รับมือไฟป่า ได้เร็วขึ้น ด้วยระบบ Sensor IOT

ทำไม…ต้องเข้าป่าเพื่อไปติดตั้งเสาสัญญาณ

ทำไม…ถึงต้องเดินทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย

กับภารกิจเดินเท้าเข้าป่า… เพื่อ รับมือไฟป่า ด้วยเทคโนโลยี Sensor IOT

ปัญหาไฟป่าทางภาคเหนือที่ลุกลามอย่างหนักเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มตระหนักถึงความรุนแรงที่อาจทวีเพิ่มมากขึ้นหากเรายังไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง ล่าสุดก็มีข่าวดีเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างทีม AIS NEXT ร่วมกับหน่วยงานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศ ญี่ปุ่น ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาและ รับมือไฟป่า ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สิ่งนี้คืออุปกรณ์ตรวจจับการเกิด ไฟป่าที่มีชื่อว่า “Sensor IOT” ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการ “โครงการดาวเทียม IOT เพื่อตรวจจับไฟป่า”

รู้เร็ว จัดการเร็ว ก็จบปัญหา และ รับมือไฟป่า ได้เร็ว

ทีม AIS NEXT เริ่มทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในสังคมมาได้สองปีแล้ว ปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องไฟป่า อันเนื่องมาจากสถานการณ์ไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อช่วงต้นปี 2563 ทำให้ต้องลงมือศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะผลกระทบจากไฟป่าเริ่มคุกคามเข้ามาสู่เมือง วันนี้จึงต้องเริ่มต้นให้เกิดองค์ความรู้ก่อน ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคน “รู้เร็ว” นี่คือหัวใจหลักของโครงการนี้ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องการจัดการกำลังพลของเจ้าหน้าที่ให้ “จัดการเร็ว” ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจมีการนำอากาศยานไร้คนขับมาร่วมจัดการด้วยอีกทางหนึ่ง โดยตอนนี้กำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้กันอยู่

Sensor IOT มีหน้าที่ตรวจจับสัญญาณ ไฟป่า ควันไฟ ความชื้น ที่ออกแบบโดยคนไทย

การทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับการเกิดไฟป่า “Sensor IOT

อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาไฟป่าไม่ได้เกิดผลกระทบเพียงแค่ในป่า แต่ยังส่งผลมาสู่วิถีชีวิตของผู้คนในเมือง โดยเฉพาะการเกิดปัญหาฝุ่นควันที่สร้างมลภาวะทางอากาศอย่างเลวร้าย การแก้ปัญหาตามแนวคิดของโครงการนี้จึงเป็นการลดระยะเวลาในการแจ้งเตือนการเกิดไฟป่า ปัจจุบันเรารู้ช้ามาก การจัดการเรื่องควันไฟจึงเป็นไปอย่างช้าๆ ต้องใช้เวลาแจ้งเตือนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง กว่าเจ้าหน้าที่จะทราบแหล่งที่เกิดไฟป่า บางครั้งไฟก็ลุกลามขยายพื้นที่เป็นวงกว้างโดยที่ไม่อาจควบคุมได้ ดังนั้นหากเรารู้เร็ว จัดการได้เร็ว ก็สามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนการเกิดไฟป่ามายังโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เลย เจ้าหน้าที่สามารถจัดกำลังคนและวางแผนปฏิบัติการดับไฟป่าได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า กล่าวคือเรารู้ว่าไฟป่ามักเกิดในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งอากาศแห้ง มีใบไม้เป็นเชื้อเพลิงสะสมอย่างดี และมีความเข้มของแสงอาทิตย์มากขึ้น เราจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าพื้นที่นั้นๆมีแนวโน้มจะเกิดไฟป่าได้หรือไม่ โดยใช้อุปกรณ์ตรวจจับความชื้น ความเข้มของแสง ควัน หรือประกายไฟ ซึ่งทีมงานได้คิดค้นอุปกรณ์ทั้งหมดมาใส่ไว้ในตู้อุปกรณ์ตรวจจับเพียงตู้เดียว และประเทศไทยเป็นที่แรกๆ ที่คิดทำโครงการนี้

ทีมงานกำลังแนะนำการใช้งานให้กับเจ้าหน้าที่

หลักการทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับการเกิดไฟป่าคือ มี Sensor Node กระจายติดตั้งตามจุดเสี่ยงที่ เคยเกิดปัญหาไฟป่าซ้ำซากทั่วผืนป่าที่ทำการทดลอง โดยมีหน้าที่จับสัญญาณไฟ ความร้อน อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ เมื่อเครื่องตรวจจับพบสัญญาณที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟป่า ก็จะส่งข้อมูลไปยังเสารับสัญญาณที่ติดตั้งอยู่บริเวณสูงสุดบนยอดเขา สัญญาณที่ตรวจจับได้จะถูกส่งมายังเสารับสัญญาณโทรศัพท์ที่อยู่ด้านล่างหรือบริเวณชุมชน จากนั้นก็จะส่งสัญญาณสู่ดาวเทียมแล้วส่งข้อมูลตรงไปยังเจ้าหน้าที่ควบคุมดาวเทียมภาคพื้นดิน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15 นาทีในการรับรู้ ที่ทำได้เร็วก็เพราะในพื้นที่ติดตั้งเสาสัญญาณนั้นต้องมีแม่ข่ายสัญญาณ 4 G ทำงานร่วมกับดาวเทียม แต่ในกรณีที่อยู่ในป่าลึกที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ก็ต้องใช้สัญญาณจากดาวเทียมมากกว่าหนึ่งดวงเพื่อช่วยประมวลผล ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการแจ้งเตือน แต่ด้วยรัศมีการติดตั้ง Sensor IOT ไกลถึง 12 กิโลเมตร และมีความครอบคลุมพื้นที่ การใช้ดาวเทียมอย่างเดียวในการแจ้งเตือนอาจมีไม่มาก

เส้นทางเดินป่าเป็นป่ารกและชัน

ภารกิจแบกเสาสัญญาณขึ้นสู่ยอดเขา

เสาสัญญาณต้องติดตั้งในพื้นที่ที่สูงที่สุดในผืนป่าแห่งนั้นและต้องไม่มีต้นไม้บัง ผืนป่าที่ทดลองติดตั้งอุปกรณ์นี้อยู่ที่จังหวัดแพร่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากไฟป่าเป็นลำดับต้นๆ เส้นทางเดินป่าเป็นภูเขาสูงชัน การเดินทางแบกสัมภาระขึ้นไปนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยระยะทางจากพื้นราบขึ้นสู่ยอดเขา 3.5 กิโลเมตร บนความสูง 1,060 เมตรจากระดับทะเล แต่ทีมงานก็ลงมือทำทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ สองคืนสามวันท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปรายอยู่ตลอดเวลา กลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เหล่านี้กลับมีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากให้ระบบนิเวศของบ้านเราดีขึ้น ทั้งที่พวกเขาไม่มีประสบการณ์เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางป่าลึกกันมาก่อน แต่ก็ผ่านกันมาได้ บอกได้เลยว่านับถือในน้ำใจจริงๆ

รังหมูป่า ระหว่างทางเดิน
ถาดใส่อาหารกลางวันจากธรรมชาติ
เสียมขุดหลุมจากธรรมชาติ

เมื่อติดตั้งเสาเสร็จ ต้องมีการเชื่อมต่อสัญญาณจากอุปกรณ์ตรวจจับ Sensor IOT

หลังการติดตั้งเสาและทดสอบสัญญาณทั้งระบบแล้ว เวลาผ่านไปเกือบสองสัปดาห์ในขณะที่พิมพ์ต้นฉบับนี้อยู่ก็ได้รับทราบข่าวดีว่าผลการทดสอบระบบประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจ และหวังว่าฤดูแล้งคราวหน้า เราจะรู้และจัดการปัญหาไฟป่าได้เร็วเหมือนดังที่หวัง เพื่อให้ผืนป่าอันเป็นที่รักยังคงอยู่สืบไป

 

ขอบคุณข้อมูล

คุณกาญจน์ชนิต ธำรงบุญเขต

คุณธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย


เรื่องและภาพ : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

อ่านเรื่องเกี่ยวกับไฟป่าเพิ่มเติมได้ที่

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.