หากกล่าวถึงการท่องเที่ยวธรรมชาติบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย หลายคนอาจนึกถึงภูเขาไฟโบรโม หรือคาวาอีเจน รวมถึงทะเลแสนงามตามแบบฉบับหมู่เกาะในซีกโลกใต้ แต่การเดินทางของพวกเราครั้งนี้ ผมและเพื่อนผู้นิยมธรรมชาติผ่านกิจกรรมดูนก เดินทางไปยังด้านตะวันตกของเกาะซึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเยือนน้อยมาก โดยการเดินทางครั้งนี้ เราตั้งเป้าเพื่อ ดูนกที่เกาะชวา จุดหมายปลายทางหลักอยู่ที่อุทยานแห่งชาติกุหนุงเกเดปารังโง ในเมืองซีโบดาส นอกจากนกแล้ว ในฐานะผู้สนใจด้านธรรมชาติวิทยา เรายังพบเจอสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
หลังใช้เวลาบนเครื่องบินไป 3 ชั่วโมง จากดอนเมืองถึงจาการ์ตา ขณะนั้นเวลา 2 นาฬิกาโดยประมาณ พวกเราค่อนข้างง่วง อ่อนล้า และหิว บวกกับบรรยากาศที่แสนอึดอัด เพราะอาคารผู้โดยสารอยู่ระหว่างการปรับปรุง เครื่องปรับอากาศทำงานได้ไม่ดี และยังมีกลิ่นสีอาคารอบอวลในบางบริเวณ ระหว่างรอรถที่เช่าไว้ เราทำได้เพียงแยกย้ายกันไปจัดการธุระส่วนตัว
เมื่อเวลานัดมาถึง เราตั้งเป้าหมายแรกของวันไว้ที่ป่าชายเลนใกล้สนามบิน ซึ่งไม่คาดคิดว่า เราต้องพบกับความผิดพลาดตั้งแต่จุดแรก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ไม่ระบุเวลาเข้าออกชัดเจน และไม่สามารถเดินเข้าได้ตามอำเภอใจ เราค่อนข้างเสียดายโอกาสการตามหานก Javan Coucal ที่มีลักษณะคล้ายนกกระปูดใหญ่บ้านเรา แต่ทั่วทั้งหัวและลำตัวนั้นเป็นสีดำสนิท เว้นแต่ปีกสีน้ำตาลแดง นกชนิดนี้เป็นนกเฉพาะถิ่น หรือ endemic species พบได้บนเกาะชวาเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี Cerulean Kingfisher นกกระเต็นตัวเล็กสีฟ้าสด และ Sunda Teal นกเป็ดน้ำเฉพาะถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย
เราตัดใจจากป่าชายเลนอย่างรวดเร็ว โดยวางแผนว่าจะกลับมายังที่แห่งนี้อีกครั้งในเช้าวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ เราจึงมุ่งหน้าไปยังปลายทางต่อไปคือ สวนพฤกษศาสตร์โบโกร์ ในเมืองโบโกร์ (Bogor) ที่เป็นทางผ่านระหว่างทางจากจาการ์ตาไปซีโบดาส เมื่อมาถึง เราได้ยินเสียงร้องเหมือนนกในกลุ่มนกกาฝากดังมาจากยอดไม้ที่อยู่อีกฝากรั้ว และเราพบนก Scarlet-headed Flowerpecker ซึ่งเป็นนกอินโดนีเซียชนิดแรกในทริปนี้
หลังจากเดินวนอยู่ในสวนจนบ่ายแก่ เราพบนกที่น่าสนใจมากมาย ทั้ง Gray-cheeked Green-Pigeon และ Black-naped Fruit Dove ที่เป็นสมาชิกในวงศ์นกพิราบที่มีสีสันสวยงาม Brush Cuckoo (นกคัคคูหางแพน) ที่พบยากในประเทศไทย และ Javan Munia ซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่นอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนกแล้ว เรายังพบกิ้งก่า Maned Forest Lizard ที่มีเหนียงและแผงหลังคอดูคล้ายมังกร
