ฟาโรห์แฮตเชปซุต จอมกษัตรีแห่งอียิปต์

ฟาโรห์แฮตเชปซุต จอมกษัตรีแห่งอียิปต์

อะไรคือแรงจูงใจให้แฮตเชปซุตปกครองอียิปต์โบราณเยี่ยงบุรุษ ขณะที่พระราชบุตรเลี้ยงต้องอยู่ใต้เงื้อมเงาพระราชอำนาจของพระนาง บัดนี้ มัมมี่และความจริงเกี่ยวกับขัตติยนารีพระองค์นี้ได้รับการเปิดเผยแล้ว

หลังเป็นปริศนามายาวนาน ในที่สุดนักโบราณคดีก็สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดแล้วว่า มัมมี่ร่างนี้คือฟาโรห์แฮตเชปซุด หญิงเหล็กจอมกษัตริย์แห่งอียิปต์โบราณ

แฮตเชปซุต (Hatshepsut)  หรือ ฮัตเชปซุต คือฟาโรห์สตรีผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของอียิปต์โบราณ ทรงปกครองบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นระยะเวลายาวนานกว่าฟาโรห์หญิงองค์อื่นใดในประวัติศาสตร์ ทว่านักประวัติศาสตร์ให้แฮตเชปซุตรับบทพระราชมารดาเลี้ยงใจร้ายของฟาโรห์ทุตโมสที่สาม เนื่องจากเชื่อว่าเมื่อทุตโมสที่สามได้ครองราชบัลลังก์ก็ทรงล้างแค้นพระราชมารดาเลี้ยง โดยมีพระบัญชาให้ทุบทำลายอนุสาวรีย์ของพระนาง และสกัดพระนามของแฮตเชปซุตในฐานะฟาโรห์ออกจากอนุสรณ์สถานต่างๆ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าทุตโมสที่สามอาจปลงพระชนม์แฮตเชปซุตอีกด้วย

เชื่อกันว่าพระอัยกา (ตา) ของแฮตเชปซุตคือฟาโรห์อาห์โมสผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่สิบแปด ส่วนพระบิดาคือฟาโรห์ทุตโมสนั้นเป็นนายทหารที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเชื้อพระวงศ์ แฮตเชปซุตเป็นพระธิดาองค์โตของฟาโรห์ทุตโมสกับราชินีอาห์โมส พระมเหสีเอก ฟาโรห์ทุตโมสยังมีพระโอรสกับราชินีอีกองค์หนึ่ง นั่นคือทุตโมสที่สอง ซึ่งต่อมาได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา ทุตโมสที่สองทรงอภิเษกสมรสกับแฮตเชปซุต ผู้เป็นพระเชษฐภคินีต่างพระมารดา และมีพระธิดาด้วยกันเพียงองค์เดียว ขณะที่พระชายาองค์รองพระนามว่าไอซิส มีพระโอรสคือทุตโมสที่สาม ซึ่งต่อมาได้สืบราชสมบัติต่อจากทุตโมสที่สอง

วิหารประกอบพิธีศพของแฮตเชปซุตตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าผาหินกลางทะเลทรายที่เดียร์เอลบาห์รี ราวกับสะท้อนถึงพระราชอำนาจอันเกรียงไกร ภาพสลักภายในระเบียงเสาบันทึกความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในรัชสมัยอันยาวนาน 21 ปีของพระนางไว้

ทุตโมสที่สามขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังเยาว์พระชันษา แฮตเชปซุตจึงทรงทำหน้าที่เป็นราชินีผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์ ในตอนแรกแฮตเชปซุตทรงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระราชบุตรเลี้ยง แต่ผ่านไปไม่กี่ปี แฮตเชปซุตก็ทรงแสดงบทบาทเป็น “ฟาโรห์” ผู้ครองพระราชอำนาจสูงสุด ขณะที่พระราชบุตรเลี้ยงซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจเจริญพระชันษาแล้ว กลับถูกลิดรอนพระราชอำนาจให้เป็นที่สองรองจากพระองค์ แฮตเชปซุตทรงปกครองบ้านเมืองต่อมารวมระยะเวลาทั้งสิ้น 21 ปี

