คำถามที่ตามมาอันเนื่องมาจากสังคมแห่งการบริโภคพลังงานจาก เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างหนัก มาสู่ปัจจุบัน ที่การใช้พลังงานทางเลือกกลายเป็นวิถีที่ทุกคนพยายามเดินบนเส้นทางนี้ ความกังวลยังคงเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ว่าจะยังคงมีเชื้อเพลิงจากฟอสซิลให้เราใช้งานต่อไปอีกไหม? และนวัตกรรมด้านพลังงานที่เกิดขึ้นจะทำงานได้ผลทันท่วงทีหรือไม่?
อย่างที่ทราบกันดีว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลเกิดจากการทับถมของอินทรียสารใต้ผืนโลกมาเป็นเวลายาวนานหลายพันล้านปี เพราะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีปริมาณจำกัดและไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้อีก (Non-renewable Resources) ทุกวันนี้ มนุษยชาติจึงเหมือนกำลังนับถอยหลังวันที่สิ้นสุดของแหล่งพลังงานจากฟอสซิล ในขณะที่ความต้องการใช้พลังงานของทั้งโลกยังคงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
จากข้อมูลการบันทึกสถิติการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วทั้งโลกของ Fair Planet พบว่าในช่วงเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา การบริโภคจากทั่วโลกเติบโตขึ้นมากกว่า 1,300 เท่า โดยมีถ่านหิน คือแหล่งทรัพยากรชนิดแรกที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งปี 1860 จึงเริ่มมีการใช้น้ำมันดิบเป็นแหล่งพลังงาน ตามมาด้วยการเริ่มต้นใช้งานก๊าซธรรมชาติในช่วงปลาย 1880 ยาวนานถึงปัจจุบันที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้ง 3 ประเภทเป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน และความต้องการบริโภคพลังงานจากฟอสซิลทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นปีละมากกว่า 1%
ปัจจัยที่ทำให้เชื้อเพลิงฟอสซิลหมดลงเป็นเรื่องของอัตราการใช้งานและแหล่งสำรองที่คงมีอยู่ ซึ่งจากงานวิจัยในแต่ละยุคสมัยพูดถึงเรื่องปริมาณของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เหลืออยู่แตกต่างกันไปตามนวัตกรรมที่เติบโตขึ้น พร้อมกันกับรูปแบบการสำรองพลังงานที่ทำได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
ยกตัวอย่างรายงานในปี 1977 โดยงานบริหารสารสนเทศด้านพลังงานกล่าวว่า สหรัฐอเมริกามีน้ำมันสำรองคงเหลือเพียง 32 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติสำรองเหลือเพียง 207 ล้านคิวบิกฟุต ในขณะที่ช่วงปี 2010 ประมาณการว่ามีน้ำมันสำรองคงเหลือ 84 พันล้านบาร์เรล (คิดเป็น 2.6 เท่าจากเดิม) และก๊าซธรรมชาติสำรองที่ 610 ล้านล้านคิวบิกฟุต (คิดเป็น 2.9 เท่าจากเดิม) อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขุดเจาะพลังงานจากใต้ดินที่ทำได้ดีขึ้น
ต่อข้อถามที่ว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว จะยังมีเชื้อเพลิงฟอสซิลเหลือให้มนุษยชาติใช้งานไปอีกนานแค่ไหน? ในยุคนี้เราอาจจะต้องดูปัจจัยของการใช้พลังงานทดแทนร่วมด้วย รัฐบาลผู้ประกอบการรายใหญ่ทั่วโลกมุ่งหน้าเดินทางในเส้นทางของพลังงานสะอาดแทนที่การใช้พลังงานจากทรัพยากรธรรมชาติในแบบเดิม ซึ่งมีข้อดีทั้งเรื่องการคงไว้ซึ่งทรัพยากรกับผืนแผ่นดิน ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ และถนอมรักษาโลกของทุกคนให้ยาวนานกว่าเดิม
จากการประมาณการโดย Fair Planet แพลตฟอร์มสื่อเพื่อการรักษาโลกจากเบอร์ลินกล่าวว่า ทุกวันนี้ น้ำมันดิบคือแหล่งพลังงานธรรมชาติที่ถูกใช้งานมากที่สุดที่ 39% และยังคงมีความต้องการอันเนื่องมาจากการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยอัตราการบริโภคน้ำมันดิบทั่วโลกอยู่ที่ 11 ล้านล้านตัน ด้วยอัตราการใช้งานเช่นนี้จึงทำให้น้ำมันดิบจะยังคงอยู่กับผู้คนต่อไปได้อีก 50 ปี
ส่วนถ่านหิน ที่ยังคงใช้งานกันอยู่ 33% ของทั่วทั้งโลก โดยประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และอินเดียครอบครองถ่านหินสำรองรวมราว 1.1 ล้านล้านตัน แต่ก็มีความต้องการบริโภคที่ลดน้อยลงอันเนื่องมาจากอันตรายจากสารเจือปนทั้งในอากาศและน้ำ ถ่านหินจึงยังคงอยู่ให้ใช้งานได้อีกราว 150 ปี
