เดินป่า 4 วัน 49 กิโลเมตร บนเส้นทางชีวิตสัมพันธ์คนดอย คนเมือง และธรรมชาติ

บันทึกเส้นทางเดินป่า Fjallraven Thailand Trail 2020 ที่ไม่ได้ให้เพียงความท้าทาย แต่รวมไปถึงการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง และวิถีการอนุรักษ์ธรรมชาติในมุมมองใหม่

(เชิญชมวิดีโอ ‘เดินป่า 4 วัน 49 กิโลเมตร บนเส้นทางชีวิตสัมพันธ์คนดอย คนเมือง และธรรมชาติ’ จ. แม่ฮ่องสอน ได้ที่นี่)

ลองนึกภาพว่าคุณเป็น “คนเมือง” ที่ต้องไปเดินและอาศัยอยู่ป่าเป็นเวลา 4 วัน 4 คืน ในเส้นทางราว 49 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่ค่อยๆไต่ระดับสู่ยอดดอยอันสูงชันบนทางเท้าในป่าคับแคบ เส้นทางบางช่วงค่อนข้างอันตรายจากทางลาดบนสันเขา (ทั้งช่วงขึ้นและลง) ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ ก็อาจมีโอกาสเท้าบวมเนื่องจากการเดินโดยใส่รองเท้าเดินป่าหนาเตอะอย่างยาวนานตั้งแต่เช้าจรดเย็น (บางคนก็ค่ำ)

เมื่อยามหลับใหล ก็มีโอกาสเผชิญกับน้ำค้างเกาะเต็นท์ที่ส่งอุณหภูมิหนาวเย็นเหลือประมาณจับไปทั่วร่างกาย จนไม่อาจข่มตาได้สนิทตลอดทั้งคืน บางคนต้องล้มเลิกการเดินทางกลางคันด้วยสภาพร่างกายที่ไม่อาจฝืนทน และมีคนอีกไม่น้อยที่ยังพอประคับประคองสภาพร่างกาย แต่กลับต้องสู้กับจิตใจของตัวเองด้วยการถามตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “เรามาทำอะไรที่นี่”

นี่คือประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมได้รับจากการเดินป่าในเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านงานเดินป่า Fjallraven Thailand Trail 2020 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว

บรรยากาศเส้นทางที่สวยงามของเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา

แม้จะมีเรื่องราวอันยากลำบากมากมายเกิดขึ้นบนเส้นทาง ในอีกด้านหนึ่ง ก็ก่อให้เกิดความทรงจำล้ำค่าที่ยากจะลืมเลือนเช่นกัน

ความทรงจำนั้นไม่ได้เกิดจากการเดินป่าเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเพื่อนร่วมทางและชาวกะเหรี่ยง เจ้าของเส้นทางตัวจริงที่ช่วยทำให้ภารกิจการเดินป่าครั้งนี้เป็นไปอย่างน่าจดจำ

วัฒนธรรมการเดินป่าที่ยั่งยืน

ตัวผมที่เริ่มเดินป่าเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้รับคำเชิญให้ไปเดินป่าตามรอยเส้นทางที่มีผู้เคยสัมผัสมาก่อนและบอกเล่าประสบการณ์ไว้ในบทความที่กล่าวถึงเส้นทางการเดินป่า Fjallraven Thailand Trail 2019 วัฒนธรรมใหม่ของการเดินป่าที่ยั่งยืน เมื่อต้นปีที่แล้ว

โดยที่มาที่ไปของเส้นทางเดินป่านี้ ผู้จัดกิจกรรมได้รับแรงบันดาลใจมาจากเส้นทางเดินป่า Fjallraven Classic คือการเดินป่าระยะทางไกล 110 กิโลเมตร บนเส้นทางที่มีชื่อว่า “Kungsladen” ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสวีเดน จัดโดย Fjallraven แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์เพื่อกิจกรรมกลางแจ้งจากประเทศสวีเดน ผู้จัดโครงการ Fjallraven Thailand Trail ซึ่งเป็นชาวไทยที่ได้มีโอกาสไปเดินป่าในเส้นทางนี้มาแล้ว ได้นำรูปแบบโครงการนี้มาจัดขึ้นในประเทศไทย พร้อมเสาะหาเส้นทางที่เหมาะสม ซึ่งก็คือเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงาแห่งนี้