แฮตเชปซุตทรงกุมอำนาจไว้อย่างเบ็ดเสร็จมั่นคง พร้อมกับทรงลดบทบาทของทุตโมสที่สาม ผู้เป็นพระราชบุตรเลี้ยง (บนซ้าย) ภาพสลักบนผนังโบสถ์แดงที่คาร์นัก (บนขวา) ให้เบาะแสเกี่ยวกับการเตรียมการของพระนาง เช่น ในภาพหนึ่งที่แสดงการเลี้ยงฉลอง (ภาพล่าง) แฮตเชปซุตทรงยืนอยู่หน้าทุตโมสที่สาม โดยทั้งสองพระองค์อยู่ในฉลองพระองค์เยี่ยงฟาโรห์

นักประวัติศาสตร์ไม่รู้ว่าแรงจูงใจในการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นฟาโรห์คืออะไร อาจเป็นเพราะแฮตเชปซุตทรงมีสายเลือดขัตติยะอย่างแท้จริง เพราะทรงเป็นพระนัดดาของฟาโรห์อาห์โมส ขณะที่พระสวามีคือพระโอรสของฟาโรห์ผู้เคยเป็นสามัญชน  ชาวอียิปต์เชื่อว่า ฟาโรห์คือสมมุติเทพ ดังนั้นจึงมีเพียงแฮตเชปซุตเท่านั้นที่ทรงมีความสัมพันธ์ทางสายพระโลหิตกับเหล่าเทวราชา

 

แฮตเชปซุตคือฟาโรห์สตรีผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของอียิปต์โบราณ ทรงปกครองบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นระยะเวลายาวนานกว่าฟาโรห์หญิงองค์อื่นใดในประวัติศาสตร์

ในภาพสลักที่วิหารประกอบพิธีศพของแฮตเชปซุต ทรงมีบัญชาให้แต่งเรื่องว่า การขึ้นครองราชย์ของพระองค์เป็นไปตามพระประสงค์ของทวยเทพ กระทั่งทุกวันนี้ นักวิชาการยังคงถกเถียงกันว่า กลุ่มเป้าหมายของโฆษณาชวนเชื่อนี้คือใครกันแน่ คำตอบที่เป็นไปได้ประการหนึ่งเห็นได้จากการที่แฮตเชปซุตทรงอ้างถึงนกกระแตที่มีอยู่ชุกชุมตามที่ลุ่มชื้นแฉะริมฝั่งแม่น้ำไนล์ หรือที่ชาวอียิปต์โบราณเรียกว่า เรคิต ในข้อความอักษรเฮียโรกลิฟิก คำว่า “เรคิต” มักมีความหมายว่า “สามัญชน” นี่คงเป็นวิธีที่แฮตเชปซุตใช้แสดงถึงสายสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับเรคิต แฮตเชปซุตมักตรัสถึง “เรคิตของข้า” อย่างเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ และมักจะทรงขอความเห็นชอบจากเรคิต ราวกับราชาผู้ไม่ธรรมดาพระองค์นี้ทรงเป็นนักประชานิยมอย่างลับๆ

แฮตเชปซุตทรงเครื่องทรงเยี่ยงกษัตริย์ ในภาพซ้ายจะเห็นพระองค์ทรงผ้าโพกพระเศียรของฟาโรห์ ทว่าเพศสภาพที่แท้จริงของพระองค์ยังเผยให้เห็นในพระถันอันกลมกลึงและพระหนุ (คาง) อันบอบบาง สวนรูปสลักของพระองค์ในร่างสฟิงซ์ (ขวา) มีสัญลักษณ์ของบุรุษเพศอย่างเด่นชัด เช่น แผงคอของสิงโตและเคราปลอมของฟาโรห์

