15 ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

15 ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร จากวัยเด็ก สู่ปลายรัชสมัย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นพระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรที่ทรงราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ แซงหน้ารัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
.
ตลอดรัชสมัยอันยาวนานนี้ พระองค์ทรงย้ำเสมอว่า บทบาทของพระองค์หาใช่ทรง “ปกครอง” (rule) แต่เป็นการ “รับใช้” (serve) ต่างหาก
.
นี่คือชุดภาพถ่าย ที่บันทึกเรื่องราวของพระองค์ นับตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขึ้นครองราชย์ ไปจนถึงการครองสิริราชสมบัติครบ 66 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018

1. เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ที่สี่จากซ้าย) พระชันษา 11  ปี โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ณ สีหบัญชรพระราชวังบักกิงแฮม ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระบรมราชชนก เจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จขึ้นครองราชย์ขณะเจริญพระชนมายุ 25 พรรษา หลังสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคตในปี 1952  (ภาพถ่าย: Keystone, Getty Images)

2. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงอยู่ในฐานะประมุขแห่งกองทัพสหราชอาณาจักร ในภาพนี้ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ เสด็จเยี่ยมหน่วยทหารราชองครักษ์ โดยตามเสด็จสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี (ขวา) ในการนี้เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา (ซ้าย) โดยเสด็จด้วย (ภาพถ่าย: David E. Scherman, The Life PIcture Collection, Getty Images)

3. การเสด็จฯ เยี่ยมชนชั้นแรงงานทางตะวันออกของกรุงลอนดอนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองโดยสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจระหว่างที่ลอนดอนตกเป็นเป้าทิ้งระเบิดจากกองทัพเยอรมนี (เหตุการณ์ช่วงนี้เรียกว่า The Blitz) เป็นแรงบันดาลพระทัยให้แก่พระราชธิดา ผู้จะทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรในอนาคต ในภาพนี้ เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงฝึกงานเป็นช่างยนต์ใน Auxiliary Territorial Service (หน่วยกองหนุนสตรีในกองทัพอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) เมื่อปี 1945 (ภาพถ่าย: Popperfoto/Getty Images)

4. การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซ (หรือเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ) กับ “ลิลิเบต” (“Lilibet”) ซึ่งเป็นชื่อที่ทรงเรียกเจ้าหญิงเอลิซาเบธเมื่อปี 1947 คือเรื่องราวความรักโดยแท้ หาใช่การคลุมถุงชน ในภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 1951 นี้ ทั้งสองพระองค์ทรงฉายพระรูปกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเจ้าหญิงแอนน์ (ภาพถ่าย: Keystone, Getty Images)

5. เจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จฯ ออกจากพระราชวังบักกิงแฮมเพื่อไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953 (ภาพถ่าย: Monty Fresco, Topical Press Agency, Getty Images)

 

6. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองในฉลองพระองค์ชุดลูกไม้สีขาว เสด็จฯ ไปทรงร่วมงานเลี้ยงรับรองในนครซิดนีย์  ระหว่างเสด็จฯ เยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1954 (ภาพถ่าย: Keystone, Hulton Archive, Getty Images)

7. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงมีความผูกพันกับแคนาดาเป็นพิเศษ เพราะต่างจากออสเตรเลีย ชาวแคนาดาไม่แสดงออกซึ่งการต่อต้านราชวงศ์และสถาบันกษัตริย์ ในภาพนี้ทรงฉายขณะเจริญพระชนมายุ 33 พรรษากับดยุกแห่งเอดินบะระ ในกรุงออตตาวา (ภาพถ่าย: Kathleen Revis, National Geographic Creative)

8. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงโปรดสุนัขพันธุ์คอร์กี้เป็นพิเศษ สมเด็จพระบรมราชชนก (พระเจ้าจอร์จที่ 6) ทรงแนะนำให้พระธิดาซึ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในอนาคต ได้รู้จักกับสุนัขพันธุ์นี้  เมื่อทรงนำเจ้า “ดุ๊กกี้” กลับพระตำหนักเมื่อปี 1933 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงเลี้ยงสุนัข Pembroke Welsh Corgi รวมแล้วมากกว่า 30 ตัว  ภาพนี้ทรงฉายเมื่อปี 1969 (ภาพถ่าย: AFP, Getty Images)