อ่านต่อหน้า 2 ปีนเขาดูนกในซีโบดาส
จากโบโกร์ใช้เวลาเดินทางอีกประมาน 2 ชั่วโมงเพื่อไปยังที่พักของเราในเมืองซีโบดาส ซึ่งเป็นเมืองบนภูเขา อากาศค่อนข้างแห้งและหนาวเย็น ถนนหนทางเล็กแคบ แต่ก็มีบ้านเรือนเรียงรายไปตามตรอกซอกซอย มีเพียงใจกลางเมืองเท่านั้นที่ถนนกว้างขึ้นเล็กน้อย เรามาถึงที่พักเวลาบ่ายมากแล้ว อีกทั้งจุดดูนกที่เราต้องไปค่อนข้างไกลจากที่พัก จึงใช้เวลาที่เหลือสำรวจชุมชนละแวกนั้น และพักผ่อนเก็บแรงไว้สำหรับกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น
เป้าหมายของเราในการเดินทางครั้งนี้ที่เมืองซีโบดาสนั้นมี 2 จุดใหญ่ๆ คือสวนพฤกษศาสตร์ซีโบดาส และ อุทยานแห่งชาติกุหนุงเกเดปารังโง สำหรับเช้าวันแรกที่ซีโบดาส เราเลือกใช้แรงกายไปกับการเดินขึ้นภูเขาที่กุหนุงเกเด ที่มีสภาพทางเดินค่อนข้างลำบาก หินก้อนใหญ่วางเขื่องอยู่ตลอดแนว มีเหลี่ยมมุมของหินคอยให้เราต้องระวังทุกย่างก้าว
ที่กุหนุงเกเด เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อวงการชีววิทยาอย่างมาก เนื่องจากเป็นหนึ่งในสถานที่สำรวจธรรมชาติในแถบหมู่เกาะเอเชียแปซิฟิกของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ผู้ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ ชาร์ลส์ ดาร์วิน โดยทั้งสองคนเดินทางสำรวจกันคนละซีกโลก แต่ค้นพบเรื่องราวทางวิวัฒนาการคล้ายๆ กัน โดยก่อนที่ดาร์วินตีพิมพ์หนังสือ The Origin of Species เขาอ่านบทความที่เกิดจากการค้นพบของวอลเลซ และสิ่งที่อยู่ในบทความนั้นได้ยืนยันสิ่งที่ดาร์วินคิดมาตลอด นั่นทำให้เขายิ่งมั่นใจกับการเผยแพร่หนังสือที่เปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องการกำเนิดชีวิตไปตลอดกาล ในเวลานี้ ผมก็กำลังอยู่บนเส้นทางเดียวกันกับที่วอลเลซสำรวจพืชพันธุ์และส่ำสัตว์บนกุหนุงเกเด
เนื่องจากเราออกเดินขึ้นเขาตั้งแต่เช้าตรู่ จึงพบนกที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นหลายชนิด เช่น Blood-breasted flower pecker, White-flanked sunbird และ Orange-spotted bulbul ระหว่างทางนก Brush Cuckoo ออกมาส่งเสียงใสต้อนรับแต่เช้า เราหยุดถ่ายภาพเป็นระยะ และรับประทานอาหารเที่ยงที่บลูเลก (blue lake) และพบกับ Javan Kingfisher ซึ่งเป็นหนึ่งในนกเฉพาะถิ่นที่เรากำลังตามหา นกกระเต็นชนิดนี้เป็นญาติกับนกกระเต็นอกขาว (White-throated Kingfisher) ในเมืองไทย ลักษณะภายนอกโดยรวมจึงคล้ายกัน แต่สีสันแตกต่างกันสิ้นเชิง Javan Kingfisher มีสีขนจัดจ้านกว่ามาก ปากสีแดงสด หัวน้ำตาลเข้ม ตัวสีน้ำเงินคราม และบนปีกมีแถบสีฟ้าสะท้อนแสง
