วิถีอนุรักษ์ธรรมชาติแบบใหม่ในอเมริกา ตอนที่ 3: พื้นที่อนุรักษ์ในเมืองใหญ่

แค่อุทยานและเขตสงวนต่างๆ ยังไม่พอ การอนุรักษ์ผืนดิน น้ำ และสัตว์ป่า ในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น หมายถึงการปฏิบัติตามแนวทางอนุรักษ์ทุกหนแห่ง

อ่านตอนที่ 1 : สร้างแนวเชื่อมต่อคน-ธรรมชาติ ได้ที่ https://ngthai.com/environment/44919/appalachian-lace/

อ่านตอนที่ 2 : พาเกษตรกรท่องอ่าว ได้ที่ https://ngthai.com/environment/44930/farmers-to-the-bay/


ตอนที่ 3: พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติในเมืองใหญ่

ลำน้ำในยองเกอร์ส ธรรมชาติในเมืองเป็นทั้งความรื่นรมย์ของชาวเมืองและถิ่นอาศัยที่มีค่าของสิ่งมีชีวิตบางชนิด

ขึ้นชื่อว่าเมืองอาจดูเหมือนขั้วตรงข้ามกับ “ธรรมชาติ” มากเสียยิ่งกว่าเรือกสวนไร่นา ความที่เป็นถิ่นฐานของมนุษย์ มนุษย์จำนวนมากเสียด้วย ถ้าเราต้องการพื้นที่คุ้มครองขนาดใหญ่ การสนับสนุนให้คนอยู่อาศัยในเมืองที่แออัดจึงดูสมเหตุสมผล เราสามารถเกาะกลุ่มกันอยู่เหมือนหอยนางรม แบ่งที่ดินให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และเราก็สามารถเลือกวิถีชีวิตที่ส่งผลกระทบน้อยลง ใช้รถสาธารณะและทำความร้อนความเย็นให้อพาร์ตเมนต์ แทนที่จะเป็นบ้านทั้งหลัง

แต่การเพิ่มความหนาแน่นของเมืองจนถึงขีดสุด จะทำให้สวนสาธารณะ สวน และพื้นที่สีเขียวต่างๆ อันเป็นสถานที่ที่ช่วยฟอกอากาศ ให้ร่มเงาและความเย็นสบาย ทั้งเกื้อหนุนให้เราออกกำลังกาย หดหายไป งานวิจัยชี้ว่าการปรากฏของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆทำให้เรามีความสุข เอ็ดเวิร์ด โอ. วิลสัน นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญผู้ล่วงลับชี้ว่า ผลกระทบที่เขาเรียกว่า “ไบโอฟีเลีย” (biophilia) นี้เป็นผลทางชีวภาพ เราวิวัฒน์มาพร้อมกับพืชและสัตว์อื่นๆ และจำเป็นต้องมีพวกมันเพื่อความรู้สึกเติมเต็มในทางจิตวิทยา

ฉันอยู่กับสวนสาธารณะในเมืองมาทั้งชีวิต สวนเหล่านั้นเป็นที่ที่ฉันเรียนรู้คุณค่าของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อนของฉัน รอย ซาว ซึ่งสอนหนังสืออยู่ที่สถาบันแพรตต์ในบรูกลิน บอกว่า การหันมาดูนกในช่วงหลังของชีวิตทำให้เขามีความสุขขึ้น “มันทำให้ความรู้สึกของผมที่มีต่อการใช้ชีวิตในนิวยอร์กซิตีเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง” เขาบอกและเสริมว่า “มันทำให้เราตระหนักถึงฤดูกาลต่างๆ อย่างในช่วงปลายเดือนมีนาคมจะมีนกปากซ่อมดงอเมริกันในย่านมิดทาวน์ครับ”