ปลอกแขนสำหรับเจ้าหน้าที่ Fjallraven Thailand Trail 2020

ทั้งสองเส้นทางส่งเสริมการเดินป่าที่มุ่งเน้นให้ผู้คนพึ่งพาตนเอง ชื่นชมธรรมชาติแบบไม่เร่งรีบ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และยึดหลักวัฒนธรรมการเดินป่า ทั้ง การพึ่งพาตนเอง ด้วยการแบกสัมภาระของตัวเองทุกชิ้น เพื่อให้เราวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จำเป็นในการเดินป่าจริงๆ การรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ เนื่องจากเราต้องการไปชมธรรมชาติ เราจึงออกไปเดินป่า ดังนั้นเราจึงต้องรักษาธรรมชาติให้ยังคงงดงาม ไม่ว่าจะเป็นการไม่ทิ้งขยะบนเส้นทาง แต่นำขยะกลับออกมาจัดการในพื้นที่อันเหมาะสม ของเสียจากร่างกายต้องฝังกลบให้ถูกวิธี และ การให้เกียรติผู้ร่วมทาง แม้คนที่ร่วมเดินทางอาจมีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติและภาษา แต่ก็ล้วนเป็นผู้ที่รักในชีวิตกลางแจ้ง จึงควรมองข้ามความแตกต่างนั้น และให้เกียรติผู้ร่วมทาง เราก็จะได้รับเกียรตินั้นเช่นเดียวกัน

Trekking Pass และแผ่นไม้สำหรับประทับตราจุด Check Point ตลอดทั้ง 4 วัน

เส้นทางที่มีความยาวราว 49 กิโลเมตรนี้เป็นเส้นทางเดินเท้าบนสันเขาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ใช้เส้นทางนี้ในการติดต่อเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างหมู่บ้านที่อยู่รายทางตามภูเขามาเป็นเวลานับร้อยปี แต่ปัจจุบันเส้นทางนี้ไม่ได้ถูกใช้งานมากนัก เนื่องจากมีเส้นทางใหม่ที่สามารถเดินทางโดยรถยนต์ ซึ่งแม้จะต้องอ้อมภูเขา แต่ก็มีความสะดวกสบายมากกว่า เส้นทางจึงเริ่มค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป แต่ในครั้งนี้ เส้นทางที่ชาวกะหรี่ยงคุ้นเคยมานานกำลังจะทำให้คนเมืองจากหลากหลายประเทศจำนวนหนึ่งได้สัมผัสประสบการณ์เดินป่าท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ

ตัวผมแม้จะไม่ได้มีประสบการณ์ในการเดินป่ามากมายนัก แต่ก็ตัดสินใจรับคำเชิญในการท้าทายตัวเองผ่านเส้นทางเดินป่าระยะไกลนี้

แผนผังแสดงระยะทางและความสูงของเส้นทางตลอดทั้ง 4 วัน

วันที่ 1: จอลือคี สู่แดนภูเขาชาวกะเหรี่ยง

ในคืนก่อนหน้า เราต้องเดินทางไปที่อำเภอแม่สะเรียง อำเภอเล็กๆในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเสมือนบริเวณเชื่อมต่อความเจริญกับดินแดนชนบทของชาวเขา เพื่อผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนและตระเตรียมอุปกรณ์เดินป่าขั้นสุดท้ายก่อนออกเดินทาง

เมื่อวันเดินทางวันแรกมาถึง นักเดินป่าทั้งหลายต้องใช้รถตู้คันใหญ่เพื่อเดินทางออกจากตัวอำเภอไปให้ใกล้จุดสิ้นสุดทางหลวง จากนั้นนักเดินป่าจำต้องขนถ่ายตัวเองและสัมภาระไปยังขบวนรถกระบะของชาวบ้านท้องถิ่นราว 10 คันเพื่อไปยัง แม่ปะ จุดเริ่มต้นในการเดินป่าครั้งนี้ ที่อยู่บนความสูงราว 950 เมตรจากระดับทะเล โดยเส้นทางที่ไปยังจุดออกเดินนั้นต้องขับรถผ่านภูเขาอันลาดชันและคดเคี้ยว จึงต้องอาศัยชาวบ้านที่คุ้นเคยเส้นทางเป็นสารถีไปส่งยังปลายทาง

