ในตอนเช้า เมื่อเราเดินเท้าจากดูมงดูร์วีล ซึ่งเป็นสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสบนชายฝั่งอะเดลีในแอนตาร์กติกาตะวันออก มาถึงจุดหมาย เราต้องกะเทาะชั้นนํ้าแข็งบางๆ ที่ก่อตัวขึ้นปิดปากหลุมที่เราเจาะไว้
เมื่อวันก่อน หลุมดังกล่าวเจาะลงไปจนทะลุชั้นแพนํ้าแข็งหนาสามเมตร กว้างพอให้คนคนหนึ่งสอดตัวลงไปได้เท่านั้น และเบื้องล่างคือทะเลเย็นเยียบ เราไม่เคยลองดำนํ้าลงทางปากหลุมแคบขนาดนี้มาก่อน และผมลงไป ใต้โลกน้ำแข็ง เป็นคนแรก
ผมแทรกตัวลงไปตามหลุมอย่างทุลักทุเล และเมื่อลงไปสู่ท้องนํ้าเบื้องล่างได้ในที่สุด ผมก็หันกลับไปเห็นภาพที่ชวนให้ขนหัวลุก เมื่อปากหลุมเริ่มปิดตัวลงด้านหลังผม
พื้นผิวที่อยู่ใต้นํ้าของนํ้าแข็งทะเลมีลักษณะเป็นนํ้าผสมเกล็ดนํ้าแข็งข้นหนา และการทิ้งตัวลงไปของผมก็ทำให้มันเคลื่อนตัวและไหลไปรวมกันที่ปากหลุม กว่าผมจะสอดแขนข้างหนึ่งเข้าไปในนํ้าแข็งเหลวข้นนี้ได้ มันก็
ไหลมารวมกันจนหนาเกือบหนึ่งเมตรแล้ว ผมคว้าเชือกนิรภัยและดึงตัวเองขึ้นไปทีละเซนติเมตร ในที่สุดมือของใครคนหนึ่งก็คว้ามือผมไว้ แล้วดึงผมขึ้นไปจนพ้นปากหลุม การดำนํ้าวันนี้สิ้นสุดลงแล้ว แต่นั่นเป็นเพียง
หนึ่งในการดำ 32 เที่ยวเท่านั้น
ผมมาที่นี่พร้อมแวงซอง มูนีเยร์ ช่างภาพอีกคนหนึ่ง ตามคำเชื้อเชิญของลุก ชักเก นักสร้างภาพยนตร์ซึ่งกำลังถ่ายทำภาคต่อของภาพยนตร์สารคดีที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามเมื่อปี2005 เรื่อง เพนกวิน หัวใจจักรพรรดิ (March of the Penguins) ระหว่างที่ชักเกบันทึกเรื่องราวของเหล่าเพนกวินจักรพรรดิลงบนแผ่นฟิล์ม และมูนีเยร์ถ่ายภาพนิ่งของพวกมัน ทีมของผมจะบันทึกภาพชีวิตใต้นํ้าแข็งทะเลเอาไว้ ในช่วงฤดูหนาว นํ้าแข็งจะแผ่ขยายออกไปในทะเลบริเวณนี้ไกลถึง 100 กิโลเมตร แต่เรามากันในเดือนตุลาคม ปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ในช่วงเวลา 36 วัน ระหว่างที่นํ้าแข็งแตกตัวและถอยร่นเข้ามาจนพ้นชายฝั่งออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร เราจะดำผ่านน่านนํ้าแข็งนี้ลงสู่ความลึก 70 เมตรเบื้องล่าง ลึกกว่าที่ใครเคยฝ่าลงไปใต้ผืนนํ้าแข็งแอนตาร์กติกาในสภาพแวดล้อมที่ยิ่งกว่าทารุณ
เราใช้เวลาเตรียมการในฝรั่งเศสนานถึงสองปี ผมเลือกจุดดำนํ้าที่มีความลึกของพื้นท้องนํ้าในระดับแตกต่างกันไว้หลายจุด และอยู่ภายในรัศมี 10 กิโลเมตรจากสถานีดูมงดูร์วีล อุณหภูมิของนํ้าในบริเวณนั้นน่าจะอยู่ที่ลบ 1.8 องศาเซลเซียส (นํ้าเค็มจะยังคงสภาพเป็นของเหลวที่อุณหภูมิตํ่ากว่าจุดเยือกแข็งของนํ้าจืด) ถ้าไม่สวมชุดดรายสูท เราจะเสียชีวิตภายในเวลาแค่ 10 นาที แต่เมื่อมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ก้าวหน้าขึ้น เราอาจอยู่ใต้นํ้าได้นานสุดถึงห้าชั่วโมง
ว่าแต่มีอะไรหรือที่คุ้มค่าพอจะแลกมาด้วยสิ่งนี้ อันดับแรกคือ แสง ภาพที่เห็นจะทำให้ช่างภาพไม่ว่าคนไหนก็ตามรู้สึกลิงโลดใจ ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ หลังจากรัตติกาลอันยาวนานของขั้วโลกผ่านพ้นไป เมื่อเหล่าแพลงก์ตอนเล็กจิ๋วยังไม่เริ่มสะพรั่ง และยังไม่ทำให้นํ้าขุ่น ผืนนํ้าใต้แพนํ้าแข็งจะใสกระจ่างมากเป็นพิเศษ เพราะมีอนุภาคต่างๆ ลอยอยู่น้อยมากจนไม่ทำให้แสงฟุ้งกระจาย แสงน้อยนิดอันใดที่ปรากฏอยู่จะลอดผ่านลงมาทางรอยแยกหรือหลุมของแมวน้ำเหมือนแสงจากไฟถนนทอดแสงเรื่อเรืองลงมากระทบภูมิทัศน์ใต้นํ้า
อ่านต่อหน้า 2
ช่างเป็นภูมิทัศน์อันน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก แถบนี้ของแอนตาร์กติกาตะวันออกมีแมวนํ้า เพนกวิน และนกอื่นๆ เพียงไม่กี่ชนิดอาศัยอยู่ และไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกอยู่เลยแม้แต่ชนิดเดียว คุณอาจคิดว่า ก้นสมุทรคงมีสภาพเป็นทะเลทรายเช่นกัน แต่อันที่จริง กลับเป็นอุทยานงามสะพรั่งที่หยั่งรากอยู่ในห้วงลึกของกาลเวลา
สัตว์ทะเลแถบขั้วโลกใต้ส่วนใหญ่ถูกตัดขาดจากโลกที่เหลือมานานหลายสิบล้านปี ตั้งแต่ตอนที่ทวีปดังกล่าวแยกตั;ออกจากทวีปอื่นๆ แล้วกลายเป็นนํ้าแข็งทั้งทวีปนับแต่นั้นมา กระแสนํ้าเย็นรอบขั้วโลกใต้ (Antarctic Circumpolar Current) ก็เคลื่อนตัวหมุนวนจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกรอบทวีปแอนตาร์กติกาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับอุณหภูมิมีความสูงตํ่าแตกต่างกันอย่างสุดขั้วและขวางกั้นการแพร่กระจายของสัตว์ทะเล การตัดขาดอันยาวนานนี้เปิดทางให้สิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายอย่างมากและเป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น วิวัฒน์อยู่ตรงก้นสมุทรนั่นเอง
เมื่อดำลึกลงไปกว่า 50 เมตรลงไป แสงจะมืดสลัวลงและเราไม่เห็นสาหร่ายเคลป์หรือพืชพรรณชนิดอื่นใดอีก ก้นสมุทรจะปกคลุมด้วยไฮดรอยด์หรือขนนกทะเลอย่างหนาแน่น (พวกมันเป็นสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นคอโลนี และมีความเกี่ยวข้องกับปะการัง) และหอยพัดนับพันๆตัว หอยพัดเหล่านี้มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร แต่อาจมีอายุถึง 40 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะสรรพชีวิตเติบโตอย่างเชื่องช้า ในแอนตาร์กติกา ที่ความลึกระดับนี้ เรายังสังเกตเห็นไครนอยด์ สัตว์ในอันดับดาวขนนก ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับดาวทะเล พวกมันดักจับอนุภาคอาหารที่ล่องลอยอยู่ด้วยแขนพลิ้วไหวซึ่งอาจมีมากถึง 20 เส้น และมีสัตว์จำพวกไอโซพอดหน้าตาคล้ายแมลง ปีกแข็งขนาดใหญ่แหวกว่ายและคืบคลานอยู่ท่ามกลางพวกมัน
ลูกเพนกวินนับพันตัวกำลังหายไปเพราะแผ่นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาละลาย
ความหลากหลายนั้นมากมายละลานตาที่สุดที่ระดับความลึก 70 เมตร ซึ่งเป็นขีดจำกัดของการดำนํ้าของเรา เราเห็นกัลปังหาพุ่ม สัตว์จำพวกมีกระดอง ปะการังอ่อน ฟองนํ้า ปลาเล็กปลาน้อย สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่เกาะยึดตัวอยู่กับที่มีขนาดใหญ่โตเป็นพิเศษ สัตว์คล้ายพืชซึ่งปรับตัวได้เป็นอย่างดีในสภาพแวดล้อมค่อนข้างคงที่เหล่านี้เติบโตอย่างเชื่องช้า แต่ดูเหมือนจะโตได้อย่างไร้ขีดจำกัดถ้าไม่มีอะไรมารบกวน เราอดสงสัยไม่ได้ว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะตอบสนองอย่างไรเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้โลกของพวกมันร้อนขึ้น
อ่านต่อหน้า 3
ระหว่างกลับขึ้นสู่ผิวนํ้า ความหลากหลายทางชีวภาพก็เริ่มลดลง น่านนํ้าระดับตื้นกว่ามีสภาพแวดล้อมที่เสถียรหรือคงที่น้อยกว่า ภูเขานํ้าแข็งและนํ้าแข็งทะเลที่ล่องลอยอยู่มักครูดไปกับก้นสมุทร อีกทั้งการแข็งตัวและการละลายของพื้นผิวทะเลตามฤดูกาล ซึ่งดึงนํ้าจืดออกไปจากมหาสมุทรแล้วปล่อยคืนกลับลงมาใหม่ ทำให้ค่าความเค็มของนํ้าแกว่งไปมาอย่างสุดขั้ว แต่ก็ยังมีอะไรมากมายให้ดูเพลินตา สาหร่ายขนาดเล็ก (microalgae) เกาะตามเพดานนํ้าแข็งเปลี่ยนให้เป็นเพดานรุ้งสีส้ม เหลือง และเขียว อันที่จริงเพดานที่ว่านี้ดูเหมือนเขาวงกตสลับซับซ้อนมากกว่า เพราะประกอบด้วยชั้นนํ้าแข็งสูงๆ ต่ำๆ
อีกวันหนึ่ง ชองตีลก็เรียกให้ผมดูทุ่งดอกไม้ทะเลโปร่งแสงตัวจิ๋วๆ ที่เกาะห้อยลงมาจากแพนํ้าแข็ง พวกมันฝังตัวลึกเข้าไปสองสามเซนติเมตรในนํ้าแข็งที่เหมือนหิน หนวดของพวกมันที่มีแสงอาทิตย์ส่องผ่าน โบกพัดอยู่ในกระแสนํ้า ดูคมและแวววาว พวกมันช่างตราตรึงใจยิ่งนักโลกใต้นํ้าแข็งแอนตาร์กติกก็เหมือนกับเมานต์เอเวอเรสต์ เพราะงดงามน่าอัศจรรย์ แต่ขณะเดียวกันก็อาจโหดร้ายทารุณ
ตอนที่เฮลิคอปเตอร์ของพวกเราบินอยู่เหนือเกาะนอร์แซลก็อยู่ในทะเลเปิดแล้ว พอเฮลิคอปเตอร์หย่อนเราลงไปบนเกาะ เราก็ถูกรายล้อมด้วยมหาสมุทรและภูเขานํ้าแข็งใหญ่ยักษ์ และตระหนักถึงอภิสิทธิ์ของการได้อยู่ในที่ที่ไม่เคยมีใครเคยดำลงไปมาก่อน
ฤดูร้อนกำลังจะมาถึง วันนั้นอากาศไม่หนาวจัด อุณหภูมิใกล้จุดเยือกแข็ง แต่นํ้ายังคงเย็นถึงลบ 1.8 องศาเซลเซียส บลองช์ผู้เป็นแพทย์ของเราเริ่มจับเวลาด้วยนาฬิกามาตรเวลา (chronometer) เขาให้เวลาเราสาม ชั่วโมงสี่สิบนาที แล้วเราก็ดำดิ่งลงไปอีกครั้งสู่อีกโลกหนึ่งเบื้องล่าง
เรื่องและภาพถ่าย : โลรอง บาเลสตา