การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนาซี มีที่มาอย่างไร

ชาวยิวกว่าหกล้านคนถูกสังหารระหว่างปี 1933-1945 เนื่องจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีทำให้การต่อต้านชาวยิวเปลี่ยนไปสู่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

ชาวยิวหกล้านคนถูกฆาตกรรม อีกหลายล้านคนถูกแย่งชิงอาชีพ ชุมชน ครอบครัว หรือแม้แต่ชื่อของตนเอง ความโหดร้ายของ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว มักแสดงผ่านจำนวนตัวเลขซึ่งบอกเล่าถึงความพยายามอย่างมหาศาลที่เยอรมนีภายใต้รัฐบาลนาซีมีต่อการล้างบางชาวยิวในยุโรป

เหล่านาซีและผู้สมรู้ร่วมคิดสังหารผู้คนที่พวกเขามองว่าด้อยกว่าหลายล้านคน ทั้งผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายพยานพระยะโฮวา (Jehovah’s Witnesses) คนรักร่วมเพศ ผู้พิการ ชาวสลาฟ โรมา (Roma) และคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ใช้คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)” —หรือโชอา (Shoah) ซึ่งแปลว่า “หายนะ” ในภาษาฮิบรู — สำหรับชาวยิวในยุโรปซึ่งถูกฆาตกรรมโดยนาซีระหว่างปี 1933 และ 1945 เท่านั้น

ไม่มีสถิติใดๆ ที่สามารถฉายภาพความน่าสะพรึงกลัวที่แท้จริงของการสังหารชนกลุ่มหนึ่งอย่างเป็นระบบได้ และด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อนของมันในวงกว้าง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้นได้ เป็นไปได้อย่างไรที่นักการเมืองที่ถูกเลือกตั้งด้วยระบอบประชาธิปไตยปลุกปั่นให้ผู้คนทั้งชาติกระทำการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ และเหตุใดกันที่ผู้คนต่างปล่อยให้มันเกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง และเหตุใดจึงยังมีผู้ที่ปฏิเสธว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น?

ร้านขายเครื่องใช้ในครัวเรือนและนาฬิกาในเขตของชาวยิวในกรุงปราก ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งขอเชโกสโลวาเกีย ในหลายประเทศในยุโรปตะวันออก การต่อต้านชาวยิวมีอยู่มากมายก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และชาวยิวถูกบังคับให้อยู่แยกจากประชากรกลุ่มอื่นๆ ภาพจาก HISTORY & ART IMAGES, GETTY IMAGES
หลังเยอรมนีรุกรานโปแลนด์ในปี 1939 ชาวยิวในโปแลนด์ถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่อาศัยในชุมชนแออัดเช่นในภาพนี้ ซึ่งถ่ายโดยช่างภาพชาวเยอรมันไม่ทราบชื่อที่กรุงวอร์ซอว์ ต่อมา ภาพนี้ถูกแสดงในการไต่สวนอาญากรรมสงครามโดยเหล่านาซีและผู้สมรู้ร่วมคิด ภาพจาก BETTMANN, GETTY IMAGES

ชาวยิวในยุโรปก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อปี 1933 ชาวยิวราวเก้าล้านคนอาศัยอยู่ทั่วทุกประเทศในทวีปยุโรป บางประเทศรับรองความเท่าเทียมของชาวยิวภายใต้กฏหมาย ซึ่งช่วยให้คนเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเด่นๆ แต่ในที่อื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก ชาวยิวถูกแบ่งแยกอย่างเข้มงวด

ในขณะนั้น ชาวยิวกำลังมีชีวิตที่รุ่งเรือง แต่ในเวลาเดียวกัน ชนชาติดังกล่าวก็เผชิญกับมรดกที่ยาวนานของการกีดกันแบ่งแยกและการตกเป็นแพะรับบาป โพกรม (Pogrom)— หรือการจลาจลอย่างรุนแรงที่ชาวคริสต์สร้างความหวาดกลัวต่อชาวยิว—เกิดขึ้นเป็นประจำทั่วทั้งยุโรปตะวันออก เหล่าผู้ลงมือกล่าวโทษเหยื่อว่าคนเหล่านั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้พระเยซูสิ้นพระชนม์ เผยแพร่มายาคติเกี่ยวกับสมาคมลับที่ควบคุมการเงินและการเมืองของโลก และอ้างว่าชาวยิวนำโรคระบาดและอาชญากรรมมาสู่ชุมชนของพวกตน

