ฟื้นคืนป่า – ช่วงปลายยุคน้ำแข็ง สกอตแลนด์เคยเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ป่าสนคาเลโดเนียนแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของทั้งเสือภูเขา แมวป่า หมาป่า และหมี ชาวโรมันเรียกส่วนเหนือของประเทศนี้ว่า “ป่าใหญ่แห่งคาเลดอน” แต่เมื่อเวลาผ่านไป มนุษย์ก็เข้ามาถางทำลายพื้นที่เพื่อเอาไม้ ถ่าน และทำเกษตรกรรม สิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นอย่างหมูป่า พังพอน และกวางก็หายไป เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 พื้นที่ป่าของสกอตแลนด์เหลือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
ปัจจุบันสกอตแลนด์มีอุดมการณ์แรงกล้าในการฟื้นฟูป่าให้กลับคืนมา บนพื้นฐานของการสร้างระบบนิเวศขึ้นมาใหม่ให้เหมือนกับสภาพก่อนที่มนุษย์จะเข้ามาทำการเพาะปลูก ด้วยการพยายามแผ่ขยายพื้นที่ป่าและธรรมชาติออกไปทั่วประเทศ การดำเนินการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และหากความพยายามสัมฤทธิผล สกอตแลนด์ก็จะเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถคืนป่าได้สำเร็จ
ปีเตอร์ แคนส์ ประธานกรรมการบริหารองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Scotland: The Big Picture. กล่าวว่า สกอตแลนด์เป็นสถานที่ที่มีหุบเขาและทัศนียภาพงดงาม แต่ความอุดมสมบูรณ์ในเชิงนิเวศนั้นลดน้อยลงมากมาเป็นเวลานานแล้ว หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทุกคนร่วมมือกันในการคืนป่าก็คือปัญหาสภาพภูมิอากาศ
องค์กรคืนป่าต่าง ๆ มีความมุ่งหมายที่จะสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าชมได้เปิดหูเปิดตาว่าสภาพพื้นที่ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ผ่านการจัดโครงการอาสาสมัครต่าง ๆ และกิจกรรมค้างแรม
เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อคืนป่าเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยนัก นอกเสียจากแง่มุมหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เมื่อ Trees for Life องค์กรการกุศลด้านสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนบทสนทนา จากการอนุรักษ์สัตว์บางสายพันธุ์และถิ่นที่อยู่บางแห่งซึ่งในขณะนั้นเป็นการเลือกอนุรักษ์ที่เฉพาะเจาะจง มาเป็นการจุดประกายให้เกิดกระบวนการเชิงนิเวศในระดับภูมิประเทศ
ปัจจุบัน Trees for Life อยู่เบื้องหลังวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของโครงการ Affric Highlands โดยมีพิมพ์เขียว 30 ปีสำหรับการดำเนินการฟื้นฟู เกลนส์แคนนิช แอฟฟริก มอริสตัน และชีล หุบเขาที่อยู่ต่อเนื่องกันในบริเวณตอนกลางที่ราบสูง ให้กลับคืนสู่สภาพครั้งก่อนถูกรบกวน โครงการนี้จึงกลายเป็นผู้รับผิดชอบการคืนป่าครั้งแรกของโลกไปโดยปริยาย
เริ่มต้นในฤดูใบไม้ผลิปี 2023 นักเดินทางที่มาเยือนเกลนมอริสตันซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของล็อกเนสส์ จะได้เจอกับศูนย์คืนป่าดันเดรกแกน (Dundreggan Rewilding Centre) ที่ตั้งอยู่กลางป่าสนในพื้นที่ประมาณ 25,000 ไร่ของ Trees for Life ศูนย์คืนป่าแห่งนี้พัฒนาขึ้นเพื่อแสดงตัวอย่างการดำเนินงานของโครงการที่มีความทะเยอทะยาน และแสดงให้ผู้เข้าชมเห็นถึงวิธีการต่าง ๆ ในการชมธรรมชาติอีกครั้ง
ปัจจุบัน พื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูใหม่นี้เป็นบ้านของทั้งพืชและสัตว์พื้นเมืองกว่า 4,000 สายพันธ์ุ ทั้งกวางโร กระต่ายภูเขา หนูนาน้ำ ค้างคาวหูยาว นาก และไก่ป่าดำ ความคาดหวังคือให้ผู้เข้าชมเกิดแรงบันดาลใจในการมีส่วนร่วมกับธรรมชาติด้วยวิธีใหม่ ๆ ได้ที่บ้าน เพื่อดื่มด่ำอย่างเต็มรูปแบบ โครงการได้จัดทั้งนิทรรศการและห้องเรียน และมีอาคารที่พักขนาด 40 เตียงไว้รองรับนักวิจัยและอาสาสมัครด้วย
เหล่านักเดินทางจะได้ผูกสัมพันธ์กับทุกสิ่งตั้งแต่โคนต้นสนไปจนถึงนกมูลไถ ที่ Cairngorms Connect โครงการคืนป่าที่มีความทะเยอทะยานที่สุดในสกอตแลนด์ โดยมุ่งเน้นไปที่ที่ราบในเขตกึ่งอาร์กติกขนาด 232 ตารางไมล์ในอุทยานแห่งชาติแคนกอร์มส์ (Cairngorms National Park) อุทยานแห่งชาติใหญ่ที่สุดในบริเตน องค์กรที่เป็นเจ้าของที่ดินหลายรายได้เริ่มแผน 200 ปีที่จะฟื้นฟูแม่น้ำและปลูกป่าสนคาเลโดเนียนโบราณแล้ว ผู้เข้าชมสามารถเข้าร่วมทัวร์ที่นำโดยผู้ดูแลป่าและเข้าร่วมกิจกรรมคืนป่าสุดสัปดาห์เพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ได้ โดยในปีหน้าจะมีการเปิดตัวแมวป่า 20 ตัวเป็นครั้งแรกที่สมาคมสัตววิทยาแห่งสกอตแลนด์ (Royal Zoological Society of Scotland)
