วิถีอนุรักษ์ธรรมชาติแบบใหม่ในอเมริกา ตอนที่ 2: เพิ่มพื้นที่เกษตรอนุรักษ์ธรรมชาติ

วิถีอนุรักษ์ธรรมชาติแบบใหม่ในอเมริกา ตอนที่ 2: เพิ่มพื้นที่เกษตรอนุรักษ์ธรรมชาติ

แค่อุทยานและเขตสงวนต่างๆ ยังไม่พอ การอนุรักษ์ผืนดิน น้ำ และสัตว์ป่า ในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น หมายถึงการปฏิบัติตามแนวทางอนุรักษ์ทุกหนแห่ง

อ่านตอนที่ 1 : สร้างแนวเชื่อมต่อคน-ธรรมชาติ ได้ที่ https://ngthai.com/environment/44919/appalachian-lace/ 


ตอนที่ 2: พาเกษตรกรท่องอ่าว

ระบบนิเวศบางส่วนถูกคุกคามจากสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณต้นน้ำ ดังนั้น การอนุรักษ์ระบบนิเวศเหล่านั้น จึงต้องเป็นความพยายามทั่วทั้งลุ่มน้ำ

ไม่มีภาคส่วนไหนที่ต้องการแรงจูงใจที่ดีกว่าสำหรับการอนุรักษ์ชัดเจนเท่ากับภาคเกษตรกรรมซึ่งวิถีปฏิบัติที่ทำลายสิ่งแวดล้อมยังพบได้ทั่วไปอย่างน่าเศร้า สหรัฐอเมริกามีพื้นที่เกษตรกรรม 2,263 ล้านไร่ หรือเกือบร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ เกษตรกรจำนวนมาก หรืออาจเป็นส่วนใหญ่มองตนเองเป็นผู้พิทักษ์ผืนดินแล้ว แต่บ่อยครั้งที่พวกเขาพบว่า ความพยายามของตนถูกบั่นทอน

แรงกดดันทางการตลาด แรงจูงใจด้านกฎระเบียบที่ขวางโลก และวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ทำให้พวกเขาไม่อาจทำเกษตรในลักษณะที่ผลิตอาหารโดยไม่ต้องแลกกับความหลากหลายทางชีวภาพ

บ่อยครั้งที่ความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งอยู่ในฐานะสุ่มเสี่ยงไม่ได้อยู่ในไร่นาด้วยซ้ำ ลองดูอ่าวเชสพีกเป็นตัวอย่างก็ได้

ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสจากไร่นาในพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 100 ล้านไร่ ครอบคลุมหกรัฐ ไหลลงชะวากทะเลหรือปากแม่น้ำยาว 320 กิโลเมตร ถ้าลำน้ำต่างๆ ปนเปื้อนมลพิษ อ่าวก็จะปนเปื้อนไปด้วย และน้ำขุ่นสกปรก ก็ฆ่าหญ้าทะเลซึ่งก่อร่างเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์อื่นๆ กระทั่งการเปลี่ยนอ่าวทั้งอ่าวให้เป็นพื้นที่คุ้มครองก็ไม่อาจป้องกันภัยคุกคามจากต้นน้ำได้ นั่นเป็นสาเหตุที่มูลนิธิอ่าวเชสพีกมีสำนักงานอยู่เหนือขึ้นไปถึงเมืองแฮร์ริสเบิร์กในรัฐ เพนซิลเวเนียมาตั้งแต่ปี 1967 เพื่อ “ปกป้องอ่าว” ตามข้อความบนสติ๊กเกอร์ติดรถยนต์ที่คนคุ้นตาดี

การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำจะช่วยดูดซับสารก่อมลพิษเหล่านี้ได้ แต่การทำเกษตรที่ลดการปล่อยหรือชะล้างน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำมีหลายวิธี เราอาจปลูกพืชผลต่างๆโดยไม่พลิกหน้าดิน พืชคลุมดินช่วยรักษาดินให้คงสภาพขณะที่ดินพักตัว

การจำกัดปริมาณนํ้าเสียจากไร่นาช่วยปกป้องถิ่นอาศัยของสัตว์นํ้า เช่น หอยนางรม ได้

ฉันอยากเห็นฟาร์มตัวอย่างที่ทำสิ่งที่เป็นไปได้ มูลนิธิจึงแนะนำให้ฉันไปเยี่ยมรอน โฮลเทอร์ เกษตรกรผู้เลี้ยง โคนมรุ่นที่ห้าในแมริแลนด์  ฟาร์มโฮลเทอร์โฮล์มของเขาเป็นหนึ่งในกิจการขนาดเล็กแบบเดียวกันมากมายทางตะวันตกของบัลทิมอร์ ในฤดูใบไม้ผลิปี 1995 หลังเรียนจบด้านการส่งเสริมการเกษตรและ “การสวดภาวนาอย่างหนัก” โฮลเทอร์ต้อนปศุสัตว์ที่เดิมเลี้ยงไว้ในคอกเป็นส่วนใหญ่ให้ออกมาข้างนอก เขาแบ่งที่ดินที่ไถพรวนเพื่อปลูกธัญพืช เลี้ยงวัวออกเป็น 68 แปลง แปลงละ 7.5 ไร่ ปศุสัตว์จะถูกต้อนให้ย้ายที่ทุกวัน ทำให้ทุ่งหญ้าแต่ละส่วนถูกวัวแทะเล็ม ปีละไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ หญ้าจึงได้พัก รากได้หยั่งลึกและแข็งแรง ซึ่งช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดินได้ ขี้วัวเป็นปุ๋ยเพียงอย่างเดียวที่จำเป็นสำหรับทุ่งเลี้ยงสัตว์

