แมงมุมบางตัวก็เลี้ยงลูกด้วยนมได้เหมือนกันนะ

ถึงจะเหมือนมาก แต่เจ้านี้ไม่ใช่มดหรอกนะ มันคือ แมงมุมกระโดด ตัวเต็มวัยเพศเมีย Toxeus magnus
ภาพถ่ายโดย Rui-Chang Quan

ถึงแม้ว่าการให้น้ำนมและการดูแลลูกโดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า แต่สัตว์บางชนิดอย่าง แมงมุมกระโดด ก็มีพฤติกรรมอย่างเดียวกัน

สัตว์เช่น ม้าลาย ค้างคาว หมี วาฬ เสือ และมนุษย์ต่างก็เลี้ยงดูลูกๆ ที่เพิ่งเกิดด้วยน้ำนมซึ่งเป็นคุณสมบัติที่บ่งบอกถึงการเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตามงานวิจัยที่ได้มีการเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ในวารสาร Science ค้นพบว่า “แมงมุมกระโดด” สัตว์ประจำถิ่นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Toxeus magnus เลี้ยงดูลูกๆ ของมันด้วยของเหลวที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่หลั่งออกมาจากร่างกายของมันเอง ของเหลวนี้ประกอบไปด้วยสารละลายของน้ำตาล ไขมัน และโปรตีน ดังนั้นเหล่านักวิจัยที่นำโดยนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ Rui-Chang Quan จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน จึงเรียกของเหลวนี้ว่า ‘นม’

บางทีสิ่งที่น่าตกใจที่สุดเลยก็คือการที่นักวิจัยค้นพบว่าลูกแมงมุมจะดูดนมจากแม่ไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะถึงช่วงโตเต็มวัยแล้วก็ตาม “มันแปลกมากเลยครับ” Jonathan Pruitt นักนิเวศวิทยาด้านวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัย McMaster ประเทศแคนาดา กล่าว “ข้อเท็จจริงที่ว่าระยะการดูแลลูกถูกยืดออกไปจนกระทั่งลูกแมงมุมตัวเมียโตเต็มวัยนั้นค่อนข้างน่าตกใจ”

ผลเชิงวิวัฒนาการที่เกิดจากพฤติกรรมนี้ก็เป็นที่น่าตกใจเช่นเดียวกัน

สามารถพบเห็นเหล่าลูกแมงมุมอายุ 3 วันใต้ท้องของตัวแม่ได้ที่รังในห้องทดลอง
ภาพถ่ายโดย Rui-Chang Quan

 

การเลี้ยงดูที่ดี

ความคิดเรื่องน้ำนมแมงมุม ถึงจะฟังดูแปลก แต่มันก็สอดคล้องอย่างมีเหตุผลกับสิ่งที่รู้กันอยู่แล้วในเรื่องการดูแลลูกของแมงมุม

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่รักสันโดษ แต่มีแมงมุมหลายชนิดเลยที่ดูแลลูกๆของมัน “แมงมุมเพศเมียจะปกป้องรังห่อหุ้มไข่และไม่กินอะไรเลยในขณะที่ทำแบบนั้น” Pruitt ผู้ที่ศึกษาพฤติกรรมเชิงสังคมของแมงมุมได้กล่าว “แมงมุมบางตัวจะเปิดห่อหุ้มไข่และให้ลูกๆ ขึ้นขี่บนหลังไปรอบๆ คล้ายตอนเราเล่นชี่ม้าส่งเมือง”

ตัวเมียอื่นๆ จะทำกระทั่งสำรอกอาหารที่ถูกย่อยก่อนแล้วให้ลูกๆ กินเหมือนที่นกทำ Pruitt เสริมอีกว่า แม่แมงมุมบางตัวถึงขนาดย่อยบางส่วนของร่างกายตัวเองเพื่อให้ลูกๆ ได้ดื่มกิน

แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้พบเห็นว่าแมงมุมเลี้ยงดูลูกของมันด้วยของเหลวคล้ายนม

แมงมุมเพศเมียชนิด Toxeus magnus กำลังเตรียมรังอยู่ในป่า
ภาพถ่ายโดย Rui-Chang Quan

 

มีนมด้วยเหรอ?

“ถ้าความหมายโดยกว้างของนมคือสารประกอบที่ให้สารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายลูกๆ แล้วล่ะก็ มันก็ถือว่าเป็นนม” Amy Skibiel  นักสรีรวิทยาด้านการหลั่งน้ำนมจากมหาวิทยาลัยไอดาโฮยืนยัน

“มันก็ไม่ไช่เรื่องที่น่าแปลกในนัก ถ้าคิดถึงเรื่องสัตว์ไม่เลี้ยงลูกด้วยนมที่ผลิตของเหลวคล้ายนมได้” Skibiel กล่าว นกบางชนิด เช่น นกพิราบ นกเขา นกฟลามิงโก และ เพนกวิน ต่างก็ผลิตสารประกอบที่มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์เยื่อบุที่เรียกว่า “นมจากกระเพาะพัก หรือ crop milk” เป็นอาหารให้กับลูกของพวกมัน แมลงสาบเองก็เป็นที่รู้จักเรื่องการหลั่งของเหลวคล้ายนมที่พวกมันใช้ในการหล่อเลี้ยงตัวอ่อนที่กำลัง