นกกระสาใหญ่สีนํ้าเงินจับปลาไหลใกล้บันไดปลาโจนที่ปลาไหลใช้ว่ายขึ้นไปทางต้นนํ้า

พื้นที่สีเขียวกลางเมืองใหญ่ จากสวนบนดาดฟ้า สวนหย่อม ไปจนถึงต้นไม้ริมถนนที่ดูเป็นป่าเส้นตรง ใช่เพียงแต่ทำให้เรารู้สึกดีเท่านั้น การอนุรักษ์ที่แท้จริงอาจเกิดขึ้นในสถานที่เหล่านี้ก็ได้ โดยเฉพาะสำหรับนก พืช แมลง และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ นักธรรมชาติวิทยาคนหนึ่งศึกษาสวนพื้นถิ่นก็อตต์ลีบ ซึ่งมีเนื้อที่ 2.5 ไร่ในเบเวอร์ลีฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และบันทึกสิ่งมีชีวิตได้กว่า 1,400 ชนิด

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เสือคูการ์และเหยี่ยวออสเปรย์ ไปจนถึงเหาไม้หลายชนิด ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักของวิทยาศาสตร์มาก่อน พื้นที่แนวกันชนสีเขียวและลำธารกลางเมืองใหญ่อาจเป็นฉนวนหรือทางเชื่อมผ่านป่าคอนกรีตสำหรับพืช และสัตว์ บางครั้งเมืองอาจเป็นที่หลบภัยของพวกมันด้วยซ้ำ สวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์กในนิวยอร์กซิตีโด่งดังใน หมู่นักดูนกเพราะเป็นที่พักพิงของนกหลายชนิดที่อพยพขึ้นลงตามชายฝั่งตะวันออก นกทุ่งหญ้า เช่น นกดิ๊กชิสเซิล และนกกระจอกสะวันนา มีแนวโน้มจะได้ฟักไข่และเห็นลูกนกบินได้ในเขตเมืองรอบๆ ชิคาโกมากกว่าในชนบทของ รัฐอิลลินอยส์ เหยี่ยวเพเรกรินซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ในอเมริกาเหนือจนกระทั่งได้รับการเพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เติบโตในเมืองได้ดีกว่าในชนบท เพราะมีนกพิราบและนกอื่นๆ จำนวนมากเป็นแหล่งอาหาร

ไม่มีอะไรที่จะแสดงถึงความหวังของการอนุรักษ์ในเมืองได้งดงามไปกว่าการ “เปิดให้แสงส่องถึง” (daylighting) ลำน้ำสายหนึ่ง เราอาจหลงลืมไปได้ง่ายๆว่า เมืองทุกเมืองสร้างขึ้นบนระบบนิเวศต่างๆ และหลายเมืองก็มีแม่น้ำลำธาร ทอดผ่าน เมื่อเมืองขยายตัว ทางน้ำเหล่านี้มักถูกจำกัดให้ไหลในอุโมงค์หรือทางระบายน้ำที่สร้างครอบเอาไว้ ในยองเกอร์สซึ่งเรียกกันเล่นๆว่า “เขตที่หก” ทางเหนือของนิวยอร์กซิตี แม่น้ำซอว์มิลล์ แควสาขาของแม่น้ำฮัดสัน ค่อยๆกลายสภาพเป็นแหล่งน้ำปนเปื้อนมลพิษ ในทศวรรษ 1920 มีการสร้างลานจอดรถทับด้านบนแม่น้ำตรงช่วง 610 เมตรสุดท้ายก่อนไหลลงแม่น้ำฮัดสัน แต่นับตั้งแต่ปี 2012 ระยะ 244 เมตรของช่วงดังกล่าว ได้ไหลผ่านทางน้ำ ที่ได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์จนส่องประกายยามต้องแสงแดด ภายในสวนใหม่ที่มีพื้นที่ราว 5.6 ไร่ และล่าสุด ลำน้ำ ส่วนอื่นๆ ที่ฝังอยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ถูกขุดเปิดขึ้นมาแล้ว