เส้นทางที่รถกระบะของชาวบ้านนำส่งคณะเดินป่าไปยังจุดเริ่มเดิน
บรรดานักเดินป่าต้องโดยสารรถกระบะพร้อมสัมภาระไปยังจุดเริ่มเดิน

เพราะการเข้าสู่เส้นทางบนสันเขาและป่าลึกอาจทำให้หลงได้ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยเส้นทาง ดั้งนั้นก่อนออกเดิน จึงต้องมีการประชุม จัดกลุ่มสี รวมไปถึงแนะนำชาวบ้านผู้ชำนาญเส้นทางประมาณ 10 คน ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำทาง เป็นที่ปรึกษาระหว่างการเดินทาง รวมไปถึงตอบข้อสงสัยต่างๆ ในกรณีที่คนเมืองต่างถิ่นอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่ที่พวกเขาคุ้นเคย ก่อนจะเริ่มออกเดิน

……………………..

เมื่อเริ่มออกเดินตามเส้นทางที่ลาดสันเขาไปราวครึ่งวัน คนที่ไม่ได้คุ้นเคยกับการเดินป่ามากนักเช่นผมก็เริ่มรู้สึกเหนื่อยหอบ สีหน้าท่าทางจึงแสดงออกอย่างชัดเจน จนพี่เล็ก หนึ่งในชาวบ้านผู้นำทางไปกับกลุ่มของเรา ทักผมด้วยภาษาไทยกลางในสำเนียงท้องถิ่น

“เหนื่อยเหรอครับ”

ผมพยักหน้าน้อยๆ แทนคำตอบ

“ธรรมดาครับ ขนาดผมคนพื้นที่ยังเหนื่อยเลย” ผมเห็นใบหน้าอันสดใสของพี่เล็กที่หันมาทางผมแม้จะเดินมาครึ่งวันแล้วก็ตาม ยากจะเชื่อว่าเขาเองก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนกับผม

บรรยากาศจุดพักกลางวันในเส้นทางวันแรก

เส้นทางก่อนถึงจอลือคี

หลังจากใช้เวลาเดินป่าราว 5-6 ชั่วโมง เป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร เราก็มาถึงยังจุด Check Point ที่ 1 ชื่อว่า “จอลือคี” ตั้งอยู่บนระดับความสูง 1,150 เมตรจากระดับทะเล คำว่า จอลือคี ในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า “ภูเขาที่เป็นต้นน้ำ” หรือขุนน้ำของห้วยจอลือ จากจุดนี้สามารถเห็นขุนน้ำที่คอยซับน้ำฝนจนเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงทั้งชาวกะเหรี่ยงและอีกหลายชีวิตเบื้องล่างภูเขา รวมไปถึงมุมมอง 360 องศาของทิวทัศน์ภูเขาอันสลับซับซ้อน ผู้มาเยือนหลายคนตื่นเต้นไปกับทัศนียภาพที่สวยงามจับใจ รวมไปถึงตอนกลางคืนที่ท้องฟ้าเปิดให้ชมดวงดาวได้อย่างสุดสายตาไร้สิ่งบดบัง

เต็นท์ของบรรดานักเดินป่าที่กางในจุด Check Point ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา
ลานกางเต็นท์ที่จอลือคี สามารถมองทิวทัศน์ได้แบบ 360 องศาโดยไร้สิ่งบดบัง

แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ นี่คือทัศนียภาพที่พวกเขาคุ้นเคยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เช่นเดียวกับคนเมืองที่คุ้นเคยกับทัศนียภาพของตึกสูงที่ให้ภาพราวกับภูเขาแคบๆ ซึ่งสูงลดหลั่นและอัดแน่นกันในพื้นที่เล็กๆ

บรรยากาศการประกอบอาหารหน้าเต็นท์ที่พักท่ามกลางทิวทัศน์ที่สวยงามล้อมรอบ โดยวัฒนธรรมการเดินป่าในกิจกรรมนี้ นักเดินป่าต้องไม่ทิ้งร่อยรอยใดๆ และนำขยะทุกชิ้นออกไปจัดการในพื้นที่เหมาะสม
บรรยากาศแสงอาทิตย์สุดท้ายของวันที่จอลือคี

