ยามบ่ายที่อากาศหนาวเหน็บในเดือนกุมภาพันธ์ ผมหมอบอยู่ตรงปากหุบเหว เฝ้ามอง เสือดาวหิมะ แก่ตัวนั้นด้วยกล้องส่องทางไกล มันครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่บนชั้นหินขั้นบันไดบนหน้าผาฝั่งตรงข้าม ปุยหิมะบางเบาล่องลอยเข้าไปในโกรกธาร บางครั้งบางคราว เมื่อผมขยับกล้องส่องทางไกล เรือนขนสีเทาควันไฟลายดอกสีดำถ่านของมันจะกลืนหายไปในเหลี่ยมเขาและแสงเงา “ว้า มันหายไปอีกแล้ว” ผมกระซิบ ประเสนชิตเงยหน้าจากกล้องแล้วชี้มือ ผมมองตามนิ้วเขากลับไปตรงที่เสือนอนอยู่นั่นเอง
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ช่างภาพ ประเสนชิต ยาทวะ ติดตามเสือเพศผู้ตัวนี้ด้วยการเดินเท้าและกล้องดักถ่ายภาพบนพื้นที่สูงในหุบเขาสปิติทางตอนเหนือของอินเดีย อีกหลายสัปดาห์ถัดจากนี้ เราจะไต่ลงไปตามหุบผาชัน เดินลากสังขารขึ้นสู่ช่องเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ ปีนหน้าผาน้ำแข็ง รวมระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร แต่วันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของผมในกิบเบอร์ แถมยังรู้สึกวิงเวียนจากการขึ้นมายังระดับความสูง 4,200 เมตร เจ้าเสือยังยอมลดตัวมาปรากฏให้เห็น
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ปริศนาอันยืนยงของเอเวอเรสต์
กิบเบอร์กลายเป็นจุดชมเสือดาวหิมะที่มีโอกาสสมหวังค่อนข้างสูง แต่การเดินทางมาที่นี่ไม่เหมาะกับคนใจเสาะ หมู่บ้านนี้เข้าถึงได้ทางถนนคดเคี้ยวที่มีเพียงเลนเดียวตัดเข้าไปในเทือกเขาชันอย่างเหลือเชื่อ และต้องไปในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่เสือดาวหิมะตามเหยื่อลงมายังระดับความสูงที่ต่ำกว่า นั่นหมายความว่าเส้นทางส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง
วันก่อนหน้านี้ ตอนที่ผมกับประเสนชิตขับรถขึ้นไป ผมพบว่าตัวเองกำมือจับประตูไว้แน่น ขณะเขาบังคับรถให้แล่นไปตามโค้งหักศอกที่มีน้ำแข็งเกาะและโค้งมุมอับ บางครั้งเราเห็นกรวดร่วงกรูลงมาบนถนนข้างหน้า แล้วเขาก็หยุดรถ มองขึ้นไปบนหน้าผาเพื่อดูลาดเลาว่า จะมีหิมะถล่มลงมาหรือไม่ ผ่านไปครู่เดียว เราก็เดินทางต่อ ส่วนผมกำมือจับประตูแน่นขึ้นอีก
แต่ผมกลับลืมความกังวลไปหมดสิ้น ตอนที่เราเฝ้ามองเสือดาวหิมะกวาดหางหนามีลายจุดไปมา ขณะที่มันสำรวจอาณาเขต ไม่นาน เสียงกระซิบกระซาบถูกส่งต่อเป็นทอดๆ ไปตามแถวนักท่องเที่ยวและไกด์ ไอเบ็กซ์ที่มีเขาราวดาบโค้งสามตัวปรากฏตัวบนหน้าผาห่างจากเสือดาวหิมะประมาณหนึ่งร้อยเมตร เราเฝ้ามองขณะเสือได้กลิ่นไอเบ็กซ์ เกร็งตัว แล้วเชิดหัวขึ้นช้าๆ มันปีนป่ายหน้าผาอย่างระแวดระวังไม่รีบร้อน “มันตั้งใจปีนขึ้นไปให้อยู่สูงกว่าไอเบ็กซ์ จะได้ไล่ไปริมผาครับ” ประเสนชิตกระซิบ
ราว 20 นาทีผ่านไป พระอาทิตย์กำลังจะตกและอุณหภูมิลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง เสือดาวหิมะเข้าใกล้ไอเบ็กซ์ในระยะ 30 เมตร เสียงกล้องถ่ายภาพเงียบลง ดูเหมือนทุกคนจะกลั้นหายใจ รอเสือดาวหิมะพุ่งตัวออกไล่ แต่แล้วเสียงหวีดแหลมก็ทำลายความเงียบ ไอเบ็กซ์ตกใจกลัว “นั่นเป็นเสียงร้องเตือนภัยของไอเบ็กซ์ครับ” ประเสนชิตบอก “ไอเบ็กซ์ตัวหนึ่งต้องได้กลิ่นเสือ” เสือดาวหิมะเดินลงเขาอย่างเงียบๆ จนลับสายตาไป
ย้อนหลังไปเมื่อปี 1996 ชารู มิชรา ซึ่งตอนนั้นเป็นนักศึกษาอายุ 25 ปีจากเดลี มาที่นี่เป็นครั้งแรก กิบเบอร์เป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีกันอยู่ไม่กี่สิบครอบครัว อาศัยในบ้านที่ปลูกด้วยดินกับไม้ ตั้งกระจายเป็นหย่อมๆ บนไหล่เขาชันเหนือหุบเขาสปิติ ชาวบ้านกิบเบอร์เลี้ยงปศุสัตว์มารุ่นแล้วรุ่นเล่า และเช่นเดียวกับคนเลี้ยงสัตว์ทั่วเทือกเขาหิมาลัย พวกเขาถือว่าเสือดาวหิมะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อวิถีชีวิตของพวกเขา