ฮิตเลอร์ผงาดขึ้น

บุรุษเพียงผู้เดียวที่เปลี่ยนการต่อต้านชาวยิวที่เกิดขึ้นมานานนับหลายศตวรรษให้กลายเป็นการกวาดล้างทางชาติพันธุ์คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ บุรุษผู้นี้ผงาดขึ้นในฐานะผู้นำของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซีในทศวรรษที่ 1920

เขาอาศัยคลื่นแห่งความไม่พอใจและความวุ่นวายในเยอรมนีซึ่งกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวหลังความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นอกจากเศรษฐกิจและการเมืองล่มสลายลง เยอรมนียังถูกคว่ำบาตรอย่างหนักภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย พรรคนาซีโทษชาวยิวถึงปัญหาเหล่านี้ และสัญญาว่าจะกอบกู้เกียรติยศของชาติให้กลับมาดังเดิม

ฮิตเลอร์ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาเยอรมนีผ่านระบอบประชาธิปไตยในปี 1933 ในไม่ช้า เขาถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศ ในไม่ถึงหนึ่งปีต่อมา ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กได้เสียชีวิตลง และฮิตเลอร์ก็ได้ยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

ฮิตเลอร์ ซึ่งเกิดในออสเตรียในปี 1889 เป็นนักปราศรัยฝีปากกล้าผู้ไต่ขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็วในเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขากล่าวโทษชาวยิวว่าเป็นสาเหตุของเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในประเทศแห่งนี้ และสัญญาว่าจะนำเกียรติยศกลับมาสู่เยอรมนีดังเดิม ภาพถ่ายโดย ROGER VIOLLET, GETTY IMAGES

ระบอบนาซีในช่วงแรก

ทันทีหลังการขึ้นสู่อำนาจ พรรคนาซีประกาศใช้กฎหมายหลายฉบับที่มุ่งกีดกันชาวยิวออกจากชีวิตของชาวเยอรมัน และตีความคำจำกัคความศาสนายูดาห์ว่าเป็น ‘เชื้อชาติ’ หนึ่ง บรรดากฎหมายซึ่งเริ่มด้วยการห้ามชาวยิวทำงานให้กับรัฐเหล่านี้ลงท้ายด้วยการห้ามมิให้ชาวยิวถือสัญชาติเยอรมันและแต่งงานกับชนชาติอื่น

สิ่งเหล่านี้มิได้เป็นเพียงเรื่องภายในประเทศเท่านั้น ฮิตเลอร์ต้องการแผ่ขยายระบอบของตน และในปี 1939 เยอรมนีก็ได้รุกรานโปแลนด์ การรุกรานครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง — และการขยายตัวของนโยบายต่อต้านยิวของพรรคนาซี

ทางการเยอรมันบังคับให้ชาวยิวในโปแลนด์หลายแสนคนไปอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดอย่างรวดเร็ว และด้วยความช่วยเหลือของคนท้องถิ่นและกองทัพ หน่วยซึ่งถูกฝึกมาเป็นพิเศษนามว่า Einsatzgruppen เริ่มสังหารชาวยิวและคนกลุ่มอื่นๆ ที่เหล่านาซีมองว่าไม่พึงประสงค์อย่างเป็นระบบ ในเวลาเพียงเก้าเดือน หน่วยฆาตกรรมเคลื่อนที่เร็วเหล่านี้ฆ่าผู้คนไปกว่าครึ่งล้านด้วย “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยกระสุน” ที่จะดำเนินต่อไปตลอดทั้งสงคราม

แต่ฮิตเลอร์และทางการนาซีไม่พึงพอใจกับกฎหมายที่แบ่งแยกหรือการสังหารหมู่ด้วยปืน ภายในปี 1942 พวกเขาตกลงกันว่าจะดำเนิน “การแก้ปัญหาครั้งสุดท้าย” ต่อการมีตัวตนของชาวยิวในยุโรป โดยพวกเขาจะส่งชาวยิวที่เหลืออีก 11 ล้านคนไปทางตะวันตก สู่ค่ายมรณะที่เหยื่อเหล่านั้นจะถูกบังคับใช้แรงงานก่อนจะถูกสังหารในท้ายที่สุด

