ทะเลเปรียบดังลมหายใจของชาวชาวฝั่ง แอฟริกา ตะวันตก

ทะเลเปรียบดังลมหายใจของชาวชาวฝั่ง แอฟริกา ตะวันตก

ในทะเลปั่นป่วนนอกชายฝั่ง แอฟริกา ตะวันตก การออกเรือหาปลาหาใช่เพียงงานของผู้กล้า หากยังเป็นจารีตที่ก่อร่างสร้างชุมชนน้อยใหญ่ตามแนวชายฝั่งและความเคารพในธรรมชาติของพวกเขา

ตลอดแนวชายฝั่งนี้ของเราไม่มีสิ่งใดแปลกประหลาด

หากคุณตื่นเช้าพอจะเจอบรรดาเรือแคนูตอนกลับเข้าฝั่งในเมืองปอร์บูเอ  ประเทศโกตดิวัวร์  เมืองอึนเกลชี  ประเทศกานา  เมืองโอลด์เจสวาง  ประเทศแกมเบีย  เมืองกรองโปโป  ประเทศเบนิน  เมืองอาแปม  ประเทศกานา  คุณจะได้ยินเหล่าชาวประมงพูดภาษาแฟนตี  ภาษากา  ภาษาเอียเว หรือทุกภาษาที่พูดกันในกานา

ตอนที่พวกหนุ่มๆ ลงจากเรือและมองเห็นหน้าค่าตา พวกเขาได้ในแสงอาทิตย์อุทัย  ขณะลากอวนขึ้นฝั่ง  เสียงขับขานของพวกเขายิ่งดังขึ้น  “เอบัย  เอบาเกโล  มาแล้วมาได้ปลามาเพียบ”  อวนแต่ละปากที่มาถึงหนักอึ้งด้วยสินทรัพย์จากทะเลลึก

ชาวประมงเตรียมเรือในอ่าวจอดเรือขนาดย่อมแห่งหนึ่งในเจมส์ทาวน์ ซึ่งเป็นเขตหนึ่งในเมืองหลวงอักกรา ชาวประมงกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในเมืองท่าไกลออกไปราว 100 กิโลเมตร  พวกเขามาที่เจมส์ทาวน์เพื่อขายปลาที่จับมาได้และค้างคืนที่นี่
เด็กหญิงนานะ  อะโดโมะ หยุดพักระหว่างเล่นสนุกที่ชายหาดในมัมฟอร์ด เมืองประมงพื้นบ้านบนชายฝั่งของกานาที่ทอดตัวไปตามแนวอ่าวกินี รัฐบาลกานากำลังปรับปรุงท่าเรือท้องถิ่นด้วยการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ

ปลาที่จับมาได้ไม่เคยเหมือนเดิม  จริงอยู่ที่มีพวกปลาเศรษฐกิจซึ่งคุ้นเคยกันดี  เช่น  ปลากระพงแดง  ปลาเก๋า ปลาทูน่า  ปลาแมกเคอเรล  และปลาคปันลา  (ภาษากา ใช้เรียกวงศ์ปลาเฮก)  แต่ที่ไม่เคยขาดคือพวกที่เป็นที่หมายปองและหายากอย่างเครย์ฟิช  ปลาไหล  ปลากระเบน และชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่มาในสารพัดรูปร่างและขนาด  ทั้งที่มีกระดูกและไม่มีกระดูก

ชนเผ่ากา ซึ่งเป็นเผ่าของผม ไม่กลัวสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จัก คำกล่าวที่ว่า “อาเบลคูมา  อาบาคูมาวอ์– ขอคนแปลกถิ่น จงพบที่พักพิงในหมู่พวกเรา” เป็นปรัชญารากฐานประการหนึ่งในวัฒนธรรมของเรา ซึ่งช่วยอธิบายว่าเพราะเหตุใดชื่อสกุลพาร์กส์แบบยุโรปของผม ซึ่งนำเข้าโดยคุณปู่ชาวเซียร์ราลีโอนเชื้อสายจาเมกาผู้หนึ่ง จึงนับรวมเป็นชื่อสกุลของเผ่ากา