และก๊าซธรรมชาติซึ่งนับเป็นแหล่งพลังงานฟอสซิลที่หมุนเวียนกลับมาใช้งานได้ง่ายที่สุด จากการกระบวนการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตที่ผลิตมีเทน ปัจจุบันมีการใช้งานอยู่ที่ 28% และด้วยความยุ่งยากในการเจาะเอาเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดนี้มาใช้งาน ก๊าซธรรมชาติจึงยังคงมีให้ผู้คนบริโภคยาวนานประมาณ 400 ปี
“ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ตอนนี้เราอยู่ในช่วงอันยากลำบากที่จะทำให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และลืมเรื่องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปได้เลย” เกล็น ปีเตอร์ (Glen Peter) ผู้อำนวยการวิจัย ศูนย์การวิจัยภูมิอากาศนานาชาติแห่งประเทศนอร์เวย์ กล่าวและเสริมว่า “การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานที่ทดแทนได้ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการพลังงานในแต่ละปี” และเพื่อที่จะให้อุณหภูมิของโลกต่ำกว่า 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม “ดูเหมือนว่าเราต้องปลดระวางโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานฟอสซิลให้เร็วกว่าที่วางแผนเอาไว้”
นอกเหนือไปจากการสงวนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากหินและก๊าซ ทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ปัญหามีทั้งการฟื้นฟูพื้นที่ป่าจำนวนหลายล้านตารางกิโลเมตร ใช้เทคโนโลยีที่สามารถดักจับคาร์บอนในปริมาณที่มาก และสร้างการใช้พลังงานที่ทดแทนได้ออกมาให้เร็วมากขึ้น และดูเหมือนว่าต้องใช้วิธีเหล่านี้ประสานไปด้วยกัน
งานวิจัยฉบับนี้ที่เผยแพร่ลงในนิตยสาร Nature ให้แนวทางว่า เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ไม่เพียงแต่โลกของเราต้องยุติการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใดๆ ที่มีการใช้พลังงานฟอสซิลเท่านั้น แต่โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิลที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้จำเป็นต้องปิดลงโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีแผนหรือการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลอยู่อีกมากมาย
องค์การสหประชาชาติ และประเทศต่างๆ ต่างพุ่งความสนใจไปที่จำนวนการปล่อยก๊าซในแต่ละปีเพื่อพูดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งยังไม่เพียงพอ โดยสตีเวน ดาวิส จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ไอร์วีน ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยฉบับนี้กล่าวว่า “มันเหมือนกับขับรถบนถนนไฮเวย์โดยการมองไปที่หน้าต่างด้านข้างเท่านั้น” การตัดสินใจว่าจะมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานฟอสซิลต่อไปหรือไม่ จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นการกำหนดว่าโลกจะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสนั้น จะเป็นไปได้ไหม
แม้เวลานับถอยหลังการสิ้นสุดของเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงไม่แน่นอน หรืออาจจะไม่ได้หมดลงในช่วงอายุขัยของพวกเรา อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยที่แตกต่างไปตามยุคสมัยของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง หากแต่ผู้คนยังคงต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานชนิดที่มีแต่ใช้แล้วหมดไป และการเริ่มต้นอนุรักษ์เชื้อเพลิงฟอสซิล อาจจะด้วยการลดหรือทดแทน เพียงคนละไม้ละมือตั้งแต่วันนี้ ก็สามารถรวมกันเป็นพลังครั้งใหญ่ที่ช่วยต่ออายุเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ยาวนานมากขึ้นได้อีก
บทความที่เกี่ยวข้อง
—
ข้อมูลอ้างอิง
National Geographic Thailand
เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) : https://ngthai.com/science/26108/fossil-fuel/
National Geographic Thailand
งานวิจัยเผย ขณะนี้โลกใช้พลังงานฟอสซิลมากเกินกว่าจะลดโลกร้อนได้สำเร็จ : https://ngthai.com/environment/23156/exceedfossiluse/
Fair Planet : https://www.fairplanet.org/story/when-will-fossil-fuels-run-out/
ZME Science : https://www.fairplanet.org/story/when-will-fossil-fuels-run-out/
MET Group : https://group.met.com/en/mind-the-fyouture/mindthefyouture/when-will-fossil-fuels-run-out