ชารูตั้งใจจะศึกษาผลกระทบที่สัตว์เลี้ยงมีต่อสัตว์ป่าในหุบเขาสปิติ เขาเช่าห้องและใช้เวลากว่าสองปี สำรวจทุ่งเลี้ยงสัตว์บนที่สูงนี้ และยังฝังตัวใช้ชีวิตในหมู่บ้าน ตอนที่โรงเรียนมัธยมปลายขาดครูคณิตศาสตร์ ตกกลางคืน เขาสอนคณิตศาสตร์ พอมีคนเจ็บป่วย เขาขับรถพาคนป่วยลงเขามายังคลินิก เขาช่วยทำงานบ้าน ช่วยตามหาปศุสัตว์ที่หายไปจนพบ ลงแข่งคริกเก็ต ร่วมกิจกรรมของชมรมเยาชนในหมู่บ้าน
หลังจากอาศัยอยู่ในกิบเบอร์ได้ระยะหนึ่ง ชารูร้องขอบรรดาผู้อาวุโสในหมู่บ้านให้กันพื้นที่บางส่วนของทุ่งเลี้ยงสัตว์บนภูเขาให้สัตว์ป่า เหล่าผู้อาวุโสเห็นด้วย และเมื่อไม่ต้องแย่งชิงแหล่งอาหารกับปศุสัตว์ จำนวนแกะภูเขาก็เพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าตัว จากนั้น เขาเสนอวิธีจัดการกับเสือดาวหิมะที่คุกคามสัตว์เลี้ยงแบบไม่ต้องให้ถึงตาย แต่พวกผู้อาวุโสปฏิเสธอย่างสุภาพ ทินลีย์บอกว่า “พวกเขาเกรงใจชารูกันทุกคนครับ แต่เสือดาวหิมะเป็นเหมือนคำสาป ไม่มีใครสงสารเสือหรอกครับ”
ชารูผู้ไม่ย่อท้อ หันไปหาคนหนุ่มสาวในกิบเบอร์ และเสนอแนวคิดเรื่องโครงการประกันภัยปศุสัตว์ “เราไม่รู้หรอกครับว่าประกันภัยคืออะไร” ทินลีย์พูด ชารูอธิบายว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะจ่ายเงินเทียบเท่าห้าดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อประกันภัยลูกจามรี ซึ่งเมื่อโตเต็มที่จะมีมูลค่าความเสียหายหากถูกเสือดาวฆ่าประมาณ 340 ดอลลาร์ และเพื่อป้องกันการเรียกสินไหมทดแทนเท็จ เจ้าของจะถูกขอให้สาบานต่อหน้าพระฉายาลักษณ์องค์ทาไลลามะว่า เสือดาวหิมะเป็นตัวการ
“เราไม่แน่ใจหรอกครับว่าวิธีนี้จะได้ผล” ทินลีย์บอก แต่พอถึงปลายปีแรก มีการจ่ายสินไหมทดแทนสี่ครั้ง “การจ่ายเงินต้องทำต่อหน้าคนทั้งหมู่บ้าน” เขาเล่า “พอบรรดาผู้อาวุโสเห็นว่าจ่ายจริง ทุกคนก็เข้าร่วมโครงการ”
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หน้าต่างบานใหม่สู่สภาพอากาศ
ตั้งแต่นั้นมา โครงการประกันภัยซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยชาวบ้านในท้องถิ่น รวมถึงทินลีย์ และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิคุ้มครองธรรมชาติหรือเอ็นซีเอฟ (Nature Conservation Foundation: NCF) ของอินเดีย และกองทุนเสือดาวหิมะ (Snow Leopard Trust) ก็แพร่หลายไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ในหุบเขาสปิติ
ความพยายามเหล่านี้นำไปสู่รายงานการพบเห็นเสือดาวหิมะรอบกิบเบอร์มากขึ้น และการมาถึงของนักท่องเที่ยวชมเสือดาวหิมะชุดแรกๆ เมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นปีแรกที่ถนนเปิดใช้งานในฤดูหนาว ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 200 คน ใช้จ่ายเงินในหมู่บ้านประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ชารูซึ่งตอนนี้เป็นผู้อำนวยการบริหารกองทุนเสือดาวหิมะใส่ใจกับการยกย่องคนท้องถิ่นที่เขายังสัมพันธ์ใกล้ชิด “ผมเสนอโครงการ แล้วเอ็นซีเอฟก็จัดหาเงินทุนบางส่วนให้” เขาบอกตอนที่ผมไปพบเขาที่สำนักงานในบังคาลอร์ “แต่ชาวบ้านในกิบเบอร์และหุบเขาสปิติเป็นคนที่สมควรได้รับการยกย่องสำหรับความสำเร็จในการอนุรักษ์ที่นั่นครับ”
อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2563
สั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/506990