ตะลุยแดนนิวเคลียร์ เชอร์โนบิล แห่งยูเครน

ผู้คนพูดกันว่า รังสีห้าซีเวิร์ต (sievert – หน่วยวัดการสัมผัสรังสี) ก็มากพอจะฆ่าคุณได้แล้ว ผมเลยนึกอยากอ่านค่าบนมาตรวัดปริมาณรังสีทำในรัสเซียของผมขึ้นมา ขณะรถตู้นำเที่ยวของเราผ่านเข้าไปยังเขตกีดกัน (exclusion zone) หรือพื้นที่รกร้างกว้างใหญ่ไพศาลที่รายล้อมเมือง เชอร์โนบิล ไว้

เชอร์โนบิล ทิวสนและเบิร์ชยืนต้นหนาแน่นอยู่ข้างทาง ขณะที่มัคคุเทศก์เตือนเราถึงกฎเบื้องต้น อันได้แก่ อย่าเก็บเห็ดซึ่งดูดซับนิวไคลด์กัมมันตรังสี (radionuclide) จากอากาศนํ้า และดินไว้อย่างเข้มข้น และหลีกเลี่ยงการเอาสิ่งปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานอาหารหรือสูบ

บุหรี่กลางแจ้ง ไม่กี่นาทีต่อมา พวกเราก็ผ่านหมู่บ้านร้างแห่งแรกมา และหยุดรถเพื่อชมม้าป่าพรีวอลสกีส์ฝูงเล็กๆ

ยี่สิบแปดปีหลังเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมือง เชอร์โนบิล เกิดระเบิด เขตกีดกันที่แทบร้างผู้คนถูกสัตว์ป่าเข้ายึดครองในเมืองปรีเปียตอันรกร้าง นกอินทรีเกาะอยู่บนยอดตึกอพาร์ตเมนต์ยุครัสเซียที่ไร้ผู้อยู่อาศัย ม้าป่าพรีวอลสกีส์ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ถูกนำมาปล่อยที่นี่หลังเกิดเหตุได้สิบปี เมื่อหลายฝ่ายพิจารณาแล้วเห็นว่า รังสีอยู่ในปริมาณที่พอทนได้ พวกมันจึงมีพื้นที่ให้วิ่งอย่างอิสรเสรีถึงกว่า 2,500 ตารางกิโลเมตร

ผมเหลือบมองมาตรวัดที่อ่านค่าได้ 0.19 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง หรือเศษเสี้ยวหนึ่งในหนึ่งล้านส่วนของหนึ่งซีเวิร์ต ยังไม่มีอะไรต้องกังวล ระดับสูงสุดที่ผมเห็นในการเดินทางมายูเครนครั้งนี้ คือระหว่างบินจากชิคาโกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เข็มวัดชี้ค่า 3.5 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ขณะเราบินอยู่ที่ระดับความสูง 12,000 เมตรเหนือกรีนแลนด์ และรังสีคอสมิกเจาะทะลุเครื่องบินและผู้โดยสารลงมา

หลังอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลเมื่อปี 1986 เมืองปรีเปียตในยูเครนที่อยู่ใกล้เคียงก็ถูกทิ้งร้าง ทุกวันนี้ เมืองไร้ผู้คนแห่งนี้เปิดรับนักท่องเที่ยวภาพหนึ่งที่มักเห็นกันชินตาคือตุ๊กตาหลายตัวที่ผู้มาเยือนจัดวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ อย่างชวนหดหู่

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องเชอร์โนบิลยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าด้วยผลกระทบระยะยาวที่รังสีมีต่อพืชและสัตว์ในท้องถิ่น จนถึงทุกวันนี้ผลกระทบดังกล่าวยังอยู่ในระดับเบาบางอย่างน่าประหลาดใจ แต่สิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อสัตว์มากกว่ากลับมาจากพวกลักลอบล่าสัตว์ที่แอบเข้ามาในเขตกีดกันพร้อมปืนผาหน้าไม้

ไม่กี่นาทีต่อมา เราก็มาถึงหมู่บ้านซาเลเซีย หมู่บ้านกสิกรรมเก่าแก่ และเดินเรื่อยเปื่อยท่ามกลางบ้านเรือนที่ว่างเปล่า กระจกหน้าต่างแตก สีหลุดล่อน ปูนกะเทาะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ในบ้านหลังหนึ่ง เราเห็นภาพเลนินตกอยู่บนพื้น มีตุ๊กตาเด็กเล่นตัวหนึ่งแขวนอยู่บนผนังห้องนอนด้วยสายไฟรัดรอบคอดูราวกับบ่วงเพชฌฆาตนอกบ้านมีตุ๊กตาอีกตัวนั่งอยู่ใกล้ซากรถเข็นเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นอนุสรณ์อันน่าขนลุกอย่างแรก ๆ ที่เราเห็นในช่วงสอง

