มาลาปัสกัว หมู่เกาะแห่งความฝันในทะเลฟิลิปปินส์

ความงามที่ล่ำลือใต้ท้องทะเลรอบเกาะ มาลาปัสกัว ดึงดูดให้เราอยากไปชมความงามด้วยตาตัวเองสักครั้ง

การเดินทางสู่… มาลาปัสกัว

เรื่อง : ชุตินันท์ โมรา

ภาพ : ชุตินันท์ โมรา และพลพิชญ์ คมสัน

พวกเรานั่งเครื่องบินมาลงที่เกาะเซบู เกาะรูปร่างยาวๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรดาหมู่เกาะแห่งประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ประกอบขึ้นด้วยเกาะจำนวนหลายพันเกาะ ร่องน้ำที่พาดระหว่างเกาะหลายแห่งมีความลึกระดับหลายร้อยเมตร

เกาะ มาลาปัสกัว อยู่ถัดออกมาจากส่วนเหนือสุดของเกาะเซบู การเดินทางไปให้ถึงต้องนั่งรถผ่านถนนชนบท เลาะไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอด 5 ชั่วโมง แล้วเดินทางต่อด้วยเรืออีกประมาณ 20 นาที เพื่อข้ามไปให้ถึงเกาะเล็กๆ ที่เป็นจุดหมายโลกใต้ทะเลที่นี่ดึงดูดพวกเราด้วยชื่อเสียงของฉลามหางยาวฉลามลึกลับ ที่อาศัยอยู่ในน้ำลึกเกินกว่า 100 เมตร และมีความยาวของหางเกือบเท่าความยาวของตัว

เตรียมตัวลงน้ำ และประกอบอุปกรณ์กันตั้งแต่ฟ้าสาง

โรงอาบน้ำของฉลาม

ความลับของหางที่เหมือนแส้นั้น เพิ่งถูกเปิดเผยเมื่อไม่กี่ปีก่อน มีคนถ่ายคลิปฉลามใช้หางต้อนปลาเหมือนคาวบอยไล่ต้อนฝูงแกะ เมื่อได้จังหวะก็ฟาดให้เหยื่อสลบก่อนจะว่ายวนกลับมากิน เราเปิดคลิปนี้ดูหลายรอบด้วยความทึ่ง หางแส้เรียวยาวของฉลามเคลื่อนไหวพริ้วอยู่ในน้ำ แค่การสะบัดตัวนิดเดียวหางแส้ก็สะบัดตามเหมือนกับคาวบอยในหนังที่เคยได้ดู

การดูผ่านจอไม่เหมือนกับการพบหน้าจริง คล้ายกับการคุยเฟซไทม์กับคนรู้จัก ซึ่งให้ความรู้สึกต่างกับการนั่งคุยในห้องเดียวกัน การสั่นสะเทือนของน้ำที่เราสร้างไหลไปถึงฉลาม และการสะบัดหางของฉลามก็ส่งกลับมาถึงเรา เรามาที่นี่เพราะอยากพบกับฉลามหางยาวด้วยตัวของเราเอง

ภูเขาใต้ทะเลยอดตัดซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะ เป็นจุดแอบดูฉลามหางยาวที่ดีที่สุด ยอดตัดด้านบนแบนราบมีความลึกประมาณ 20 เมตร ตรงขอบของยอดตัดหักลึกดิ่งลงไป ด้านล่างบางช่วงก็เป็นเหวลงไปเป็นร้อยเมตร บางช่วงก็มีชะง่อนหินยื่นออกมาลดหลั่นความลึกลงไป

เที่ยว เกาะเสม็ด หนีร้อนมาดำน้ำชมปะการังที่จุดดำน้ำยอดฮิต

ย่ำรุ่งและโพล้เพล้

พวกเราต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อมาให้ถึงจุดแอบรอฉลามให้ทันตอนเช้าตรู่ ประสบการณ์หลายสิบปีของร้านดำน้ำในพื้นที่พบว่าฉลามหางยาวมักจะขึ้นมาบริเวณ cleaning station หรือโรงอาบน้ำนี้มากที่สุดในช่วงก่อนสว่างและก่อนมืด

พวกเราเตรียมตัวลงน้ำในแสงสลัว ท้องฟ้าทางตะวันออกเริ่มมีสีแดงฉาบขึ้นมา แต่ยังไม่เพียงพอที่จะไล่เงามืดไปได้ทั้งหมด เมื่อกระโดดลงน้ำความเย็นของน้ำปลุกเราให้ตื่นเต็มตา นึกขอบคุณตัวเองที่เลือกหยิบฮู้ดหนาสำหรับคลุมศีรษะตอนเก็บกระเป๋า

ไดฟ์ลีดเดอร์ว่ายนำดิ่งไปยังขอบเหวด้านนอก แต่ละร้านที่ให้บริการดำน้ำบนเกาะมาลาปัสกัวมักมีพื้นที่แอบดูฉลามของตัวเอง นักดำน้ำต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ กฏและกติกาในการแอบดูฉลามที่นี่ถูกกำหนดไว้อย่างละเอียด

เวลาที่เราอาบน้ำเราต้องการความสงบและเป็นส่วนตัว ฉลามเหล่านี้ก็เข่นกัน การดำน้ำแอบดูฉลามอาบน้ำจึงต้องการความเงียบ ห้ามส่งเสียงเคาะเรียก ห้ามว่ายเข้าไปไล่ ช่างภาพที่ต้องการจะถ่ายรูปก็ห้ามใช้ไฟและแฟลช การรบกวนฉลามอาจจะทำให้พวกมันรำคาญและหนีออกจากพื้นที่นี้ไป ซึ่งนั่นคือหายนะที่ทุกคนบนเกาะไม่อยากให้เกิดขึ้น

สบตากับฉลาม

พวกเรานั่งนิ่งอยู่หลังเส้นแบ่งเขต กระแสน้ำเย็นและขุ่นดันขึ้นมาจากที่ลึก บวกกับแสงสลัวเป็นสมการที่ไม่เหมาะกับการถ่ายรูปเลยจริงๆ

ฉลามตัวแรกโผล่มาให้เห็นเป็นเงารางๆ ในระยะไกลตา เราแทบจะแยกไม่ออกระหว่างตัวฉลามกับสีฟ้าของน้ำทะเล มือยกกล้องขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ถึงแม้จะมองเห็นเป็นแค่เงารางๆ เราก็ยังพยายามกดชัตเตอร์กล้องเพื่อเก็บภาพไว้

เมื่อเราได้ถือกล้องถ่ายภาพความอยากได้ภาพก็พลุ่งพล่าน หลายครั้งก็เผลอลืมเป้าหมายแรกของการมาดำน้ำที่นี่ ฉลามหางยาวว่ายหักเลี้ยววนกลับห่างออกไป สติของเรากลับคืนมา เราลดกล้องลงแล้วเริ่มต้นใหม่ คราวนี้รอดูพวกมันด้วยตาของเราเอง

เมื่อฉลามหางยาวเริ่มเคยชินกับการปรากฏตัวของพวกเรา มันก็เริ่มวนเข้ามาใกล้จนสามารถสบตากันได้

ฉลามว่ายวนกลับมาอีกครั้ง ปลาพยาบาลตัวเล็กพุ่งขึ้นไปหาฉลามทันทีที่มันเข้ามาใกล้ การว่ายวนช้าๆ เหนือกองปะการังคือการอาบน้ำของมัน เราหายใจออกให้เบาลง พร้อมควบคุมร่างกายให้ผ่อนคลาย ฉลามแลดูผ่อนคลายเช่นกัน มันว่ายวนอยู่หลายรอบ เคลื่อนที่เข้าใกล้เราเรื่อยๆ ใกล้จนเราได้สบตากัน

ดวงตาของฉลามหางยาวกลมโตสมกับเป็นสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่แสงน้อย นี่อาจจะเป็นสาเหตุว่า ช่วงเที่ยงที่มีแดดจัดแทบไม่พบตัวฉลามในพื้นที่ตื้นตรงนี้เลย

ฉลามอีกตัวโผล่เข้ามาในพื้นที่โรงอาบน้ำ ตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่าตัวแรกอย่างเห็นได้ชัด หางแส้พริ้วไหวเบาๆ ตามการบิดตัวขณะว่ายน้ำทำให้มันดูสง่างาม เราเริ่มจับจังหวะการวนของฉลามและเริ่มถ่ายภาพในจังหวะที่ต้องการ แต่ที่สุดแล้วจังหวะที่ดีไม่ได้ขึ้นกับตัวเรา มันคือความยินยอมของฉลามล้วนๆ ถ้าพวกมันไม่ไว้วางใจที่จะเข้ามาใกล้เราก็ต้องเคารพในการตัดสินใจของมัน

“เพราะถ้าหากเรายิ่งไล่ตามมันก็จะยิ่งหนีห่างออกไป”

อ่านต่อหน้า 2

เรื่องขยะเล็กน้อย

หลังจากจบไดฟ์เช้าตรู่กับฉลามหางยาว ถ้าวันไหนเราออกเรือต่อไปทั้งวันพวกเราก็มักตระเตรียมอาหารกลางวันใส่กล่องขึ้นมากินกันบนเรือ

ประเทศฟิลิปปินส์ติดอันดับที่สามในการสร้างและปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล พวกเราแอบกังวลว่าร้านค้าบนเกาะจะใส่กล่องโฟมหรือถุงพลาสติกมาให้เวลาสั่งอาหารเที่ยง ทั้งแกงค์เลยนัดกันเอากล่องข้าวมาจากเมืองไทยคนละกล่อง กระติกน้ำคนละขวด และบอกกับร้านดำน้ำที่เราติดต่อมาล่วงหน้าถึงแผนลดขยะของพวกเรา

ข้าวกล่องมื้อกลางวันที่พวกราพกขึ้นเรือไปเพื่อลดขยะพลาสติก

เมื่อมาถึงกลับพบว่าทั้งเกาะให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่แล้ว โรงแรมที่เราเข้าพักวางน้ำดื่มในห้องให้เป็นเหยือกถ้าเรากินน้ำหมดก็ถือไปให้เขาเติม บนเรือที่ใช้ดำน้ำก็เป็นถังน้ำดื่มแบบให้กด แทบจะไม่มีขวดน้ำพลาสติกให้เห็นบนเกาะนี้เลย

ชาวบ้านร้านค้าทุกคนพร้อมใจกันลดขยะพลาสติก ร้านค้าบนเกาะไม่แจกหลอดดูดน้ำให้ถ้าไม่ขอ แทบไม่อยากจะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้จริงในพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ และไกลจากคำว่าทันสมัย

ปริมาณขยะพลาสติกที่ลดได้สำหรับเกาะนี้อาจจะไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับปริมาณขยะรวมของทั้งประเทศ แต่การปลูกฝังพฤติกรรมการลดพลาสติกนี้จะส่งต่อไปสู่ทุกคนที่ผ่านเข้ามาอย่างแน่นอน.

สามเหลี่ยมปะการัง

ประเทศฟิลิปปินส์ทั้งประเทศอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปะการัง หรือที่เรียกว่า Coral Triangle พื้นที่สามเหลี่ยมที่เป็นจุดศูนย์กลางของความหลากหลายชนิดพันธุ์ปะการัง หนึ่งในสามของสายพันธุ์ปะการังทั่วโลกกระจายตัวอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมนี้

หมึกกระดอง flamboyant เปล่งสีฉูดฉาดคล้ายดอกไม้สวยๆ เดินหาเหยื่ออย่างไม่สนใจพวกเรา

ความหลากหลายของปะการัง คืออาหารที่แตกต่างกันไป ซึ่งดึงดูดผู้อยู่อาศัยและนักกินหลายชนิดตามมา

ก่อนที่เราเดินทางมา เราไม่ได้คาดหวังกับสัตว์ทะเลชนิดอื่น นอกเหนือจากฉลามหางยาว แต่กลับกลายเป็นว่าการดำน้ำช่วงบ่ายของทุกวันคือส่วนสำคัญที่พลาดไม่ได้

สัตว์น้ำระดับท็อปลิสต์ที่นักดำน้ำอยากเจอ ไม่ว่าจะเป็นปลากบที่พรางตัวได้เหมือนกับฟองน้ำ หรือม้าน้ำแคระที่มีขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าวสาร หรือแม้กระทั่งหมึกสายวงฟ้าที่มีพิษรุนแรงติดอันดับโลก ก็ผลัดกันโผล่มาให้เห็นตลอดทุกไดฟ์

ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจสีดำสนิทว่ายกลมกลืนอยู่ท่ามกลางหนามแหลมของเม่นทะเล

ช่วงบ่ายของวัน พวกเราไล่ดำน้ำไปตามหมุดหมายต่างๆ รอบเกาะ วันละจุดสองจุด บางแห่งเป็นลานทรายเม็ดละเอียดแนวกว้างมีหญ้าทะเลแซมเป็นช่วงๆ บางแห่งเป็นสันเนินปะการังซึ่งลาดลงไปสู่พื้นทรายด้านล่าง และบางแห่งเป็นถ้ำใต้น้ำ

ในไดฟ์หนึ่ง หมึกกระดอง flamboyant ตัวขนาดใหญ่เท่ากำปั้นเด็ก เดินหาเหยื่อในดงสาหร่ายเห็ดหูหนู โดยไม่สนใจสายตานักดำน้ำที่จับตามองอยู่ ในอีกไดฟ์ เราได้พบกับทากทะเลที่หาดูได้ยาก เพราะรูปร่างที่กลมกลืนไปกับปะการังอ่อน ซึ่งเป็นอาหารของมัน ทากทะเลสายพันธุ์นี้สามารถสังเคราห์แสงสร้างพลังงานได้ เพราะมันย้ายสาหร่ายในปะการังอ่อนที่มันกินมาไว้บนตัวเอง

ทุกไดฟ์ที่เราลงไปเราใช้เวลากันเต็มที่เท่าที่อากาศและตารางดำน้ำจะให้เราได้

ทากทะเล Nembrotha ลำตัวสีสด เดินโชว์ตัวบนพื้นทรายที่ House Reef

ลานทรายหน้าบ้าน

สองนาทีจากหาดหน้าที่พัก คือจุดที่เรียกว่า house reef ที่นี่เป็นลานทรายสีอ่อนกว้าง และมีปะการังเทียมกระจายอยู่

ลานทรายตรงที่ตื้นเป็นบ้านของปลาบู่ทะเลสีสวยแปลกตา เมื่อขยับลึกไปอีกหน่อยมีปลาไหลงู (snake eel) ที่โผล่มาให้เห็นแค่ส่วนหัวจากพื้นทราย ตรงที่ลึกมีปลากบสีแดงสดเกาะอยู่กับฟองน้ำสีดำไม่ไกลนัก ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจสีดำสนิทลอยตัวแฝงในดงเม่นทะเล เข็มแหลมยาวของเม่นทะเลดูเผินๆ คล้ายกับรูปทรงของตัวปลา

หญ้าทะเลใบเล็กสีเขียวอ่อนปูเป็นพรมแหว่งๆ อยู่ที่พื้นด้านนอก สัตว์ทะเลตัวเล็กจิ๋วที่นักดำน้ำเรียกกันว่าผึ้งทะเลบินว่อนอยู่ในสนามหญ้าแห่งนี้

ยามกลางคืนของ House Reef ก็มีสิ่งน่าสนใจ อย่างหมึกยักษ์ตัวใหญ่นี้ ที่เดินอาดๆ ผ่านหน้าเราไป

ในระยะเวลาห้าวัน เรากลับมาดำน้ำที่ house reef ถึงสี่รอบ และยังอยากกลับไปดำน้ำที่นี่ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีเบื่อ

ทะเลที่มีฉลามคือทะเลที่สมบูรณ์

ในซอกหินที่จุดดำน้ำแห่งหนึ่ง เราพบกระเปาะสีน้ำตาลที่ดูคล้ายกับฝักของต้นไม้บนบกถูกวางทิ้งอยู่ เมื่อเอาไฟฉายส่องดูจะเห็นเงาฉลามตัวเล็กหางยาวๆ อยู่ด้านใน สื่งที่เราเจอคือไข่ฉลาม ถุงไข่มีขนาดใหญ่ไม่เกินฝ่ามือ คาดว่าน่าจะเป็นไข่ของฉลามกบ เราจิ้มไฟส่องดูไม่นาน เพราะกลัวว่าความร้อนจากไฟจะรบกวนลูกฉลาม ไข่ฉลามบางกระเปาะมีรอยแตกออกไปแล้วเจ้าตัวที่เห็นเงารางๆ เมื่อครู่ อีกไม่นานคงฟักออกมาเช่นกัน

เมื่อมองย้อนกลับหลังไป เราเห็นสีฟ้าสดเรืองขึ้นมาจากปากถ้ำที่เราเข้ามา ร่างกายถูกคลุมด้วยความมืดสนิทสีฟ้าที่เรืองอยู่ดูคล้ายความฝันที่อยู่ห่างไกล สำหรับเรา สีฟ้าของปากถ้ำใต้น้ำมีความพิเศษไม่เหมือนสีฟ้าอื่นๆ มันเป็นสีฟ้าที่ดึงดูดให้หลงใหลมองได้เพลินไม่มีเบื่อในระหว่างที่เรากำลังเพลินกับสีฟ้าพิเศษนั้น เงาของสัตว์น้ำตัวยาวๆ ก็ว่ายตัดเข้ามา

ถ้ำใต้น้ำซึ่งเป็นที่หลบพักนอนให้กับฉลามปะการังสีขาว

ฉลามปะการังครีบขาวตัวไม่ใหญ่กำลังว่ายเข้ามาหาจุดพักผ่อน พวกเราทิ้งตัวลงกับพื้นถ้ำหายใจออกให้เบาและช้า ฉลามอีกตัวว่ายสวนทางเข้ามาจากทางออก พวกมันไม่ได้สนใจกฏวันเวย์ของมนุษย์เราแม้แต่น้อย หลังจากว่ายวนอยู่ซักพักก็หักเลี้ยวเข้าสู่หลืบมืดของถ้ำแล้วจอดลงนอนนิ่งบนพื้นหินหยาบ

ถึงเวลาที่เราจะปล่อยให้มันได้พักผ่อน

ฉลามกบที่รอฟักจากไข่กระเปาะแข็ง

มีคำกล่าวว่า “ทะเลที่มีฉลามคือทะเลที่สมบูรณ์” ช่วงระยะเวลาไม่กี่วันที่เกาะแห่งนี้ เราได้พบกับฉลามถึงสามชนิดในพื้นที่ และเรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมัน สำหรับเรา จำนวนและชนิดของฉลามไม่ใช่สิ่งที่ชี้ขาดถึงความสมบูรณ์ของมาลาปัสกัว แต่กลับเป็นความพยายามในการลดผลกระทบของมนุษย์สู่ทะเลต่างหาก ที่ทำให้พื้นที่นี้คือ “พื้นที่ที่สมบูรณ์” อย่างแท้จริง

เกาะที่ล้อมรอบด้วยทะเลสีฟ้าในฝันที่ซึ่งเป็นสวรรค์ของทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกันนั้นมีอยู่จริง


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ทะเลไทยในคลื่นยักษ์ของนักท่องเที่ยว 

นักดำน้ำห้อมล้อมฉลามวาฬในน่านน้ำบริเวณกองหินเกาะตาชัย จังหวัดพังงา ภาพถ่ายลักษณะนี้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงเรื่องความเหมาะสม (ภาพถ่าย: นัท สุมนเตมีย์)
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.