนสามล้อหน้าปากซอย ดังนั้นก่อนที่จะให้ใครมาเห็นคุณค่า เราต้องเห็นคุณค่าเองก่อน อย่างตอนนี้เราใช้แอปพลิเคชั่น QueQ ในการจอง เพื่อควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับพื้นที่ธรรมชาติ และให้เจ้าหน้าที่อุทยานสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ผมเคยให้นโยบายกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ลองศึกษาเรื่องการทำสายรัดข้อมือ เพื่อให้เราสามารถติดตามและตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวได้ รวมถึงอาจจะมีการเพิ่มเรื่องการประกันภัยเพิ่มเติมด้วย โดยอุทยานฯ ทั้ง 155 แห่ง จะมีรูปแบบของตัวเองเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สะสมได้ด้วย ซึ่งวิธีการนี้ก็เป็นการสร้างรายได้ และเพิ่มประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นด้วย

วราวุธ ศิลปอาชา
ติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม “ม่อนแจ่ม” และพื้นที่ใกล้เคียง หากผู้ประกอบการไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขและทำกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาต ต้องมีการรื้อถอนทันที พร้อมปรับสภาพพื้นที่และเร่งฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินสไลด์ โคลนถล่มในระยะยาว

เรื่องยากที่แก้ได้ง่ายที่สุด

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในประเทศไทย หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เราได้ยินมาเนิ่นนาน และยังคงวนเวียนอยู่จนทุกวันนี้ เช่น เรื่องการลักลอบตัดไม้ การบุกรุกพื้นที่ป่า การเกิดภาวะน้ำแล้งในฤดูร้อน และพอถึงฤดูฝนก็เกิดน้ำท่วม แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ทุกคนจะพุ่งเป้าเพื่อหาผู้รับผิดชอบ โดยไม่ได้มองกลับมาที่ตัวเองเลยว่า เขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน

สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติคือ ‘สามัญสำนึก’ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากที่สุด แต่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง จิตสำนึกที่ดีต้องเริ่มต้นจากที่ตัวเองก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่คนในครอบครัว และไปสู่องค์กรในวงกว้าง พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างในการสร้างวินัย และให้ความรู้แก่ลูก ๆ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพื่อให้เขาค่อย ๆ ซึมซับ จนกระทั่งกลายเป็นพฤติกรรมอันดี อย่างกรณีที่มีนักท่องเที่ยวมือบอนมาขีดเขียนผนังถ้ำนาคา จนผมต้องให้ปิดถ้ำไป ลูกสาวมาถามผมว่าทำไมต้องปิด ผมก็ยกตัวอย่างว่า ถ้ามีเพื่อนมาเที่ยวบ้าน แล้วเขาเข้าไปทำลายข้าวของในห้องนอนลูก เราจะปิดห้องไม่ให้เพื่อนคนนั้นเข้ามาอีกหรือไม่ การที่เราไปเที่ยวตามธรรมชาติซึ่งเป็นเหมือนบ้านของสัตว์ป่า เป็นบ้านของคนในแต่ละท้องถิ่น เราอยากให้คนทำกับบ้านเราอย่างไร เราก็ต้องปฎิบัติอย่างให้เกียรติแก่ผู้เป็นเจ้าของบ้านด้วย ทำให้เขาเข้าใจว่าใคร ๆ ก็รัก และหวงบ้านของตัวเองทั้งนั้น ดังนั้นจะทำอะไรก็ตามต้องไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น และต้องไม่เบียดเบียนธรรมชาติ จนทุกวันนี้ลูก ๆ ผมตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าผมเสียอีก กลายเป็นคนเสนอไอเดียให้แยกขยะรีไซเคิลในบ้านเองเสียด้วยซ้ำ

วราวุธ ศิลปอาชา
ลงพื้นที่ถ้ำนาคาเพื่อเตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยกำหนดโควต้าเข้าชมไม่เกินวันละ 350 คน แบ่งเป็นรอบ รอบละ 10 คน โดยมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นดูแลกลุ่มละ 2 คน

เรียนรู้สถานการณ์ผ่านเรื่องกบในกาน้ำ

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าที่ประเทศไทยรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ได้ดี นั่นเป็นเพราะทุกคนต่างมองว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของตัวเองโดยตรง จึงมีความตื่นเต้น ระมัดระวังตัว และให้ความร่วมมือในการป้องกันเป็นอย่างดี แต่กลับไม่ใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนักเพราะต่างมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทั้งสองเรื่องส่งผลต่อชีวิตของทุกคนไม่ต่างกัน

ผมมักจะเปรียบเทียบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติด้วยเรื่องกบที่อยู่ในกาน้ำ ถ้าเราโยนกบลงไปในกาน้ำร้อนที่กำลังเดือด กบจะรู้สึกได้ถึงอันตรายจากความร้อน และจะพยายามกระโดดหนีออกทันที เหมือนที่คนตื่นตัวเรื่อง Covid-19 แต่ถ้าเราจับกบใส่ลงไปในกาน้ำเย็น แล้วค่อยจุดไฟต้มน้ำให้ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เปรียบเหมือนปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่โลกร้อนขึ้นทุกวัน การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือน้ำที่ค่อย ๆ เดือด และกำลังจะฆ่าเราทีละนิด กบที่แช่อยู่ในน้ำอาจไม่รู้สึกถึงความอุณหภูมิน้ำที่ร้อนขึ้น พอจะรู้ตัวจริง ๆ กลับไม่มีทางแก้แล้ว สุดท้ายกบตัวนั้นก็จะต้องตายในที่สุด”

บทบาทของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือ การทำให้คนไทยมีวินัยในการปฏิบัติ เกิดความสำนึกและเข้าใจว่าพิษภัยของการกระทำเหล่านี้ มีอันตรายไม่น้อยไปกว่าโควิดเลย เกษตรกรควรรู้ว่าทุกครั้งที่เผาตอซังในที่โล่งจะส่งผลกระทบกลับมาที่ตัวเขาและลูกหลานของเขาไม่วันใดก็วันหนึ่ง แม้จะไม่เห็นผลอย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้เขาตายได้เหมือนกัน และเมื่อถึงเวลานั้นจะกลับมาแก้ไขอะไรก็ทำไม่ได้อีกต่อไป

วราวุธ ศิลปอาชา

สิ่งแวดล้อมกับปากท้องคือเรื่องเดียวกัน

ในมุมมองของคนภายนอกเมื่อพูดถึงเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาจจะนึกถึงเรื่องการอนุรักษ์เป็นสำคัญ แต่ถ้าหากชวนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่คุยประเด็นนี้ พวกเขาจะมองถึงแหล่งทรัพยากรสำคัญในการเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัว
แต่สำหรับความคิดเห็นของคุณวราวุธ การอนุรักษ์จะเกิดขึ้นได้จริง ต้องทำให้คนเข้าใจสองเรื่องนี้ในมิติเดียวกันให้ได้

ผมจะพูดเสมอว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกับเรื่องปากท้องคือเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่างการที่มีคนลักลอบตัดต้นไม้ในป่า ถือเป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำ ทำให้ชาวบ้านที่รออยู่ปลายน้ำขาดแคลนน้ำใช้ ชาวนาทำนาไปโดยไม่รู้ว่าปีนี้จะมีน้ำหรือไม่ พอเกิดภาวะน้ำแล้ง ไม่มีน้ำในแม่น้ำ ไม่มีน้ำผันลงคลอง ส่งผลกระทบให้ถนนริมคลองชลประทานทรุดพังเสียหาย พอถึงฤดูฝนเมื่อไม่มีป่าคอยดูดซับน้ำก็จะทำให้เกิดน้ำท่วม ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณปีละเป็นหมื่นล้าน เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง แทนที่จะนำงบส่วนนี้นำไปใช้พัฒนาในส่วนอื่น สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงกันโดยตรง เหมือนผลักโดมิโนแล้ววนกลับมาล้มทับตัวเองตายโดยที่เราไม่รู้ตัว”

การที่อยู่ดี ๆ จะบอกให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำก็คงไม่มีใครร่วมมือด้วย แต่ต้องทำให้เขารู้ว่าอนุรักษ์แล้วเขาได้ประโยชน์จากสิ่งที่กำลังอนุรักษ์อยู่อย่างไร สิ่งนั้นคือต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับพวกเขา เช่นเมื่อช่วงกลางปีที่มีข่าวมาเรียม (ลูกพะยูน)กำลังได้รับความสนใจ ทำให้นักท่องเที่ยวแห่กันมาที่เกาะลิบง ช่วยให้ชาวบ้านเกิดอาชีพใหม่มากมาย มีรายได้จากการท่องเที่ยว ทำให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยอนุรักษ์หญ้าทะเลเพราะเป็นแหล่งอาหารของพะยูน แต่ก่อนอื่นต้องทำให้ชาวบ้านเข้าใจก่อนว่าต้นทุนที่มีอยู่คืออะไร เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน การอนุรักษ์คือการรักษาสิ่งที่มีอยู่ แล้วพัฒนาด้วยการส่งเสริมให้มีคุณค่ามากขึ้น ไม่ใช่การไปเปลี่ยนให้ใหม่หรือทันสมัยทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อรักษาสมดุลให้ดี อนุรักษ์มากไปก็ไปต่อไม่ได้ พัฒนามากไปเราก็ไม่เหลืออะไรเช่นกัน

เรื่อง: ดำรง ลี้ไวโรจน์
ภาพถ่าย: facebook.com/TOPVarawut


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : มองนโยบายสิ่งแวดล้อมพลิกกลับของสหรัฐฯ ในยุคของโจ ไบเดน

โจ ไบเดน, นโยบายสิ่งแวดล้อม

Recommend