วันแรกในเขตกีดกัน ตุ๊กตาหลายตัวที่ใส่เสื้อผ้าไม่ครบนอนกางแขนขาอยู่ในเปล หน้ากากป้องกันแก๊สพิษห้อยลงมาจากต้นไม้ มีคนจัดฉากขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความน่าสะพรึงกลัวของหายนะอันเงียบงัน เป็นฝีมือของผู้มาเยือนที่ไม่รู้ว่าเป็นคนที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามา คนที่อยู่ที่นี่ หรือพวกที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายกันแน่

สวนสนุกที่มีกำหนดเปิดในวันแรงงานหรือห้าวันหลังเกิดเหตุระเบิดกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

เมื่อเดินต่อไปตามถนน  เราก็ต้องแปลกใจเมื่อพบผู้อยู่อาศัยเข้าคนหนึ่ง  โรซาเลียเป็นหนึ่งในบรรดาคนที่ทางการเรียกว่า “ผู้คืนถิ่น”  หรือผู้สูงอายุหัวดื้อที่ยืนกรานจะปักหลักอยู่ในที่ที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน  เมื่อมัคคุเทศก์ของเราร้องขอ  เธอจึงเล่าถึงความลำเค็ญที่เลวร้ายยิ่งกว่า  อาณาบริเวณ รอบๆ เมืองเชอโนบิล (หรือโชร์โนบิลตามที่รู้จักกันในยูเครน)  เป็นส่วนหนึ่งของที่ลุ่มชื้นแฉะปรีเปียตในแนวรบด้านตะวันออก  สมรภูมิสู้รบอันนองเลือดที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง  เธอยังจดจำเรื่องทหารเยอรมันและความแร้นแค้นภายใต้การปกครองของสตาลินได้ดี

“คุณมองไม่เห็นรังสีหรอกค่ะ”  โรซาเลียบอกเป็นภาษายูเครน  ก่อนจะเสริมว่า  เธอไม่คิดจะมีลูก  ก่อนจะจากกัน  โรซาเลียพาเราไปดูสวนผักของเธอ  แล้วบอกว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้คือด้วงมันฝรั่งโคโลราโด

มีอะไรบางอย่างหยั่งรากลึกอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์ซึ่งดึงดูดให้เราสนใจใคร่รู้และอยากไปเยือน ศูนย์กลางแห่งหายนะที่ไม่มีใครคิดจินตนาการถึง  ตั้งแต่เมืองโบราณปอมเปอี  สมรภูมิแอนทีทัม  ไปจนถึงค่ายกักกันเอาช์วิทซ์  แต่ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด  ผลพวงของการทำลายล้างด้วยนิวเคลียร์ทำให้เราตะลึงงัน  การแตกตัวของอะตอมเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีก่อนกลายเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่สุดของมนุษยชาตินับตั้งแต่การค้นพบไฟ  การปลดปล่อยพลังงานในนิวเคลียสของอะตอม ทำให้โลกมีแหล่งพลังงานที่แทบไร้ขีดจำกัด  แม้การนำนิวเคลียร์ไปใช้เป็นครั้งแรกในสงครามจะเป็นสิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธ  แต่หลังจากเหตุการณ์ที่เมืองฮิโระชิมะและนะงะซะกิ  ได้มีความพยายามครั้งใหญ่ในการนำพลังงานนิวเคลียร์ไปผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งมีต้นทุนที่ “ถูกเกินกว่าจะวัด” เพื่อปลดปล่อยโลกจากพันธนาการแห่งเชื้อเพลิงฟอสซิล

นักท่องเที่ยวตั้งเครื่องวัดกัมมันตภาพรังสีหรือไกเกอร์เคาน์เตอร์ไว้บนอนุสาวรีย์เพื่อแสดงให้เห็นว่า ตัวอนุสาวรีย์และโครงสร้างโค้งหนัก 32,000 ตันที่จะสร้างขึ้นใหม่จะช่วยกันรังสีจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์