วันที่ 2: ดอยธง สู่ยอดดอยชันในแดนหนาว

ในวันนี้ นักเดินป่าทุกคนเริ่มออกเดินทางจากจอลือคีตั้งแต่เช้าเพื่อมุ่งหน้าไปยังยอด “ดอยธง” จุด Check Point ที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,650 เมตรจากระดับทะเล อันเป็นจุดสูงที่สุดของเส้นทางในครั้งนี้

เส้นทางเดินป่าในวันที่สอง ที่มีความลาดชันมากที่สุด แต่ก็มีทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดทาง

แม้จะเป็นวันที่มีระยะการเดินสั้นที่สุด คือ 8 กิโลเมตร แต่สำหรับผม นี่คือวันที่ยากที่สุดในการเดินทาง เพราะเส้นทางนั้นต้องเดินไปบนสันปันน้ำที่มีความชันมาก ทำให้ชาวบ้านผู้นำทางต้องคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือนักเดินป่าต่างถิ่นเป็นพิเศษ รวมถึงตัวผมที่ต้องอาศัยกำลังของพวกเขาในการผลักดันร่างกายเมื่อต้องเดินบนทางลาดชันในยามที่ร่างกายไร้เรี่ยวแรงอยู่ครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าเส้นทางจะยากลำบากที่สุด แต่ก็ตอบแทนนักเดินป่าด้วยทิวทัศน์ภูเขาอันสวยงามสุดลูกหูลูกตาไปเกือบตลอดเส้นทาง

……………………..

“เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ชาวกะเหรี่ยงในแถบเส้นทางนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ราวกับหมู่บ้านในนิทาน” คือใจความที่ ธัชรวี หาริกุล หรือพี่งบ ผู้จัดโครงการเดินป่านี้ เล่าถึงประสบการณ์การค้นพบเส้นทางเดินป่านี้ให้กับนักเดินป่าฟัง หลังเสร็จสิ้นการเดินทางในยามเย็นวันที่สองของการเดินทาง

พี่งบกล่าวต่อไปว่า ในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ดูเหมือนเงินตราไม่ใช่สิ่งจำเป็น พวกเขาถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ละครอบครัวมีที่ดินราว 4-5 แปลงเพื่อทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวแค่พอกิน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็ปล่อยให้ที่ดินผืนนั้นฟื้นตัว ไปปลูกข้าวในไร่นาแปลงอื่น รอเวลาให้ดินที่ถูกใช้งานไปแล้วกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เป็นวิถีการอนุรักษ์ป่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อให้พวกเขาพึ่งพาอาศัยธรรมชาติได้ต่อไป หากต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมก็เพียงแค่เข้าไปหาของป่าหรือล่าสัตว์ พวกเขาแทบไม่รู้จักการใช้เงินตรา ชาวบ้านของหมู่บ้านในนิทานนี้มีชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายและมีความสุข

ในทุกวันหลังเสร็จสิ้นการเดินป่า ผู้เข้าร่วมการเดินป่าทั้งไทยและต่างชาติจะรับฟังเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังเส้นทางในแต่ละช่วง

“แต่ในช่วงระยะหลัง วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป” พี่งบกล่าวและเสริมว่า วิถีชีวิตสมัยใหม่แบบคนเมืองค่อยๆคืบคลานเข้ามา พวกเขาค้นพบว่าเงินตรากลายเป็นสิ่งจำเป็น การทำไร่หมุนเวียนในเชิงอนุรักษ์เริ่มกลายเป็นการถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันเป็นทางเดียวที่พวกเขาจะหาเงินมาได้มากๆ พวกเขาจึงเริ่มทำการเกษตรในวิถีที่ทำลายธรรมชาติมากขึ้น รวมไปถึงการใช้สารเคมี

ดังนั้น เพื่อช่วยชาวกะเหรี่ยงอีกทางหนึ่ง พี่งบจึงเกิดแรงบันดาลใจในการจัดโครงการเดินป่านี้ขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านเริ่มมีรายได้จากการนำทางหรือขายของให้นักท่องเที่ยวหรือนักเดินป่าที่ต้องการสัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และเพื่อให้ชาวบ้านได้เล็งเห็นถึงวิธีการหาเงินแบบหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำลายธรรมชาติ แต่ต้องรักษาไว้เพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อวิถีชิวิตดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติของพวกเขาเอง

สภาพป่าที่ปรากฎในเส้นทางส่วนหนึ่ง
ผู้นำทาง ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่กำลังผ่อนคลายอิริยาบถ หลังทำหน้าที่นำทางนักเดินป่ามาตลอดทั้งวัน

อย่างไรก็ตาม พี่งบบอกว่า นี่เป็นเพียงโครงการเล็กๆ อาจจะช่วยชาวบ้านได้ในระดับที่ไม่ใหญ่โตนัก “แต่อย่างน้อยให้พวกเขาไม่ต้องถางป่าเพิ่มนิดหนึ่งก็ยังดี” เขากล่าวในระหว่างการคุยส่วนตัวกับผม

ในเวลาไม่นาน จากจุดเริ่มต้นด้วยโครงการเล็กๆของพี่งบก็เริ่มพัฒนามากขึ้น ซึ่งจะขยายความในภายหลัง

(อ่านต่อหน้า 2)

วันที่ 3: หมื่อฮะคี ดินแดนอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เมื่อยามมาถึง)

ในเช้าวันที่ 3 ผมลืมตาด้วยความรู้สึกว่านอนอย่างไม่เต็มอิ่ม เนื่องจากคืนวันก่อน อุณหภูมิเลขตัวเดียวบนยอดดอยซึ่งรวมตัวกับน้ำค้างหนาที่เกาะเต็นท์ได้ผลิตมวลอากาศหนาวสุดขั้วเสียดทะลุเข้ามาตามร่างกาย ผมจึงรู้สึกตัวเป็นระยะๆตลอดทั้งคืน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่แสงอาทิตย์แผ่กระจายไปทั่วท้องฟ้า ผมก็ต้องเริ่มออกเดินป่าในวันที่ 3 อีกครั้ง

คณะเดินป่าส่วนหนึ่งกำลังดูแผนที่เปรียบเทียบเส้นทางเดินในวันที่ 3 ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากยอดดอยธง

เส้นทางที่ผมต้องเดินในวันนี้มีความยาว 19 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในการเดินทาง เราเริ่มไต่ระดับลงจากดอยธงเพื่อไปยัง หมื่อฮะคี หรือหมู่บ้านแม่หาด หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงบนดอยที่ตั้งอยู่บนระดับความสูง 930 เมตรจากระดับทะเล และตั้งอยู่ไกลที่สุดแห่งหนึ่งจากทางถนน ในอดีต คนนอกสามารถสัญจรมาทางถนนได้เฉพาะแค่ในหน้าแล้งเท่านั้น คำว่า หมื่อฮะคี ในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า ดินแดนอาทิตย์อัสดง ซึ่งมีความหมายแฝงว่า ใครก็ตามที่มายังหมู่บ้านแห่งนี้ มักจะถึงในช่วงที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว

ตั้งแต่ออกเดินทางผมก็ค้นพบว่า เส้นทางนี้มีครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินราบเรียบปกคลุมไปด้วยร่มเงาจากต้นไม้สูงใหญ่ ทางลาดสูงชันที่ค่อนข้างอันตราย และทางเดินขึ้นเขาที่มาพร้อมกับอากาศเบาบาง เป็นต้น

สภาพภูมิทัศน์อันหลากหลายที่ปรากฎระหว่างเส้นทาง

หลังจากเดินมาตลอดทั้งวัน ผมเริ่มเดินตัดเข้าไปในพื้นที่ของหมู่บ้านเพื่อไปยังจุด Check Point ที่ 3 ซึ่งในพื้นที่หมู่บ้านนี้เอง นักเดินป่าทั้งชาวไทยและต่างประเทศจะได้เห็นบ้านเรือนและความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงที่เรียบง่าย อยู่ร่วมใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้ยินคำทักทายและเห็นรอยยิ้มที่มอบให้กับผู้มาเยือน มีช่วงหนึ่งที่ผมเกือบหลงทาง ชาวบ้านก็ให้คำแนะนำเรื่องเส้นทางกับคนแปลกหน้าอย่างผมเป็นอย่างดี ผมจึงคาดเดากับตัวเองว่า แม้วิถีชีวิตสมัยใหม่จะคืบคลานเข้ามา แต่จิตวิญญาณของชาว “หมู่บ้านในนิทาน” ยังคงอยู่กับพวกเขา