ฮิตเลอร์ปฏิเสธคำขอเพื่อสันติภาพของแฟรงกลิน รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 1939 ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เยอรมนีก็รุกรานโปแลนด์ ภาพจาก UNIVERSAL HISTORY ARCHIVE,UNIVERSAL IMAGES GROUP/GETTY IMAGES

กวาดล้างอย่างโจ่งแจ้ง

ด้วยการอธิบายการกระทำของตนว่าเป็นการ “อพยพ” ชาวยิวจากอาณาเขตที่เป็นของชาวเยอรมันเชื้อชาติอื่นๆ โดยสิทธิ การปฏิบัติการของนาซีเกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง แม้จะผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิวหลายพันคนได้ช่วยชีวิต ให้ที่หลบซ่อน หรือช่วยเหลือผู้ที่เป็นเป้าหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหล่านี้ แต่ยังมีคนอีกมากมายที่มองดูเหตุการณ์กวาดล้างครั้งนี้อย่างไม่แยแส หรือไม่ก็ร่วมสมคบคิดกับเผด็จการเหล่านี้

ด้วยการช่วยเหลือจากบรรดาเข้าหน้าที่ท้องถิ่นและพลเรือนที่เห็นชอบ นาซีเข้าจับกุมชาวยิว ยึดทรัพย์สินส่วนตัว และขังคนเหล่านี้ในค่ายกักกันและคุกอื่นๆ มากกว่า 44,000 แห่งทั่วยุโรป ผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิวถูกสนับสนุนให้ทรยศเพื่อนบ้านชาวยิวของตนเอง ยึดบ้านและธุรกิจของพวกเขาและเธอเหล่านั้นทิ้งไว้ข้างหลัง

นักโทษที่ค่ายกักกันบูเคินวัลด์ ไกล้กับไวมาร์ เยอรมนี ถ่ายเมื่อเดือนเมษายน 1945 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ค่ายแห่งนี้ถูกปลดปล่อย ในแปดปีที่ค่ายเปิดทำการ มีนักโทษถูกขังอยู่ที่นี่ราว 239,000 ถึง 250,000 คน คนเหล่านี้ถูกใช้เป็นหนูทดลองทางการแพทย์และถูกบังคับใช้แรงงานอย่างสาหัส ภาพถ่ายโดย ERIC SCHWAB, AFP/GETTY IMAGES

ดาเคา (Dachau) ซึ่งเปิดใกล้กับมิวนิคในปี 1933 คือค่ายกักกันแห่งแรก ส่วนค่ายอื่นอีกห้าค่าย ได้แก่ เอาชวิทซ์-เบียเคอเนา, เคล์มโน (chelmno), เบลเซค (Belzec), โซบิบอร์ (Sobibor), และทรีบลินกา (Treblinka) ถูกกำหนดเป็นค่ายมรณะ ที่ซึ่งยาวยิวส่วนมากถูกฆาตกรรมทันทีเมื่อเดินทางมาถึง

การสังหารนั้นทำในแบบเดียวกันกับการประกอบชิ้นส่วนในโรงงาน โดยการนำชาวยิวที่ถูกขนส่งครั้งละจำนวนมากลงจากรถไฟและ “เลือก” แต่ละคนไปตามกลุ่มซึ่งจำแนกจาก เพศ อายุ และความแข็งแรงที่สังเกตเห็นได้ ผู้ที่ถูกเลือกไปฆาตกรรมจะถูกนำไปที่พื้นที่รวมตัว และถูกบังคับให้ทิ้งสิ่งของติดตัวและเปลื้องผ้าเพื่อ “การกำจัดเชื้อโรค” หรืออาบน้ำ

แต่แท้จริงแล้ว เหยื่อเหล่านี้ถูกต้อนไปในห้องประหารที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ก่อนเจ้าหน้าที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ทำให้เสียชีวิต หรือ Zyklon B ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่ทำให้เหยื่อเสียชีวิตในเวลาไม่กีนาทีเข้าไปด้านใน

เหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มแรกสุดถูกฝังในสุสานขนาดใหญ่ ต่อมา ได้มีความพยายามปกปิดการสังหารให้เป็นความลับ ศพได้ถูกกำจัดในเตาเผาขนาดใหญ่ ชาวยิวบางคนถูกบังคับให้มีส่วนร่วมในการสังหาร และถูกประหารในเวลาต่อมาเพื่อปิดปาก เสื้อผ้า ฟันที่ถูกอุด ทรัพย์สิน หรือแม้แต่เส้นผมของเหยื่อเหล่านี้ยังถูกเหล่านาซีขโมยไป

เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรทำการรุกคืบเมื่อใกล้จบสงคราม เยอรมนีส่งนักโทษเดินเท้าสู่ความตายจากแนวรบตะวันตกไปสู่ดาเคา ใกล้กับมิวนิค ภาพนี้ถ่ายเมื่อค่ายถูกปลดปล่อยเมื่อเดือนเมษายน 1945 ทหารสหรัฐฯ พบศพซึ่งกองพะเนินและผู้รอดชีวิตที่กำลังใกล้ตาย ภาพถ่ายโดย ROGER VIOLLET, GETTY IMAGES

ชีวิตในค่าย

ผู้ถูกเลือกให้รอดชีวิตจะถูกย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างเป็นกระบวนการและถูกบังคับให้ใช้ชีวิตในสภาพโสมม หลายคนถูกสักตัวเลขสำหรับการระบุตัวตนและถูกโกนผม การขาดอาหาร สภาพแออัด การทำงานหนักเกินไป และการขาดสุขอนามัยนำไปสู่การแพร่ของโรคระบาดและการเสียชีวิตหมู่อย่างกว้างขวาง การทรมานและการทดลองทางการแพทย์อย่างโหดเหี้ยมอำมหิตทำให้ค่ายเหล่านี้คือความสยดสยองเกินพรรณา

“มันไม่มีทางที่จะจมดิ่งลงไปลึกกว่านี้ ไม่มีสภาพของมนุษย์ที่น่าอเนจอนาถมากกว่านี้  หรือน่าเชื่อว่ามันอเนจอนาถได้มากถึงขนาดนี้” Primo Levi ผู้รอดชีวิตจากค่ายเอาชวิทซ์เขียนใว้ในบันทึกจากปี 1947 ของเขา “ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของเราอีกต่อไป… ถ้าเราพูด พวกเขาจะไม่ฟังเรา และถ้าพวกเขาฟัง เขาจะไม่เข้าใจ พวกเขาเอาไปแม้แต่ชื่อของพวกเรา”

กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางความยากลำบากที่เกินคาดคิดเหล่านี้ ยังมีบางคนที่ลุกขึ้นต่อต้าน “เป้าหมายของพวกเราคือการต่อต้านฮิตเลอร์ และทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อมีชีวิตรอด Helen K. ผู้รอดชีวิตจากค่ายเมดาเนค (Majdanek) และเอาชวิทซ์กล่าวย้อนในประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าเมื่อปี 1945 “เขาต้องการให้เราตาย และเราไม่ต้องการทำตามที่เขาสั่ง”

ชาวยิวต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยหลากหลายวิธี ตั้งแต่การหลบหนีไปซ่อนตัวจนถึงการบ่อนทำลายการดำเนินงานในค่ายและการลุกฮือด้วยอาวุธในชุมชนแออัดและค่ายกักกัน การต่อต้านด้วยวิธีอื่นนั้นทำแบบลับๆ  เช่นการขโมยอาหาร ประกอบพิธีทางศาสนาที่ถูกห้าม หรือเพียงแค่พยายามรักษาศักดิ์ศรีของตน

ในปี 2005 อนุสรณ์สถานแด่ชาวยิวผู้ถูกฆาตกรรมในยุโรป หรืออีกชื่อคืออนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเปิดตัวในกรุงเบอร์ลิน ที่ชั้นใต้ดิน พื้นที่ให้ข้อมูลบอกเล่าเรื่องราวของเหยื่อของการกวาดล้างทางเชื้อชาติครั้งนี้เป็นสิ่งเหล่านักวิชาการกล่าวว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการป้องกันมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ภาพถ่ายโดย GERD LUDWIG, NAT GEO IMAGE COLLECTION

หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มปิดฉากในปี 1944 และ 1945 เหล่านาซีพยายามปกปิดอาชญากรรมของตนด้วยการเผาทำลายเอกสาร รื้อค่ายกักกัน และบังคับให้นักโทษที่เหลือเดินเท้าสู่ความตายอย่างโหดร้ายเพื่อหนีฝ่ายสัมพันธมิตรที่กำลังรุกคืบเข้ามา

พวกเขาทำไม่สำเร็จ ขณะทหารสัมพันธมิตรปลดปล่อยยุโรป พวกเขาได้เข้าไปในค่ายที่เต็มไปด้วยศพที่กองพะเนิน และในบางกรณี เต็มไปด้วยเหยื่อที่อดอาหารและป่วย หลักฐานที่ถูกรวบรวมในค่ายเหล่านี้จะกลายเป็นรากฐานของการดำเนินคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials) อันเป็นการไต่สวนอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก

หลังสงคราม ความสูญเสียของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกลับชัดเจนขึ้น มีชาวยิวในยุโรปเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้ แม้จะมีการประมานการที่แตกต่างกันไป บรรดานักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาวยิวอย่างน้อยหกล้านคนถูกฆาตกรรม ในบรรดานี้ ราว 1.3 ล้านคนถูกสังหารโดยหน่วย Einsatzgruppen และที่เอาชวิทซ์-เบียเคอเนาเพียงแห่งเดียว ชีวิตอีกราวหนึ่งล้านต้องดับสูญลง

ผู้รอดชีวิตมากมายไม่มีที่ให้ไป ก่อนสงคราม โปแลนด์มีชาวยิวเป็นจำนวนมากที่สุดในยุโรป แต่ต้องสูญเสียร้อยละ 93 ของประชากรเหล่านั้นในเวลาเพียงห้าปี หลายหมู่บ้านและชุมชนถูกกวาดล้างจนเหี้ยนและบรรดาครอบครัวต้องกระจัดกระจายไปทั่วทั้งยุโรป ชาวยิวจำนวนมากลาจากยุโรปไปตลอดกาล และอพยพไปสู่สหรัฐฯ อิสราเอล หรือประเทศอื่นๆ

ปฏิเสธความจริง

แม้หลักฐานของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจะมีมากมาย แต่กลับมีบางคนที่เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (misinformation) เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว การปฏิเสธว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวไม่เคยเกิดขึ้นจริง (Holocaust denial) ยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้มันจะถูกตัดสินว่าเป็นการต่อต้านชาวยิวแบบหนึ่งและเป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายประเทศก็ตาม

สำหรับคำถามว่าจะต่อต้านความเกลียดชังได้อย่างไร? “การให้การศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการฆ่าล้างชาติพันธุ์ชาวยิวและอาชญากรรมอื่นๆ ของพรรคนาซีสามารถป้องกันการปฏิเสธความจริงและการบิดเบือนได้อย่างแข็งแกร่ง” ผู้ร่วมเขียนรายงานต่อสหประชาชาติเกี่ยวกับการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชิ้นหนึ่งจากปี 2021 สรุป

แม้จำนวนของผู้รอดชีวิตจะน้อยลง แต่คำให้การของพวกเขาและเธอก็เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของเหตุการณ์อันสยดสยองครั้งนี้

“เสียงของเหยื่อ—ความไม่เข้าใจ ความสิ้นหวัง คำบอกเล่าอันทรงพลัง —สิ่งเหล่านี้จะทำให้การแสดงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกปิดบังสั่นไหวได้ครับ” Saul Friedländer นักประวัติศาสตร์ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และผู้ที่บิดามารดาถูกสังหารที่เอาชวิตซ์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งกับนิตยสาร Dissent เมื่อปี 2007

เรื่อง ERIN BLAKEMORE

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน 


อ่านเพิ่มเติม แอนน์ แฟรงค์ คือใคร เหตุใดบันทึกในยุคนาซีของเธอจึงครองใจผู้อ่านทั่วโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.