กว่า 50 ปีต่อมา  วงแหวนหมุนวนของอะตอมที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและชัยชนะของเทคโนโลยีกลับกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้างและความหวาดกลัวแห่งยุคสงครามเย็น  ทุกปีในฤดูใบไม้ผลิ  นักท่องเที่ยวจะมุ่งหน้าสู่ประตูสตัลเลียนทางตอนใต้ของรัฐนิวเม็กซิโกที่เปิดให้เข้าชมทรินิตีไซต์  ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการทดลองจุดระเบิดปรมาณูเป็นครั้งแรกเพื่อดูว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อนำไปทิ้งที่ญี่ปุ่น  รายการทัวร์ประจำเดือนที่พาไปเยี่ยมชมสถานที่ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในรัฐเนวาดากลาง ทะเลทรายโมฮาวี  ซึ่งมีการจุดระเบิดอาวุธนิวเคลียร์กว่าหนึ่งพันลูกในช่วงสงครามเย็นมีผู้จองเต็มตลอดทั้งปี 2014

แล้วเราก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับมหันตภัย นิวเคลียร์  เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองเชอร์โนบิลซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุหายนะทางนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลกได้รับการประกาศให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการในปี 2011

“การท่องเที่ยวเชิงนิวเคลียร์” (Nuclear Tourism) แนวคิดที่ผุดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับหายนะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ดูช่างไร้สาระสิ้นดี  แต่นั่นคือสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผม  บวกกับความพิศวงจากการได้เห็นเมืองเล็กเมืองน้อย  และเมืองใหญ่ทั้งเมืองที่มีประชากรเกือบ 50,000 คนอย่างปรีเปียต  ถูกทิ้งร้างอย่างรีบเร่ง  และตกอยู่ในเงื้อมมือบงการของธรรมชาติ

หน้ากากป้องกันแก๊สพิษซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในโรงเรียนยุคโซเวียต ถูกทิ้งกระจัดกระจายอยู่บนพื้น และกลายเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม นักท่องเที่ยวคนหนึ่งนำหน้ากากมาใส่ถ่ายรูปด้วย

ห่างจากที่นี่ไปหนึ่งร้อยกิโลเมตรในกรุงเคียฟ  เมืองหลวงของยูเครน  การประท้วงนองเลือดนานหลายสัปดาห์ นำไปสู่การขับไล่ประธานาธิบดีและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์  รัสเซียซึ่งให้การหนุนหลังประธานาธิบดีผู้ตกจากบัลลังก์  ตอบโต้ด้วยการผนวกคาบสมุทรไครเมีย กองทัพรัสเซียเคลื่อนพลประชิดพรมแดนด้านตะวันออกของยูเครน  และแล้วเชอร์โนบิลก็กลับกลายเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดอย่างน่าประหลาด

นักท่องเที่ยวเดนตายคนอื่นๆ ในรถตู้คันเดียวกับผมมาที่นี่ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป  จอห์น  หนุ่มน้อยจากลอนดอน เป็นพวกชอบ “ท่องเที่ยวแบบสุดขั้ว”  การผจญภัยครั้งต่อไปของเขาคือการจองทัวร์ไปเกาหลีเหนือ  เกวินจากออสเตรเลียกับจอร์จจากเวียนนาร่วมมือกันสร้างงานศิลปะชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของการกักบริเวณ

ในช่วงเช้าของวันที่ 26 เมษายน ปี 1986  ระหว่างการปิดเครื่องตามกำหนดเพื่อซ่อมบำรุงตามปกติ เจ้าหน้าที่กะกลางคืนรับภาระในการทดสอบระบบรักษาความปลอดภัยที่สำคัญของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หน่วยที่สี่ ซึ่งล่าช้าจากกำหนดเมื่อวันก่อน  ทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์มากกว่ายังประจำการอยู่อย่างพร้อมเพรียง

คนเก็บขยะและเจ้าหน้าที่กู้ภัยเก็บข้าวของที่ใช้ประโยชน์ได้ไป ส่วนที่เหลือยกให้ธรรมชาติจัดการ ตุ๊กตาตัวหนึ่งที่วางไว้ใกล้ม้าลื่นในสนามเด็กเล่น เป็นเครื่องเตือนใจอันน่าพรั่นพรึงถึงชุมชนที่หายไป