แสงสุดท้ายของวันที่หมื่อฮะคี อันมีความหมายในภาษากะเหรี่ยงว่า ดินแดนอาทิตย์อัสดง (เมื่อยามมาถึง)
เด็กนักเรียนโรงเรียนหมู่บ้านแม่หาด หรือหมื่อฮะคีในภาษากะเหรี่ยง

หมื่อฮะคียังคงเป็นดังคำเล่าลือ เพราะกว่าผมจะเดินมาถึงจุดหมาย ก็เป็นช่วงแสงสุดท้ายของวันแล้ว

หลังจากกางเต็นท์ ผมนำเงินที่ติดตัวอย่างสงบนิ่งมาตลอด 3 วัน ใช้จ่ายไปกับร้านค้าชั่วคราวที่ชาวบ้านในพื้นที่มาตั้งโต๊ะขายให้กับนักเดินป่ากลุ่มใหญ่ เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมต้องพึ่งพาเสบียงที่ติดตัวมาเป็นหลัก ดังนั้นการได้ใช้จ่ายซื้ออาหารที่ปรุงสดใหม่กับชาวบ้านจึงเปรียบเหมือนดินแดนสวรรค์บนดินน้อยๆ และเมื่อคิดว่าการใช้จ่ายครั้งนี้จะเป็นรายได้เพิ่มเติมให้กับชาวบ้านที่มีส่วนเบื้องหลังในเส้นทางนี้ก็ทำให้รู้สึกอิ่มทั้งกายและใจ

บ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านตามเส้นทางที่เดินผ่าน
เด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงที่พบเจอในหมู่บ้านระหว่างเดินบนเส้นทาง
อาหารสดใหม่ที่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่นำมาจำหน่ายให้กับนักเดินป่า

วันที่ 4: สบโขง ชีวิตจริงของต้นน้ำและนาเชิงเขา

ในวันสุดท้าย ผมออกเดินทางจากหมื่อฮะคี ลงจากยอดดอยเป็นระยะทางราว 14 กิโลเมตร ไปยังเส้นชัยที่ หมู่บ้านสบโขง หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงริมฝั่งแม่น้ำเงา ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยังคงใสสะอาด เนื่องจากอยู่ในป่าลึกและชาวบ้านช่วยกันรักษาต้นน้ำอย่างดี เส้นทางจากหมู่บ้านลงดอยต้องผ่านทางเดินที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการจัดกิจกรรมเดินป่านี้เป็นครั้งแรก คือหนึ่งในพื้นที่ไร่นาหมุนเวียนของชาวบ้านที่ตั้งอยู่ตรงเชิงเขา แต่ทุกวันนี้ ที่ดินตรงนี้ซึ่งผมกำลังเดินผ่านอยู่ในช่วงกระบวนการฟื้นตัว มีต้นไม้พุ่มเตี้ยๆขึ้นปกคลุมเส้นทางเดิน แทบดูไม่ออกว่าเคยผ่านการทำไร่มาก่อน

เส้นทางเดินที่ลาดลงในหุบเขา
ระหว่างการเดินทาง จะมีผู้นำทาง (ซ้าย) คอยนำทางและให้คำแนะนำตลอดการเดินทั้ง 4 วัน

ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นตลอด 3 วันเริ่มกลายเป็นความเคยชิน เมื่อเดินลงมาเรื่อยๆ ที่บริเวณป่าเชิงเขา ผมจึงสนุกกับการได้พบเจอธารน้ำเล็กๆ หลายสิบสายที่กลั่นมาจากต้นน้ำหลายจุดในป่า และในเส้นทางนี้เองที่ผมได้เห็นต้นน้ำเป็นครั้งแรกในชีวิต

ยิ่งเดินใกล้ถึงจุดหมายมากขึ้น จากที่เคยเห็นธารน้ำเล็กๆ ก็เริ่มเห็นเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ค่อนข้างไหลเชี่ยว ขณะเดียวกันผมก็เริ่มเห็นที่ดินเพาะปลูกพืชไร่ของชาวเขามากขึ้น พร้อมกับอุณหภูมิร้อนระอุที่เริ่มเข้าหาตัว

