กระแส “คุณพี่หมื่นสุนทรเทวา” จากละครบุพเพสันนิวาสมาแรงฉุดไม่อยู่จริงๆ หากนาทีนี้ไม่เอ่ย “ออเจ้า” กับเขาบ้างก็คงเชยน่าดู ว่าแต่แฟนละครทราบกันหรือไม่ว่าคุณพี่หรือ “หมื่นสุนทรเทวา” ตัวละครหลักจากบุพพสันนิวาสนี้หาใช่ตัวละครสมมุติแต่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์และมีความสำคัญในฐานะราชทูตไทยที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรียังประเทสฝรั่งเศส ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์เลยทีเดียว
หมื่นสุนทรเทวาเป็นบุตรชายของ พระโหราธิบดี มีอาชีพรับราชการให้แผ่นดินอยุธยา ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็น “ขุนศรีวิสารวาจา” และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสามของราชทูตไทยคนสำคัญที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรียังประเทศฝรั่งเศส โดยมี “ออกพระวิสุทธสุนทร” หรือโกษาปาน เป็นราชทูต “ออกหลวงกัลยาราชไมตรี” เป็นอุปทูต และ “ออกขุนศรีวิสารวาจา” เป็นตรีทูต โดยท่านเป็นทูตที่มีอายุน้อยที่สุดในการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ท่านเองก็เคยเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจักรวรรดิโมกุล (อนุทวีปอินเดียในปัจจุบัน) มาแล้ว แต่ภายหลังกลับจากฝรั่งเศสไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดว่าได้เดินทางไปยังประเทศอื่นอีกหรือไม่ จึงคาดว่าออกขุนศรีวิสารวาจาน่าจะยังคงรับราชการตามเดิม
สำหรับเอกสารเก่าชุดนี้ต้องขอขอบคุณ นายปรีดี พิศภูมิวิถี นักศึกษาหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขาฝรั่งเศสศึกษา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้พบต้นฉบับของเอกสารภายในแผนกภาษาตะวันออก ของหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้คัดลอก รวมถึงขอถ่ายภาพจากต้นฉบับไมโครฟิล์มส่งกลับมาให้แก่กรมศิลปากร ประเทศไทย
ต้นฉบับของเอกสารนี้เป็นสมุดไทยดำ เขียนด้วยดินสอสีขาว บอกชื่อเรื่องในหน้าแรกว่า “ต้นทางฝรงงเสษ” ภายในเขียนด้วยลายมือหวัดแกมบรรจง รูปตัวอักษรเป็นแบบที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเขียนขึ้นในสมัยนั้น สำหรับเนื้อความบรรยายไปตามขนบของนิราศ คือการบอกเล่าสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นระหว่างทาง และพรรณาถึงหญิงที่รัก แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ทั้งหมด
จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชื่อว่าเอกสารชุดนี้ถูกเขียนโดย ออกขุนศรีวิสารวาจา เนื่องจากภายในนิราศบรรยายถึงที่ตั้งของเกาะและทิศทางได้อย่างถูกต้อง แสดงว่าผู้เขียนต้องเคยมีประสบการณ์เดินทางผ่านเส้นทางนี้มาก่อน ซึ่งออกขุนศรีวิสารวาจาเองเคยเดินทางไปยังอาณาจักรโมกุลด้วยเส้นทางนี้มาแล้ว นอกจากนั้นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันก็คือ ในบางบทของนิราศบรรยายว่าผู้เขียนเป็นผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ เช่น เมื่อตอนที่คณะราชทูตเดินทางถึงเมืองแบรสต์แล้ว ได้เข้าพักยังตึกใหญ่ที่มีการตกแต่งประดับประดาอย่างวิจิตร ดังนั้นแล้วผู้เขียนจะต้องเป็นหนึ่งในราชทูตคนสำคัญอย่างแน่นอน
คณะราชทูตไทยเริ่มออกเดินทางเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปี 2228 โดยล่องเรือลงใต้ไปยังหมู่เกาะชวา จากนั้นเดินทางไปทางทิศตะวันตกจนถึงแหลมกู๊ดโฮป และล่องขึ้นเหนือผ่านภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกจนไปถึงยังเมืองแบรสต์ เมืองท่าทางตะวันตกของฝรั่งเศสในวันที่ 15 มิถุนายน 2229 รวมระยะเวลาการเดินทางราว 5 เดือนกว่า
ตลอดช่วงเวลาของการเดินทางนั้น ภายในเอกสาร “ต้นทางฝรั่งเศส” ได้บันทึกวิถีชีวิต ตลอดจนสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองที่คณะทูตไทยพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนต่างชาติพันธุ์ สัตว์หรือพืชต่างถิ่น ทั้งยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมหาอำนาจของฮอลันดาในช่วงเวลานั้น เมื่อหมู่เกาะน้อยใหญ่ที่คณะทูตไทยเดินทางผ่านล้วนเป็นของฮอลันดาทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังสะท้อนความคิดและความเชื่อของคนไทยในสมัยนั้น ดังเช่นตอนหนึ่ง ที่เรือเผชิญเข้ากับพายุและน้ำวน แต่ด้วยเวทมนต์คาถาของพระอาจารย์ที่เดินทางไปด้วย จึงช่วยให้ทั้งคณะรอดชีวิตมาได้ หรือตอนที่คณะทูตไทยพบเข้ากับชาวพื้นเมืองแอฟริกัน ซึ่งบรรยายไว้ว่า “เป็นพวกหัวพริก” เนื่องจากเส้นผมหยิกหยอยและสีผิวดำ ดูแล้วไม่สะอาดตา เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก หนังสือ ย้อนรอยโกษาปาน “ต้นทางฝรั่งเศส” นิราศสยามต่างแดนเล่มแรก
อ่านเพิ่มเติม
รวม แผนที่เกาหลี สะท้อนประวัติศาสตร์จากปี ค.ศ. 1560 ใน คาบสมุทรเกาหลี
บทแปล
๐ ไหว้คุณท่านทั้งหลาย ฝูงเจ้านายอันมีคุณ
แก่ข้าเป็นอาดุล ข้ากราบไหว้จงค้ำชู
๐ ข้ารู้พระคุณนัก บ่ได้อกกตัญญู
ขอจงตามค้ำชู ให้ข้ารอดกลับคืนมา
๐ ข้าไหว้ถ้วนสามคาบ เคารพกราบทวนสามลา
ลุกนั่งถ้วนสามครา ขอให้ข้าไปมีชัย
๐ ศุภมัสดี
ศักราชพระศรี สองพันล่วงไป
สองร้อยยี่สิบ เก้าวษาใน
สูระชะยามชัย มิคเศียรมาส
๐ สัตตมีดิถี
กาฬปักขี ปีอุสพราช