เมื่อปี 1903 เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ นักโบราณคดีผู้เลื่องลือ ค้นพบโลงศพศิลาของแฮตเชปซุตในหลุมศพหมายเลขยี่สิบที่หุบผากษัตริย์ หรือที่เรียกกันว่า หลุมศพเควี20 (KV20) แต่โลงศพนี้กลับว่างเปล่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญไม่รู้ว่ามัมมี่ของพระองค์อยู่ที่ไหน หรือรอดพ้นจากการทำลายหลักฐานต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับรัชสมัยของพระองค์ตามพระบัญชาของทุตโมสที่สาม ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกับพระองค์ และกลายมาเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ในท้ายที่สุดหรือไม่ การค้นหาที่ดูเหมือนจะไขปริศนานี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2005 เมื่อซาฮี ฮาวาส หัวหน้าโครงการมัมมี่อียิปต์และเลขาธิการสภาโบราณสถาน พร้อมด้วยคณะนักวิทยาศาสตร์ พุ่งความสนใจไปที่มัมมี่ซึ่งพวกเขาเรียกว่า เควี60เอ (KV60a) มัมมี่ศพนี้พบอยู่บนพื้นหลุมศพเล็กๆแห่งหนึ่งในหุบผากษัตริย์เมื่อกว่าร้อยปีก่อน แต่ไม่มีใครคิดว่ามีความสำคัญ จึงไม่ได้ขนย้ายออกมา

กระทั่งในเดือนมิถุนายน ปี 1989 โดนัลด์ ไรอัน นักไอยคุปต์วิทยา เดินทางไปสำรวจหลุมศพขนาดเล็กที่ไร้การประดับประดาหลายแห่งในหุบผากษัตริย์ รวมทั้งหลุมศพเควี60 นี้ด้วย เขาพบว่า แขนซ้ายของมัมมี่เควี60เอ งอขึ้นมาพาดอก ซึ่งนักไอยคุปต์วิทยาบางคนเชื่อว่า  เป็นท่าที่นิยมจัดให้พระศพราชินีอียิปต์แห่งราชวงศ์ที่สิบแปด ยิ่งไรอันตรวจสอบมัมมี่ศพนี้อย่างละเอียดมากขึ้นเท่าไร เขาก็ยิ่งคิดว่าสตรีผู้นี้อาจเป็นคนสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ส่วนการที่มัมมี่ศพนี้อยู่ในหลุมศพเล็กๆ สันนิษฐานกันว่า นักบวชได้เคลื่อนย้ายไปซ่อนไว้ เพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือโจรปล้นสุสานในสมัยราชวงศ์ที่ยี่สิบเอ็ดเมื่อประมาณ 1000 ปีก่อนคริสต์ศักราช

มัมมี่ของแฮตเชปซุตอยู่ที่ไหนกันเล่า เมื่อร้อยปีก่อน มีการค้นพบมัมมี่สตรีนิรนามสองร่างในหลุมศพเล็กๆ แห่งหนี่ง สันนิษฐานกันว่า นักบวชเป็นผู้เคลื่อนย้ายศพทั้งสองไปซ่อนไว้ที่นั่น การตรวจสอบในเวลาต่อมาชี้ชัดได้ว่า มัมมี่ร่างทางซ้ายคือพระนม (แม่นม) ของแฮตเชปซุต (ร่างทางขวา)

เกือบ 20 ปีต่อมา ซาฮี ฮาวาส ได้ขอให้ภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอียิปต์รวบรวมมัมมี่นิรนามทั้งหมดซึ่งอาจเป็นเชื้อพระวงศ์สตรีแห่งราชวงศ์ที่สิบแปดมาเก็บไว้ในที่เดียวกัน มีการนำมัมมี่เหล่านั้นไปเข้าเครื่องซีทีสแกน ปรากฏว่าผลการซีทีสแกนของมัมมี่สี่ศพที่มีโอกาสจะเป็นแฮตเชปซุตยังไม่เพียงพอจะสรุปได้อย่างแน่ชัด แต่แล้วฮาวาสก็นึกขึ้นได้ว่า ย้อนหลังไปเมื่อปี 1881 มีการค้นพบกล่องไม้ที่มีรอยสลักรูปคาร์ทูชของแฮตเชปซุตพร้อมกับมัมมี่เชื้อพระวงศ์จำนวนมากที่เดียร์เอลบาห์รี เชื่อกันว่าในกล่องดังกล่าวมีพระยกนะ (ตับ) ของแฮตเชปซุตบรรจุอยู่ แต่เมื่อนำกล่องนั้นไปสแกน กลับพบฟันซี่หนึ่งด้วย ฟันที่พบเป็นฟันกรามแท้ที่รากฟันหายไปบางส่วน ครั้นเมื่อตรวจสอบภาพขากรรไกรของมัมมี่ทั้งสี่อีกครั้งก็พบว่า ขากรรไกรบนด้านขวาของมัมมี่เควี60เอ มีรากฟันที่ซี่ฟันหายไป เมื่อลองวัดขนาดรากฟันของมัมมี่ศพนั้นกับขนาดของฟันในกล่อง ปรากฏว่าเข้ากันได้พอดี

