“ เลิกลอยกระทง ” ดีไหม? 

เลิกลอยกระทง ดีไหม – เมื่อข้อมูลระบุว่ากระทงที่มีจุดประสงค์เพื่อ ‘ขอขมาพระแม่คงคา’ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำเน่าเสีย และสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก จนบางคนเชื่อว่า ไม่มีกระทงแบบไหนที่ ‘รักษ์’ โลกจริง ๆ 

เลิกลอยกระทง – เดือนพฤศจิกายนเวียนกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับเทศกาลที่ชาวไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ประเพณีนี้ชื่อว่า ‘ ลอยกระทง ’ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาที่ได้ประทานแหล่งน้ำให้ใช้ และยังเป็นการขอขมาที่ได้ทำให้แหล่งน้ำเหล่านั้นสกปรกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์

ทว่า เมื่อเทศกาลลอยกระทงผ่านไป เรามักจะเห็นภาพในเช้าวันต่อมาซึ่งเป็นภาพแม่น้ำหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ เต็มไปด้วยกระทงจำนวนมหาศาล ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีภาพสัตว์น้ำหลายตัวลอยตายขึ้นมา

ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า จริง ๆ แล้วการลอยกระทงนั้นทำเพื่อแม่น้ำจริงหรือไม่?

“การเปลี่ยนแหล่งน้ำให้กลายเป็นบ่อขยะขนาดใหญ่ คือการตอบแทนพระแม่คงคาแล้วจริงหรือ?” มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขียนผ่านเว็บไซต์ จนทำให้เกิดกระแสลอยกระทงในรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นมาใหม่ 

ไม่ว่าจะเป็นลอยออนไลน์ หรือผลิตกระทงขนมปังและกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อให้เป็นอาหารของสัตว์น้ำหรือปล่อยให้ย่อยสลายเองได้

กระนั้นผลจากการสำรวจในหลายปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ากระทงทุกแบบต่างก็สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างน่าเศร้า เช่น กระทงจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นกระทงใบตอง กระทงขนมปัง หรือกระทงอาหารปลา ที่ย่อยสลายเองได้ แต่ด้วยจำนวนที่ ‘มากเกินไป’ จึงทำให้ปลาไม่สามารถกินได้หมด

อีกทั้งยังทำให้แหล่งน้ำขาดออกซิเจน เนื่องจากแบคทีเรียที่ย่อยสลายวัสดุธรรมชาติเหล่านี้ใช้ออกซิเจนในน้ำมาเป็นพลังงานในการย่อยสลาย เมื่อมีวัตถุให้ย่อยมากขึ้น พวกมันก็ดึงออกซิเจนออกมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ออกซิเจนลดลงมหาศาลอย่างกระทันหัน ไม่เพียงเท่านั้นกระทงจำนวนมหาศาลด้านบนก็บดบังกระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนระหว่างผิวน้ำและอากาศ 

ทว่าพิษจากกระทงยังไม่หมด เนื่องจากวิธีการลอยที่ถูกต้องนั้นระบุไว้ว่าต้องมี ‘ธูปและเทียน’ ปักไว้บนกระทง สิ่งนี้ทำให้แหล่งน้ำมีมลพิษเพิ่มอย่างจำนวนมาก เนื่องจากสารที่ใช้กับธูปนั้นมักเกี่ยวข้องกับโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ปรอท สารหนู หรือโครเมียม เทียนเองก็เช่นที่เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากวัสดุปิโตเลียม ทำให้แหล่งน้ำมีทั้งสารพิษ และถูกสารคล้ายน้ำมันปนเปื้อน 

นอกจากนี้กระทงทุกรูปแบบที่อัดแน่นกันแม่น้ำจะกลายเป็นกองขยะที่หมักหมมรวมกันก่อให้เกิดก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการหลักของก๊าซเรือนกระจกที่สร้างภาวะโลกร้อน แม้จะมีปริมาณไม่มากเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้รถยนต์ของทุกคนในทุก ๆ วัน แต่เมื่อมองเห็นกองกระทงมหาศาลแล้วก็ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ‘เราน่าจะทำให้อะไรให้มันดีขึ้นกว่านี้ได้บ้าง’ 