เหมันตเพลา พระสนธโยบาต
จีงเขจรยาต ตราลีลาไป
๐ ตั้งหน้าออกมา
จากบางเจ้าพญา พระทวารอันยิ่งใหญ่
จักไปฝรั่งเศส ปรเทศเมืองไกล
ข้ายกมือไหว้ อารักษ์ทั้งปวง
บทแปล
๐ ไหว้เทพารักษ์
อันใหญ่สูงศักดิ์ อยู่ในแหลมหลวง
เทพาปากน้ำ ถ้ำเถื่อนทั้งปวง
สิบนี้คือดวง ถวายแก่เทพา
๐ ช่วยคุ้มสืบสาย
อย่ามีอันตราย ทุกข์ภัยโรคา
ขอข้ามีชัย สุขเกษมเปรมปรา
ตราบเท่ากลับมา เถิงพระนคร
๐ ครั้นเคลื่อนเภตรา
พระพายุพัดพา ออกยังสาคร
เห็นรั้วชัยมาร ปักอยู่สลอน
ทิวฝั่งพระนคร ค่อยอยู่เถิดนา
๐ ครั้งถึงน้ำเขียว
เร่งแลเร่งเหลียว จรลิ่วสุดตา
พระทะเลใหญ่กว้าง ลึกพ้นคณนา
พระพายพัดพา สำเภาลอยไป
๐ เห็นเกาะสีชัง
เขาทั้งสามตั้ง เห็นมาแต่ไกล
อยู่ทิศซ้ายมือ เมื่อเราจรไป
บ่ายหน้าคลาไคล ไปทิศอาคเนย์
๐ เกาะไผ่เกาะมัน
สุดแหลมเกาะนั้น ชื่อหัวจระเข้
ลมว่าวพัดออก ระลอกทุ่มเท
สำเภารวนเร แล่นไปตามลม
บทแปล
๐ ข้าไหว้พระมารดา คุณแม่ข้าล้ำแดนไตร
ข้ายังไป่แทนได้ ข้ายกไว้เหนือเกศี
๐ ข้าไหว้พระบิดา คุณพ่อข้าล้ำธรณี
พระคุณท่านมากมี ข้ายกไว้เหนือเกศา
๐ ไหว้คุณพระอาจารย์ อันท่านสั่งสอนธรรมมา
สอนสรรพวิชา ข้าวันทายกคุณบุญ
บทแปล
๐ ในช่องปังกา
ชมแต่ฝูงปลา ว่ายมาไสว
ตามกันเปนหมู่ เปนคู่คลาไคล
เที่ยวตามกันไป ในสมุทรสาคร
๐ ไปในช่องนั้น
ได้แต่กลางวัน ครั้นค่ำหยุดนอน
ด้วยกลัวการัง ใต้น้ำสาคร
พระพรายพัดอ่อน ดุจนอนกับเรือน
๐ เมื่อเพลาค่ำ
พระสูรียตกต่ำ ชมแต่ดาวเดือน
พรัดมาคนเดียว เปลี่ยวบ่มีเพื่อน
ชมดาวชมเดือน สว่างร้อนดับหาย
๐ แต่ไปในช่อง
สำเภาลอยล่อง ห้าวันบ่คลาย
จึ่งเถิงปากช่อง ต้องที่เคืองคาย
แต่ล้วนทรายดิน โยกย้ายบ่ไหว
๐ จึ่งนายกำปั่น
ให้เอาสำปั้น ขันช่อออกไป
แม้นฉุดแม้นช่อ สักเท่าใดใด
บ่ได้หวาดไหว ไปพ้นที่เคือง
๐ ต่อน้ำขึ้นมา
สำเภาเภตรา จึงค่อยบรรเทือง
ค่อยขัยค่อยขยด ค่อยปลดค่อยเปลื้อง
ออกรอดจากเคือง ลอยล่องท่องไป
บทแปล
๐ ครั้นพ้นปากช่อง
พระพายพัดต้อง เขจรคลาไคล
เห็นเกาะการัง ตั้งอยู่ไสว
หนทางขวาไป คลื่นซัดฉาดฉาน
๐ เถิงเกาะทั้งสี่
อยู่กลางนที ดูหลากพิสดาร
เรียงรายกันอยู่ เปนหมู่พิศาล
แต่นี้จักนาน เห็นเกาะแลนา
๐ เถิงเกาะสามพัน
อเนกอนันต์ มากพ้นคณนา
ตั้งอยู่เรียงราย ฝ่ายซ้ายบคลา
แต่นี้แลนา จักคลาเกาะไป
๐ ส่วนเกาะทั้งหลาย
ตั้งอยู่เรียงราย บ่ได้คลาไคล
โอ่วตัวข้าเอย จักสัญจรไป
เร่งแลเร่งไกล ค่อยอยู่เถิดนา
๐ เถิงเมืองบันตัน
บ้านเมืองที่นั่น ย่อมชาวชวา
โอ่วบัดนี้เอย เสียแก่ลันดา
ทังตัวพญา ไม่พ้นระมือเขา
๐ จึ่งทอดถมออยู่
ด้วยน้ำหมากพลู อาหารบางเบา
จะขอเข้าซื้อ ที่บ้านเมืองเขา
เขามิให้เข้า ตักน้ำซื้อขาย