ไขปริศนาเบื้องหลังภูเขาน้ำแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าน่าอัศจรรย์

ไขปริศนาเบื้องหลัง ภูเขาน้ำแข็ง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าน่าอัศจรรย์

ในโลกที่ปั่นป่วนไปด้วยปรากฏการณ์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาพภาพหนึ่งที่ดูดีเป็นระเบียบก็ปรากฏแก่สายตา นั่นคือ ภูเขาน้ำแข็ง ลูกหนึ่งที่องค์การนาซาถ่ายและแชร์บนโลกออนไลน์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา แทนที่จะเป็น “ภูเขา” สมชื่อ แต่ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้กลับเป็นแผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแทบจะสมบูรณ์แบบ ผนังด้านข้างเรียบเสมอกันทำมุม 90 องศา มันช่างดูเหมือนเค้กน้ำแข็งก้อนหนึ่งที่ลอยอยู่ใกล้ชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรแอนตาร์กติก

เครื่องบินสำรวจของปฏิบัติการที่เรียกว่า IceBridge ขององค์การนาซ่าพบเห็นภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ระหว่างการบินสำรวจทางอากาศปกติ โครงการนี้เป็นความคิดริเริ่มด้านงานวิจัยที่มุ่งทำความเข้าใจว่า ความเปลี่ยนแปลงในขั้วโลกส่งผลต่อภูมิอากาศของโลกอย่างไร โดยอาศัยเครื่องบินของกองบินวิจัยในการรวบรวมข้อมูล

นาซ่าทวีตข้อมูลว่า “มุมตัดที่เรียบคมของภูเขาน้ำแข็งลูกนี้และพื้นผิวที่ราบเรียบบ่งบอกว่า มันน่าจะเพิ่งแตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็ง (ice shelf)” หิ้งน้ำแข็งที่ว่าคือ หิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี (Larsen C) นั่นเอง

Ted Scambos นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตโบลเดอร์ กล่าวว่า ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้วัดสัดส่วนคร่าวได้คือ สูง 40 เมตร ยาวระหว่าง 1.5 ถึง 3 กิโลเมตร “ถ้าคุณคำนวณปริมาตรน้ำแข็งทั้งหมดของมัน คงพอเอาไปเติมสระว่ายน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในแคลิฟอร์เนียได้หลายเท่า” เขาบอกและเสริมว่า แต่มันเป็นเพียงน้ำแข็งชิ้นเล็กๆ เมื่อเทียบกับน้ำแข็งอื่นๆ ที่ล่องลอยอยู่ในแอนตาร์กติกา

หิ้งน้ำแข็งเต็มไปด้วยรอยแตกและรอยแยก Kristin Poinar นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล อธิบาย ภูเขาน้ำแข็งรูปร่างแบนพบเห็นได้บ่อยกว่าที่คนทั่วไปคิดกัน เธอเสริมว่า “หากมองจากระยะไกล ภูเขาน้ำแข็งอาจดูเหมือนอะไรที่ขาวบริสุทธิ์ แต่ถ้าดูใกล้ๆ คุณจะเห็นว่ามันเต็มไปด้วยริ้วรอยและรอยแตก”

(รู้จักกับทวีปแอนตาร์กติกา)

Poinar เสริมว่า “หิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี เป็นหิ้งน้ำแข็งขนาดใหญ่ น้ำแข็งมีเวลามากพอที่จะแผ่ขยาย และกลายเป็นพื้นผิวที่เรียบอย่างสมบูรณ์แบบ” ดังนั้นเมื่อภูเขาน้ำแข็งแตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งขนาดใหญ่ตามแนวรอยแยกที่มีอยู่เดิม  มันจึงดูเหมือนแผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ โดยทั่วไปเราจะเห็นภูเขาน้ำแข็งเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่โผล่พ้นน้ำ ขณะแตกตัวออก ด้านล่างของภูเขาน้ำแข็งอาจมีลักษณะราบเรียบ แต่ในไม่ช้ากระแสน้ำมหาสมุทรจะเปลี่ยนแปลงมันไปอย่างรวดเร็ว

Eric Rignot นักวิจัยที่ห้องปฏิบัติการจรวดขับดัน (Jet Propulsion Lab) ของนาซ่าเห็นด้วยว่า ขนาดที่ใหญ่โตของหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี ทำให้เกิดภูเขาน้ำแข็งรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า “ภูเขาน้ำแข็งที่แตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี นั้นมีขนาดใหญ่มาก พวกที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าสมบูรณ์หรือมีลักษณะเป็นแนวตรงยาว เกิดจากรอยแยกที่ทอดตัวพาดผ่านหิ้งน้ำแข็งเป็นแนวตรงยาวหลายร้อยกิโลเมตร” เขาบอกและเสริมว่า “ในกรีนแลนด์ เราไม่พบเห็นภูเขาน้ำแข็งลักษณะนี้มากนัก เพราะอากาศที่นั่นอุ่นกว่า ภูเขาน้ำแข็งจึงแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อีกทั้งธารน้ำแข็งต่างๆ ยังมีขนาดเล็กกว่าด้วย”

(ชมรอยแตกของหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี กันแบบชัดๆ)

ภาพถ่ายจากภารกิจบินสำรวจ Ice Bridge พบภูเขาน้ำแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบนราบทางขวา โดยล่องลอยอยู่ท่ามกลางน้ำแข็งทะเลในน่านน้ำนอกหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี มุมตัดที่เรียบคมและพื้นผิวที่ราบเรียบของภูเขาน้ำแข็งลูกนี้บ่งชี้ว่า มันอาจเพิ่งแตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็ง (ภาพถ่าย: NASA ICE)

 

แอนตาร์กติกากำลังละลาย

หิ้งน้ำแข็ง (ice shelf) คือน้ำแข็งลอยน้ำก้อนมหึมาที่ยึดติดอยู่กับมวลแผ่นดินที่อยู่ใกล้ๆ และหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี ก็เป็นหิ้งน้ำแข็งล่าสุดที่อยู่ในแนวหน้าของวิกฤติโลกร้อน   หิ้งน้ำแข็งลาร์เซน เอ พังทลายลงเมื่อปี 1995 ตามมาด้วยหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน บี ในปี 2002

เมื่อปี 2017 ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ยักษ์เทียบเท่ารัฐเดลาแวร์ (5,130 ตารางกิโลเมตร) แตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี ก้อนน้ำแข็งหนักล้านล้านตันเป็นการแตกตัวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่บันทึกได้ เมื่อน้ำแข็งแตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมทำให้หิ้งน้ำแข็งมีเสถียรภาพน้อยลง และนักวิทยาศาสตร์เกรงว่า เราอาจเห็นการพังทลายอีกครั้ง เช่นที่เคยเกิดกับหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน เอ และลาร์เซน บี มาแล้ว

หิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี เป็นหิ้งน้ำแข็งหนึ่งในจำนวนมากมายที่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศกำลังจับตามอง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิที่ขั้วโลกอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์ก็เป็นกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า แอนตาร์กติกากำลังละลาย

โดย ซาราห์ กิบเบนส์

 

อ่านเพิ่มเติม

แอนตาร์กติกาที่คุณไม่เคยเห็น

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.