ภายในเวลาเพียง 40 วินาที  พลังงานที่เพิ่มระดับขึ้นอย่างกะทันหันทำให้เครื่องปฏิกรณ์ร้อนเกินขนาด  จนชุดแท่งเชื้อเพลิงบางส่วนเกิดรอยแตก  และทำให้เกิดระเบิดขึ้นสองครั้งอย่างรวดเร็ว  หลังคายางมะตอยของโรงไฟฟ้าเริ่มลุกไหม้  และที่น่าพรั่นพรึงกว่านั้นคือ  แท่งแกรไฟต์ที่เป็นแกนของเครื่องปฏิกรณ์ก็ลุกไหม้ขึ้นเช่นเดียวกัน พวยควันหนาทึบและอนุภาคกัมมันตรังสีพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ  และเริ่มเคลื่อนตัวไปทางเหนือสู่เบลารุสและสแกนดิเนเวีย  ภายในเวลาไม่กี่วัน  ฝุ่นกัมมันตรังสีได้แพร่กระจายไปเกือบทั่วทั้งทวีปยุโรป

ตลอดทั้งคืน  ทีมนักดับเพลิงและนักกู้ภัยต้องเผชิญกับภยันตรายที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน  ได้แก่  เปลวไฟ ควัน  และแกรไฟต์ที่ลุกไหม้  สิ่งที่พวกเขาไม่อาจมองเห็นหรือรู้สึกได้กระทั่งหลายชั่วโมงหรือหลายวันต่อมา  เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากกัมมันตภาพรังสีหรือยาพิษที่มองไม่เห็น  อันได้แก่  ไอโซโทปของธาตุซีเซียม  ไอโอดีน สตรอนเชียม  พลูโทเนียม  ปริมาณการสัมผัสรังสีที่พวกเขาได้รับรวมแล้วมากเท่ากับ 16 ซีเวิร์ต  ไม่ใช่ “ไมโคร” หรือ “มิลลิ” แต่เป็นทั้งซีเวิร์ตเต็มๆ  ซึ่งเป็นรังสีปริมาณมหาศาลเกินกว่าที่ร่างกายของมนุษย์คนหนึ่งจะทานทนได้ คนงานโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลกับครอบครัวยืนมองแสงไฟลุกโพลงจากระเบียงห้องบนตึกสูงในเมืองปรีเปียต  ซึ่งอยู่ห่างออกไปสามกิโลเมตร

ผู้มาเยือนมักแอบเปลี่ยนแปลงฉากที่พบเห็น เช่น ตุ๊กตาพังยับเยินตัวหนึ่งที่อยู่เป็นเพื่อนวลาดิมีร์ เลนิน

ในตอนเช้าสุดสัปดาห์ก่อนวันแรงงาน  ชาวเมืองต่างออกไปทำกิจวัตรของตน  ไม่ว่าจะจับจ่ายซื้อของ  เข้าห้องเรียนตอนเช้าวันเสาร์  หรือปิกนิกในสวนสาธารณะ  กระทั่งเวลาผ่านไปแล้ว 36 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุจึงเริ่มมีการอพยพผู้คนออกจากเมือง  ชาวเมืองได้รับคำสั่งให้นำเสบียงติดตัวไปให้เพียงพอสำหรับเวลาสามถึงห้าวัน  และให้ทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ซึ่งเป็นการบอกเป็นนัยว่า  หลังจากเก็บกวาดทำความสะอาดอย่างรวดเร็วแล้ว  พวกเขาจะได้กลับบ้านอีกครั้ง  แต่นั่นไม่เคยเกิดขึ้น  ทีมลิควิเดเตอร์หรือหน่วยเคลียร์พื้นที่เข้าปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว  พวกเขาเริ่มไถตึกรามต่างๆ และกลบฝังดินชั้นบน  สุนัขหลายฝูงถูกยิงตายเมื่อพบเห็น และมีการอพยพผู้คนจากหมู่บ้านเกือบ 200 แห่ง

ยอดผู้เสียชีวิตในทันทีมีจำนวนน้อยอย่างน่าประหลาดใจ คนงานสามคนเสียชีวิตระหว่างเกิดการระเบิด  อีก 28 คน เสียชีวิตภายในหนึ่งปีจากพิษกัมมันตรังสี  แต่ผลกระทบส่วนใหญ่ค่อยๆเผยโฉมออกมาอย่างช้าๆ  จนถึงทุกวันนี้มีประชาชนประมาณ 6,000 คนที่สัมผัสรังสีในวัยเด็กจากการดื่มนมและอาหารอื่นๆ ที่ปนเปื้อนรังสีป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์  เมื่อเทียบกับข้อมูลที่รวบรวมจากฮิโระชิมะและนะงะซะกิ  อัตราการตายจากโรคมะเร็งโดยรวมของเชอร์โนบิลอาจเพิ่มขึ้นสองสามเปอร์เซ็นต์ในหมู่คนงานและชาวเมือง 600,000 คนที่ได้รับรังสีปริมาณสูงสุด  และอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรหลายพันคน

หลังเกิดเหตุ  มีการเร่งสร้างโครงสร้างคอนกรีตและเหล็กกล้าที่เรียกกันติดปากว่า “โลงศพศิลา” เพื่อครอบเครื่องปฏิกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย เมื่อโครงสร้างดังกล่าวเริ่มผุพังไปตามกาลเวลาและเกิดรอยรั่ว  จึงมีการลงมือสร้างสิ่งที่ได้รับการตั้งชื่ออย่างมองโลกในแง่ดีว่า นิวเซฟคอนไฟน์เมนต์ (The New Safe Confinement: NSC) หรือเกราะหุ้มใหม่ โครงสร้างนี้เป็นหลังคาโค้งหนัก 32,000 ตันที่สร้างขึ้นบนรางเพื่อให้เคลื่อนเข้าที่ได้เมื่อประกอบแล้วเสร็จ  ซึ่งคาดว่าจะเป็นปี 2017  ในระหว่างนี้ภารกิจทำความสะอาดยังคงดำเนินต่อไป  รัฐบาลยูเครนวางแผนจะรื้อถอนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด  และทำความสะอาดที่เกิดเหตุให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2065

ของเล่นเด็กวางกระจัดกระจายอยู่บนลานกว้างที่มีมอสส์ขึ้นปกคลุมที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง

สิ่งที่ผมจดจำได้มากที่สุดระหว่างใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ที่ปรีเปียต  คือเสียงและความรู้สึกของการเดินยํ่าไปบนเศษกระจก  ผ่านไปตามแผนกต่าง ๆในโรงพยาบาลเก่าทรุดโทรมที่มีเตียงคนไข้กับเตียงเด็กอันว่างเปล่า  และห้องผ่าตัดที่เกลื่อนกล่นไปด้วยขยะ เดินยํ่าไปบนกองหนังสือเก่าครํ่าคร่าตามทางเดินในโรงเรียน

อีกห้องหนึ่ง  มีหน้ากากป้องกันแก๊สพิษห้อยลงมาจากเพดานและวางเป็นกองพะเนินอยู่บนพื้น  มัคคุเทศก์ของเราบอกว่า  เป็นไปได้ว่าเหล่า “นักสะกดรอย”  หรือผู้ที่แอบเข้ามาในเขตกีดกัน เป็นผู้ทิ้งหน้ากากเหล่านี้ไว้  ในตอนแรกพวกเขาอาจเข้ามาเพื่อคุ้ยหาของจากกองขยะ  และต่อมาก็เพื่อความตื่นเต้น  คนเหล่านี้ดื่มนํ้าจากแม่นํ้าปรีเปียต  ลงว่ายนํ้าในอ่าวปรีเปียต  ท้าทายรังสีและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย  นักสะกดรอยคนหนึ่งที่ผมพบในเวลาต่อมาที่กรุงเคียฟเล่าว่า  เขาเข้าไปที่เชอร์โนบิลร่วมร้อยครั้งแล้ว  “ผมนึกจินตนาการว่าเขตกีดกันนี่ต้องกว้างใหญ่ไพศาล  ถูกทำลายย่อยยับ  ว่างเปล่า  แล้วก็น่าสยดสยองมาก”  แต่สิ่งที่เขาพบเห็นกลับเป็นป่าไม้และแม่นํ้า ทั้งหมดนี้คือความงดงามที่ปนเปื้อน

เมืองที่เคยได้รับการยกย่องในฐานะเมืองต้นแบบของโซเวียตและมีประชากรเกือบ 50,000 คนอย่างปรีเปียต กำลังผุพังลงอย่างช้าๆ ไม่ต่างจากหมู่บ้าน 200 แห่งในเขตกีดกัน