 


ฉันห้ามเธอหมดกำลังใจ


 

9. เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงโปรดม้าและกีฬาแข่งม้า และแทบไม่เคยทรงพลาดรายการแข่งม้า British Derby ที่สนาม Epsom โดยเฉพาะหากมีม้าในคอกส่วนพระองค์เข้าร่วมการแข่งขันด้วย ในภาพนี้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับนักกีฬาแข่งม้าข้ามเครื่องกีดขวางที่ปราสาทวินเซอร์เมื่อปี 1979 (ภาพถ่าย: James L. Stanfield, National Geographic Creative)

10. การอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ต่างจากของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เพราะเป็นการจัดการแบบคลุมถุงชนโดยนักพงศาวลีในพระราชวัง รอยร้าวในอนาคตดูเหมือนจะสามารถสัมผัสได้ผ่านภาษาร่างกายที่ดูเคร่งขรึมเป็นทางการในพระรูปที่ทรงฉายกับพระสุณิสา (สะใภ้หลวง) เมื่อปี 1982  (ภาพถ่าย: Terry Fincher, Princess Diana Archive, Getty Images)

11. “ข้าพเจ้าเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคนคนเดียวที่สวมหมวกอยู่เสมอ” สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองมีพระราชหัตถเลขาถึงฟิลิป โซเมอร์วีล ช่างออกแบบพระมาลาหลวง ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 2014 หลังถวายการรับใช้ด้วยการออกแบบพระมาลามายาวนานถึง 25 ปี พระรูปนี้ทรงฉายเมื่อปี 2009 (ภาพถ่าย: Luke MacGregor, Reuters)

 

 

12. แม้จะทรงมีภาพลักษณ์ว่าเคร่งขรึมดังปรากฏในสื่อสาธารณะต่างๆ  ทว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงเป็นที่รู้จักในหมู่คนใกล้ชิดว่า  ทรงมีพระอารมณ์ขันอย่างเป็นธรรมชาติ ในภาพนี้ทรงพระเกษมสำราญขณะทอดพระเนตรการแข่งขันวิ่งกระสอบในมหกรรมการแข่งขัน Braemar Gathering ในสกอตแลนด์เมื่อปี 2012 (ภาพถ่าย: Russell Cheyne, Reuters)

13. ในภาพถ่ายเมื่อปี 2007 ภาพนี้  สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จฯ ออกจากอาคารรัฐสภา หลังเสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ทรงสวมพระมหามงกุฎเพชรที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1820 โดยพระเจ้าจอร์จที่สี่แห่งราชวงศ์ฮาโนเวอร์ (ภาพถ่าย: Toby Melville, Reuters)

14. ปี 1992 คือปีแห่งความเลวร้ายของราชวงศ์อังกฤษที่เผชิญมรสุมข่าวร้ายจากชีวิตสมรสอันล้มเหลวของสมาชิกหลายพระองค์ ตามมาด้วยโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเจ้าหญิงไดแอนาในอีกห้าปีต่อมา ยังไม่รวมถึงเหตุอัคคีภัยร้ายแรงที่พระราชวังวินเซอร์ และความนิยมในราชวงศ์วินเซอร์ที่ตกต่ำถึงขีดสุดโดยสาธารณชนมองว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองไม่ทรงออกมาแสดงความเสียพระทัยอย่างทันท่วงที หลังการสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของเจ้าหญิงไดแอนา ผู้ทรงได้ฉายาว่า “เจ้าหญิงของปวงชน” (People’s Princess) ทั้งหมดนี้ช่างตรงข้ามกับภาพครอบครัวที่กลับมามีความสุขอีกครั้งด้วยสมาชิกพระราชวงศ์รุ่นใหม่ๆ ในภาพถ่ายเมื่อปี 2014 ภาพนี้  (ภาพถ่าย: Facundo Arrizabialanga, EPA)

15. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองประทับที่โต๊ะทรงงานในห้องหมายเลข 1844 ภายในพระราชวังบักกิงแฮม หลังทรงบันทึกเทปอำนวยพรแด่พสกนิกรในวันคริสต์มาส (ภาพถ่าย John Stillwell, Pool Photo/AP)

 

อ่านเพิ่มเติม

๙ ช่างภาพสารคดีกับในหลวงรัชกาลที่ ๙

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.