ในช่วงบ่ายหลังจากอิ่มท้องเราออกเดินทางต่อ ผ่านหนองน้ำขนาดใหญ่บนภูเขา และพบกับนกอีกหลายชนิด ตัวที่เราจำได้แม่นคือ Javan Trogon สีสันฉูดฉาด ปากสีแดง หนังรอบตาสีฟ้า ท้องและคอสีเหลืองสด ถ้านกหันหน้ามา แม้ในป่ามืดทึบก็สังเกตได้ไม่ยาก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของทริปนี้ หลังจากได้พบกับปักษานานาพันธุ์ เราตัดสินใจลงในช่วง 4 โมงเย็น หลังจากเหนื่อยล้ากับการเดินทาง และผมมีอาการบาดเจ็บหัวเข่ากำเริบ
เช้าวันต่อมา เรามาถึงทางเข้าอุทยานฯ ในเวลาเดิม แต่พบว่า ค่าผ่านทางที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเป็นวันหยุดจึงมีการคิดราคาเพิ่ม เราตัดสินใจล่าถอยและเปลี่ยนเป็นเดินดูนกในสวนพฤกษศาสตร์ซีโบดาส บรรยากาศวันนี้จึงสบายๆ เดินแบกกล้องถ่ายรูปไปเรื่อยๆ และพบกับนกหลายชนิด
ในวันที่ 4 เรากลับมาที่กุหนุงเกเดอีกครั้ง แต่วันนี้ผมต้องแยกตัวจากคณะเนื่องจากปัญหาที่หัวเข่า จึงพบเพียง Javan Cuckoo shrike โผล่มาให้เห็นอยู่ไกลลิบๆ เหมือนเป็นของปลอบใจจากสภาพสังขารที่อิดโรย สมาชิกที่เหลือใช้เวลาหลายชั่วโมงเดินกลับมาพบกันที่จุดนัดพบ ซึ่งเวลาล่วงไปเกือบสองทุ่ม
ในระหว่างเดินป่าช่วงหัวค่ำ ผมพบฝูงหมูป่า Beared pig หลังจากรวมตัวกันเรียบร้อย เราจึงเดินทางกลับที่พัก จัดเก็บข้าวของ เพื่อเดินทางกลับจาการ์ตาในวันถัดไป
เช้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเราในอินโดนีเซีย ดังนั้นเราจึงตั้งใจหานกให้ได้มากที่สุดก่อนจะกลับบ้าน เมื่อเราไปถึงป่าชายเลนที่ตั้งใจเข้าชมในวันแรก เราพบ Cerulean Kingfisher, Sacred Kingfisher, Island Collared Dove, Sunda Teal, Javan White-eye, Javan Plover และ นกที่เรามองหามาตลอดอย่าง Bar-winged Prinia เราพยายามหาข้อมูลชนิดนี้ในอินเตอร์เน็ตและพบกับความสะเทือนใจที่ว่า ชาวบ้านจับนกชนิดนี้ไปเลี้ยงเพื่อประกวดเสียงร้อง การพบเจอ Bar-winged Prinia จึงตอกย้ำความสำคัญของมันมากขึ้นไปอีก
เรากลับมายังที่พักในช่วงสายเพื่อเก็บข้าวของและเดินทางไปยังสนามบิน สิ้นสุดการเดินทางดูนกในประเทศอินโดนีเซียครั้งนี้กับจำนวนนก 111 ชนิด สำหรับสมาชิกคนอื่นก็คงได้มากกว่าผมเล็กน้อย เนื่องจากผมไม่สามารถฝืนสังขารปีนเขาขึ้นไปต่อได้ ในใจนั้นก็พลางคิดหาทางกลับมาที่นี่ให้ได้ด้วยความพร้อมที่มากกว่านี้
ผมได้แต่หวังว่า การกลับมาที่นี่ในครั้งต่อไป คงไม่ต้องพยายามตามหานกตัวไหนอย่างบ้าคลั่งเหมือนที่ตามหา Bar-winged Prinia อย่างครั้งนี้ ส่วน Javan Coucal ก็คงจะไม่มีโอกาสเห็นกันอีกต่อไปแล้ว ความรู้สึกร่วมเมื่อได้เห็นการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าเรา เป็นอย่างนี้นี่เอง…
เรื่องและภาพถ่าย
วัทธิกร โสภณรัตน์