หยุดการกลั่นแกล้ง หรือ Bullying

การ ” กลั่นแกล้ง ” ส่งผลระยะยาวต่อทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ

ผลกระทบจากการ กลั่นแกล้ง ในวัยเด็กสามารถส่งผลระยะยาวตลอดชีวิต โดยส่งผลต่อทั้งเด็กที่ถูกกระทำ และผู้ที่กระทำเด็กคนอื่น จากรายงานของมหาวิทยาลัยดุ๊กที่เผยแพร่ในงานประชุมวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ เผยว่า คนช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุ 19 -21 ปี) ที่มีประสบกาณ์ถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็ก มีปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว แต่ในทางกลับกัน คนที่เป็นผู้กระทำผู้อื่น มีสุขภาพจิตดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนอายุเท่ากัน

เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันแสดงพฤติกรรมกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมชั้น

รายงานชิ้นนี้ใช้ข้อมูลพื้นฐานมาจากการศึกษาระยะยาวใน Great Smoky Mountains ที่เริ่มต้นทำการศึกษาในปี 1993 มีเด็กเข้ารับการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,420 คน จากทางตะวันตกของรัฐนอร์ทแคโรไลนา การศึกษานี้นำโดย วิลเลียม โคปแลนด์ รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์ดุ๊ก

จากรายงานสรุปว่า เยาวชนวัย 19-21 ปี ที่เคยถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็กจะแสดงปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว เช่น ความบกพร่องในการควบคุมตัวเอง โรคหวาดระแวง และโรคซึมเศร้า “คนที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งมักจะมีปัญหาระยะยาวต่อทั้งสุขภาพและสุขภาพใจ” โคปแลนด์และผู้ร่วมวิจัย เขียนในรายงาน

ปัจจุบัน มีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตรวจวัดหาปริมาณซี-รีแอ็กทีฟโปรตีน (ซีอาร์พี) ในกระแสเลือด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และความบกพร่องในระบบเผาผลาญของร่างกาย ในช่วงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว และวัยผู้ใหญ่ ซีอาร์พีคือสัญญาณหนึ่งในการบ่งบอกถึงความเครียดในร่างกายเรา

(ชีวิตจะเป็นอย่างไรหากเกิดเป็นเด็กผู้หญิงในฉนวนกาซา?)

เด็กที่ถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง มักมีพฤติกรรมแปลกแยก และส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาว

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคนมีปริมาณซีอาร์พีเพิ่มขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้น แต่คนที่ถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็กมีปริมาณที่สูงกว่าคนอื่นๆ และคนที่เคยแกล้งผู้อื่นมีปริมาณต่ำสุด คนที่เคยผ่านประสบการณ์ทั้งสองอย่างมีปริมาณซีอาร์พีอยู่ระหว่างกลางของค่าสูงสุดและต่ำสุด ส่วนคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งเลย ปริมาณซีอาร์พีแทบไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากผลการทดลองนี้ นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า “คนที่ชองแกล้งคนอื่นจะได้รับการยกระดับทางสังคม หรือคิดว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง” โคปแลนด์กล่าว แต่ แคเทอรีน บรัดชอว์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองความรุนแรงในเยาวชน รัฐแมรีแลนด์ กล่าวว่า เราควรระวังเรื่องการใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพมาเป็นตัววัดการแสดงออกของพฤติกรรม บางครั้ง คนที่มีมีพฤติกรรมก้าวร้าว อาจจะมีค่าชี้วัดทางชีวภาพที่ต่ำก็ได้

“มีการศึกษาทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของเด็กที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้ง ว่ามีพฤติกรรมการแสดงออกที่มีปัญหา” บรัดชอว์กล่าว เช่น เด็กที่ชอบกลั่นแกล้งคนอื่นมีแนวโน้มที่จะเติบโตมาเป็นสมาชิกกลุ่มอันธพาล พกอาวุธ และหนีเรียน

(เปิดภาพเก่าของหลากหลายห้องเรียนทั่วโลก)

เรื่องของพฤติกรรมไม่สามารถใช้มิติทางชีววิทยามาเป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว พฤติกรรมเป็นศาสตร์ที่ซับซ้อนและเกิดจากบริบทมากมายทางสังคมมากี่ยวข้อง ไม่ได้เกิดจากสารชีวเคมีในตัวเด็กเพียงอย่างเดียว ถ้าหากรวมเรื่องจริยธรรมเข้าไปด้วย ตัวชี้วัดทางชีวภาพคงไม่สามารถตอบคำถามของเราได้ทั้งหมด บรัดชอว์กล่าวปิดท้าย

*บทความนี้ได้รับแปลและเรียบเรียงให้กระชับและชัดเจน

อ่านบทความต้นฉบับได้ที่ Bullying’s Long-Term Effects Seen in Both the Bullied and the Bully

 


อ่านเพิ่มเติม

ผมก็เป็นอเมริกันคนหนึ่ง เสียงจากชาวญี่ปุ่นในค่ายกักกันสหรัฐฯ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.