เบื้องหลังสึนามิเหนือความคาดหมายจากแผ่นดินไหวอินโดนีเซีย

เบื้องหลังสึนามิเหนือความคาดหมายจากแผ่นดินไหวอินโดนีเซีย

เบื้องหลังสึนามิเหนือความคาดหมายจาก แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย

เย็นวันศุกร์ 28 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ตรงกับเวลา 17.02 น. ตามเวลาท้องถิ่น แผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.5 แมกนิจูดสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย วิดีโอคลิปเผยภาพน่าพรั่นพรึงของกำแพงน้ำที่เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวแห่งหนึ่งใกล้เมืองปาลู ก่อนจะถาโถมซัดฝั่งอย่างต่อเนื่องรุนแรง ขณะที่ฝูงชนที่เฝ้าดูอยู่บนอาคารพากันแตกตื่น

นักวิทยาศาสตร์พากันประหลาดใจกับสึนามิที่เกิดขึ้นตามมา ส่งผลให้ประกาศเตือนภัยที่ออกมาขัดแย้งกัน กระนั้นผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่า ลักษณะทางธรณีสัณฐานซึ่งมีลักษณะเฉพาะของพื้นที่อาจเป็นสาเหตุของหายนภัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

แผ่นดินไหวอินโดนีเซียครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นหลังแรงสั่นสะเทือนหลายระลอกตั้งแต่เวลาราว 14.00 น. เริ่มจากแผ่นดินไหวขนาด 6.1 แมกนิจูด  แผ่นดินไหวครั้งแรกนี้ไม่เพียงทำลายบ้านเรือนหลายสิบหลัง แต่ยังส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 10 ราย ตามรายงานของรอยเตอร์ แผ่นดินยังคงสั่นสะเทือนจากอาฟเตอร์ช็อกอีก 27 ครั้ง ก่อนจะส่งท้ายด้วยแรงสั่นสะเทือนรุนแรงที่เกิดขึ้นค่อนข้างตื้น นั่นคือแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดอยู่ลึกลงไปราว 10 กิโลเมตร ตามรายงานของสำนักงานธรณีวิทยาสหรัฐฯ นับจากนั้น ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก 31 ครั้ง

ความเสียหายจากแผ่นดินไหวรุนแรงหลายระลอกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ดูเหมือนว่าการทำลายล้างจะกินบริเวณกว้าง หน่วยงานด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติของอินโดนีเซีย (Badan Nasional Penanggulangan Bencana: BNPB) ระบุว่า แผ่นดินไหวทำให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้ระบบการสื่อสารขัดข้อง แต่เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นกำลังทำงานแข่งกับเวลาเพื่อกอบกู้สถานการณ์ รวมถึงกองทัพอินโดนีเซียได้จัดส่งกำลังพลลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในภารกิจช่วยชีวิตและค้นหาผู้ประสบภัย

(สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ตัวการคร่าชีวิตในอนาคต?)

รายงานความเสียหายจนถึงค่ำวันอาทิตย์ตามเวลาในท้องถิ่น ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 832 คน และเจ้าหน้าที่เกรงว่า ตัวเลขอาจพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากทีมกู้ภัยและค้นหายังไม่สามารถเข้าถึงหลายพื้นที่ที่ประสบภัย ซึ่งรวมถึงเขต Donggala อันเป็นที่อยู่ของผู้คนถึง 300,000 คน เนื่องจากการติดต่อสื่อสารยังจำกัดและดินโคลนถล่มเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงพื้นที่

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย
ในภาพถ่ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน ชาวเมืองพากันไปยังสนามบินเมืองปาลู โดยหวังจะโดยสารไปกับเที่ยวบินช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ
(ภาพถ่าย: YUSUF WAHIL, AFP, Getty Images)
แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย
ผู้สูงอายุรอขึ้นเครื่องบินที่สนามบินเมืองปาลู ซึ่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังเหตุแผ่นดินไหว
(ภาพถ่าย: Ulet Ifansasti, AFP, Getty Images)

 

คลื่นมรณะ

หน่วยงานพยากรณ์อากาศ ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ (Agency for Meteorology, Climatology and Geophysics: BMKG) ออกประกาศเตือนเรื่องสึนามิในตอนแรก แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ยกเลิกประกาศเตือนโดยอิงการวิเคราะห์ข้อมูลในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม กำแพงคลื่นมหึมาก็เริ่มถาโถมขึ้นฝั่ง  ดังเห็นได้จากคลิปวิดีโอที่มีผู้บันทึกไว้ โดยเฉพาะคลิปที่ถ่ายจากอาคารจอดรถของห้างสรรพสินค้า Palu Grand Mall เผยให้เห็นมวลน้ำมหาศาลที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่ง ก่อนที่ฝูงชนจะพากันแตกตื่นเพื่อเอาชีวิตรอด

ปกติแล้ว สึนามึมักเกิดจากการเคลื่อนตัวอย่างรุนแรงในแผ่นดินไหวใต้ทะเลโดยเฉพาะบริเวณชายขอบของแผ่นเปลือกโลก แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องนอกเหนือความคาดหมายในอินโดนีเซีย เนื่องจากกลุ่มเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า “วงแหวนอัคคี” หรือ Ring of Fire นั่นคือรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกรูปทรงคล้ายเกือกม้าในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณนี้เป็นที่เกิดของแผ่นดินไหวมากถึงราวร้อยละ 90 ของโลก

ทว่าคลื่นยักษ์กลับเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายในเหตุแผ่นดินไหวลักษณะนี้

(พายุฝุ่นที่เกิดขึ้นในอินเดีย เหตุใดจึงส่งผลถึงตาย?)

