นกชนหิน : เหยื่อของเงินตรา อำนาจ และความหรูหรา

นกชนหิน : เหยื่อของเงินตรา อำนาจ และความหรูหรา

โหนกของนกชนหินหรือโครงสร้างคล้ายนอครอบเหนือจะงอยปาก มีลักษณะทึบตันเกือบทั้งชิ้น แตกต่างจากโหนกของนกเงือกชนิดอื่นๆ  ความที่มีเนื้ออ่อนกว่างาช้าง จึงสามารถนำมาแกะสลักเป็นลูกปัด รูปเคารพขนาดเล็ก และฉากเชิงศิลป์ต่างๆ ได้อย่างประณีตงดงาม ในภาพคือของกลางที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐฯ ยึดไว้ได้

 นกชนหิน : เหยื่อของเงินตรา อำนาจ และความหรูหรา

ลักษณะภูมิประเทศในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีทางภาคใต้ของประเทศไทย บางช่วงลาดชันมาก ทุกก้าวย่างไปตามพื้นดินฉ่ำฝนมีความเสี่ยงที่คุณจะลื่นไถลกลับลงไป แมลงสารพัดบินหึ่งเข้ารูจมูกและหู และหากคุณหยุดอยู่กับที่นานพอจะมองไปรอบตัว คุณจะเห็นกองทัพทากดูดเลือดกำลังกระดืบพาร่างกระหายเลือดร่างน้อยๆตรงมาหาคุณ นกที่ฉันกับสหายร่วมเดินป่าเข้ามาตามหากันอยู่คือ นกชนหิน (Rhinoplax vigil) นกหน้าตาพิสดาร และปัจจุบันหาพบยากขึ้นเรื่อยๆ หัวหน้ากลุ่มของเราคืออาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ชาวไทยผู้ได้ฉายาว่า “มารดาแห่งนกเงือก” เธอศึกษาวิจัยและทำงานอนุรักษ์นกเงือกมาตั้งแต่ปี 1978 ช่างภาพ ทิม เลแมน ก็อยู่กับเราด้วย เช่นเดียวกับตากล้องวิดีโอ สมาชิกหลายคนจากทีมของอาจารย์พิไล และชาวบ้านจำนวนหนึ่งจากหมู่บ้านย่านเชิงเขาที่มาเป็นลูกหาบ และจะช่วยเราตั้งค่ายพักแรม เรารู้ว่างานนี้เป็นงานหิน นกชนิดนี้มีนิสัยขี้อายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อัตราการลดจำนวนลงที่นับวันมีแต่จะสูงขึ้น ทำให้การค้นหาและพบตัวพวกมันอาจไม่ต่างจากมหากาพย์การเดินทาง

เมื่อไปถึงต้นไม้ที่ตั้งเป้าไว้ในท้ายที่สุด เราก็เข้าไปซ่อนตัวในบังไพรที่ตั้งอยู่ห่างออกมาราว 40 เมตร และประกอบขึ้นจากผ้าลายพราง พุ่มไม้กับกิ่งไม้ ต้นไม้ที่ว่าเป็นไม้เนื้อแข็งเขตร้อนในวงศ์ไม้ยาง สูงราว 55 เมตร ยืนต้นตระหง่านเหนือต้นไม้อื่นๆ ส่วนใหญ่ในป่าแห่งนั้น ที่เห็นเป็นตุ่มยื่นออกมาจากด้านข้างที่ความสูงเลยครึ่งลำต้น ขึ้นไปหน่อย คือโพรงตะปุ่มตะป่ำซึ่งนกเงือกเพศเมียปิดปากโพรงขังตัวเองไว้ข้างในตั้งแต่หลายเดือนก่อนเพื่อวางไข่ จากตำแหน่งของพวกเราบนพื้นดิน เรามองไม่เห็นข้างในโพรง แต่เรารู้ว่าอย่างไรเสียคุณพ่อนกเงือกก็จะต้องบินโฉบเข้ามาเพื่อนำอาหารมาส่ง

หลายชั่วโมงผ่านไประหว่างที่เราเฝ้ารอ กระซิบกระซาบคุยกันบ้างเป็นครั้งคราว แต่ส่วนใหญ่จะพยายามนึกถึงเรื่องอื่น แทนที่จะจดจ่อกับเหล่ามดตะลานยักษ์ปักษ์ใต้ รวมทั้งบรรดาทากผู้มุ่งมั่น และไม้อัดแข็งกระด้างที่เราแปลงเป็นม้านั่ง เมื่อถึงจุดหนึ่ง แมงมุมตัวเท่าหัวแม่โป้งโรยตัวลงมาตรงหน้าฉัน เราจ้องตากันครู่หนึ่ง ก่อนที่มันจะกระโดดใส่หน้าฉัน แต่พลาดไปอย่างเฉียดฉิว ถึงตอนนี้ ความชื้นโอบกอดฉันจนเปียกชุ่มเหนียวเหนอะไปทั้งตัวแล้ว

ฉันไม่ใช่นักดูนก แต่นี่คงเป็นการดูนกครั้งที่ต้องทุ่มเทที่สุดแล้ว

นกชนหิน
ในผืนป่าทางภาคใต้ของประเทศไทย นกชนหินเพศผู้บินเข้าหาต้นไม้ที่คู่ของมันและลูกเก็บตัวอยู่ข้างในตลอดหลายเดือน โดยต้องพึ่งพาอาหารที่พ่อนกนำมาให้

ห้วงความคิดคำนึงของฉันสะดุดหยุดลงโดยเสียงแหวกแทรกอากาศเหนือหัวขึ้นไป ฟึ่บ-ฟึ่บ-ฟึ่บ! ช่องว่างระหว่างเส้นขนด้านในปีกของนกเงือก ทำให้พวกมันเป็นหนึ่งในนักบินที่เสียงดังที่สุดในโลก ฮู ฮู ฮู-ฮู-ฮู ฮาฮาฮาฮา! เสียงหัวเราะบ้าคลั่งของนกชนหินนั่นเอง จากเสียงที่ได้ยิน เจ้าตัวนี้อยู่ห่างออกไปแค่ระยะต้นไม้ไม่กี่ต้น เรากลั้นหายใจ แล้วทันใดนั้น มันก็ปรากฏตัวขึ้น เจ้าไดโนเสาร์ที่ยังมีชีวิต ขนาดตัวยาวมากกว่าหนึ่งเมตร (ไม่นับขนหางเส้นกลางที่ยาวครึ่งเมตร) เกาะอยู่บนตุ่มไม้ที่ยื่นออกมา มีตั๊กแตนกิ่งไม้ตัวใหญ่ห้อยออกมาจากปาก ตากลมนูนเหมือนลูกปัดของมันมองสังเกตการณ์สิ่งแวดล้อมรอบตัว

ทุกสิ่งรอบตัวฉันเงียบเสียงลง ความร้อนแสบคันหายไป ไร้วี่แววของแมลง ไม่มีเสียงกรีดร้องของจักจั่นอีกต่อไป เราจ้องดูหัวขนาดมหึมาของมัน ซึ่งดูโปนหนาเพราะมี “หมวกกันน็อก” สีแดง หรือโหนกครอบอยู่บนท่อนหนึ่งของจะงอยปากสีเหลือง เราพินิจดูลำคอสีแดงยู่ย่นไร้ขน ขนหางเส้นยาวลายแถบดำ-ขาว ขนาดตัวที่ใหญ่โตอย่างสะดุดตาของเจ้านก นับเป็นภาพที่ให้ความรู้สึกเกินจะบรรยาย เจ้านกชนหินก้มลงไปทางโพรงรัง แล้วส่งตั๊กแตนกิ่งไม้เข้าไปให้ลูกของมันทางช่องปากโพรง เมื่อภารกิจสำเร็จลุล่วงแล้ว และพร้อมกับเสียงกระพือปีกฟึ่บฟั่บอีกคำรบ พ่อนกก็บินหายไป มุ่งหน้าไปเสาะหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวของมันเพิ่มอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

นกชนหิน
คู่นกตรวจตรารังที่อาจใช้ได้ในต้นไม้บนเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย เมื่อเลือกรังได้แล้ว แม่นกจะพอกปิดปากโพรงขังตัวอยู่ข้างในหลายเดือนเพื่อกกไข่และเลี้ยงดูลูกนก หากพรานลักลอบล่าสัตว์ฆ่าพ่อนกระหว่างที่แม่นกกับลูกต้องพึ่งพาพ่อนกให้อาหารมาให้ แม่ลูกก็มีโอกาสสูงที่จะตายตามไปด้วย