ไม่ใช่ว่าสัตว์พื้นเมืองทุกสายพันธุ์ที่กลับมาจะได้มาอยู่ตามพุ่มไม้ในหุบเขา เจมส์ แนร์น เจ้าหน้าที่ของ Scottish Wild Beaver Group ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการอนุรักษ์บีเวอร์ยูเรเชียนและย้ายพวกมันไปอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ อย่าง Knapdale Scottish Beaver Trial ในอาร์ไกล์และบิวต์ และ Argaty Red Kites ใกล้กับดูน ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของสเตอร์ลิง ในยามเย็น นักท่องเที่ยวอาจจะได้เห็นชาวแม่น้ำล่องเรือแคนูไปตามแม่น้ำเทย์พร้อมกับบริษัททัวร์ Perthshire Wildlife. ช่วงอาทิตย์ตกดินจะเป็นช่วงที่พวกสัตว์ฟันแทะจะทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง
แนร์นกล่าวว่าบีเวอร์ในสกอตแลนด์หายไปตั้งแต่ 400 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้พวกมันมีจำนวนถึง 1,000 ตัว ฟื้นฟูจนพร้อมที่จะกลับคืนสู่ป่า การได้สัตว์ชนิดนี้กลับคืนสู่พื้นที่แม่น้ำและทะเลสาบอีกครั้ง จะทำให้เราได้รับสิ่งอื่นกลับมาอีกมากมาย
อ่านเพิ่มเติม
ชีวิตตกค้างระหว่างอดีตกับปัจจุบันบนเกาะใน สกอตแลนด์
มนุษยชาติต้องร่วมฟื้นฟูพื้นที่ป่าระดับโลก เพื่อช่วยโลกจากภาวะโลกร้อน
Rewilding ในเมืองใหญ่ พวกเขาฟื้นฟูธรรมชาติอย่างไร? ทำได้มากน้อยแค่ไหน?
NatureScot หน่วยงานของรัฐระบุว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวถึงร้อยละ 40 มาจากการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยได้รับแรงผลักดันจากการเปิดตัวสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือเหยี่ยวเรดไคท์ ซึ่งได้รับการดูแลอนุรักษ์จาก Galloway Kite Trail ที่ทะเลสาบเคนในเคิร์กคุดไบรท์ ส่วนนกอินทรีทองก็ได้รับการเพาะพันธุ์ในบริเวณเนินเขามอฟแฟต เนื่องจากการเคลื่อนย้ายนก 40 ตัวของโครงการ South of Scotland Golden Eagle Project
เขตสงวนอัลลาเดลในซูเธอร์แลนด์ที่อยู่เหนืออินเวอร์เนสส์ไปราว 80 กิโลเมตร มุ่งเป้าไปที่บริเวณที่ราบสูงซึ่งเคยเป็นพื้นสถานที่ที่ใช้จัดแข่งขันกีฬาชนบทแบบดั้งเดิมในสมัยวิคตอเรียน ครั้งหนึ่งพื้นที่ราว 58,000 ไร่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ที่ใช้ล่ากวาง ปัจจุบันเปิดรับนักท่องเที่ยวประมาณ 1,500 คนต่อปีในฐานะแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า พอล ลิสเตอร์กล่าวว่าเป็นการมาให้สุดปลายถนนเพื่อเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมและรู้สึกถึงจิตวิญญาณ
เป็นเวลามากกว่าสองทศวรรษแล้วที่ลิสเตอร์ได้พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในที่ราบสูงแห่งนี้ด้วยที่ดินและความมั่งคั่งของเขา เขาเริ่มดำเนินการในปี 2003 โดยมีความมุ่งหมายที่จะนำหมาป่าซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกล่าจนสูญพันธุ์ไปในปี 1680 กลับมาสู่สกอตแลนด์อีกครั้ง สำหรับเขามันเหมือนกับการนำกระต่ายกลับคืนเข้าไปในหมวกของนักมายากล
เขากล่าวว่าการกลับมาของสัตว์นักล่าชนิดนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาที่คาดไม่ถึงในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีที่พวกหมาป่าจะได้ย้ายมาอยู่ที่อัลลาเดล ซึ่งผู้คนคงจะอยากเห็นหมาป่าในป่าที่นี่อย่างแน่นอน อีกสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอาจเป็นการเปิดศูนย์วิลโลว์ในเดือนเมษายนปี 2023 ในเขตสงวน ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับฝึกจิต ศูนย์การศึกษา และร้านอาหารมังสวิรัติที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในบริเวณหุบเขา
สำหรับตอนนี้ แทนที่จะเป็นหมาป่าของสกอตแลนด์ กลับมีนกเหยี่ยว หมาไม้ต้นสน และไก่ป่าดำ เข้ามาในพื้นที่ นี่ไม่ใช่สกอตแลนด์อย่างที่เคยเป็น เป็นเรื่องน่าดึงดูดใจที่จะได้เห็นธรรมชาติแห่งนี้ได้รับการฟื้นฟูกลับมา ไม่ใช่การย้อนเวลากลับไปในอดีต แต่เป็นการเดินทางไปสู่สถานที่ที่มีอนาคตสดใส
เรื่อง Mike MacEacheran
ภาพ Robert Ormerod
แปล สโรชิณีย์ นิสสัยสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย