แสงแรกในแดนอาทิตย์อุทัยบนยอดภูเขาไฟฟูจิ

ฟูจิซัง ยอดเขาศักดิ์สิทธิ์

ภูเขาไฟฟูจิหรือ ฟูจิซัง เป็นสัญลักษณ์สำคัญ และยังเป็นภูเขาที่มียอดสูงที่สุดในญี่ปุ่น (3,776 เมตร) ชาวญี่ปุ่นยกย่องให้เป็น 1 ใน 3 ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของประเทศ เส้นทางปีนเขาบนฟูจิจึงกลายเป็นที่นิยมของทั้งชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

เรื่อง : สุวิมล สงวนสัตย์
ภาพถ่าย : ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์

ทางการญี่ปุ่นเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นภูเขาไฟฟูจิได้เฉพาะช่วงฤดูร้อน เนื่องจากในช่วงอื่นของปีมีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะปกคลุม ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่นักท่องเที่ยวได้ สำหรับปี 2019 เส้นทางปีนเขาเปิดให้นักท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์บนยอดภูเขาไฟตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 10 กันยายน หากคุณอยากหลีกเลี่ยงความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว แนะนำให้วางแผนเดินทางมาในวันธรรมดา เพราะช่วงวันหยุดเนืองแน่นไปด้วยผู้คน บางช่วงของเส้นทาง คนเบียดกันจนแทบเดินต่อไม่ได้

ความชันของทางขึ้นช่วงสถานี 6-7

เส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือโยชิดะ (Yoshida Trail) เพราะเป็นเส้นทางที่เดินค่อนข้างง่าย เหมาะกับคนทั่วไปที่ไม่มีประสบการณ์ในการปีนเขา อีกทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามจุดต่างๆ ทั้งห้องน้ำ ห้องปฐมพยาบาล หรือบ้านพักที่มีให้เลือกตลอดเส้นทางตั้งแต่สถานีที่ 7 ขึ้นไป

เส้นทางโยชิดะเริ่มจากฟูจิซูบารุไลน์ หรือสถานีที่ 5 (5th Station) เราวางแผนมาตั้งหลักและพักค้างคืนที่คาวากูจิโกะหนึ่งคืนเพื่อนั่งรถรอบ 07:30 น. จากสถานีรถไฟขึ้นไปยังฟูจิซูบารุไลน์ สำหรับหลายคนที่ใช้วิธีเดินทางตรงมาจากโตเกียว จะมาถึงสายกว่านั้น และความที่ต้องตื่นเช้ามาก อาจจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อต้องปรับตัวกับความสูง

อ่านเพิ่มเติม : อุปกรณ์เดินป่า สำหรับผู้เริ่มต้นกิจกรรมเดินป่า

เตรียมตัวเตรียมใจ

แม้เว็บไซต์ www.fujisan-climb.jp ให้ข้อมูลไว้ว่าเส้นทางโยชิดะเดินง่ายที่สุด แต่ใช่ว่าเราไม่ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม การเดินขึ้นเขาย่อมมีความเสี่ยง และมีข้อควรระวังว่าไม่ควรเดินขึ้นและลงโดยไม่หยุดพักหรือที่เรียกว่า bullet climbing ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมล่วงหน้าคือการจองบ้านพักซึ่งไม่เปิดรับ walk-in ไม่ว่าจะกรณีใดทั้งสิ้น

ที่นอนซึ่งเป็นเตียงสองชั้นนอนรวม

เราตัดสินใจเลือกโกไรโกะคัง (Goraikokan) ที่สถานี 8.5 ซึ่งเป็นบ้านพักที่อยู่ใกล้ยอดเขามากที่สุดด้วยเหตุผลที่ว่า ยอมลำบากเดินไกลในวันแรก เพื่อเช้าวันต่อมาจะได้เหลือระยะทางอีกเพียง 900 เมตร หรือประมาณหนึ่งชั่วโมงก็จะถึงยอด และได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นแบบไม่ต้องทรมานตัวเองมากนัก

ค่ายทหารบนเขา

มีเพื่อนชาวญี่ปุ่นกล่าวไว้ว่า ให้เตรียมใจไปลำบากเพราะที่พักเหมือนกับค่ายทหาร บ้านพักทุกหลังตามสถานีมีลักษณะคล้ายกันคือ ส่วนกลางเป็นเสื่อตาตามิไว้สำหรับนั่งพักผ่อน สังสรรค์ กินอาหาร และมีส่วนที่นอนซึ่งเป็นเตียงสองชั้นแบบให้นอนเรียงรายติดกัน (ไม่มีเตียงแยกส่วนตัวและไม่มีม่านกั้น) ส่วนห้องส้วมจะแยกชายหญิงและมีค่าบริการ 200 เยน แต่ไม่มีห้องอาบน้ำและไม่มีน้ำประปาให้ใช้

นักปีนเขาเข้าเช็คอินที่บ้านพัก

อีกส่วนที่ต้องคำนึงคือไม่มีเครื่องทำความร้อน จึงไม่ควรคาดหวังความสะดวกสบาย ราคาบ้านพักต่อคนต่อคืนอยู่ที่ประมาณ 8,500 เยน รวมอาหารเย็นและอาหารเช้า ซึ่งถือว่าค่อนข้างแพงสำหรับการไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนโรงแรมทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเห็นความยากลำบากของการขนเครื่องอุปโภคบริโภคขึ้นไปด้วยรถตีนตะขาบแล้ว เราก็เข้าใจว่าทำไมบนนั้นอะไรๆก็ราคาสูงกว่าปกติ เพราะฉะนั้น หากเตรียมน้ำดื่ม เสบียง ขนมขบเคี้ยว (และแบกเองไหว) ก็ควรจะทำตั้งแต่ก่อนเดินขึ้นไป แต่ถ้าขาดเหลืออะไรก็ไม่ต้องกังวล เพราะทุกจุดพักมีของขายไม่ต่างจากร้านขายของชำ เพียงแต่ราคาสูงกว่าเท่านั้นเอง

อ่านต่อหน้า 2 การเตรียมอุปกรณ์ และแนะนำเส้นทาง

การอุปกรณ์ และเส้นทางขึ้นภูเขาไฟฟูจิ

ชนะเลิศประเภทอุปกรณ์ดีเด่น

เนื่องจากที่เชิงเขาอุณหภูมิต่างจากยอดสูงสุดมาก การเตรียมอุปกรณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่สถานีคาวากูจิโกะ อากาศในช่วงปลายเดือนสิงหาคม อุณหภูมิอยู่ที่ 23-25 องศาเซลเซียส แต่เมื่อความสูงเพิ่มขึ้น อากาศข้างบนจะเย็นลงและลมแรง จากสถิติ อุณหภูมิบริเวณยอดเขาอาจอยู่ที่ 5 องศาเซลเซียส หรือบางครั้งแตะ 0 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้น การแต่งตัวที่ดีที่สุดคือการค่อยๆเพิ่มเครื่องกันหนาวทีละชิ้น

เพื่อเป็นแนวทางสำหรับวันที่เดินขึ้นเขา ควรมีอุปกรณ์พื้นฐานดังนี้

– หมวกปีกกว้างสำหรับเดินป่าหรือปีนเขา ชนิดกันรังสียูวี

– แว่นกันแดด

– เสื้อแขนยาวหรือแขนสั้นที่ระบายอากาศได้ดี

– ปลอกแขนกันรังสียูวี (กรณีที่ใส่เสื้อแขนสั้น)

– กางเกงประเภทลองจอห์นหรือ HEATTECH ไว้สวมด้านใน

– กางเกงเดินป่าหรือปีนเขา อาจเป็นชนิด Zip-off ที่สามารถดัดแปลงเป็นขาสั้นและขายาวได้

– ถุงเท้าหนาสำหรับเดินป่าหรือปีนเขา

– รองเท้าสำหรับเดินป่าหรือปีนเขา ถ้าเป็นชนิดกันน้ำจะดีมาก ไม่แนะนำให้ใส่รองเท้าผ้าใบธรรมดา

– เสื้อกันลมหรือกันฝน

– ถุงมือกันลมหรือกันฝน

– Trekking pole ถ้าไม่มีติดตัวมา สามารถซื้อไม้ค้ำที่สถานีต่างๆได้ ซึ่งทุกสถานีมีจุดประทับตราเป็นสัญลักษณ์ว่าเราขึ้นไปถึงจุดใดบ้าง สนนราคาไม้ค้ำอยู่ที่ประมาณ 1,000 เยน และตราประทับราคา 300 -500 เยน ซึ่งถือเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของแต่ละจุดพัก

ร้านขายของชำตามจุดพัก

นอกจากนี้ เมื่อถึงยอดเขาแล้วควรเพิ่มเสื้อฟลีซ หมวกไหมพรม ไฟฉายแบบคาดหัว และอุปกรณ์กันหนาวอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายของคุณทนหนาวได้มากแค่ไหน

ปรับตัวกับความสูง

ฟูจิซูบารุไลน์ หรือสถานีที่ 5 (5th Station) สูงประมาณ 2,305 เมตรเหนือระดับทะเล เมื่อเราเดินมาถึงจุดนี้ ควรให้ร่างกายได้ปรับตัวกับความสูง โดยการเดินไปมาสักหนึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินขึ้นเขาตามเส้นทางโยชิดะ อย่าเร่งรีบจนเกินไป เพราะเรื่องของการเมาความสูงอันตรายมาก แม้เป็นคนที่ร่างกายแข็งแรงก็อาจมีอาการได้ เทคนิคการเดินควรรักษาระยะก้าวให้สม่ำเสมอ และควบคุมจังหวะหายใจให้ดี

ช่วงสถานีที่ 5 ถึงสถานีที่ 6 ระยะทางไม่ไกลมาก แต่จากสถานีที่ 6 ถึง 7 และจากสถานีที่ 7 ถึง 8 เป็นระยะทางไกลและชันมากขึ้น บางช่วงทางเป็นหินชัน จึงต้องใช้ไม้ค้ำ (หรือมือทั้งสองข้าง) ช่วยรักษาสมดุลไม่ให้ล้ม จริงๆแล้วเส้นทางไม่ได้ยากลำบากมาก แต่ความกดดันคือ เมื่อมีคนกลุ่มใหญ่ตามหลังมา เราจะรู้สึกเกรงใจอยากให้เขาแซงไปก่อน ซึ่งบางจุดอาจจะมีที่ให้หลบกันได้ แต่บางจุดไม่มีเลย โชคดีสำหรับเราที่ทางขึ้นเป็นวันเวย์ จึงไม่มีคนเดินสวนลงมา (ช่วงที่เป็นทางให้ทั้งขึ้น-ลงได้มีระหว่างสถานีที่ 5 และ 6 เท่านั้น)

สีสันของนักเดินเขาจากสถานีที่9ไปสู่ยอด

แปดชั่วโมงกับการเดิน

เราออกเดินทางสิบโมงเช้าและถึงที่พักเวลาหกโมงเย็น ขณะนั้นแสงแดดจวนจะลับไปแล้ว และอากาศหนาวเย็นมาก โชคดีที่เราไม่เจอฝนระหว่างทาง ไม่อย่างนั้นคงใช้เวลามากกว่านี้

โกไรโกะคังมีความสูง 3,450 เมตรเหนือระดับทะเล อากาศเบาบางทำให้หายใจลำบาก เมื่อเรามาถึง นักเดินทางหลายคนเข้านอนแล้ว เพราะส่วนใหญ่ตื่นนอนช่วงตีหนึ่งตีสอง เพื่อเดินขึ้นยอดเขาไปจับจองทำเลทองสำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้น แต่เราดูพยากรณ์อากาศแล้ว เห็นว่าจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งนอกจากเราเดินขึ้นยอดสูงสุดไม่ได้แล้ว ยังหมายถึงเราอาจต้องติดอยู่ในที่พักจนกว่าฝนฟ้าจะหยุด คืนนั้นเราเข้านอนด้วยความกระวนกระวายใจ แต่ธรรมชาติเป็นอะไรที่เราควบคุมไม่ได้เลย

นักเดินเขาชมพระอาทิตย์ขึ้นช่วงขาลง

แสงแรกแห่งฟูจิ

เนื่องจากมีคำเตือนว่า ช่วงตีสามถึงหกโมงเช้าเป็นช่วงที่เส้นทางขึ้นฟูจิซังหนาแน่นเป็นพิเศษ อีกทั้งบนยอดอาจเนืองแน่นจนไม่มีที่ยืน เราจึงตัดสินใจชมพระอาทิตย์ขึ้นจากหน้าบ้านพักที่สถานี 8.5

เราคงพกดวงมาเต็มกระเป๋า เพราะฝนหยุดตกและฟ้าเปิด ณ เวลา 04:48 น. เราจึงเห็นแสงแรกแห่งฟูจิจากระเบียงของโกไรโกะคัง (ซึ่งโกไรโกะแปลว่า การมาถึงของแสงแรก) ในขณะที่ผู้คนที่อยู่บนยอดไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นเพราะเมฆบัง จากนั้นเราจึงค่อยๆเดินขึ้นไปจนถึงสถานีที่ 10 ซึ่งเป็นยอดฟูจิซัง แต่เนื่องจากลมแรงถึง 50 นอต จึงได้เพียงเฉียดเข้าไปดูปากปล่องภูเขาไฟและไม่สามารถเดินโดยรอบได้

พระอาทิตย์ขึ้นและทะเลสาบยามานากะ

ทางลงท้าทายเท่าทางขึ้น

แม้ขาลงเราเคลื่อนที่ตามแรงโน้มถ่วงของโลก แต่เส้นทางชันพอสมควร อุปกรณ์ที่ควรมีอย่างยิ่งคือ ปลอกขากันทรายเข้ารองเท้า (hiking gaiters) และเนื่องจากทางลงเป็นคนละทางกับทางขึ้น จึงไม่มีจุดพักหรือร้านขายของชำเลย เพราะฉะนั้น ควรบริหารจัดการน้ำและเสบียงให้ดี trekking pole จำเป็นมากสำหรับการรักษาสมดุลเมื่อเดินลง เพราะพื้นผิวภูเขาไฟลื่นได้ง่าย สำหรับเราใช้เวลาเดินลงทั้งหมด 5 ชั่วโมงครึ่ง และเมื่อมาถึงฟูจิซูบารุไลน์ หรือสถานีที่ 5 เราก็ได้แต่โล่งอกที่ไม่เจอฝนระหว่างเส้นทาง และไม่มีใครป่วยหรือประสบอุบัติเหตุใดๆ ทริปที่ประสบความสำเร็จนั้นเราต้องลงมาถึงอย่างปลอดภัยด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ขึ้นถึงยอด

ป้ายเตือนหินร่วงหล่นซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิต

ตัวช่วยในการเลือกเส้นทาง

สำหรับคนที่อยากสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่และชอบการผจญภัย ลองศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมและตัดสินใจเลือกเส้นทางได้ตามนี้

  1. โยชิดะ (Yoshida Trail) เส้นทางที่นิยมที่สุดเนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวก (ห้องน้ำ จุดพัก และจุดปฐมพยาบาล) มากที่สุด ช่วงแรกเป็นทางคดเคี้ยวไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่จากสถานีที่ 7-8 มีทางเป็นหินชัน ทางขึ้นและลงคนละเส้นทาง
  2. ซูบาชิริ (Subashiri Trail) เส้นทางร่มรื่นปกคลุมด้วยต้นไม้ ข้อเสียคือหากมีหมอกหรือทัศนวิสัยไม่ดีอาจหลงทางได้ ทางลงเป็นคนละทางกับทางขึ้น และหลายคนนิยมวิ่งลงเพราะทางเป็นทรายภูเขาไฟ
  3. โกเต็มบะ (Gotemba Trail) เหมาะสำหรับนักปีนเขาที่มีประสบการณ์มาก เพราะเส้นทางยาวที่สุด จุดพักน้อยและไม่ค่อยมีจุดสังเกตจึงอาจหลงทางได้ง่าย แต่ข้อดีคือคนใช้เส้นทางนี้น้อยและสามารถเห็นพระอาทิตย์ขึ้นได้ตลอดเส้นทาง
  4. ฟูจิโนมิยะ (Fujinomiya Trail) ทางขึ้นและลงเป็นเส้นทางเดียวกัน ค่อนช้างชัน พื้นดินส่วนใหญ่เป็นกรวดหิน แต่ระยะทางสั้นที่สุดเพราะเริ่มจากจุดที่ค่อนข้างสูง

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 5 ธีมเที่ยวญี่ปุ่นโดยรถไฟที่คุณจะไม่มีวันลืม

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.