คณะทัวร์ของเราเดินไปตามขอบสระว่ายนํ้าสาธารณะอันแห้งผาก  พื้นโรงยิมที่ผุกร่อน  และตึกแล้วตึกเล่าที่ล้วนทรุดโทรมผุพังไปตามกาลเวลาและจากการถูกทิ้งร้าง  เราแวะชมซากปรักของศูนย์วัฒนธรรม  พลางนึกจินตนาการถึงเสียงดนตรีและเสียงหัวเราะที่เคยทำให้สถานที่แห่งนี้ เปี่ยมชีวิตชีวา  และแวะไปที่สวนสนุกเล็กๆ ที่มีชิงช้าสวรรค์สีเหลือง  พวกเราเดินขึ้นบันได 16 ขั้น  ยํ่าไปบนเศษกระจกแตกๆ ไปจนถึงชั้นบนสุดของอพาร์ตเมนต์ที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง  ราวบันไดเหล็กถูกถอดออกเพื่อการกู้ภัย ประตูหลายบานที่ถูกชะแลงงัดเปิดออกสู่ช่องลิฟต์โล่งๆ

จากบนหลังคา  เรามองออกไปยังสิ่งที่เคยยิ่งใหญ่ ถนนสายหลักที่มีต้นไม้ขนาบสองข้างและสวนสาธารณะที่ได้รับการออกแบบภูมิทัศน์เป็นอย่างดี  ทว่าบัดนี้กลับรกชัฏ เมืองปรีเปียตที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องในฐานะเมืองต้นแบบของโซเวียต  เป็นสวรรค์ของคนงาน  กำลังถูกผืนดินกลืนกินและกลบฝังอย่างช้าๆ

เราใช้เวลาของค่ำคืนนั้นในตัวเมืองเชอร์โนบิล  เมืองที่เก่าแก่กว่าปรีเปียตถึง 800 ปี  แต่ปัจจุบันดูเหมือนค่ายทหารยุคสงครามเย็น  เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของปฏิบัติการทำความสะอาดที่ดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด  ห้องพักในโรงแรมของผมกับเครื่องเรือนและข้าวของเครื่องใช้ดูราวกับฉากแสดงภาพชีวิตยุคโซเวียตที่พบเห็นในพิพิธภัณฑ์ ระดับรังสีในห้องของผมไม่ได้มากไปกว่าที่วัดได้ที่บ้านเลย

นักศึกษาจากประเทศฟินแลนด์เล่นสนุกและหลบฝนด้วยการสวมหมวกกระดาษฟอยล์ขณะโพสท่าถ่ายรูปในรถบัมป์กลางสวนสนุกที่รกเรื้อชุ่มฉํ่า

พอถึงเช้าวันรุ่งขึ้น  พวกเราก็แทบไม่เหลือความกังวลเรื่องความเสี่ยงของการสัมผัสรังสี  ขณะยืนอยู่ใต้ซากของหอหล่อเย็นแห่งหนึ่ง  มัคคุเทศก์ก็เร่งพวกเราและร้องตะโกนว่า  “นี่ๆ  จุดที่มีรังสีสูงอยู่ทางนี้!  ไปดูกันเถอะ!” เธอยกไม้กระดานที่ปิดบริเวณที่มีรังสีสูงขึ้นมา  แล้วพวกเราก็ก้มลงไปพลางถือมาตรวัดรังสีที่ส่งเสียงดังเป็นบ้าเป็นหลังแข่งกันเพื่อดูว่าใครจะวัดได้สูงที่สุด  เครื่องของผมอ่านค่าได้ 112 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง หรือสูงเป็น 30 เท่าจากที่วัดได้ตอนอยู่บนเครื่องบิน  พวกเราอยู่ที่นั่นกันเพียงนาทีเดียวเท่านั้น

จุดที่วัดรังสีได้สูงสุดในวันนั้นคือบริเวณใบตักสนิมเขรอะของรถไถดินที่ไถกลบดินชั้นบนที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี  เราวัดค่าได้ 186 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง  สูงเกินกว่าจะอ้อยอิ่งอยู่แถวนั้น  แต่ยังเทียบไม่ได้เลยกับปริมาณที่นักดับเพลิงและเจ้าหน้าที่เคลียร์พื้นที่ผู้น่าสงสารได้รับในคืนนั้น ระหว่างนั่งรถกลับกรุงเคียฟ  มัคคุเทศก์รวมค่าปริมาณรังสีสะสมของพวกเราได้เท่ากับสิบไมโครซีเวิร์ตตลอดช่วงสุดสัปดาห์ของเราในเชอร์โนบิล

เผลอๆ ผมอาจได้รับรังสีปริมาณมากกว่านั้นระหว่าง บินกลับบ้านก็เป็นได้

เรื่อง จอร์จ จอห์นสัน
ภาพ เกิร์ด ลุดวิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2557

อ่านเพิ่มเติม เกิดอะไรขึ้นในหายนะนิวเคลียร์แห่งเชอร์โนบิล

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.