จีนา  อะซันเต  แม่ค้าริมทาง  เทินกรงบรรจุไก่ที่จะนำไปขายในเมืองวินเนบา  ท่าเรือประมงเก่าแก่อีกแห่งทางตอนกลาง ของกานา  แรงงานภาคเกษตรอาจคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของแรงงานในกานา
สองสหาย  คอดโจะ  เอสเซล  และโคฟิ  ไอยิกปะห์  ร่วมฉลองเทศกาลอาโบเกียร์ในเมืองวินเนบา เทศกาลซึ่งมีต้นกำเนิดจากพิธีกรรมบวงสรวงโบราณที่อุทิศแด่โอตู  เทพเจ้าประจำเผ่านี้ จัดขึ้นทุกปีในวันเสาร์แรกของเดือนพฤษภาคม  และมีกิจกรรม อาทิ  การล่ากวางแอนทิโลป และการเฉลิมฉลองต่างๆ ผงแป้งสีขาวบนใบหน้า ผู้เข้าร่วมเทศกาลเป็นการตกแต่งที่สื่อถึงชัยชนะเหนือความชั่วร้าย

แต่ในหมู่ครอบครัวชาวประมงด้วยกัน ชาวกานานั้นนับว่าแตกต่างไม่เหมือนใคร เมื่อปี 1963 นิตยสาร เวสต์ แอฟริกา  ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว เรียกชาวกานาว่า “ชาวประมงแห่งแอฟริกาทั้งมวล” เพราะพวกเขาท่องไปทั่วเจ็ดย่านนํ้า ตั้งแต่ไนจีเรียถึงเซเนกัล

ความที่เติบโตมากับท้องทะเลที่ขึ้นชื่อว่าปั่นป่วนที่สุดแห่งหนึ่งของแนวชายฝั่งดังกล่าว เหล่าชาวประมงที่พูดภาษา แฟนตีจากทางตะวันตกและตอนกลางของกานา ไม่เพียงเป็นนักว่ายนํ้าทะเลที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แต่ยังเชี่ยวชาญการพายเรือแคนูชนิดหาตัวจับยากด้วย

เด็กๆ ที่ตกแต่งเรือนร่างด้วยแป้งฝุ่น  หยุดให้ถ่ายภาพระหว่างเล่นสนุกในบ้านที่กำลังก่อสร้างอยู่ริมทะเลในอาแปม  เมืองท่าเรือประมงแห่งหนึ่ง
เนียโมะ  อะโดมาโค  ชาวประมงหนุ่มที่อาศัยอยู่ในเจมส์ทาวน์  เตะบอลกับเพื่อนๆ เมื่อไม่ได้ออกทะเล

แม้แต่ในหมู่ชาวกาด้วยกันเอง กลุ่มชาวประมงผู้เป็นที่นับหน้าถือตามากที่สุด หรือเหล่าโวลาเซ  ก็มักมาจากอากุตโซ  หรือเครือข่ายตระกูลอาบีซี-แฟนตี ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าแฟนตีที่แปลงสัญชาติเป็นชาวกา การเปลี่ยนอัตลักษณ์จากชาวแฟนตีเป็นชาวกาอย่างง่ายดายเช่นนี้มีรากฐานมาจากค่านิยมร่วมที่ผูกโยงกับความมุ่งมาดที่จะธำรงไว้ซึ่งวิถีความเป็นอยู่ของตน ชนทั้งสองเผ่าไม่ออกไปจับปลาในทะเลในวันอังคาร หรือในแหล่งนํ้าจืดในวันพฤหัสบดี นี่คือข้อห้าม การหยุดพักเป็นประจำทุกสัปดาห์นี้จึงเปิดโอกาสให้เหล่าวิญญาณแห่งท้องนํ้าได้เพิ่มพูนปลาให้สมบูรณ์อันเป็นการกระทำจากความใฝ่ใจในทางอนุรักษ์ซึ่งหยั่งรากในัฒนธรรมและประเพณี

พูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นก็คือ ความคิดเชิงอนุรักษ์คือ ตัวกำหนดขอบเขตของทักษะต่างๆ ที่ชุมชนชาวประมงกานาเรียนรู้ ชาวประมงจำนวนมากเป็นเกษตรกรนอกเวลา พวกเขาจะหวนกลับมาทำงานบนบกปีละครั้งหรือสองครั้ง เมื่อเหล่าสัตว์นํ้ามีความอุดมสมบูรณ์น้อยลง