ฟันซี่่หนึ่งซึ่งพบในกล่องที่จารึกพระนามแฮตเชปซุตไว้ (ซ้าย) มีขนาดพอดิบพอดีกับช่องว่างในขากรรไกรของมัมมี่หนึ่งในสองร่างที่พบในหลุมศพเควี60 และแล้วก็ดูเหมือนว่า เราจะไขปริศนาเรื่องฟาโรห์สตรีผู้สาบสูญได้ในที่สุด

 


ตุตันคามุน : ย้อนรอยการค้นพบสุสานฟาโรห์ผู้โด่งดัง


 

และแล้วภาพซีทีสแกนก็พลิกประวัติศาสตร์ด้วยการล้มล้างทฤษฎีที่ว่า แฮตเชปซุตอาจถูกทุตโมสที่สามปลงพระชนม์ ทั้งที่แท้จริงแล้ว แฮตเชปซุตอาจสิ้นพระชนม์เพราะทรงมีอาการติดเชื้ออันเนื่องมาจากพระปีฬกในโพรงพระทนต์ (ฝีในโพรงฟัน) ทั้งยังอาจมีโรคแทรกซ้อนอย่างพระโรคมะเร็งพระอัฐิ (มะเร็งกระดูก) ระยะลุกลามและพระโรคเบาหวานอีกด้วย

 

แขนซ้ายของมัมมี่เควี60เอ งอขึ้นมาพาดอก ซึ่งนักไอยคุปต์วิทยาบางคนเชื่อว่า  เป็นท่าที่นิยมจัดให้พระศพราชินีอียิปต์แห่งราชวงศ์ที่สิบแปด

ผู้มาเยือนวิหารแห่งอมุนที่คาร์นักได้เห็นภาพของแฮตเชปซุตในฐานะฟาโรห์ผู้เข้มแข็งถูกสกัดทิ้ง ผู้อยู๋เบื้องหลังการทำลายล้างดังกล่าวน่าจะเป็นพระราชบุตรเลี้ยงนามทุสโมสที่สาม ผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระนาง ด้วยอาจทรงเกรงว่าพระญาติร่วมสายพระโลหิตของแฮตเชปซุตอาจใช้ภาพเหล่านี้เป็นเครื่องมือแย่งชิงราชบัลลังก์

ส่วนการที่ทุตโมสที่สามทำลายหลักฐานเกี่ยวกับรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากแฮตเชปซุตสิ้นพระชนม์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปีนั้น คาดว่าอาจเพราะมีพระประสงค์จะสร้างความชอบธรรมในการสืบราชบัลลังก์ของพระโอรสอเมนโฮเทปที่สอง จึงทรงป้องกันพระญาติร่วมสายพระโลหิตของแฮตเชปซุตใช้ภาพเหล่านั้นเป็นเครื่องมือแย่งชิงราชบัลลังก์

เสาโอเบลิสก์ของแฮตเชปซุตที่สลักเสลาจากหินแกรนิต ตั้งตระหง่าน 30 เมตรเหนือซากปรักที่เมืองคาร์นัก ราวกับจะท้าทายความพยายามที่จะลบพระนามของพระองค์จากหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์

หากไม่ใช่เพราะพระทนต์ซึ่งพบโดยบังเอิญ เควี60เอก็คงยังนอนเดียวดายอยู่ในความมืดมิดต่อไป แต่ทุกวันนี้ เควี60เอประดิษฐานอยู่ในห้องมัมมี่เชื้อพระวงศ์หนึ่งในสองห้องที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอียิปต์ โดยมีแผ่นป้ายกำกับพระนามทั้งภาษาอาหรับและอังกฤษว่า “แฮตเชปซุต” กษัตรีผู้ได้กลับมาประทับร่วมกับเหล่าฟาโรห์แห่งอาณาจักรใหม่ในท้ายที่สุด

 


อ่านเพิ่มเติม ฟาโรห์ตุตันคามุน หนึ่งในกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอียิปต์โบราณ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.