ปีนเขา เดินป่า ชมปักษาแห่งอินโดนีเซีย

บันทึกการเดินทาง ดูนกที่เกาะชวา

หากกล่าวถึงการท่องเที่ยวธรรมชาติบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย หลายคนอาจนึกถึงภูเขาไฟโบรโม หรือคาวาอีเจน รวมถึงทะเลแสนงามตามแบบฉบับหมู่เกาะในซีกโลกใต้ แต่การเดินทางของพวกเราครั้งนี้ ผมและเพื่อนผู้นิยมธรรมชาติผ่านกิจกรรมดูนก เดินทางไปยังด้านตะวันตกของเกาะซึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเยือนน้อยมาก โดยการเดินทางครั้งนี้ เราตั้งเป้าเพื่อ ดูนกที่เกาะชวา จุดหมายปลายทางหลักอยู่ที่อุทยานแห่งชาติกุหนุงเกเดปารังโง ในเมืองซีโบดาส นอกจากนกแล้ว ในฐานะผู้สนใจด้านธรรมชาติวิทยา เรายังพบเจอสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

หลังใช้เวลาบนเครื่องบินไป 3 ชั่วโมง จากดอนเมืองถึงจาการ์ตา ขณะนั้นเวลา 2 นาฬิกาโดยประมาณ พวกเราค่อนข้างง่วง อ่อนล้า และหิว บวกกับบรรยากาศที่แสนอึดอัด เพราะอาคารผู้โดยสารอยู่ระหว่างการปรับปรุง เครื่องปรับอากาศทำงานได้ไม่ดี และยังมีกลิ่นสีอาคารอบอวลในบางบริเวณ ระหว่างรอรถที่เช่าไว้ เราทำได้เพียงแยกย้ายกันไปจัดการธุระส่วนตัว

นก Black-napedFruite Dove เป็นนกในวงศ์วานเดียวกันนกพิราบ นกเขา เป็นนกสีสรรสวยงามพบได้แม้ในสวนสาธารณะกลางเมืองอย่างสวนพฤกษศาสตร์โบโกร์ ด้วยความสวยงามสะดุดตานี้เองทำให้มันเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการค้านกป่าผิดกฎหมาย

เมื่อเวลานัดมาถึง เราตั้งเป้าหมายแรกของวันไว้ที่ป่าชายเลนใกล้สนามบิน ซึ่งไม่คาดคิดว่า เราต้องพบกับความผิดพลาดตั้งแต่จุดแรก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ไม่ระบุเวลาเข้าออกชัดเจน และไม่สามารถเดินเข้าได้ตามอำเภอใจ เราค่อนข้างเสียดายโอกาสการตามหานก Javan Coucal ที่มีลักษณะคล้ายนกกระปูดใหญ่บ้านเรา แต่ทั่วทั้งหัวและลำตัวนั้นเป็นสีดำสนิท เว้นแต่ปีกสีน้ำตาลแดง นกชนิดนี้เป็นนกเฉพาะถิ่น หรือ endemic species พบได้บนเกาะชวาเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี Cerulean Kingfisher นกกระเต็นตัวเล็กสีฟ้าสด และ Sunda Teal นกเป็ดน้ำเฉพาะถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย

อ่านเพิ่มเติม : ทำไมเราชอบดูนก

Maned Forest Lizard ในสวนพฤกษศาสตร์โบโกร์ กำลังรังวางไข่ที่อยู่ใกล้ๆ  เราจึงร่นถอยออกจากพื้นที่ เพื่อไม่เป็นการคุกคามจนเกินไป

เราตัดใจจากป่าชายเลนอย่างรวดเร็ว โดยวางแผนว่าจะกลับมายังที่แห่งนี้อีกครั้งในเช้าวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ เราจึงมุ่งหน้าไปยังปลายทางต่อไปคือ สวนพฤกษศาสตร์โบโกร์ ในเมืองโบโกร์ (Bogor) ที่เป็นทางผ่านระหว่างทางจากจาการ์ตาไปซีโบดาส เมื่อมาถึง เราได้ยินเสียงร้องเหมือนนกในกลุ่มนกกาฝากดังมาจากยอดไม้ที่อยู่อีกฝากรั้ว และเราพบนก Scarlet-headed Flowerpecker ซึ่งเป็นนกอินโดนีเซียชนิดแรกในทริปนี้

เช้าวันแรกของการเดินขึ้นกุหนุงเกเด นกตัวแรกที่ออกมาต้อนรับเราในช่วงแรกของการปีนเขาคือ Crescent-chested Babbler ตัวนี้
นอกจากนกแล้ว เกาะชวานั้นมีสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นมากมาย ไม่ว่าจะพืชหรือสัตว์ นั่นก็รวมถึงเจ้า Indonesian False Bloodsucker ตัวนี้ด้วย