เขาเล่าว่า เมื่อก่อนหลังฝนตก น้ำที่ไหลผ่านทุ่งของเขาชะดินจนกลายเป็นสีแดงขุ่น พอเขาเปลี่ยนมาใช้วิธี ที่เรียกว่า “การเล็มหญ้าตามแผนแบบองค์รวม” (holistic planned grazing) น้ำก็กลับมาใส ครั้นพอหญ้าหยั่งรากลึก และแตกแขนงหนาแน่น ชุมชนจุลชีพในดินเจริญเติบโต น้ำก็หยุดไหลโดยสิ้นเชิง ตอนนี้ที่ดินของเขาอุ้มน้ำได้มากกว่าเดิมสามเท่า

โฮลเทอร์ใช้พลั่วตักดินขึ้นมาให้ฉันตรวจดู “แบคทีเรียก่อตัวเป็นกาวจุลชีพครับ” เขาอธิบายอย่างภาคภูมิใจ ขณะที่ฉันเอาปลายนิ้วไล้เศษดินสีน้ำตาลไหม้ชื้นๆ ซึ่งเหมือนกาวและมีกลิ่นหอม “อินทรีย์วัตถุในดินเพิ่มจากร้อยละสามเป็นร้อยละหกครับ” โฮลเทอร์บอก ทุ่งหญ้าของเขามีชีวิตชีวาขึ้นสองเท่าจริงๆ

เกษตรกรอย่างโฮลเทอร์กระโจนเข้าสู่สิ่งที่ตัวเองไม่รู้จัก เมื่อเปลี่ยนมาใช้วิธีเลี้ยงสัตว์ตามระบบนี้ซึ่งมักเรียกว่า การเล็มหญ้าแบบหมุนเวียน (rotational grazing) มูลนิธิอ่าวเชสพีกพยายามทำให้การเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้นด้วยการ ให้ทุน คำแนะนำ และการติดต่อโครงการต่างๆ ที่ช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนบางส่วน โฮลเทอร์สมัครรับทุนของรัฐบาลเพื่อปรับปรุงระบบทดน้ำเข้าทุ่งหญ้าเล็กๆ ของเขา เขาไม่ต้องซื้อเมล็ดข้าวโพดหรือปุ๋ยอีก เขาไม่ต้องไถ หว่าน หรือเก็บเกี่ยว จึงแทบไม่ได้ใช้รถแทรกเตอร์ เขายังขายนมวัวออร์แกนิกที่เลี้ยงแบบให้กินหญ้าได้ราคาดีขึ้น เพราะผู้บริโภคยอมจ่ายแพงกว่า แต่นั่นก็ยังต้องใช้ความกล้า

พึงตระหนักว่า ขณะที่การเล็มหญ้าแบบหมุนเวียนสามารถรับมือผลกระทบของปศุสัตว์ที่มีต่อลุ่มน้ำต่างๆได้ แต่วัวที่กินหญ้ายังคงปล่อยมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอันตรายออกมา การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การปล่อยก๊าซเหล่านั้นอาจชดเชยได้ด้วยการกักเก็บคาร์บอนไว้ในทุ่งหญ้าตลอดไป แต่นักวิจัยคนอื่นๆ เชื่อว่า อนาคตในอุดมคติน่าจะเป็นการที่มนุษย์ลดการดื่มนมและกินเนื้อน้อยลง

เมื่อปี 2021 เกษตรกร เจ้าของไร่ปศุสัตว์ และผืนป่าเอกชน ได้รับเงินกว่า 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านโครงการอนุรักษ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 270 ล้านไร่ นี่เป็นตัวเลขมหาศาล แต่เราทำมากกว่านี้ได้อีก โครงการต่างๆที่จูงใจให้เกิดแนวปฏิบัติที่เป็นโทษก็ควรยุติเสีย การลงทุนที่ฉลาดขึ้นในการอนุรักษ์สำหรับการทำไร่นาและป่าไม้ช่วยเสริมพลังให้เกษตรกรกลายเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

มูลนิธิอ่าวเชสพีกไม่เพียงให้คำแนะนำและสนับสนุนชาวไร่ชาวนาเท่านั้น แต่ยังพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าเกษตรกรด้วยการพาไปที่อ่าวด้วย “ถ้าเราไม่รู้จัก เราก็จะไม่รัก” แมต โควอลสกี นักวิทยาศาสตร์ฟื้นฟูบอกและเสริมว่า “ถ้าเราไม่รัก เราจะไม่พยายามปกป้องมันครับ”

ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงลงเรืออะลูมิเนียมที่ลอยอยู่เหนือแนวกันคลื่นหอยนางรม (oysteer reef) ในอ่าวเชสพีก โดยมีเพื่อนร่วมทางเป็นเกษตรกรหกคนที่สวมเสื้อยีนแรงเลอร์กับบู๊ตกันน้ำ เราคุยกันเรื่องน้ำที่ถูกชะจากไร่นาลงสู่อ่าว และตอนนี้ก็คุยเรื่องการทำความสะอาดบริเวณปลายน้ำ คริส มัวร์ นักวิทยาศาสตร์ระบบนิเวศของมูลนิธิ กำลังอธิบายว่า ทำไมเขากับเพื่อนร่วมงานจึงสนับสนุนการฟื้นฟูหอยนางรม ปรากฏว่าหอยรสเลิศชนิดนี้เป็นตัวกรองชั้นเยี่ยมด้วย แต่ละตัวทำความสะอาดน้ำได้มากถึงวันละ 190 ลิตร “หอยนางรมทำงานดีกว่าเครื่องกรองในตู้ปลาอีกครับ” เขาบอก

ที่นี่เคยมีหอยนางรมมากมายพอจะทำความสะอาดน้ำทั้งหมดได้ในหนึ่งสัปดาห์ ด้วยการกินไนโตรเจนและฟอสฟอรัสจากน้ำเสียที่ถูกชะล้างลงมา และปล่อยส่วนเกินออกมาเป็นเม็ดๆ ซึ่งตกตะกอนลงสู่ก้นทะเล แต่ในทศวรรษ 1980 โรคและการจับปลาด้วยอวนลากอย่างต่อเนื่องทำลายแนวหอยนางรมที่สูงถึง 4.5 เมตรซึ่งใช้เวลาก่อตัวหลายพันปี

มัวร์กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิอีกคนดึงหอยนางรมที่เกาะเป็นกลุ่มขึ้นมา เปลือกหอยเปล่าฝาหนึ่งมีฟองน้ำเคราแดง สีสดเกาะอยู่ ส่วนอีกฝามีปูโคลนนิ้วดำซุกอยู่ข้างใน “ถ้าเห็นไส้เดือนโผล่ขึ้นมาจากดิน ฉันก็รู้ได้ค่ะว่าดินดี” เจนนี ฮูเวอร์ เกษตรกรจากเมานต์แอรีในรัฐแมริแลนด์ บอกและเสริมว่า “พอได้มาเห็นปูพวกนี้ ปูตัวเล็กตัวน้อยอยู่กับหอยนางรมจึงเป็นสัญญาณที่ดีมากจริงๆ ค่ะ”

กลุ่มพันธมิตรหอยนางรมเชสพีกซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรไม่แสวงกำไร องค์กรระดับชุมชน ผู้เลี้ยงและ ผู้เก็บหอย กำลังส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกล่องลอยน้ำและเพาะลูกหอยบนแนวหอยนางรมเทียมซึ่งทำจาก ฝาหอยที่ิถูกทิ้งหรือคอนกรีต โดยมีเป้าหมายคือหอยนางรม 10,000 ล้านตัว แนวกันคลื่นหอยนางรมเหล่านี้ อาจปกป้องชุมชนชายฝั่งจากคลื่นพายุซัดฝั่งที่รุนแรงขึ้นได้ นี่คือการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เราเอามาบีบมะนาวกินได้

มัวร์อธิบายว่า หากร่วมมือกัน เกษตรกรและผู้เพาะเลี้ยงหอยนางรมย่อมสามารถ “รักษาอ่าว” ไว้ได้ ใครสักคน เอามีดแซะหอยนางรมยาว 10 เซนติเมตรออกมาให้คนในกลุ่มดู เมื่อการสาธิตจบลงแล้ว หอยตัวนี้ก็พร้อมให้ใคร ที่อยากลิ้มลอง แต่ไม่มีใครอาสา ฉันเลยฉวยโอกาสนี้รับมากินด้วยความยินดีเสียเอง แล้วจดบันทึกรสชาติไว้สองสามคำ “คาวทะเล กลิ่นมอส กลิ่นดิน ดินอุดมสมบูรณ์”

เรื่อง เอมมา แมร์ริส

ภาพถ่าย สตีเวน วิลก์ส

ศิลปกรรม เดนีส เนสเตอร์

อ่าน วิถีอนุรักษ์ธรรมชาติแบบใหม่ในอเมริกา ตอนที่ 3: เพิ่มพื้นที่เกษตรอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้ที่ https://ngthai.com/environment/44935/a-creek-in-yonkers/

ติดตามสารคดี อเมริกาในวิสัยทัศน์ใหม่ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/559422


อ่านเพิ่มเติม Farm to Table กับการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

Recommend