นกชนหินซึ่งเป็นหนึ่งในนกเงือกจำนวน 57 ชนิดในแถบแอฟริกาและเอเชีย พบได้เฉพาะในป่าที่ราบต่ำในบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ และภาคใต้ของประเทศไทย นกชนหินมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่นๆ เพราะมีโหนกซึ่งเกือบทั้งชิ้นทึบตันด้วยชั้นเคราติน (keratin) ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกันกับเล็บ เส้นผม และนอแรด เรายังไม่เข้าใจพฤติกรรมของนกชนหินมากเท่าใดนัก แต่เป็นที่รู้กันว่า พวกมันใช้โหนกพุ่งชนกันขณะบินอยู่ ซึ่งอาจเป็นการต่อสู้เพื่อชิงพื้นที่ทำรัง หรือแย่งไม้ผลยืนต้น

นกชนหินมีนิสัยช่างเลือกเป็นพิเศษ และต้องการต้นไม้ต้นใหญ่ๆ ที่มีโพรงกลวงเพื่อเข้าไปทำรัง ต้นไม้ประเภทนี้มักเป็นต้นไม้อายุเก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในผืนป่า ดังนั้นจึงถือเป็นต้นไม้ที่มีมูลค่าสูงในหมู่นักตัดไม้ด้วย นกชนหินขยายพันธุ์ได้ช้า โดยผสมพันธุ์เพียงปีละหนึ่งหน และเลี้ยงลูกแค่ครั้งละหนึ่งตัว เนื่องจากแม่นกกับลูกนกจะอาศัยอยู่ในโพรงรังที่ปิดปากโพรงไว้เป็นเวลาราวห้าเดือนจนกว่าลูกนกจะโตถึงวัยหัดบิน พวกมันจึงต้องพึ่งพ่อนกให้หาอาหารมาเลี้ยง ถ้าพ่อนกถูกฆ่าตาย เช่นถูกยิงโดยพรานลักลอบล่าสัตว์เพื่อเอาโหนก นกที่เหลือในครอบครัวก็มีโอกาสสูงที่จะต้องตายตามไปด้วย

เนื่องจากมีเนื้ออ่อนกว่างาช้างและแกะสลักได้ง่าย โหนกนกชนหินจึงเป็นที่ต้องการสูงในเอเชีย โดยมักนำไปสลักเป็นลูกปัด จี้ห้อยคอ และงานศิลปะละเอียดอ่อน สำหรับชนชั้นเศรษฐีกลุ่มหนึ่งในประเทศจีน ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าหายาก เช่นงานแกะสลักโหนกนกชนหิน งาช้าง และนอแรด คือสัญลักษณ์แห่งเงินตรา อำนาจ และความหรูหรา

นกชนหิน เสือสตัฟฟ์
โหนกนกชนหิน เสือสตัฟฟ์ และสินค้าสัตว์ป่าต้องห้ามอื่นๆ ได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บของกลางที่สำนักงานรัฐบาลแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เครือข่ายอาชญากรรมที่บริหารโดยชาวจีน ซึ่งเดิมลักลอบขนส่งชิ้นส่วนเสือและตัวนิ่ม ได้เพิ่มโหนกนกชนหินในรายการซื้อขายเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้สินค้า

นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่ามีนกชนหินเหลืออยู่จำนวนเท่าใด แต่ที่ชัดเจนคือ หากดูจากการศึกษาวิจัยและปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในระยะหลังมานี้ พวกมันกำลังประสบปัญหา เมื่อปี 2016 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 180 ประเทศ อนุมัติข้อเสนอซึ่งเรียกร้องให้ออกกฎหมายคุ้มครองนกชนิดนี้อย่างเข้มงวดขึ้น จากเดิมที่ห้ามทำการซื้อขายระหว่างประเทศมาตั้งแต่ ปี 1975 การตระหนักถึงการลักลอบล่าในระดับอันตรายสะท้อนให้เห็นในสถานะทางการอนุรักษ์ของนกชนหินที่พุ่งจากลำดับเกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการการสูญพันธุ์ ขึ้นมาอยู่ในลำดับมีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ หรือเท่ากับกระโดดข้ามขึ้นมาถึงสามขั้น และอยู่ห่างจากลำดับสูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติเพียงขั้นเดียว

เรื่อง เรเชล เบล

ภาพถ่าย ทิม เลแมน

อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก  ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2561


อ่านเพิ่มเติม

โปรดรู้จักนกใกล้สูญพันธุ์

Recommend