“มนุษย์เป็นสปีชีส์ที่แปลก เราบูชาสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เรากลับทำลายสิ่งแวดล้อมที่เห็นอยู่ตำตา” ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ เพจเฟซบุ๊คด้านสิ่งแวดล้อมกล่าว ขณะที่ไทยพีบีเอสเองก็ตั้งคำถามชวนคิดในปี 2564 ว่า “หลังลอยกระทงแล้วกระทงไปไหนต่อ?” 

ดูเหมือนว่าทั้งหมดจะกลายเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบให้กับแหล่งน้ำ ไม่ใช่แค่แม่น้ำแต่รวมถึงมหาสมุทรด้วยเช่นกัน วารสาร Science Advances ฉบับเดือนตุลาคม 2563 รายงานว่า ประเทศไทยก่อขยะพลาสติกต่อประชากรสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีปริมาณขยะพลาสติก 4,796,494 ตัน/ปี (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน)

อีกทั้งยังมีสัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก สามารถแบ่งชนิดของปริมาณพลาสติกในประเทศไทยได้ 3 ชนิด คือ 1) ถุงพลาสติก 1.11 ล้านตัน 2) ขวดพลาสติก 0.40 ล้านตัน  และ 3) แก้ว กล่อง และถาดพลาสติก 0.23 ล้านตัน หลายคนเชื่อว่ากระทงก็เป็นส่วนหนึ่งของขยะเหล่านี้ เพราะแม้จะมีเจ้าหน้าที่พยายามจัดเก็บมากแค่ไหนก็ไม่สามารถจัดเก็บได้ทุกกระทงในประเทศไทย 

และจากข่าวเมื่อปี 2565 ซึ่งพบว่ามีเต่าตนุหนึ่งตัวเกยหาดตายเนื่องจากพบหมุดที่ใช้เย็บกระทงอยู่เต็มท้อง นั่นหมายความว่ามีกระทงหลุดลอดลงไปในทะเล จากนั้นสัตว์น้ำก็เข้ามากิน การลอยกระทงในทะเลจึงเป็นความคิดที่ไม่ดีอย่างยิ่ง 

ท้ายที่สุดแล้ว การลอยกระทงที่ดีที่สุดอาจเป็นการลอยกระทงผ่านเว็บไซต์หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ลอยออนไลน์’ หรือจะเป็นการลอยแบบดิจิทัล ณ คลองโอ่งอ่าง ตามที่เฟซบุ๊คของคุณ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ได้กล่าวถึงวิธีนี้เป็นครั้งแรก โดยเพียงแค่วาดรูปกระทงของตนเองบนกระดาษที่ทีมงานเตรียมไว้ ระบายสี เขียนชื่อ เขียนคำขอพรหรือความในใจ จากนั้นก็เข้าผ่านเครื่องสแกน แล้วกระทงของเราจะถูกฉายอย่างสวยงาม 

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Image by naturepost from Pixabay

ที่มา

https://www.facebook.com/photo?fbid=918427586957809&set=pcb.918428130291088

https://www.seub.or.th/bloging/news/tradition/#:~:text=%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B3,%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%20%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%81

https://ngthai.com/environment/45142/loy-krathong-waste/

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0FQPdH6PFnhX59mAYdoLANcM5YiXA2o1WaHRGV2AZkE87UNTAaEFBbFhs7Wgc6Mzwl&id=784794053&mibextid=Nif5oz&paipv=0&eav=Afamf-gb5oq1ceZDaCH6AD3acP6oOhZuapyLhUNniLmGZTa2pPj-D_vDxFhZklhT4po&_rdr


อ่านเพิ่มเติม รอยเท้าคาร์บอนเบื้องหลังเทศกาลลอยกระทง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.