ภาพถ่ายปลาทูวางจำหน่ายบนเข่งที่ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ ขอบคุณภาพถ่ายจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Short_mackerel
เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่เฟซบุ๊กของ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง เผยแพร่รายงานเรื่อง การศึกษา ไมโครพลาสติก ในปลาทู บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง
จากการเก็บตัวอย่างปลาทูจากท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู โดยวิธีการผ่าพิสูจน์และตรวจสอบพบว่า มีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูในลักษณะที่เป็นเส้นใย แท่งสีดำ และกลิตเตอร์
ผลวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเดียวกับที่มนุษย์โลกกำลังเผชิญ คือเรื่องการพบไมโครพลาสติก หรือพลาสติกจิ๋ว ปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมที่เป็นอาหารของมนุษย์ และถ้ามนุษย์บริโภคอาหารที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนในปริมาณที่มากก็จะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม สัตว์ประเภทต่างๆ หรือพืชที่บริโภคไมโครพลาสติกจิ๋วเข้าไปก่อนหน้าเรานี้ ย่อมได้รับผลกระทบจากไมโครพลาสติกที่มนุษย์เป็นผู้ผลิต ทั้งผลกระทบต่อร่างกาย ระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ และส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ก่อนที่ผลกระทบของไมโครพลาสติกจะมาจบลงที่ตัวมนุษย์ในฐานะผู้บริโภค
ทำไมพลาสติกจิ๋วเหล่านี้ถึงเป็นวาระสำคัญ
เพราะเม็ดพลาสติกเหล่านี้จะดูดซับสารเคมีเอาไว้ สิ่งมีชีวิตในทะเลจะกินไมโครพลาสติกเป็นอาหาร เพราะเข้าใจผิดว่าอนุภาคพลาสติกคือแพลงก์ตอน ปลาขนาดเล็กที่กินพลาสติกเหล่านี้จะถูกปลาขนาดใหญ่กินต่อ และในที่สุดแล้วพลาสติกจะมาจบลงบนจานอาหารของเราเอง
ไมโครพลาสติกเหล่านี้ยังใช้เป็นส่วนประกอบในหลายผลิตภัณฑ์ เช่นในโฟมล้างหน้าและในยาสีฟัน (เม็ดสีฟ้าขนาดเล็กที่ถูกโฆษณาว่าช่วยในการขัดผิวหนังหรือฟันทั้งหลาย) ปัจจุบันในหลายประเทศ สินค้าที่ประกอบด้วยไมโครพลาสติกเหล่านี้ถูกแบนแล้ว
ผลกระทบต่อไมโครพลาสติกที่มีต่อร่างกาย
อาจมีผู้คนสงสัยว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพลาสติกอยู่ในร่างกายของเรา มันจะเข้าสู่กระแสเลือดไหม จะซึมผ่านเข้าไปในลำไส้ หรือแค่เข้ามาและออกจากร่างกายเราไปโดยที่ไม่มีผลกระทบอะไร
ลีอาห์ เบนเดลล์ นักพิษวิทยาเชิงนิเวศของมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ในแคนาดา กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องจำเอาไว้ว่าไมโครพลาสติกนั้นอาจมาในรูปแบบของชิ้นส่วนเล็กๆ ก้อนกลมเล็กๆ เส้นใย และแผ่นฟิล์ม มันสามารถก่อร่างขึ้นได้จากสสารจำนวนหนึ่งที่มีการเติมแต่งทางเคมี (chemical additives) ซึ่งมีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ เธอจึงบรรยายถึงไมโครพลาสติกว่ามัน “มีหลายลักษณะ” บางชนิดก็ประกอบไปด้วยสารเคมีที่อาจเป็นพิษ ในขณะที่บางชนิดก็เป็นพาหะสำหรับแบคทีเรียและปรสิตเข้าสู่ร่างกาย
ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์มากมายพยายามที่จะหาว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้อันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในทะเลมากแค่ไหน ในปี 2017 งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าปลาแอนโชวี่มากมายกินไมโครพลาสติกเข้าไป เพราะกลิ่นที่คล้ายสาหร่ายทำให้เข้าใจผิดว่าขยะเหล่านี้คืออาหาร ปลาเล็กๆ จะถูกปลาใหญ่กินต่อตามห่วงโซ่อาหาร สร้างความกังวลว่าสุดท้ายแล้วไมโครพลาสติกจากขยะที่เราทิ้งจะวนกลับมายังมื้ออาหาร และส่งผลต่อสุขภาพตัวของเราเอง