ธารน้ำเล็กๆ ต้นกำเนิดของแม่น้ำสายใหญ่จะมีปรากฎให้เห็นเรื่อยๆ ในเส้นทาง
วิถีชีวิตของชาวกระเหรี่ยงที่อยู่ร่วมกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ได้พบเห็นตามเส้นทาง

ในช่วงเวลาบ่ายคล้อย ผมเดินทางถึงเส้นชัยในหมู่บ้านที่เป็นจุดหมาย ผมพบเห็นชาวบ้านในหมู่บ้านกำลังจัดเตรียมพื้นที่เลี้ยงฉลองในตอนเย็นให้กับนักเดินป่าผู้พิชิตเส้นทางเดินอันหฤโหดนี้ พอมองทะลุไปเบื้องหลังฉากนั้นก็จะพบกับแม่น้ำเงา แม่น้ำสายใหญ่ที่เป็นปลายทางของต้นน้ำที่ผมได้เดินตามมาตลอด 4 วัน ดังนั้นเมื่อจัดการปลดสัมภาระและตั้งเต็นท์แล้ว ผมจึงพาร่างกายอันเหนื่อยล้าพุ่งลงไปยังแม่น้ำสายนั้นที่ทั้งใสสะอาดและให้ความสดชื่นแก่ผมอย่างเต็มกำลัง

เส้นชัยและจุดสิ้นสุดการเดินป่า ที่หมู่บ้านสบโขง จะมีชาวบ้านรอต้อนรับ

เวทีและอัฒจันทร์ที่สร้างจากไม้ไผ่โดยชาวบ้านหมู่บ้านสบโขง ด้านซ้ายคือแม่น้ำเงา แม่น้ำสายสำคัญของชาวบ้านในแถบนี้ ซึ่งยังคงใสสะอาด เนื่องจากต้นน้ำได้รับการดูแลอย่างดี

“เหมือนได้เกิดใหม่เลยแฮะ” เพื่อนร่วมเส้นทางเดินป่าที่กำลังดำผุดดำว่ายในแม่น้ำกล่าวกับผมเช่นนั้น ผมเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน

เหมือนกับว่าธรรมชาติแห่งนี้ได้ให้ชีวิตใหม่กับผมอีกครั้ง

บทสรุป: ชีวิตสัมพันธ์ของชาวบ้าน นักเดินป่า และการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ในบรรยากาศงานเลี้ยงตอนค่ำ ช่วงที่ชาวบ้านสบโขงจำนวนหนึ่งมาจำหน่ายอาหารให้กับบรรดานักเดินป่าไปเลี้ยงฉลองความสำเร็จของตัวเอง ผมปลีกตัวมาพูดคุยกับชาวบ้านที่มาเป็นผู้นำทางในครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือ โม๊ะโล๊ะ วนาธรรมเจริญ ชาวบ้านหมู่บ้านสบโขงที่เป็นผู้นำทางมาตลอด 4 วัน ผมถามโม๊ะโล๊ะและชาวบ้านคนอื่นๆไปตรงๆว่า คนนอกอย่างนักเดินป่าที่มาในวันนี้ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับพวกเขาจากการเดินป่าครั้งนี้บ้างไหม

โม๊ะโล๊ะเท้าความให้ฟังถึงวิธีการหารายได้ของเขาและชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ นั่นคือการเข้าไปรับจ้างทั่วไป ตัวเขาเองก็เลี้ยงสัตว์ ทำรายได้ราว 20,000 – 30,000 บาทต่อปี แต่ถ้าหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือประมาณ 15,000 – 20,000 บาท และเมื่อถึงฤดูทำพืชไร่ เช่น ปลูกถั่ว ซึ่งทำได้เพียงปีละหนึ่งครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ก็จะได้รายได้ราว 20,000 บาท โดยยังไม่หักต้นทุน เมื่อหารจำนวนรายได้เป็นต่อวันก็ไม่ได้มากมายนัก ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตเช่นนี้ แต่การทำหน้าที่เป็นผู้นำทางในกิจกรรมเดินป่าครั้งนี้สร้างรายได้ให้เขาเพิ่มเติมอีกราว 500 บาทต่อวัน หากคำนวณเงินที่พวกเขาจะได้รับตลอดทั้งงานก็เป็นสัดส่วนรายได้ต่อวันที่มาก นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านที่ได้ประโยชน์จากการให้บริการรถกระบะและจำหน่ายอาหารระหว่างเส้นทางอีกมาก