ฉันนั่งรถไฟจากแมนแฮตตันไปยองเกอร์สเพื่อจะดูแม่น้ำสายนี้ ปรากฏว่าเรามองเห็นลำน้ำนั้นได้จาก ชานชาลาเลย พอออกจากสถานี ฉันก็พบกับบริจิตต์ กริสวอลด์ และแคนดิดา รอดริเกซ จากกราวนด์เวิร์กฮัดสันแวลลีย์ หนึ่งในองค์กรหลายแห่งที่ช่วยขุดลำน้ำนี้ เราข้ามถนนและชื่นชมทัศนียภาพ พลางสดับฟังเสียงอันน่าชื่นใจของน้ำที่ไหลรินอยู่ใจกลางเมือง เราเห็นบันไดปลาโจนที่ทำไว้ให้ลูกปลาไหลจากทะเล ซึ่งเรียกว่า “ปลาไหลแก้ว” เพราะลำตัวที่ใสแจ๋ว ว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อเติบใหญ่

โครงการซึ่งกลุ่มผู้นำชุมชนริเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน กลายเป็นความจริงที่ต้องอาศัยความพยายามอย่างสาหัส และแสนแพง ระยะ 244 เมตรแรกมีค่าใช้จ่าย 24 ล้านดอลลาร์ แต่นายกเทศมนตรีเมืองยองเกอร์ส ไมก์ สแปโน บอกว่าโครงการนี้คือ “ตัวเร่งปฏิกิริยาหลักในการพลิกฟื้นดาวน์ทาวน์ยองเกอร์สและเมืองทั้งเมือง” และเสริมว่ามันทำให้เกิดโครงการพัฒนาใหม่ๆ มูลค่ากว่าสี่พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงอพาร์ตเมนต์ 3,000 ยูนิต

หลังปลูกพืชพื้นถิ่นตลอดแนวตลิ่งของทางน้ำใหม่ สัตว์ป่าก็ปรากฏตัวราวกับร่ายมนตร์ มีคนเห็นหนูมัสก์ นกกระสา เต่า และเป็ดที่นี่เป็นประจำ ลำน้ำอีกช่วงมีระหัดหรือกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างแก่ไฟถนนใกล้ๆ

กริสวอลด์เคยทำงานในโครงการอนุรักษ์ที่มีแนวคิดดั้งเดิมกว่านี้ แต่เธออยากทำสิ่งที่เชื่อมโยงกับผู้คนกับ โลกของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ส่วนหนึ่งเพื่อให้พวกเขาใส่ใจโลกนั้นมากพอที่จะสู้เพื่อมัน นั่นหมายถึงการสร้างโลกแบบนั้น ไว้ในเมือง เธอบอกว่าไม่ใช่ทุกคนสามารถไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติชั้นนำได้

รอดริเกซพาฉันไปดูพื้นที่ที่ลากเป็นเส้นสีแดงในแผนที่ของยองเกอร์ส ซึ่งสงวนไว้สำหรับพลเมืองผิวสีที่ถูก สถาบันการเงินปฏิเสธเงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่นั่นมีต้นไม้น้อยกว่าและมีคอนกรีตมากกว่า การเข้าถึงธรรมชาติได้รับการจัดสรรอย่างไม่เท่าเทียม

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากพอที่จะช่วยปกป้องพวกมัน

รอดริเกซบอกว่า การเปิดสายน้ำให้แสงแดดส่องถึงทำให้ผู้คนได้มีสถานที่ผ่อนคลาย สร้างย่านคึกคักให้ธุรกิจ และปกป้องชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามอย่างปลาไหล ซึ่งเธอเรียกว่า “ประโยชน์สามต่อ” กริสวอลด์ทิ้งท้ายว่า “มีสิ่งสวยงามใจกลางเมืองยองเกอร์ส และมันเป็นของเราทุกคน”

เรื่อง เอมมา แมร์ริส

ภาพถ่าย สตีเวน วิลก์ส

ศิลปกรรม เดนีส เนสเตอร์

ติดตามสารคดี อเมริกาในวิสัยทัศน์ใหม่ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/559422


อ่านเพิ่มเติม ทะเลเปรียบดังลมหายใจของชาวชาวฝั่งแอฟริกาตะวันตก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.