รายงานอีกชิ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาพบว่าขณะนี้ 90% ของเกลือที่ใช้ปรุงอาหาร ล้วนปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติกแล้ว
อาหารที่ปราศจากพลาสติก
มนุษย์บริโภคไมโครพลาสติกผ่านหลายช่องทาง มันอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านการกินอาหารทะเล การหายใจเข้าอากาศที่อยู่รอบตัว หรือบริโภคอาหารที่มีร่องรอยของพลาสติกซึ่งมาจากบรรจุภัณฑ์ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องอยากที่เราจะหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติก
ท่ามกลางงานวิจัยมากมาย เส้นใยขนาดเล็ก (Microfibers) คือพลาสติกที่ถูกพบเจอได้ง่ายที่สุด เส้นใยขนาดเล็กนั้นลอยออกมาจากสิ่งทอ เช่น ไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเมื่อมีการซักล้างเสื้อผ้า จะมีเส้นใยขนาดจิ๋วหลุดไปตามระบบนิเวศผ่านน้ำเสียจากการซักล้าง รองลงมาคือชิ้นส่วนพลาสติกเล็กๆ ที่มาจากกระเป๋าหรือหลอด
ขยะพลาสติกซึ่งส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำหรือถูกทิ้งขว้างบนบก ไหลลงสู่มหาสมุทรในอัตราเฉลี่ยประมาณปีละเก้าล้านตัน ตามผลการศึกษาเมื่อปี 2015 ของเจนนา แจมเบ็ก จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย แสงแดด ลม และคลื่น ค่อยๆกร่อนทำลายพลาสติกในมหาสมุทรให้เป็นเศษเสี้ยวที่มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น หนึ่งในสิ่งที่เรายังไม่รู้และเป็นข้อวิตกใหญ่หลวงที่สุดคือ ไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดไม่ถึงห้ามิลลิเมตรเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อปลาอย่างไรบ้าง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปลาคือแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนเกือบสามพันล้านคน รวมทั้งนกทะเลและสัตว์ทะเลอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน แต่ผลการสำรวจชี้ว่า ประชากรปลาทั่วโลกลดลงครึ่งหนึ่งตั้งแต่ปี 1970 การลดลงส่วนใหญ่เกิดจากการทำประมงเกินขนาด แต่มลพิษรวมถึงน้ำที่อุ่นขึ้นและกลายเป็นกรดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ส่งผลกระทบมากขึ้นด้วย
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัดว่า พลาสติกเหล่านั้นก่ออันตรายอย่างไร แต่การทดสอบในห้องปฏิบัติการพบเงื่อนงำบางอย่าง พลาสติกลดความอยากอาหารและอัตราการเติบโตของปลาที่กินพลาสติกเข้าไป นั่นอาจส่งผลต่อการสืบพันธุ์และจำนวนประชากรได้ในที่สุด
มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 นี้ มหาสมุทรของเราจะมีขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลา หากเราไม่ต้องการให้ลูกหลานในอนาคตต้องเผชิญกับวิกฤติดังกล่าว เริ่มต้นลดการใช้พลาสติกตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกประเภทที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่าง หลอดพลาสติก แก้วน้ำ และช้อนส้อม
เรียบเรียงขึ้นจาก
ความรู้ประจำวัน: การเดินทางของไมโครพลาสติก
ขยะพลาสติก : ภัยคุกคามใหม่แห่งท้องทะเล
รู้หรือไม่ มนุษย์กินพลาสติกเข้าไปทีละนิดโดยไม่รู้ตัว
แพลงก์ตอนในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยไมโครพลาสติก