10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ คลื่นสึนามิ จากเหตุภูเขาไฟอานักกรากาตัวระเบิด  

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ คลื่นสึนามิ

จากเหตุภูเขาไฟอานักกรากาตัวระเบิด

1. คลื่นสึนามิ ที่ถาโถมสู่ชายฝั่งเกาะสุมาตราและเกาะชวา เมื่อคืนวันที่ 22 ธันวาคม ก่อนเวลา 21.30 น. เล็กน้อยตามเวลาในท้องถิ่น เกิดขึ้นโดยปราศจากคำเตือนใดๆ ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงพุ่งสูงขึ้น (ตัวเลขล่าสุดจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตสูงเกิน 400 คน บาดเจ็บกว่า 1,400 คน) ยังไม่รวมถึงความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินต่างๆ

2. เหตุผลเบื้องหลังการปราศจากคำเตือนใดๆ ถึง คลื่นสึนามิในครั้งนี้ คือที่มาของคลื่นมรณะที่อยู่เหนือความคาดหมาย สึนามิในครั้งนี้แตกต่างจากเหตุการณ์ในอดีตที่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากแผ่นดินไหว  เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าสึนามิครั้งล่าสุดนี้เกิดจากการพังทลายของภูเขาไฟนอกชายฝั่ง

ธารลาวาไหลลงมาตามเชิงภูเขาไฟอานักกรากาตัว (“บุตรแห่งกรากาตัว”) ระหว่างการปะทุครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ภาพนี้ถ่ายจากเกาะซึ่งอยู่ใกล้กัน (ภาพถ่าย: El Ghazali/Barcroft Media/Getty)

3. อสุรกายทางธรณีวิทยาที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้คือ ภูเขาไฟอานักกรากาตัว (Anak Krakatau) ที่คุกรุ่นและปะทุต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน ปีนี้ แม้รายละเอียดต่างๆ ของลำดับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเกิดคลื่นสึนามิ ยังคงออกมาอย่างต่อเนื่อง หลักฐานส่วนใหญ่เท่าที่ปรากฏชี้ไปยังแผ่นดินถล่ม (landslide) ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภูเขาไฟ ภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-1 ขององค์การอวกาศยุโรปชี้ว่า ชิ้นส่วนขนาดมหึมาจากเชิงด้านตะวันตกของภูเขาไฟเลื่อนไหลลงสู่มหาสมุทร

4. เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ Mika Mckinnon นักธรณีฟิสิกส์ชี้ว่า “ภูเขาไฟก็เหมือนชั้นหินที่ติดกาวอยู่ด้วยกันอย่างหลวมๆ ทุกครั้งที่เกิดการปะทุ ชั้นหินเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวลงสู่เบื้องล่าง” การที่ชิ้นส่วนขนาดใหญ่จะเคลื่อนตัวลงมาไม่ใช่เรื่องยาก และหากมีขนาดใหญ่พอ ย่อมสามารถส่งคลื่นขนาดมหึมาเข้าสู่ชายฝั่งได้โดยแทบไม่มีการเตือนล่วงหน้า

ภูเขาไฟอานักกรากาตัว (Anak Krakatau แปลว่า บุตรแห่งกรากาตัว) แวดล้อมไปด้วยกลุ่มเกาะขนาดเล็กในช่องแคบซุนดา ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา (ภาพถ่าย: Gallo Images/Orbital Horizon/Copernicus Sentinel Data 2018)

5. คลื่นสึนามิส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกทั้งในแนวดิ่ง (เช่น เหตุการณ์สึนามิครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2004 หรือ 14 ปีก่อนในมหาสมุทรอินเดีย และแนวราบ (เช่น สึนามิเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาบนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย  นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการแตกตัวของภูเขาน้ำแข็ง แผ่นดินถล่ม และภูเขาไฟระเบิด

6. ภูเขาไฟอานักกรากาตัวซึ่งตั้งอยู่ในช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา คือผลิตผลของภูเขาไฟในตำนานนามว่า ภูเขาไฟกรากาตัว (Krakatoa หรือ Krakatau) ที่ระเบิดเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1883 และได้รับการบันทึกว่า อาจเป็นการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ในครั้งนั้น คลื่นสึนามิสูง 41 เมตรคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 30,000 คน และอีกหลายพันคนตายจากเถ้าถ่านภูเขาไฟ ว่ากันว่าแรงระเบิดครั้งนั้นมีอานุภาพมากกว่าระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงเหนือเมืองฮิโรชิมาเมื่อปี 1945 ถึง 13,000 เท่า เสียงระเบิดได้ยินไปไกลหลายร้อยกิโลเมตร อุณหภูมิของโลกลดลงมากกว่าหนึ่งองศาเซลเซียสในปีถัดมา เกาะซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟถึงกับอันตรธานไป และในปี 1927 เกาะแห่งใหม่ชื่อ อานักกรากาตัว ซึ่งแปลว่า “บุตรแห่งกรากราตัว” ก็ก่อตัวขึ้น

ชาวบ้านในท้องถิ่นค้นหาท่ามกลางเศษซากปรักหลังสึนามิถล่มจังหวัด Lampung ในอินโดนีเซีย เมื่อวันที่  23 ธันวาคมที่ผ่านมา บ้านเรือนหลายร้อยหลังพังทลาย ขณะที่มีรายงานว่าชาวบ้านในท้องถิ่นหลายสิบคนเสียชีวิต (ภาพถ่าย: RIAU Images/Barcroft Media/Getty)

7. ต้นกำเนิดของคลื่นสึนามิที่มาจากเหตุภูเขาไฟระเบิดในครั้งนี้สร้างความงุนงงและประหลาดใจให้แม้แต่กับผู้เชี่ยวชาญ แตกต่างจากสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวซึ่งสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ในระดับหนึ่ง อันที่จริง นักวิจัยสามารถตรวจจับเสียงครืนครั่นความถี่ต่ำได้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เกิดสึนามิ  ซึ่งให้เบาะแสว่าแผ่นดินถล่มน่าจะเป็นสาเหตุของสึนามิ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มศึกษาสัญญาณความถี่ต่ำเหล่านี้ได้ไม่นาน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภูเขาไฟ เช่น การเคลื่อนตัวของหินหนืดหรือแมกมาใต้ดิน การถล่มของคูหาภูเขาไฟ หรือแม้แต่การแตกตัวของภูเขาน้ำแข็งและแผ่นดินถล่มใต้ทะเล เป็นต้น

8. Andreas Schäffer นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ Karlsruhe Institute of Technology ทำการจำลองเหตุการณ์เพื่อวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอาศัยข้อมูล อาทิ เวลาที่คลื่นมาถึงฝั่ง และลักษณะภูมิประเทศของภูมิภาคแถบนั้น ความเร็วของคลื่นกำหนดจากความลึกของน้ำ ขณะที่ความสูงของคลื่นเกี่ยวข้องกับการเลื่อนไหลของแผ่นดิน เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบกันในแบบจำลอง Schäffer พบว่า แผ่นดินถล่มนั้นเกิดขึ้นในแนวตะวันออกเฉียงใต้หรือตะวันตกเฉียงใต้ และคลื่นใช้เวลาเดินทางระหว่าง 30-35 นาทีจนถึงฝั่ง จนถึงตอนนี้ ข้อมูลที่ยืนยันได้ชี้ว่า คลื่นกระทบฝั่งจุดแรก ณ Marina Jambu บนเกาะชวา

ภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นความเสียหายในเขต Carita เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม หลังสึนามิพัดถล่ม (ภาพถ่าย: Azwar Ipank/AFP/Getty

9. “บุตรแห่งกรากาตัว” หรือภูเขาไฟอานักกรากาตัว คุกรุ่นมาต่อเนื่องยาวนาน โดยครั้งหลังสุดส่งพวยควันและเถ้าถ่านภูเขาไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นเวลานานถึงหกเดือน ย้อนหลังไปเมื่อปี 2012 นักวิจัยจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเชิงภูเขาไฟด้านตะวันตกเกิดถล่มทลาย พวกเขาสรุปว่า สึนามิที่เกิดตามมาอาจมีความสูงได้ถึง 20-30 เมตรและอาจถาโถมขึ้นฝั่งในเวลาเพียงไม่กี่นาที แม้ความเสี่ยงในการเกิดสึนามิจากภูเขาไฟลูกนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถทำนายหรือบอกได้ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อใดและรุนแรงเพียงใด

10. แม้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีตเพื่อจำลองเหตุการณ์ในอนาคต แต่การจะทำนายหรือเตือนภัยสึนามิที่เกิดจากเหตุภูเขาไฟระเบิดหรือแผ่นดินถล่มในท้องถิ่นยังแทบเป็นไปไม่ได้ โศกนาฏกรรมที่เกิดจากคลื่นสึนามิรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเมื่อปี 2004 หรือ 14 ปีก่อนนำไปสู่การศึกษาและการนำระบบเตือนภัยสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวมาใช้อย่างกว้างขวางในภูมิภาค ทว่าเหตุการณ์ล่าสุดในครั้งนี้ และเหตุ “สึนามิเหนือความคาดหมาย” อีกครั้งเมื่อเดือนกันยายนใกล้เมืองปาลู ก็ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่เราต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกรณีของสึนามิที่เกิดจากกิจกรรมภูเขาไฟซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

 


อ่านเพิ่มเติม

10 อันดับสึนามิร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.