หลังจากเดินวนอยู่ในสวนจนบ่ายแก่ เราพบนกที่น่าสนใจมากมาย ทั้ง Gray-cheeked Green-Pigeon และ Black-naped Fruit Dove ที่เป็นสมาชิกในวงศ์นกพิราบที่มีสีสันสวยงาม Brush Cuckoo (นกคัคคูหางแพน) ที่พบยากในประเทศไทย และ Javan Munia ซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่นอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนกแล้ว เรายังพบกิ้งก่า Maned Forest Lizard ที่มีเหนียงและแผงหลังคอดูคล้ายมังกร

อ่านต่อหน้า 2 ปีนเขาดูนกในซีโบดาส

ออกเดินทางสู่เมืองซีโบดาส

จากโบโกร์ใช้เวลาเดินทางอีกประมาน 2 ชั่วโมงเพื่อไปยังที่พักของเราในเมืองซีโบดาส ซึ่งเป็นเมืองบนภูเขา อากาศค่อนข้างแห้งและหนาวเย็น ถนนหนทางเล็กแคบ แต่ก็มีบ้านเรือนเรียงรายไปตามตรอกซอกซอย มีเพียงใจกลางเมืองเท่านั้นที่ถนนกว้างขึ้นเล็กน้อย เรามาถึงที่พักเวลาบ่ายมากแล้ว อีกทั้งจุดดูนกที่เราต้องไปค่อนข้างไกลจากที่พัก จึงใช้เวลาที่เหลือสำรวจชุมชนละแวกนั้น และพักผ่อนเก็บแรงไว้สำหรับกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น

เป้าหมายของเราในการเดินทางครั้งนี้ที่เมืองซีโบดาสนั้นมี 2 จุดใหญ่ๆ คือสวนพฤกษศาสตร์ซีโบดาส และ อุทยานแห่งชาติกุหนุงเกเดปารังโง สำหรับเช้าวันแรกที่ซีโบดาส เราเลือกใช้แรงกายไปกับการเดินขึ้นภูเขาที่กุหนุงเกเด ที่มีสภาพทางเดินค่อนข้างลำบาก หินก้อนใหญ่วางเขื่องอยู่ตลอดแนว มีเหลี่ยมมุมของหินคอยให้เราต้องระวังทุกย่างก้าว

หลังจากปีนเขาจนเหน็ดเหนื่อย บนก Javan Trogon สีสวยตัวนี้ก็ทำเอาหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

ที่กุหนุงเกเด เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อวงการชีววิทยาอย่างมาก เนื่องจากเป็นหนึ่งในสถานที่สำรวจธรรมชาติในแถบหมู่เกาะเอเชียแปซิฟิกของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ผู้ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ ชาร์ลส์ ดาร์วิน โดยทั้งสองคนเดินทางสำรวจกันคนละซีกโลก แต่ค้นพบเรื่องราวทางวิวัฒนาการคล้ายๆ กัน โดยก่อนที่ดาร์วินตีพิมพ์หนังสือ The Origin of Species เขาอ่านบทความที่เกิดจากการค้นพบของวอลเลซ และสิ่งที่อยู่ในบทความนั้นได้ยืนยันสิ่งที่ดาร์วินคิดมาตลอด นั่นทำให้เขายิ่งมั่นใจกับการเผยแพร่หนังสือที่เปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องการกำเนิดชีวิตไปตลอดกาล ในเวลานี้ ผมก็กำลังอยู่บนเส้นทางเดียวกันกับที่วอลเลซสำรวจพืชพันธุ์และส่ำสัตว์บนกุหนุงเกเด

เส้นทางเดินเขาบนกุหนุงเกเดเต็มไปด้วยหินน้อยใหญ่ แต่ก็มีเส้นทางเดินสบายในช่วงเดินผ่านหนองน้ำขนาดใหญ่บนภูเขา มองไปปลายทางจะเห็นยอดปล่องภูเขาไฟซึ่งเป็นจุดสูงที่สุดของเทือกเขานี้เป็นฉากหลัง

เนื่องจากเราออกเดินขึ้นเขาตั้งแต่เช้าตรู่ จึงพบนกที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นหลายชนิด เช่น Blood-breasted flower pecker, White-flanked sunbird และ Orange-spotted bulbul ระหว่างทางนก Brush Cuckoo ออกมาส่งเสียงใสต้อนรับแต่เช้า เราหยุดถ่ายภาพเป็นระยะ และรับประทานอาหารเที่ยงที่บลูเลก (blue lake) และพบกับ Javan Kingfisher ซึ่งเป็นหนึ่งในนกเฉพาะถิ่นที่เรากำลังตามหา นกกระเต็นชนิดนี้เป็นญาติกับนกกระเต็นอกขาว (White-throated Kingfisher) ในเมืองไทย ลักษณะภายนอกโดยรวมจึงคล้ายกัน แต่สีสันแตกต่างกันสิ้นเชิง Javan Kingfisher มีสีขนจัดจ้านกว่ามาก ปากสีแดงสด หัวน้ำตาลเข้ม ตัวสีน้ำเงินคราม และบนปีกมีแถบสีฟ้าสะท้อนแสง

นกชนหิน : เหยื่อของเงินตรา อำนาจ และความหรูหรา

ในช่วงบ่ายหลังจากอิ่มท้องเราออกเดินทางต่อ ผ่านหนองน้ำขนาดใหญ่บนภูเขา และพบกับนกอีกหลายชนิด ตัวที่เราจำได้แม่นคือ Javan Trogon สีสันฉูดฉาด ปากสีแดง หนังรอบตาสีฟ้า ท้องและคอสีเหลืองสด ถ้านกหันหน้ามา แม้ในป่ามืดทึบก็สังเกตได้ไม่ยาก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของทริปนี้ หลังจากได้พบกับปักษานานาพันธุ์ เราตัดสินใจลงในช่วง 4 โมงเย็น หลังจากเหนื่อยล้ากับการเดินทาง และผมมีอาการบาดเจ็บหัวเข่ากำเริบ

Brush Cuckoo หรือนกคัคคูหางแพน เป็นนกที่พบได้ทั่วไปบนเกาะชวาแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นชายป่า หรือสวนในเมือง

เช้าวันต่อมา เรามาถึงทางเข้าอุทยานฯ ในเวลาเดิม แต่พบว่า ค่าผ่านทางที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเป็นวันหยุดจึงมีการคิดราคาเพิ่ม เราตัดสินใจล่าถอยและเปลี่ยนเป็นเดินดูนกในสวนพฤกษศาสตร์ซีโบดาส บรรยากาศวันนี้จึงสบายๆ เดินแบกกล้องถ่ายรูปไปเรื่อยๆ และพบกับนกหลายชนิด

ในวันที่ 4 เรากลับมาที่กุหนุงเกเดอีกครั้ง แต่วันนี้ผมต้องแยกตัวจากคณะเนื่องจากปัญหาที่หัวเข่า จึงพบเพียง Javan Cuckoo shrike โผล่มาให้เห็นอยู่ไกลลิบๆ เหมือนเป็นของปลอบใจจากสภาพสังขารที่อิดโรย สมาชิกที่เหลือใช้เวลาหลายชั่วโมงเดินกลับมาพบกันที่จุดนัดพบ ซึ่งเวลาล่วงไปเกือบสองทุ่ม

ในระหว่างเดินป่าช่วงหัวค่ำ ผมพบฝูงหมูป่า Beared pig หลังจากรวมตัวกันเรียบร้อย เราจึงเดินทางกลับที่พัก จัดเก็บข้าวของ เพื่อเดินทางกลับจาการ์ตาในวันถัดไป

วันสุดท้ายที่ต้องกล่าวอำลา

เช้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเราในอินโดนีเซีย ดังนั้นเราจึงตั้งใจหานกให้ได้มากที่สุดก่อนจะกลับบ้าน เมื่อเราไปถึงป่าชายเลนที่ตั้งใจเข้าชมในวันแรก เราพบ Cerulean Kingfisher, Sacred Kingfisher, Island Collared Dove, Sunda Teal, Javan White-eye, Javan Plover และ นกที่เรามองหามาตลอดอย่าง Bar-winged Prinia เราพยายามหาข้อมูลชนิดนี้ในอินเตอร์เน็ตและพบกับความสะเทือนใจที่ว่า ชาวบ้านจับนกชนิดนี้ไปเลี้ยงเพื่อประกวดเสียงร้อง การพบเจอ Bar-winged Prinia จึงตอกย้ำความสำคัญของมันมากขึ้นไปอีก

นกเป็ดน้ำ Sunda Tea lเป็นนกเฉพาะถิ่นอีกชนิดหนึ่งที่เราพบเจอในป่าชายเลนในเมืองจาการ์ตา

เรากลับมายังที่พักในช่วงสายเพื่อเก็บข้าวของและเดินทางไปยังสนามบิน สิ้นสุดการเดินทางดูนกในประเทศอินโดนีเซียครั้งนี้กับจำนวนนก 111 ชนิด สำหรับสมาชิกคนอื่นก็คงได้มากกว่าผมเล็กน้อย เนื่องจากผมไม่สามารถฝืนสังขารปีนเขาขึ้นไปต่อได้ ในใจนั้นก็พลางคิดหาทางกลับมาที่นี่ให้ได้ด้วยความพร้อมที่มากกว่านี้

ประเทศอินโดนีเซียนั้นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายสูง ซึ่งนกป่าเป็นสัตว์ที่สามารถพบเห็นได้ตามบ้านเรือนจนกลายเป็นเรื่องปกติ ผลกระทบและอัตราการสูญเสียนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผมได้แต่หวังว่า การกลับมาที่นี่ในครั้งต่อไป คงไม่ต้องพยายามตามหานกตัวไหนอย่างบ้าคลั่งเหมือนที่ตามหา Bar-winged Prinia อย่างครั้งนี้ ส่วน Javan Coucal ก็คงจะไม่มีโอกาสเห็นกันอีกต่อไปแล้ว ความรู้สึกร่วมเมื่อได้เห็นการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าเรา เป็นอย่างนี้นี่เอง…

เรื่องและภาพถ่าย
วัทธิกร โสภณรัตน์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.