เด็กๆ วิ่งไล่กันบนหาดในอาแปม  ชุมชนต่างๆ ในกานาจะพักการจับปลาในทะเลและแหล่งนํ้าจืดสัปดาห์ละหนึ่งวัน  ซึ่งมี ส่วนช่วยให้การอนุรักษ์ได้ผลมากขึ้น
พรินซ์  คาฟูทะ โพสท่าถ่ายภาพที่ชายหาดในมัมฟอร์ด  พร้อมเรือของเล่นที่ต่อขึ้นตามแบบเรือประมงของเมืองนี้ ท้องทะเลเป็นส่วนสำคัญยิ่งของอัตลักษณ์ชาวกานา ตลอดแนวชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก  ชาวประมงส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายกานา

ชาวประมงที่เหลือจะลอกเลียนรูปแบบการอพยพของสัตว์นํ้าชนิดพันธุ์หลักที่บริโภคกันในย่านที่พวกเขาอาศัยอยู่หรือย้ายไปบริเวณที่จะพบปลาชนิดอื่นแทน

ปลาที่มีให้จับไม่ขาดมือนี้ยังหล่อหลอมให้เกิดความเชี่ยวชาญด้านการถนอมอาหารและรมควัน ตลอดแนวชายฝั่ง ปลารมควันที่สำรองไว้มากพอช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะมีโปรตีนหลักจากอาหารเพียงพอเสมอไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใด

ความจริงที่ว่า นานๆ ครั้งจะมีผู้สูญหายไปในทะเลบ้าง และการไม่อาจคาดเดาได้ของปริมาณปลาที่จับได้ หมายความว่า ครอบครัวชาวประมงผูกความฝันของตนไว้กับความผกผันของโชคชะตา

เด็กสองคนที่ออกมาวิ่งเล่นจ้องมองขึ้นไปที่รูปปั้นปลาตรงหน้าหาดของเมืองเซกอนดี-ตะโก ราดี  อนุสาวรีย์เชิดชูการประมงแห่งนี้ตกแต่งด้วยสีแดง  เหลือง  เขียว  และดาวสีดำตามลายธงชาติกานา

ชาวประมงจะนำนํ้าพักนํ้าแรงสีเงินยวงของตนมาให้พวกผู้หญิงในหมู่บ้าน พวกผู้หญิงจะขายพวกมัน และเอากำไรมาเล่นแร่แปรธาตุด้วยการแลกเปลี่ยนค้าขาย การทำไร่ และให้การศึกษากับเด็กๆ ที่วิ่งเล่นตามชายหาด

แม้เมื่อพวกผู้ชายไม่หวนกลับมา พวกเขายังทิ้งบางสิ่งไว้เบื้องหลัง

ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งของผมที่ใช้ชื่อ ไอย์เคว เหมือนผม เป็นคนหนึ่งที่ไม่หวนกลับมา เมื่อปี 1992 ตอนที่ผมออกเดินทางไปอาศัยอยู่นอกเมืองหลวงอักกรา ที่เขตตูลอนซึ่งอยู่ไกลออกไปเกือบ 650 กิโลเมตรทางตอนเหนือของกานา เขาบอกสิ่งหนึ่งกับผมซึ่งผมจดจำไว้เสมอ นายไม่มีอะไรต้องกังวล พวกเราเป็นชาวเผ่ากา เมื่อมีท้องทะเลเกื้อหนุนเราอยู่ไม่มีอะไรที่เราต้องกลัว

ไม่ว่าผมจะเดินทางอยู่หนใด ในท่ามกลางความแปลกแยก ผมจะหลับตาลง และเงี่ยหูสดับฟังเสียงนํ้า

ความเรียง นีไอย์ เควพาร์กส์
ภาพถ่าย  เดอนี ไดเยอ

ติดตามสารคดี ทะเลเปรียบดังลมหายใจเรา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/549797


อ่านเพิ่มเติม ทะเล อันดามัน ของไทยกำลังป่วย

Recommend