ถึงแม้ว่า ในกรณีของแมงมุมชนิด Toxeus magnus Quan และทีมของเขาจะชี้ว่าพฤติกรรมของแมงมุมชนิดนี้มีความคล้ายกับการให้นมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า ลูกแมงมุมที่เพิ่งออกจากไข่นั้นต้องพึ่งพานมเพียงอย่างเดียวเพื่อได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนในช่วง 20 วันแรกหลังจากเกิด

ในการทดลองหนึ่ง นักวิจัยลองปิดอวัยวะส่วนที่เรียกว่า epigastric furrow ที่ใช้ในการวางไข่และขับนมของแม่แมงมุม ปรากฏว่าตัวอ่อนทั้งหมดตายภายในเวลา 11 วันแรกหลังเกิดมา

(เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดลองการเลี้ยงลูกด้วยนมของแมงมุม Toxeus magnus ได้ที่วิดีโอด้านล่าง)

 

การดูแลช่วงวัยเจริญพันธุ์

แม้หลังจากที่ตัวอ่อนนั้นโตพอที่จะหาอาหารได้เอง นักวิจัยค้นพบว่าแมงมุมวัยเยาว์เหล่านี้ยังคงใช้ประโยชน์จากน้ำนมของแม่ต่อไปอีกประมาณ 20 วัน และเฉพาะตัวเมียเท่านั้นที่ได้รับการดูแลต่อหลังจากถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์

ในระยะเจริญพันธุ์และโตเต็มวัย การไม่ได้รับนมอีกเป็นการบังคับให้แมงมุมใช้เวลาออกหาอาหารมากขึ้นชี้ให้เห็นว่านมนั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญต่อการมีชีวิตรอดอีกต่อไป ถึงอย่างนั้น นักวิจัยยังคงสงสัยว่า เมื่ออยู่ในป่า พฤติกกรรมการให้นมยังคงส่งผลดีต่อการรอดชีวิต เพราะ การหาอาหารนอกรังจะเพิ่มความเสี่ยงในการถูกล่าให้สูงขึ้น

แต่ ในขณะที่นมอาจจะเป็นสิ่งสำคัญในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ของชีวิต มันก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกมันมีชีวิตรอด ปรากฎว่าการดูแลจากแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมนั้นทำงานด้วยกันเพื่อเป็นหลักประกันให้ลูกๆ มีโอกาสอยู่รอดในระยะยาว ในการทดลองที่แม่แมงมุมถูกปล่อยให้อยู่ในรังแต่ไม่ปล่อยให้ดูแลลูกๆ หลังจากผ่านไป 20 วัน ลูกแมงมุมจะมีปรสิตน้อยกว่าลูกแมงมุมในรังที่แม่ถูกเอาไปตั้งแต่ต้น

ในจำนวนลูกแมงมุม 187 ตัว จาก 19 รังที่นักวิจัยสังเกต ผลปรากฏว่า อัตราการมีชีวิตรอดของลูกแมงมุมที่ได้รับทั้งการดูแลจากแม่และจากนมมีค่าสูงถึงร้อยละ 70 ขณะที่การนำตัวแม่ออกไปจะลดอัตราการมีชีวิตรอดลงถึงประมาณร้อยละ 50

แมงมุมจิ๋วกินเหยื่อที่ใหญ่กว่ามันถึง 3 เท่า

 

นมที่ล้นออก

เนื่องจากแม่แมงมุมก็สะสมหยาดน้ำนมไว้ในตัวรังเองด้วย ชี้ให้เห็นว่านมอาจจะมีหน้าที่อื่นที่มากกว่าการให้คุณค่าทางโภชนาการ “มันยังมีคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบอีกมากที่อาจช่วยให้เราระบุได้ว่ามันมีความคล้ายคลึงกับการให้นมในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรึเปล่า” สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นมอาจไม่ได้วิวัฒน์มาเพื่อการให้สารอาหารตั้งแต่ต้น แต่อาจเป็นวิธีที่แม่ใช้ในกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของลูกแรกเกิดโดยการจัดเตรียมแอนตี้บอดี้หรือไม่ก็ช่วยในการคงความชุ่มชื้นของไข่เหมือนที่ตุ่นปากเป็ดทำ

ในขณะที่วิวัฒนาการของของเหลวคล้ายน้ำนมนอกวงศ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะยังหายาก แต่ดูเหมือนว่านี้จะไม่ใช่แมงมุมชนิดเดียวที่สามารถทำแบบนี้ได้ “ยิ่งผมคิดถึงเรื่องนี้ ผมก็ยิ่งคิดว่ามันน่าจะมีโอกาสที่เกิดอะไรแบบนี้ในหลายๆที่” Pruitt กล่าว “จากแมงมุมกว่า 50,000 สายพันธุ์ที่มีอยู่ คุณพนันได้เลยว่าสายพันธุ์นี้ไม่ใช่สายพันธุ์เดียวที่ทำได้อย่างแน่นอน”

 


อ่านเพิ่มเติม

 

บรรพบรุษโบราณของแมงมุมมีหาง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.