ผู้นำทางให้กับนักเดินป่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตามเส้นทางเดินป่า หนึ่งในทีมผู้อยู่เบื้องหลังงานเดินป่าครั้งนี้
กิจกรรมล่องแพไม้ไผ่ในแม่น้ำเงาโดยชาวบ้าน เป็นกิจกรรมทางเลือกที่นักเดินป่าเข้าร่วมได้หลังเสร็จสิ้นการเดินป่า

แม้โครงการ Fjallraven Thailand Trail ที่จัดขึ้นเพียงราว 1 สัปดาห์ใน 1 ปี จะจบไป แต่พวกเขาไม่ได้หยุดบทบาทแต่เพียงเท่านี้ เพราะโครงการเดินป่าเล็กๆนี้ได้เป็นต้นแบบให้ชาวบ้านในเส้นทางเดินป่าได้ร่วมมือกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนในชื่อ เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา เพื่อจัดการนำเที่ยวเดินป่าในเส้นทางรูปแบบเดียวกันนี้แก่ผู้ที่สนใจในช่วงฤดูหนาว พร้อมกับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอื่นๆ เช่น แคนูแคมปิ้งและการตกปลาเชิงอนุรักษ์ที่ชาวบ้านเป็นผู้ดูแล การบริการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาตินี้เองที่เป็นตัวกระตุ้นให้ชาวบ้านต้องรักษาธรรมชาติตามวิถีดั้งเดิมของพวกเขา โดยผู้ที่ให้การฝึกอบรมการจัดการท่องเที่ยวคือมูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัด ที่มีพี่งบ ผู้ริเริ่มโครงการเส้นทางเดินป่าในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง จนปัจจุบัน ชาวบ้านสามารถรับนักท่องเที่ยวผ่านการติดต่อโดยตรงทาง Facebook ได้แล้ว

ชาวบ้านในหมู่บ้านสบโขง กำลังเตรียมตั้งร้านขายอาหารให้กับบรรดานักเดินป่าที่เข้าร่วมงานเลี้ยงฉลองในวันสุดท้าย
การแสดงพื้นถิ่นของชาวกะเหรี่ยงที่นำมาแสดงในช่วงเลี้ยงฉลองวันสุดท้าย

ถึงแม้ว่าในอนาคต พื้นที่บางส่วนที่ผมได้เดินมาจะอยู่ในขั้นเตรียมการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแม่เงา ซึ่งจะมีกระบวนการอนุรักษ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องมีพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งไว้สำหรับการทำกินของชาวบ้านเอง สำหรับผมแล้ว การจะอนุรักษ์พื้นที่นี้เอาไว้ให้ได้คงไม่ใช่การปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชาวบ้านแต่เพียงลำพัง คนเมืองซึ่งเป็นผู้รับทรัพยากรปลายน้ำสามารถมีส่วนช่วยในการสร้างรายได้ให้กับพวกเขาโดยการเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ ภายใต้หลักการที่รบกวนธรรมชาติและเจ้าบ้านให้น้อยที่สุด เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาพยายามรักษาและมีผลต่อตัวเรา

จะคนบนดอยหรือคนเมืองก็ไม่ต่างกัน เพราะทุกคนล้วนกำเนิดมาจากธรรมชาติ

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ ณัฐวัฒน์ ส่องแสง

*รายละเอียดเพิ่มเติม: บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมเดินป่าในงาน Fjallraven Thailand Trail 2020 เมื่อ 16-22 ม.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับผู้อ่านที่สนใจไปตามรอยหลังจากนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เพจ https://www.facebook.com/MaeNgowTrekking/ (เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา) โดยชาวบ้านจะจัดเดินป่าแบบนี้แค่ในช่วงหน้าหนาวเท่านั้น


อ่านเพิ่มเติม แสงแรกในแดนอาทิตย์อุทัยบนยอดภูเขาไฟฟูจิ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.