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย
ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิรอการอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัย
(ภาพถ่าย: Muhammad Adimaja, Antara Foto via REUTERS)
แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย
ผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวขับรถจักรยานยนต์ผ่านซากเรือที่คลื่นสึนามิพัดมาเกยตื้นบนถนนในเมืองปาลู
(ภาพถ่าย: JEWEL SAMAD, AFP, Getty Images)

แผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดในครั้งนี้ดูจะเป็นผลมาจากสิ่งที่เรียกว่า รอยเลื่อนตามแนวระดับ (strike-slip fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่สองฟากของรอยเคลื่อนตัวเบียดอัดกันซึ่งส่วนใหญ่เกิดในแนวราบ ขณะนี่สึนามิส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนตัวในแนวดิ่งของรอยเลื่อนที่ส่งแรงไปยังมวลน้ำด้านบนจนนำไปสู่การเกิดกำแพงน้ำเคลื่อนตัวเข้าหาฝั่ง

“เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายจริงๆ ครับ” Baptiste Gombert นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ยอมรับและเสริมว่า ลักษณะธรณีสัณฐานของอินโดนีเซียซับซ้อนมาก เครือข่ายใยแมงมุมของรอยเลื่อนหลายชนิดพาดผ่านภูมิภาค ดังนั้นการวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นแน่นอนจึงเป็นความท้าทาย ผลการวิเคราะห์ในเบื้องต้นจึงให้เบาะแสความเป็นไปได้สองสามอย่าง

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย
แผนที่แสดงศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว และที่ตั้งของเมืองปาลู ซึ่งอยู่ในอ่าวแคบๆ นักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่า ลักษณะทางธรณีสัณฐานเช่นนี้อาจส่งผลต่อการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่รุนแรง

สึนามิที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลของการเคลื่อนตัวในแนวดิ่งบางส่วนตามแนวรอยเลื่อน Gombert ตั้งข้อสังเกต แต่เขาคิดว่า นี่ไม่สามารถอธิบายการเกิดคลื่นสูงใหญ่ในครั้งนี้ได้ทั้งหมด แบบจำลองบางชิ้นประมาณการว่าคลื่นอาจสูงถึงเกือบห้าเมตร “แม้จะมีการเคลื่อนตัวในแนวดิ่งเล็กน้อย แต่สึนามิในครั้งนี้นับว่าใหญ่มาก” เขากล่าว สาเหตุอื่นอาจมาจากแผ่นดินถล่มซึ่งอาจเกิดขึ้นใต้ทะเลหรือบริเวณชายฝั่ง ที่ส่งผลกระทบต่อมวลน้ำในอ่าว จนทำให้เกิดคลื่นยักษ์

ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือ รอยเลื่อนอาจพาดผ่านพื้นที่ลาดชันใต้ทะเล ดังนั้นการเคลื่อนตัวในแนวระนาบจึงก่อให้เกิดการเลื่อนไหลของแผ่นดินจนนำไปสู่คลื่นมรณะ “คุณลองนึกภาพอ่าวปาลูว่าเป็นเหมือนอ่างอาบน้ำ” Andreas Schafer นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีในเยอรมนี กล่าว “ถ้าคุณทำให้น้ำในอ่างครึ่งหนึ่งเคลื่อนตัวออกไป ในลักษณะเดียวกับการเคลื่อนที่ในแนวระนาบของพื้นทะเลที่ผลักน้ำออกไป และเมื่อมันเคลื่อนตัวกลับมา สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือคลื่นสึนามิ”

ลักษณะภูมิประเทศของอ่าวก็อาจมีส่วนด้วยเช่นกัน เป็นความเห็นจาก Janine Krippner นักภูเขาไฟวิทยาที่มหาวิทยาลัยคองคอร์ด  “นั่นส่งผลต่อความสูงของคลื่นเมื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณที่เล็กหรือแคบลง” เธอเขียนในทวิตเตอร์

ทว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนชี้ว่า ยังมีความไม่แน่นอนอื่นๆอีกมากที่ส่งผลต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้

เรื่อง Maya Wei-Haas

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย
ชาวบ้านเดินสำรวจความเสียหายจากสึนามิบนชายหาดแห่งหนึ่งในปาลู
(ภาพถ่าย: ISMOYO, AFP, Getty Images)
แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย
ภาพถ่ายทางอากาศเผยความเสียหายของสะพานแห่งหนึ่งในเมืองปาลู
(ภาพถ่าย: Muhammad Adimaja, Antara Foto via REUTERS)

 

 

อ่านเพิ่มเติม

เปิดภาพความเสียหายจากไต้ฝุ่นมังคุด

Recommend